icon
giftClose
profile

LiConIn ตัวช่วยที่ครูทุกคนต้องการ

7756
ภาพประกอบไอเดีย LiConIn ตัวช่วยที่ครูทุกคนต้องการ

แนวคิด LiConIn เกิดจากการทำ plc ของครูไทยและครูเกาหลีเพื่อออกแบบการจัดการเรียนการสอนที่ทรงพลัง มองภาพของผลลัพธ์ที่จะเกิดกับตัวผู้เรียนเป็นหลัก และประเมินศักยภาพการสอนของครูต่อเนื้อหาที่จะสอนในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างโมเดลการสอนที่สมบูรณ์แบบในแต่ละชั่วโมงพร้อมกับสร้างความมั่นใจให้แก่ครูได้เป็นอย่างดี

LiConIn เกิดจากความพยายามของครูแซมที่ต้องการเอาชนะอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่คุ้นเคยและมีบริบทที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประกอบกับครูแซมไม่เข้าใจภาษาเกาหลีที่เด็กใช้ ทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับเด็กได้โดยตรง จึงต้องสื่อสารผ่านล่ามที่เป็นครูเจ้าของภาษา ที่จะคอยแปลความจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาเกาหลี ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีข้อมูลบางอย่างหล่นหายไประหว่างทางแน่นอน แต่ครูแซมก็ยังมั่นใจในการสอนของตนเองระดับหนึ่ง เพราะในวง plc ที่ประกอบด้วยครูประจำสายชั้น ครูพี่เลี้ยง (mentor) และครูแซม รวมสมาชิกทั้งหมดประมาณ 5 - 6 คน ในการทำ plc แต่ละสัปดาห์ ทุกคนได้ร่วมกันอภิปรายและประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ให้อยู่ในบริบทที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการสอนมากที่สุด ซึ่งครูแต่ละคนจะอภิปรายอย่างเป็นมิตรและตรงไปตรงมา ทำให้ครูแซมสามารถตัดสินใจเลือกหรือเสนอแนวทางการสอนใหม่ ๆ หากกิจกรรมดังกล่าวผ่านการประเมินจากสมาชิก plc อย่างเป็นเอกฉันท์แล้ว ครูแซมกับครูพี่เลี้ยงจะร่วมกันตัดสินใจกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดในเนื้อหาดังกล่าวเพื่อให้เหมาะสมกับระดับชั้นที่สอนต่อไป


จากการร่วมจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกับเด็กเกาหลีใต้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน ทำให้ครูแซมได้แนวทางการออกแบบการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบทรงพลังขึ้น สร้างความพร้อมทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอเป็นอย่างมาก และเมื่อจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไปแล้ว ครูแซมสังเกตเห็นผลลัพธ์จากการสอนได้อย่างชัดเจน หากพบนักเรียนที่ไม่เข้าใจในเนื้อหาที่สอน ครูแซมสามารถเข้าไปดูแลนักเรียนแบบตัวต่อตัวได้ทันที ทั้งนี้ รูปแบบดังกล่าว ครูแซมเรียกว่า LiConIn ซึ่งประกอบด้วย

  1. Limitation (Li) ข้อจำกัด คือ ครูผู้สอนจำเป็นต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดของบริบทแวดล้อมทุกด้านทั้งของนักเรียนและครูผู้สอน สำหรับนักเรียน อาจจะประกอบด้วย การรับรู้ทางภาษา ช่วงวัย ความรู้เดิม ความพร้อมทางร่างกาย ฯลฯ สำหรับครูผู้สอน อาจจะประกอบด้วย ความเข้าใจในเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ ช่วงเวลาในการสอน ความยากง่ายของเนื้อหา เนื้อหาที่มีความเกี่ยวกับสภาพเพศชายเพศหญิง ฯลฯ ทั้งนี้องค์ประกอบของข้อจำกัดดังกล่าวอาจจะมีมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมของครูผู้สอนแต่ละคน ซึ่งครูผู้สอนจำเป็นต้องตระหนักให้รอบด้านและครอบคลุมให้มากที่สุดเมื่อต้องออกแบบการจัดการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ข้อจำกัดในเนื้อหาที่จะนำเสนอในแต่ละครั้ง ครูผู้สอนจำเป็นต้องประเมินความยากง่ายของเนื้อหาต่อช่วงวัยของนักเรียนด้วย อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงไปยังความรู้เดิมของนักเรียนก่อน ก่อนที่จะสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อนักเรียนจะได้โยงความสัมพันธ์ของเนื้อหาดังกล่าวสู่โลกแห่งความเป็นจริงของนักเรียนแต่ละคนได้
  2. Concrete (Con) ความเป็นรูปธรรม เมื่อครูผู้สอนเข้าใจในข้อจำกัดของบริบทแวดล้อมในการนำเสนอเนื้อหาแต่ละครั้งแล้ว ขั้นต่อไป ครูผู้สอนจำเป็นต้องคัดเลือกกิจกรรมที่จะใช้นำเสนอเนื้อหาให้เป็นรูปธรรม ความเป็นรูปธรรมในที่นี้ หมายความว่า เมื่อนักเรียนเรียนรู้เนื้อหาเรื่องใดก็ตาม นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความรู้ในเรื่องดังกล่าวจริง และสามารถวัดผลได้จริง จนปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม นั้นหมายความว่า ครูผู้สอนควรจะหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่คิดว่า เมื่อนำกิจกรรมไปใช้สอนแล้วนักเรียนเกิดความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้ว ผลปรากฏว่า นักเรียนไม่มีองค์ความรู้ที่เรียนอยู่เลย การเลือกกิจกรรมจึงควรให้เอื้อต่อทักษะแต่ละทักษะทางภาษา เช่น ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน หรือการเขียน เป็นต้น หรืออาจจะเป็นกิจกรรมทั่ว ๆ ไปที่เหมาะสมกับเนื้อหาแต่ละชุด นอกจากนี้แล้ว กิจกรรมที่เป็นรูปธรรมจึงต้องเป็นกิจกรรมที่นักเรียนได้ลงมือทำ ได้ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนหรือใช้ความคิดเพียงลำพัง เพื่อให้สามารถทำกิจกรรมดังกล่าวให้สำเร็จ กิจกรรมที่นักเรียนสามารถหยิบ จับ หรือประดิษฐ์ด้วยตนเอง จะเป็นกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนจดจำเนื้อหาดังกล่าวได้ยาวนานมากยิ่งขึ้น และหากเนื้อหาดังกล่าวตกผลึกแล้ว ความรู้ดังกล่าวจะตกอยู่ในหน่วยความจำระยะยาวต่อไป
  3. Involvement (In) การมีส่วนร่วม เมื่อครูผู้สอนได้คิดทบทวนข้อจำกัดและความเป็นรูปธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว องค์ประกอบที่ 3 คือ การสร้างการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนให้ได้มากที่สุด การมีส่วนร่วมในที่นี้ หมายรวมถึง ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน ครูกับนักเรียน และครูกับผู้ปกครองด้วย หรืออาจจะกล่าวถึงบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนในแต่ละครั้ง นักเรียนแต่ละคนควรจะได้มีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม ทั้งเล็กหรือใหญ่ตามความเหมาะสม นักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันก็ควรจะได้มีส่วนในการทำงานกลุ่มร่วมกัน โดยกำหนดบทบาทหรือภาระงานของนักเรียนที่หลากหลาย เพื่อสร้างความเท่าเทียมกัน และสร้างการยอมรับถึงการมีตัวตนของนักเรียนในห้องเรียน กิจกรรมบางอย่างครูควรที่จะร่วมลงมือทำไปพร้อม ๆ กันกับนักเรียน ไม่ใช่ในบทบาทที่จะสอนนักเรียน แต่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มและรับผิดชอบทำงานดังกล่าวให้สำเร็จเพื่อแสดงถึงความชำนาญในเนื้อหาหรือสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว นักเรียนจะเกิดการยอมรับและนับถือครูในฐานะ Role Model ของพวกเขาได้ ส่วนผู้ปกครองก็ควรจะมีบทบาทในการประเมินและตรวจสอบการเรียนของนักเรียนอย่างใกล้ชิด มีบทบาทออกแบบกิจกรรมร่วมกับครูได้ และเฝ้ามองนักเรียนว่าจะสามารถปฏิบัติได้ตามที่ผู้ปกครองคาดหวังได้หรือไม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชน


จากรูปแบบ LiConIn ที่ได้กล่าวมาข้างต้น ครูหลายท่านอาจจะคิดว่า ต้องใช้เวลากี่วัน กี่เดือนถึงจะเตรียมการสอนหนึ่งครั้งให้เสร็จ เพราะสิ่งที่ครูแซมอธิบายมาทั้งหมดนั้น เป็นภาพที่ใหญ่มาก เกือบจะครอบคลุมทุกเรื่องของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง รวมทั้งชุมชนด้วย แต่สิ่งที่ครูแซได้รับประสบการณ์และฝึกทำด้วยตนเองนั้น ก็เหมือนกับการเตรียมแผนการสอนปกติเท่านั้นเอง แต่ประเด็นดังกล่าวควรจะมีอยู่ในใจของคุณครูแต่ละท่านอยู่แล้ว เมื่อคิดที่จะสอนเนื้อหาใดก็แล้วแต่ ในหัวของเราก็จะประมวลได้ทันทีว่า มีข้อจำกัดอะไรไหม กิจกรรมใดเมื่อนำมาใช้แล้วเกิดกับนักเรียนได้จริง แล้วจะให้นักเรียนมีส่วนร่วมอะไรบ้าง ตัวครูเองจะทำอะไรบ้าง ที่ไม่ใช่เพียงแต่สอนหน้าห้องเรียน (ซึ่งควรจะลดบทบาทตรงนี้ให้เหลือเท่าที่จำเป็นเท่านั้น) หลังจากนั้น ครูทุกท่านก็จะได้ชุดการสอนขึ้นมา 1 ชุด เพื่อนำไปเข้าวง plc เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องร่วมกันอภิปรายและประเมินแผนการสอน แล้วจึงนำมาปรับกระบวนการต่าง ๆ ตามคำแนะนำ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คำแนะนำของสมาชิกในวง plc ไม่ใช่คำตัดสินสุท้ายที่ชี้ว่า "ถูกผิด" เมื่อคุณครูนำไปใช้สอนแล้ว คุณครูจะต้องรับมือกับความจริงที่เกิดขึ้นในห้องเรียนในขณะนั้น และใช้ความสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามแผนการรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ได้


ตามที่คุณครูทุกท่านได้อ่านมาตั้งแต่ต้นจนถึงบทสรุปสุดท้ายนี้ คงจะมีภาพคร่าว ๆ เกิดขึ้นในหัวของแต่ละท่านแล้วใช่ไหมครับ ภาพที่เกิดขึ้นมาคงจะมีความแตกต่างจากที่ครูแซมกล่าวมาไม่มากก็น้อย แต่นั้นไม่ใช่ประเด็นครับ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า คุณครูรู้หรือไม่ว่า สิ่งที่คุณครูสอนไปนั้น ได้ทำให้นักเรียนคนหนึ่งเกิดความรู้ขึ้นจริงหรือยัง มากไปกว่านั้น นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความรู้ขึ้นจริงหรือยัง หลังจากที่ได้จัดการเรียนการสอนผ่านไปหนึ่งชั่วโมง หากคำตอบคือ "ใช่" ครูแซมขอแสดงความยินดีกับคุณครูทุกท่านด้วยครับ แต่หากคำตอบคือ "ไม่ใช่" นั้นก็เป็นอีกความจริงหนึ่งที่นักเรียนอาจจะยังไม่สามารถรับสิ่งที่คุณครูถ่ายทอดได้หมด นักเรียนต้องการการทบทวนอีกซ้ำ ๆ ครับ แต่สิ่งที่คุณครูต้องกลับมาทบทวนคือ ในองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งของ LiConIn ยังมีความไม่สมบูรณ์อยู่ ที่คุณครูต้องการการปรับแก้ให้เหมาะสมกับบริบทแวดล้อมของนักเรียน และเหตุผลของคุณครูจะต้องไม่เข้าข้างตัวเองโดยเด็ดขาด ครูแซมขอร่วมเชิดชูอุดมการณ์ความเป็นครูร่วมกับคุณครูทุกท่านครับ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)