icon
giftClose
profile

Gender Ticket

19601
ภาพประกอบไอเดีย Gender Ticket

ครูภีจะพานักเรียนมารู้จักความหลากหลายทางเพศจากการเรียนเรื่องคำศัพท์เกี่ยวกับเรื่องเพศ เพื่อจะนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่ว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร เราทุกคนล้วนเป็น “มนุษย์” เหมือนกัน

ครูภีได้รับแรงบันดาลใจใบงาน Gender Ticket มาจากนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ โดยภายในนิทรรศการมี Your Gender Ticket ให้ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนเกี่ยวกับ Concept ต่างๆในเรื่องเพศของตนเอง ในฐานะที่ครูภีเป็นครูแนะแนว เห็นว่าใบงานนี้มีประโยชน์ในการให้นักเรียนได้มีโอกาสทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเองในแง่มุมเรื่องเพศ ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญเนื้อหาหนึ่งของวิชาแนะแนว จึงได้นำจัดทำใบงาน Gender Ticket และออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนขึ้น ดังนี้

 

หลังจากเริ่มคาบเรียนแล้ว ขั้นแรกครูภีได้แจกใบงานเรื่อง Gender Ticket ให้กับนักเรียน และเริ่มอธิบายถึงที่มาที่ไปของใบงานนี้ว่ามีแรงบันดาลใจมาจากนิทรรศการชายหญิงสิ่งสมมุติ จากนั้นจึงเกริ่นว่าเรื่องเพศของมนุษย์เป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยครูภีได้ใช้สื่อ PowerPoint (ดูรายละเอียดได้ที่นี่ drive.google.com/file/d/1MyderuVpQ8HmtOemZnUU-sfww04EmJXu/view?usp=sharing ) ในการอธิบาย Concept ต่างๆของคำศัพท์เกี่ยวกับเพศ ตั้งแต่ อัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) การแสดงออกทางเพศ (Gender Expression) เพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด (Biological Sex) และ รสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) พร้อมทั้งได้อธิบายความแตกต่างของคำศัพท์แต่ละคำ โดยใช้ภาษาไทยควบคู่กับภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนเห็นว่า ข้อจำกัดของภาษาไทยจะมีแต่คำว่า “ชาย” กับ “หญิง” ในขณะที่คำศัพท์ภาษาอังกฤษจะแบ่ง Concept ต่างๆเหล่านี้ได้ละเอียดกว่า สังเกตได้จากการมีคำว่า “Male” “Female” “Masculine” “Feminine” เป็นต้น พร้อมกันนี้ ครูภียังได้อธิบายคำศัพท์ที่นักเรียนบางคนอาจจะเข้าใจยาก อย่างเช่น “Queer” “Androgynous” “Intersex” และคำศัพท์เกี่ยวกับกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “Homosexual” “Heterosexual” “Aromantic” “Asexual” “Bisexual” เป็นต้น โดยใช้ภาพประกอบดังที่ปรากฏใน PowerPoint เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจมากยิ่งขึ้น

 

หลังจากที่สอนคำศัพท์ต่างๆเสร็จแล้ว ครูภีจะให้เวลานักเรียนได้มีโอกาสสำรวจตัวเอง และตอบลงในใบงาน Gender Ticket ว่า นักเรียนคิดว่าตนเองเป็นแบบใดใน Concept ต่างๆที่ได้สอนไป โดยให้ทำเครื่องหมายถูกลงไปในใบงาน และถ้านักเรียนคิดว่าตัวเลือกที่ครูใส่ในใบงานมันไม่ใช่ตัวตนของนักเรียน นักเรียนสามารถที่จะเติมตัวเลือกของตัวเองลงไปได้ ด้านล่างสุดของใบงาน ครูภีเปิดโอกาสอิสระให้นักเรียนได้มีโอกาสสรุปว่าตัวตนของตนเองเป็นอย่างไร อาจจะเป็นไปตามนิยามคำศัพท์ที่ได้สอนไป เช่น “เป็นผู้ชาย” “เป็น Lesbian” “เป็น Bisexual” แต่ในขณะเดียวกัน นักเรียนที่ไม่สบายใจจะตีตราตัวเองเป็นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ครูภีเปิดโอกาสให้นักเรียนตอบว่า “สรุปว่าฉันเป็นตัวของตัวเอง” ก็ได้

 

จากนั้น ครูภีอธิบายถึงวิธีการระบายสีรูปภาพทางด้านซ้ายของใบงาน โดยให้นักเรียนระบาย “สีเขียว” ลงในบริเวณที่นักเรียนยินยอมให้คนทั่วไปสัมผัส “สีเหลือง” สำหรับบริเวณที่ยินยอมให้คนสนิทสัมผัส และ “สีแดง” สำหรับบริเวณที่ยินยอมให้เฉพาะคนรักสัมผัส หรือไม่ให้ใครสัมผัสเลย พร้อมกันนี้ ครูภีได้อธิบายถึงเรื่อง “สิทธิบนร่างกาย” ของนักเรียน ว่านักเรียนมีสิทธิ์ที่จะให้ “ความยินยอม” (Consent) ในการให้บุคคลอื่นสัมผัสส่วนไหนได้หรือไม่ได้ ในขณะที่ครูภีสอน มีนักเรียนบางคนยกมือถามว่า “ถ้าหนูระบายสีแดงทั้งตัวได้ไหม” ซึ่งครูภีก็จะอธิบายกับนักเรียนทั้งชั้นเรียนอย่างชัดเจนว่า นักเรียนทุกคนมีสิทธิ์ระบายสีอะไรก็ได้ เพราะ “ร่างกายเป็นของนักเรียน” จากนั้น ครูภีให้เวลานักเรียนได้มีโอกาสพูดคุยยืมสีกัน เพื่อให้เพื่อนๆนักเรียนได้เรียนรู้กันและกันว่า เพื่อนคนไหนไม่ชอบให้ใครสัมผัสตรงไหน และรู้จักเรียนรู้ที่จะเคารพสิทธิบนร่างกายของกันและกันไม่ว่าอีกฝ่ายจะสรุปว่าตนเองเป็นเพศชาย เพศหญิง เพศทางเลือก หรือระบุว่าเป็นตัวของตัวเองก็ตาม เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ความหลากหลายที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงความหลากหลายในการให้การยินยอมสัมผัสบนเนื้อตัวของเพื่อนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน

 

มีรุ่นพี่ที่เคยเรียนบทเรียนนี้กับครูภีไปแล้ว กลับมาตั้งคำถามว่า “ครูคะ ถ้าน้องๆไม่ตอบตามความเป็นจริง (เช่น จริงๆน้องอาจจะชอบเพศเดียวกัน แต่ติ๊กมาว่าชอบเพศตรงข้าม) ครูจะทำอย่างไร” คำตอบของครูภีคือ “ไม่ทำอะไร” เพราะครูภีไม่ได้สร้างบทเรียนนี้ขึ้นมาด้วยความอยากรู้อยากเห็นว่านักเรียนคนไหนเป็นแบบไหน แต่สร้างบทเรียนนี้ขึ้นมาเพื่อให้ “นักเรียนได้สำรวจทบทวนตัวเอง” และครูภีก็ได้อธิบายสิ่งนี้ให้กับนักเรียนในชั้นเรียนได้ฟังด้วย รวมไปถึงอธิบายด้วยว่า Concept บางอย่าง อาจเปลี่ยนแปลงไปได้เมื่อนักเรียนโตขึ้น ในอนาคตเมื่อนักเรียนกลับมาทำ Gender Ticket อีกครั้ง คำตอบของนักเรียนอาจเปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้รสนิยมทางเพศ อัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศเราเป็นแบบนี้ แต่อนาคตก็อาจเปลี่ยนแปลงได้ เป็นเรื่องปกติ ครูภีอธิบายทฤษฎี Gender Fluid เพิ่มเติม พร้อมทั้งยกตัวอย่างจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เช่น ปลาที่สามารถเปลี่ยนเพศได้ เพื่อเป็นตัวอย่างประกอบการสอนให้นักเรียนเข้าใจว่าเรื่องเพศ เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เป็นเรื่องธรรมชาติ ครูภีเลือกสอนบทเรียนนี้ให้กับนักเรียนระดับชั้น ม.1 ในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วเป็นวัยที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น และความสนใจในเรื่องเพศเป็นลักษณะสำคัญของวัยนี้ การสอนให้นักเรียนได้รู้จักความหลากหลายทางเพศและเรียนรู้ที่จะเคารพ ยอมรับกันและกันตั้งแต่ ม.1 จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดการ Bully ขึ้นต่อไปในอนาคต

 

หลังจบคาบนี้ ครูภีได้เตรียมการสอนคาบถัดไปให้มีเนื้อหาต่อเนื่องกัน นั่นคือ การสอนเรื่องความต้องการของมนุษย์ โดยอ้างอิงจากทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ Maslow ในคาบถัดไปนี้ ครูภีจะให้นักเรียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์เพื่อนต่างเพศ แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน หากมีนักเรียนที่สบายใจที่จะเปิดเผยว่าตนเป็นเพศทางเลือก ครูภีก็จะได้ให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการสัมภาษณ์ถึงความต้องการต่างๆในชีวิต (หากไม่มีนักเรียนที่สบายใจจะเปิดเผยหรือไม่สบายใจที่จะได้ให้สัมภาษณ์ ครูภีจะเปิดคลิปวงสนทนาของรายการ ถกถาม แทน โปรดดูรายละเอียดคลิปได้ที่นี่ https://www.youtube.com/watch?v=4aqiFH5hSIg&t=1s) จากนั้น ครูภีจะให้นักเรียนช่วยกันสรุปบทเรียนว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร เราทุกคนต่างก็เป็น “มนุษย์” ที่มีความฝัน ความหวัง ความปรารถนา ความต้องการ เหมือนกันทั้งสิ้น ดังนั้น เราควรให้ความเคารพกันในฐานะที่เราเป็น “มนุษย์” เหมือนกัน

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 2

ชื่อไฟล์​: ใบงานGenderTicket-page-001.jpg

ดาวน์โหลดแล้ว 17 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(4)