icon
giftClose
profile

จาก "Peep box" สู่ "Open box"

94505
ภาพประกอบไอเดีย จาก "Peep box" สู่ "Open box"

"ไม่ว่าคุณจะเกิดเป็นเพศใดก็ตาม อย่าลดทอนคุณค่าตัวเองด้วยการทำตัวให้เป็นเหมือน "Peep box" ที่ไม่กล้าเปิดเผยหรือไม่ภูมิใจในความเป็นตัวตนของตนเอง แต่จงทำตัวเราให้เป็น "Open Box" เพราะความหลากหลายทางเพศคือเรื่อง "ปกติ" และคุณคือ "คนปกติคนหนึ่ง"ของสังคม"

ในเดือนแห่งความรักคู่รักหลายๆคู่จะจูงมือกันไปจดทะเบียนสมรสเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความรักและความซื่อสัตย์ที่มีต่อกัน แต่คุณรู้หรือไม่ยังมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้แค่หวังว่าสักวันหนึ่งตัวเราจะได้มีโอกาสจดทะเบียนสมรสในวันแห่งความรักอย่างเท่าเทียมกับผู้อื่นในฐานะ “มนุษย์”คนหนึ่ง...ซึ่งกลุ่มคนเหล่านั้นคือกลุ่มคน “LGBTQIA+” เมื่อวันพุธที่ 9 ก.พ. 2565 วาระของสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 30 ได้เสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ได้หมั้น แต่งงาน มีสิทธิต่างๆ ในแบบคู่สมรส ที่ชอบตามกฎหมาย แต่มติของสภาผู้แทนราษฎรให้นำไปพิจารณาก่อนรับหลักการเป็นเวลาอีก 60 วันแม้คะแนนเสียงโหวตส่วนใหญ่เห็นด้วยก็ตาม

จากการยืดกฎหมายสมรสเท่าเทียมออกไป ทำให้ผมในฐานะที่เป็น LGBTQIA+ คิดได้ว่าทำไมเราต้องให้ผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายเป็นผู้ลงมติแทนพวกเราชาว LGBTQIA+ จึงได้นำผลกระทบในครั้งนี้ไปออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งหวังให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่6ซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นได้ “เข้าใจ”และ “ยอมรับ”ในความหลากหลายทางเพศภายใต้แนวคิด “ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องปกติ”ผ่านไอเดีย "จากPeep Box สู่ Open Box" กับการจัดการเรียนเรียนรู้ในรายวิชาภาษาไทย หน่วยการเรียนรู้ ลูกเสนา...เด็ก(ไม่)จิ๋วในเมืองใหญ่ หน่วยย่อยที่ 2 เรื่อง “Gender Diversity” ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

ก่อนการออกแบบการเรียนรู้ได้ทำการศึกษาหลักสูตรออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying ของDtacเพื่อใช้เป็นองค์ความรู้และแนวทางในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้ตรงประเด็น สนุกและเหมาะสมกับนักเรียนให้มากที่สุด 

จุดประสงค์การเรียนรู้ในวันนี้

1.นักเรียนสามารถเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

2.นักเรียนสามารถค้นพบความเป็นตัวตนและรสนิยมทางเพศของตนเอง

3.นักเรียนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนทางสังคมผ่านสื่อ Social Media

4.นักเรียนสามารถพูดแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ต่อความหลากหลายทางเพศได้

5.นักเรียนสามารถเขียนสื่อสารโดยใช้คำได้ถูกต้องชัดเจน และเหมาะสมภายใต้แนวคิด "ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องปกติ"

สื่อการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ในครั้งนี้

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ใช้เวลา 2 คาบ เป็นจำนวน 120 นาที โดยมีรายละเอียดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ดังนี้

  ขั้นนำ

1.กล่าวทักทายกับนักเรียนและกล่าวถึงจุดประสงค์การเรียนรู้ในครั้งนี้ จากนั้นแจกกระดาษPost-itเพื่อตอบคำถามกับกิจกรรม Recheck Myself โดยมีประเด็นคำถามให้นักเรียนตรวจสอบความเป็นตนเอง ผ่าน 4 ประเด็นคำถามจาก Dtac โดยในขั้นนำจะใช้คำถามที่ 1 เราเกิดมาพร้อมกับเพศอะไร? และคำถามที่ 2 หัวใจของเราถูกใจเพศไหน? จากนั้นครูและนักเรียนร่วมอ่านคำตอบของคำถามทั้ง 2 ข้อร่วมกัน

2.จากนั้นครูให้นักเรียนร่วมกิจกรรม Peep Box...ในกล่องมีอะไร โดยครูสนทนากับนักเรียนว่า “คำตอบของนักเรียนเป็นคำตอบที่นักเรียนภาคภูมิใจและกล้าที่จะตอบ แต่ยังมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ไม่กล้าบอกว่าตนเองเป็นอะไร เพราะกลัวคนในสังคมจะรับไม่ได้ กล่องใบนี้เปรียบเสมือนความลับและเป็นโลกอันมืดมิดที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ครูจะให้นักเรียนลองส่องเข้าไปดูว่าคนกลุ่มนี้เป็นใคร” 

   ขั้นเรียนรู้

1.ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปกิจกรรม Peep Box ...ในกล่องมีอะไร โดยร่วมกันพูดถึงสิ่งที่เห็นภายในกลุ่มนั่นคือกลุ่มคนที่อยู่ในLGBTQIA+ จากนั้นครูให้นักเรียนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านแอพพลิเคชั่นMenti โดยร่วมกันแสดงความคิดเห็นกับประเด็นคำถามที่ว่า “รู้สึกอย่างไรกับกลุ่มคนที่เป็น LGBTQIA+” ซึ่งผลจากการแสดงความคิดเห็นได้พบกับความเห็นเชิงบวกและความเห็นเชิงลบต่อคนกลุ่มนี้ โดยครูจะไม่ทำการสรุปความคิดเห็นของนักเรียนว่าถูกหรือผิด แต่จะโยนคำถามให้นักเรียนคิดและตอบเองในใจว่า “หลังจากการเรียนรู้ในวันนี้ครูอยากให้นักเรียนตอบคำถามในใจอีกครั้งว่าความคิดเห็นของนักเรียนในครั้งนี้ยังคงเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนไป”

2.ครูร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity) ผ่านคลิปวิดีโอใน Youtube จากนั้นครูให้นักเรียนตอบคำถามจากกิจกรรม Recheck Myself ในข้อที่ 3 เราบอกกับตัวเองว่าเราเป็นเพศอะไร ? แล้วอ่านคำตอบร่วมกับนักเรียนทุกคน จากนั้นครูบอกนักเรียนว่า “ครูก็เป็นหนึ่งในบุคคลที่เป็น LGBTQIA+ ครูภูมิใจในตนเองมากที่ได้เกิดมาเป็นแบบนี้ ถ้าธรรมชาติสร้างโลกมาให้มีแค่เพศหญิงและเพศชายอีกไม่นานประชากรก็จะล้นโลก ครูคือหนึ่งในบุคคลที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้รักษาสมดุลของธรรมชาติ และการแต่งกายของครูในวันนี้ก็คือการผสมผสานความเป็นผู้ชายและผู้หญิงอย่างลงตัวที่อยากแสดงให้พวกเราได้เห็นว่าโลกใบนี้ไม่ได้มีแค่เพศชายและเพศหญิงเท่านั้น”

3.ครูร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักเรียนเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBTQIA+ ในไทยมีจริงหรือ? ผ่านคลิปวิดีโอใน Youtube จากนั้นร่วมกันสนทนาประเด็นข่าวการโดนคุกคาม การโดนทำร้ายและการโดนฆาตกรรมของกลุ่มคน LGBTQIA+แล้วให้นักเรียนร่วมกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือขั้นต้นหากพบว่ามีคนถูกทำร้ายซึ่งนักเรียนทุกคนได้ตอบร่วมกันคือ "ให้ใช้กฎหมายเป็นเครื่องป้องกัน แม้พวกเขาจะไม่ได้รับสิทธิ์จากการสมรสเท่าเทียมแต่สิทธิ์อย่างอื่นของเขาก็เท่าเทียมกัน " ครูถามนักเรียนต่อว่า “นักเรียนรู้หรือไม่ว่าปัญหาความเกลียดชัง LGBTQIA+เริ่มต้นจากที่ใดบ้าง” เมื่อนักเรียนตอบว่า ครอบครัว ชุมชน โรงเรียน ฯลฯ ครูจึงนำนักเรียนเข้าสู่เรื่อง “โรงเรียนและการบูลลี่”

4.ครูและนักเรียนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในเรื่อง“โรงเรียนและการบูลลี่”ผ่านคลิปวิดีโอข่าวบูลลี่เด็กไทยติดอันดับ 2 ของโลก จากนั้นรับชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง ร.พ.ก. จากหลักสูตรออนไลน์ Gender Diversity Respect to Stop Cyberbullying ของDtac

5.ครูและนักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็นจากการรับชมภาพยนตร์สั้นเรื่อง ร.พ.ก. โดยสรุปผลการแสดงความคิดเห็นของนักเรียนได้ว่า “การบูลลี่คือสิ่งที่น่ารังเกียจที่สุดภายในโรงเรียน เพราะการบูลลี่เป็นการฆ่าคนหนึ่งคนให้ตายทั้งเป็นจากความสนุกของใครบางคน หากทุกคนไม่ยอมรับและไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายและความแตกต่างระหว่างบุคคล ปัญหาเหล่านี้ก็จะไม่หมดไป ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมมือกันโดยเริ่มจากการมองว่าคนที่มีความแตกต่างจากเราไม่ว่าจะเป็นด้านเพศ รูปร่าง สีผิว เขาก็คือคนปกติเหมือนกับเรา”

6.เมื่อนักเรียนสามารถสะท้อนความคิดและปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อ LGBTQIA+ ในมุมมองที่ดีขึ้น ครูก็นำนักเรียนสู่การเปิดใจและเปิดมุมมองใหม่ๆว่าแม้เราจะเป็นหรือมีเพื่อนที่เป็น LGBTQIA+ ขอให้เราคิดว่าสิ่งนี้คือเรื่องปกติและสามารถเปิดเผยได้ในสังคมไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันเปิดกล่อง Peep Box สู่กล่อง Open Box ที่แสดงให้เห็นว่า “ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ” ไม่ใช่เรื่องที่ต้องอายหรือต้องปิดบังอีกต่อไป

7.จากนั้นครูตอกย้ำความคิดและความรู้สึกของนักเรียนที่มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติให้หนักแน่นมากขึ้น โดยเปิดให้นักเรียนร่วมอ่านกระทู้คำถามจากFacebook ที่ครูได้โพสต์ถามเพื่อนๆในFacebookว่า “ปัจจุบันนี้คุณรู้สึกอย่างไรกับ LGBTQIA+” ให้นักเรียนได้มองเห็นถึงทัศนคติของคนส่วนใหญ่ที่มองว่า LGBTQIA+คือคนปกติ

  ขั้นสรุปและสะท้อนผลการเรียนรู้

1.ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการสนทนาและตอบคำถามจากกิจกรรม Recheck Myself ในข้อที่ 4 สุดท้ายเราแสดงออกให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นเพศอะไร ?เพื่อเป็นการค้นพบตนเองว่าแท้ที่จริงแล้ว "นักเรียนเป็นเพศใดและมีรสนิยมทางเพศแบบไหน"

2.จากนั้นครูให้นักเรียนร่วมกิจกรรม “สะท้อนคิด สร้างโพสต์ LGBTQIA+ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา” ผ่านการบูรณาการตัวชี้วัด ท2.1 ป6/2 เขียนสื่อสารโดยใช้คำได้ถูกต้องชัดเจน และเหมาะสม โดยเขียนสื่อสารและแสดงความรู้สึกเพื่อโน้มน้าวใจนักเรียนภายในโรงเรียน ภายใต้แนวคิด“ความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติ” โดยจะทำการรณรงค์ผ่าน 2 ช่องทางคือ หน้าประตูห้องเรียนและในFacebookส่วนตัวโดยร่วมกันติดแฮชแท็ก#ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา เพื่อสร้างความตื่นตัวให้กับเพื่อนๆและน้องๆภายในโรงเรียน

3.ขยายผลการจัดกิจกรรม Recheck Myself และกิจกรรมสะท้อนคิด สร้างโพสต์ LGBTQIA+ #ให้ไซเบอร์บูลลี่จบที่รุ่นเรา สู่นักเรียนคนอื่นภายในโรงเรียน โดยมอบหมายนักเรียนไปให้ความรู้เพื่อนๆและน้องๆภายในโรงเรียนมาร่วมกิจกรรมบริเวณหน้าห้องเรียนโดยใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัยต่อการเรียนรู้ (เริ่มขยายผลวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นไป)


ผลจากการจัดการเรียนรู้

นักเรียนมีความสนุกต่อกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถค้นพบตนเองโดยเฉพาะในเรื่องเพศและรสนิยมทางเพศของตนเอง อีกทั้งนักเรียนเข้าใจรวมไปถึงมีทัศนคติที่ดีต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางสังคมในการขับเคลื่อนทางสังคมผ่านสื่อ Social Mediaอีกทั้งสามารถบูรณาการทักษะการใช้ภาษาไทยด้านการพูดและการเขียนสื่อสารเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจในเรื่องของ Gender Diversity "ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องปกติ" ซึ่งผลลัพธ์ปลายทางที่เกิดนี้จะก่อเกิดเป็น "ภูมิต้านทาน"การใช้ชีวิตในสังคมให้กับนักเรียนตลอดไป


ในฐานะผมที่เป็นLGBTQIA+ความหลากหลายทางเพศนั้นเป็นเรื่องปกติ จริงๆแล้วเราควรใช้คำว่า “ความปกติทางเพศ” เราจงอย่าลดทอนคุณค่าของตนเองด้วยคำว่า “แตกต่าง” “แปลก” หรือ"ไม่เหมือนกัน"...ไม่ว่าคุณจะเกิดเป็นเพศใดก็ตาม อย่าลดทอนคุณค่าตัวเองด้วยการทำตัวให้เป็นเหมือน "Peep box" ที่ไม่กล้าเปิดเผยหรือไม่ภูมิใจในความเป็นตัวตนของตนเอง แต่จงทำตัวเราให้เป็น "Open Box" เพราะความหลากหลายทางเพศคือเรื่อง "ปกติ" และคุณคือ "คนปกติคนหนึ่ง"ของสังคม


ขอขอบคุณ inskru.com และ Dtac ที่มอบโอกาสดีๆให้ครูไทยได้มีแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์และเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมแห่งความเท่าเทียมและปลอดภัยต่อทุกๆคน


หรรษาภาษาไทยกับครูเฟรม

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(4)