icon
giftClose
profile

Gender Diversity "เพราะมนุษย์ไม่จำกัดเพศ"

26130
ภาพประกอบไอเดีย Gender Diversity "เพราะมนุษย์ไม่จำกัดเพศ"

"เพศเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายไม่ต่างจากความเชื่อ ความคิด หรือทัศนคติ แต่สิ่งที่ทุกเพศมีร่วมกันคือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ดังนั้น นอกจากการได้รับการยอมรับและการให้เกียรติจากสังคมแล้ว สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นตามมาคือการมีสิทธิและเสรีภาพเท่าที่มนุษย์คนนึงควรจะมี"

ปัจจุบันสังคมไทยเริ่มเปิดใจให้กับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ซึ่งเราสามารถเห็นได้ผ่านสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นละคร ซีรีย์ ภาพยนต์ บทเพลง ที่มีการดำเนินเรื่องโดยใช้ตัวละครที่เป็นเพศเดียวกัน หากมองให้ลึกลงไปถึงความต้องการจากสังคมของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะเห็นว่าสิ่งที่จะแสดงว่าสังคมเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศจริง ๆ ก็คือ สิทธิและความเท่าเทียมแบบชายหญิงทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการรับเข้าทำงาน ห้องน้ำสาธารณะ การแสดงออกตามเพศสภาวะ การได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย หรือแม้แต่กระทั่งการสร้างครอบครัว และอื่น ๆ อีกมากมาย

ดังนั้น การสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศจึงเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อให้มนุษย์สามารถเติบโตไปอย่างเข้มแข็งในสังคมที่มีแต่การตัดสินและตีตรา จึงเกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้ Gender Diversity "เพราะมนุษย์ไม่จำกัดเพศ" ที่มุ่งให้เด็ก ๆ เห็นความสำคัญของการมี "สิทธิ" และ ความ "เท่าเทียม" กันของมนุษย์ ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องพลเมืองและความรับผิดชอบต่อสังคม วิชาต้านทุจริตศึกษา โดยใช้การ์ดเกมแสดงสถานการณ์ปัญหาของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่นักเรียนจะต้องหาวิธีในการช่วยเหลือพวกเขาในฐานะเพื่อนร่วมโลก...แต่การช่วยเหลือไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด พวกเขาจะต้องเจอทั้งคนที่สนับสนุนและคนที่ต่อต้าน เอาใจช่วยพวกกันเถอะ!!!

วัตถุประสงค์

  • นักเรียนสามารถอธิบายสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรจะได้รับ
  • นักเรียนเข้าใจและการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม
  • นักเรียนเคารพสิทธิความเสมอภาคของเพื่อนร่วมสังคม
  • นักเรียนสามารถเข้าใจเพศสภาวะของตนเองและผู้อื่น

อุปกรณ์ที่ใช้

  • บัตรภาพของเล่น
  • กระดาษฟลิบชาร์ต
  • เกมการ์ด
  • กระดานเดินแต้ม

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม (2 คาบ คาบละ 60 นาที)

คาบที่ 1         ตัดสิน ตีตรา

ขั้นนำ

นักเรียนช่วยกันแยกบัตรภาพของเล่นสำหรับเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย (ตามความคิดเห็นของนักเรียน)

ขั้นกระตุ้นการเรียนรู้

  1. กระตุ้นการเรียนรู้โดยสอบถามนักเรียนว่า “เด็กผู้ชายเล่นของเล่นของเด็กผู้หญิง หรือเด็กผู้หญิงเล่นของเล่นของเด็กผู้ชายได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?”
  2. โยนคำถามให้นักเรียนได้คิดต่อ... “แล้วนักเรียนคิดว่า ของเล่นถูกสร้างขึ้นเพื่ออะไร? ใช้ในการแบ่งเพศได้หรือไม่?” เพื่อชวนนักเรียนถกประเด็นในเรื่องมุมมองในเรื่องเพศที่ถูกกำหนดโดยสังคม

ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

นักเรียนทำกิจกรรม “ฉันเป็นใครในสังคมแห่งการตีตรา” ดังนี้ นักเรียนแบ่งกลุ่ม เป็น 6 กลุ่ม (ขึ้นอยู่กับจำนวน/บริบทของนักเรียน) เพื่อสุ่มหยิบเพศที่ตนเองจะได้ศึกษาค้นคว้า ได้แก่ ผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย เกย์ ทอม เลสเบี้ยน ฯลฯ

*คุณครูสามารถเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม*

โดยนักเรียนจะต้องแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเพศที่ตนได้รับลงในกระดาษฟลิบชาร์ตในประเด็นดังต่อไปนี้

  • นักเรียนคิดว่าเพศนั้นต้องมีลักษณะเป็นแบบไหน?
  • สิ่งที่สังคมคาดหวังให้เพศนั้นเป็นคืออะไร?
  • หากนักเรียนคือบุคคลในเพศนั้น แล้วไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวังไว้ แล้วนักเรียนคืออะไรกันแน่?

ขั้นสรุป

  • เมื่อแสดงความคิดเห็นจนครบทุกประเด็น นักเรียนถอดบทเรียนร่วมกัน โดยถามความรู้สึกของนักเรียนว่านักเรียนรู้สึกอย่างไร หากเราไม่ได้เป็นไปตามที่สังคมคาดหวังอยากให้เป็น และรู้สึกอย่างไรที่สังคมตีกรอบในการจำกัดการแสดงตัวตนผ่านคำว่า “เพศ”
  • ครูร่วมอภิปรายกับนักเรียนว่า เพศเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายไม่ต่างจากความเชื่อ ความคิด หรือมุมมอง แต่สิ่งที่ทุกเพศมีร่วมกันคือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ดังนั้น นอกจากการได้รับการยอมรับในสังคมแล้ว สิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นตามมาคือการมีสิทธิและเสรีภาพเท่าที่มนุษย์คนนึงควรจะมี


คาบที่ 2        เข้าใจ ยอมรับ


ขั้นนำ

นักเรียนดูคลิปจากละคร “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” ฉาก แอนตี้กะเทยตุ๊ดเกย์ทอมดี้ แล้วถามนักเรียนว่า นักเรียนเคยดูละครเรื่องนี้หรือไม่ ? ฉากนี้ต้องการจะสื่ออะไร ?

ขั้นกระตุ้นการเรียนรู้

  • กระตุ้นการเรียนรู้โดยสอบถามนักเรียนว่า “นักเรียนคิดว่า ณ ปัจจุบันนี้สังคมไทยยอมรับความหลากหลายทางเพศมากน้อยเพียงใด?”
  • เปิดคลิปการประชุมสภาขณะที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กำลังอภิปรายในประเด็นการสมรสเท่าเทียม แล้วให้นักเรียนลองบอกถึงความจำเป็นในการลงมติร่างกฎหมายดังกล่าว


ขั้นกิจกรรมการเรียนรู้

  • นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4 – 5 คน ทุกกลุ่มมีหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ให้กับตัวละครที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยจะมีการ์ดแก้ไขสถานการณ์ให้สุ่มหยิบ ในแต่ละรอบการเล่นผู้เล่นแต่ละกลุ่มจะมีการ์ดแก้ไขสถานการณ์อยู่กลุ่มละ 3 ใบ โดยสามารถเลือกใช้ใบไหนก็ได้ที่สามารถใช้กับตัวละครในแต่ละรอบได้ ซึ่งในการ์ดจะระบุตัวละครที่ช่วยได้และคะแนน เพื่อเป็นแต้มในการเดินบนกระดาน



  • หากกลุ่มใดเดินตามแต้มที่ตนเลือกแล้วไปตกที่หลุมอุปสรรค ก็จะต้องมาสุ่มหยิบการ์ดอุปสรรคและเดินถอยหลังตามจำนวนที่ระบุในการ์ด


  • หากกลุ่มใดเดินตามแต้มที่ตนเลือกแล้วไปตกที่หลุมสนับสนุน ก็จะต้องมาสุ่มหยิบการ์ดสนับสนุนและเดินหน้าตามจำนวนที่ระบุในการ์ด

  • กลุ่มที่ถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

** 1 รอบการเล่น หมายถึง แก้ไขสถานการณ์ให้ตัวละคร 1 ตัว**

** จำนวนตัวละครสามารถเพิ่มเติมได้ตามความสนใจ**

  • ชวนนักเรียนถอดบทเรียนจากเกม โดยการพูดคุยประเด็นปัญหาของตัวละครที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย มีการต่อสู้ เรียกร้องที่มีทั้งคนที่สนับสนุนและคนที่ต่อต้าน หากมองให้ลึกลงไปถึงข้อเรียกร้องก็จะพบว่าสิ่งที่คนที่มีความหลากหลายทางเพศต้องการมันคือสิทธิขั้นพื้นฐานที่ชายหญิงทั่วไปได้รับอยู่แล้ว ดังนั้น ตามหลักสิทธิมนุษยชน การที่จะให้สิทธิเหล่านี้แก่พวกเขาด้วยจึงเป็นสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้นในสังคมไทยด้วยเช่นกัน

ขั้นสรุป

  • ขมวดประเด็น โดยถามนักเรียนว่า นักเรียนคิดว่าอะไรบ้างที่ช่วยให้คนทุกเพศมีการดำเนินชีวิตที่เสมอภาคและเท่าเทียม ( แนวคำตอบ : การให้ความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย / การคุ้มครองบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ / การเปิดใจยอมรับจากสถาบันทางสังคม )

จากการจัดการเรียนรู้พบว่านักเรียนให้ความสนใจและสนุกกับการทำกิจกรรม และมีนักเรียนหนึ่งคนในห้องที่เป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้เพื่อนร่วมชั้นตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเองที่กระทำกับเพื่อนทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน

ภาพกิจกรรม






Link สำหรับโปรแกรมนำเสนอ : canva.com/design/DAE4qdSD4ZU/nMNxSnz1QZfE7Hj9TZD3WA/view?utm_content=DAE4qdSD4ZU&utm_campaign=designshare&utm_medium=link&utm_source=publishpresent

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 3

ชื่อไฟล์​: กระดานบันไดงู_Gender diversity.png

ดาวน์โหลดแล้ว 32 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(3)