icon
giftClose
profile

แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก

33714
ภาพประกอบไอเดีย แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก

วันนี้จะมาแบ่งปันไอเดียการสอนเพื่อให้นักเรียนยอมรับความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนอกจากนักเรียนจะได้พัฒนาทักษะทางด้านภาษาอังกฤษแล้ว ยังได้บูรณาการกับวิชาคณิตศาสตร์ ตลอดจนเรียนรู้ทักษะการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ นำไปสู่การยอมรับฟังความเห็นของผู้อื่น จนเกิดความเคารพซึ่งกันและกัน

ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน


1. ครูใช้คำถามว่า “นักเรียนรู้จักเพศทางเลือกหรือไม่ และเมื่อได้ยินคำว่า LGBT หรือ LGBT+ นักเรียนนึกถึงบุคคลสำคัญหรือบุคคลที่มีชื่อเสียงคนใดบ้าง จากนั้นยกตัวอย่าง” เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนรวมในการตอบคำถามอย่างสุภาพ

2. ครูให้นักเรียนพูดถึงความสามารถของบุคคลเหล่านั้น โดยใช้สรรพนามแทนคนเหล่านั้นว่า they ซึ่งเป็นสรรพนามที่ไม่เจาะจงเพศ ทั้งนี้นักเรียนสามารถแสดงความคิดเห็นเป็นภาษาอังกฤษได้ เช่น They can sing. They can help people. หรือ They can play in a movie. เป็นต้น

3. ครูบอกจุดประสงค์ในการเรียนว่าวันนี้จะได้เรียนรู้เรื่อง can/cannot พร้อมกับคำกริยาแสดงอาการ (action verb) อีกทั้งจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (gender diversity)


ขั้นให้ความรู้


ความรู้ด้านเนื้อหา (content) : ความหลากหลายทางเพศ

1. ครูสร้างความรู้ความเข้าใจของคำว่า “ความหลากหลายทางเพศ” ให้แก่นักเรียน โดยครูอธิบายว่า ความหลากหลายทางเพศ เป็นคุณลักษณะอันบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ (gender identity) ที่ไม่มีรูปแบบตายตัว สามารถเปลี่ยนแปลง และแตกต่างออกไปจากกรอบของเพศชาย/หญิง ที่ถูกกำหนดโดยสรีระตามธรรมชาติ จากนั้นครูตั้งคำถาม และเมื่อนักเรียนตอบคำถามตามความเข้าใจของนักเรียน ครูจึงอธิบายเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ

ครูถาม : นักเรียนคิดว่าเพศหญิงตามที่นักเรียนเข้าใจ ควรแสดงออกหรือทำกิจกรรมอะไรบ้างคะ

นักเรียนตอบ : แต่งหน้า ทำกับข้าว ใส่กระโปรง ทำงานบ้าน ฯลฯ

ครูถาม : แล้วเพศชายล่ะคะ ควรแสดงออกยังไง และผู้ชายทำอะไรได้บ้าง

นักเรียนตอบ : เตะบอล ไว้ผมสั้น ทำงาน ขับรถ ฯลฯ

ครูอธิบายว่า สิ่งที่ครูกำลังจะสื่อว่ากิจกรรมต่างๆ ที่นักเรียนยกตัวอย่างมานั้น เป็นสิ่งที่คนทั่วไปเข้าใจกันว่า นั่นคือ กลุ่มคนที่แสดงออกทางเพศตรงกับบรรทัดฐานของสังคม (gender conforming) ซึ่งเรานิยามคนเหล่านี้ว่า “คนตรงเพศ (cisgender)” กล่าวคือ เด็กชายหรือผู้ชายแสดงออกหรือทำกิจกรรมแบบผู้ชาย เช่น เตะบอล ใส่กางเกงตัดผมสั้น ใช้สรรพนามแทนตัวเองว่า “ผม” เป็นต้น และผู้หญิงก็แสดงพฤติกรรมแบบผู้หญิง เช่น แต่งหน้า ทำผม พูดจาคะ/ขา ทำกับข้าว เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนอีกมากมายที่แสดงออกต่างจากบรรทัดฐานของสังคมที่กำหนด (gender nonconforming) กล่าวคือ การแสดงออกทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศหญิง และเพศชายตามเพศกำเนิด ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติหรือขัดกับศีลธรรมแต่อย่างใด เพียงแต่คนกลุ่มนั้นมีความหลากหลาย เราสามารถพบได้ทั่วไปในสังคม ซึ่งเรานิยามคนเหล่านั้นว่า “เพศที่สาม (third gender)” หรือที่เราเคยได้ยินว่า LGBT หรือ LGBT+ ซึ่งได้แก่

- เลสเบี้ยน Lesbian : หญิงที่ดึงดูดหญิง 

- เกย์ Gay : ชายที่ดึงดูดชาย (บางครั้งก็ใช้อธิบายเลสเบี้ยนด้วย)

- ไบ Bisexual : บุคคลดึงดูดบุคคลทั้งเพศหญิงและเพศชาย

- หญิง/ชายข้ามเพศ หรือ ทรานส์ Transgender : หญิงหรือชายที่เพศกำเนิดไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศที่คิดหรือรู้สึก และแสดงออกตามเพศสภาพ เช่น แต่งตัว ทรงผม คำเรียก ท่าทาง โดยไม่ว่าจะศัลยกรรมแปลงเพศหรือไม่

- เควียร์ Queer : ไม่มีคำจำกัดความ เป็นเพศลื่นไหล เป็นเพศที่เหนือบรรทัดฐานเดิม เช่น เกย์ที่ต้องชอบเกย์ก็อาจจะเป็นเกย์ที่ชอบผู้หญิง หรือเป็นทอมที่ดึงดูดหญิงข้ามเพศ เป็นต้น นอกจากนี้ บางครั้ง Q ก็แทนคำว่า Questioning หมายถึงคนๆ นั้นกำลังตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอยู่

Intersex : เพศกำกวม

Asexual : ผู้ที่ไม่มีความปรารถนาทางเพศ (อธิบายต่อใน รัก/ชอบเพศอะไร Sexual orientation)

ความรู้ด้านภาษา (language) : ภาษาอังกฤษ

2. จากนั้น ครูสอนการออกเสียงคำกริยาแสดงอาการ (ครูผู้สอนสามารถเลือกใช้คำศัพท์ให้เหมาะสมกับระดับของผู้เรียนได้เลยนะคะ แต่ในกณีนี้ดิฉันสอนประถมปลาย จึงรวบรวมคำศัพท์ที่เหมาะสมกับระดับชั้นเหล่านี้ค่ะ) ซึ่งได้แก่

- sing

- swim

- cook

- play football

- play guitar

- do housework

- help people

- play in a band

- play in a movie

- save the world

2. ครูออกเสียงให้นักเรียนฟัง จากนั้นให้นักเรียนฝึกออกเสียงด้วยตนเอง ครูชี้ไปที่คำที่เขียนบนกระดาน เช่น male, female, lesbian, gay, bi-sexual และ transgender จากนั้นให้นักเรียนฝึกแต่งประโยคบอกเล่าและประโยคปฏิเสธ โดยใช้รูปแบบประโยค (pattern) ที่กำหนดให้และคำกริยาบอกอาการที่เรียนมา เพื่อบอกถึงความสามารถของกลุ่มคนเหล่านั้น เช่น

ประโยคบอกเล่า : They can___________________ .

ประโยคปฏิเสธ : They cannot / can’t ____________ .

(ในขั้นตอนนี้ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นของนักเรียน โดยอ้างอิงจากบุคคลใกล้ตัว หรือประสบการณ์ของนักเรียน ไม่มีผิด ไม่มีถูก และนักเรียนอาจแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันไปนะคะ)

3. นอกจากนี้ ครูยังฝึกให้นักเรียนใช้บทสนทนาถาม-ตอบ โดยใช้ประโยคคำถามที่ขึ้นต้นด้วย Can_____? ดังนี้

โครงสร้างประโยคคำถาม : Can + กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ + คำกริยาแสดงอาการ?

คำถาม : Can males/females/lesbians save the world?

คำตอบ : Yes, they can. หรือ No, they cannot/can’t.

4. นักเรียนฝึกสนทนาถาม-ตอบ กับเพื่อนร่วมชั้น ระหว่างนี้ ครูทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เพื่อช่วยเหลือนักเรียนในการออกเสียง และใช้คำศัพท์

ตลอดจนแสดงความคิดเห็นอย่างสุภาพ ขณะฝึกพูด


ขั้นกิจกรรม


1. ครูแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละ 4-5 คน

2. ครูแจกกระดาษบรู๊ฟให้นักเรียนกลุ่มละ 1 แผ่น นักเรียนตีตารางและเขียนข้อมูลลงในตารางตามตัวอย่าง หัวหน้ากลุ่มถามเพื่อนในกลุ่มเป็นภาษาอังกฤษว่า

“Can males/females/lesbians/gays ____________ ?” เพื่อนในกลุ่มตอบคำถามว่า “Yes, they can. หรือ No, they cannot/can’t.”

คำถาม : Can males/females/lesbians/gays ____________ ?

คำตอบ : Yes, they can. หรือ No, they cannot/can’t.”

3. หัวหน้ากลุ่มขีด (/) ลงในช่องตารางว่ากลุ่มคนเหล่านั้นสามารถทำอะไรบ้าง

4. จากนั้นแต่ละกลุ่มนำข้อมูลที่ได้ มาเขียนลงในแผนภาพเวนน์ (Venn diagram) โดยเขียนสิ่งที่กลุ่มคนตรงเพศ หรือ cisgender และกลุ่มเพศที่สาม หรือ third gender สามารถทำได้ลงในวงกลม 2 วง ซึ่งเป็นวงกลมที่ทับซ้อนกัน โดยส่วนที่ซ้อนกันคือสิ่งที่คนทั้งสองกลุ่มสามารถทำได้เหมือนกัน (อาจระบายสีวงกลมเพื่อความสวยงามและชัดเจน) ดังตัวอย่างต่อไปนี้

5. จากนั้นสมาชิกในแต่ละกลุ่มปรึกษากัน และแต่งประโยคจากแผนภาพเวนน์ เช่น Cisgenger males and females can play guitar, cook, and do housework. Third gender can sing, play in a movie, and play in a band. They both can help people, play football, swim, and save the world. ครูอธิบายการใช้คำว่า both ในที่นี้ หมายถึง คนสองกลุ่ม ซึ่งก็คือ กลุ่มคนตรงเพศและกลุ่มเพศที่สาม

6. จากนั้นให้นักเรียนฝึกพูด ครูให้นักเรียนที่มีความพร้อมก่อนออกมารายงานหน้าชั้นตามความสมัครใจ และแสดงผลงานของกลุ่มตนเองให้เพื่อนๆ ดู พร้อมกับพูดนำเสนอ


ขั้นสรุป


ครูสรุปข้อคิดจากการทำกิจกรรม จะเห็นได้ว่า แต่ละกลุ่มมีการแสดงความคิดเห็นต่างกันไป และตัดสินความสามารถของคนแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะตัดสินจากความคิดของตนเอง หรือจากบุคคลที่นักเรียนรู้จัก ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัว ดารา ศิลปิน หรือผู้ที่มีชื่อเสียง ดังนั้น ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง เราควรเคารพบุคคลอื่นจากจิตใจและพฤติกรรมที่ดี และเราควรยอมรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีเสรีภาพในการแสดงความสามารถของตนเองในการประกอบอาชีพ พัฒนาประเทศ และอยู่ร่วมกับสังคมอย่างเท่าเทียม ในฐานะเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกคนเกิดมาอย่างหลากหลาย และเราสามารถใช้ความหลากหลายนี้ ในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และทำประโยชน์เพื่อโลกใบนี้ ซึ่งนักเรียนสามารถนำข้อคิดนี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่างทางด้านความคิดหรือด้านอื่น ๆ


แหล่งที่มา

https://www.schoolofchangemakers.com/knowledge/28530/

https://www.tcijthai.com/news/2015/03/watch/5711

file:///C:/Users/teacher/Downloads/nadlada16,+Journal+manager,+_17-1(001-015)1%20(1).pdf

 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(14)
เก็บไว้อ่าน
(4)