icon
giftClose
profile

Yaoi? Why? ว๊าย เดี๋ยวนี้ไม่บูลลี่กันแล้วนะ!

24600
ภาพประกอบไอเดีย Yaoi? Why? ว๊าย เดี๋ยวนี้ไม่บูลลี่กันแล้วนะ!

สังคมปัจจุบันมีกี่เพศกันนะ? มาเรียนรู้กัน! การเข้าใจพื้นฐานของความหลากหลายทางเพศ รวมถึงสร้างการตระหนักรู้ให้ผู้เรียนอย่างแท้จริง แม้จะเป็นก้าวเล็กๆ แต่จะสามารถสร้างทัศนะด้านบวกให้กลุ่มคนเข้าใจเรื่องเพศซึ่งเป็นธรรมชาติของมนุษย์มากขึ้น ส่งผลให้การบูลลี่ลดน้อยลงและสังคมน่าอยู่มากขึ้นอีกด้วย

Yaoi? Why? ว๊าย เดี๋ยวนี้ไม่บูลลี่กันแล้วนะ!


ปัจจัยสำคัญสำหรับการเรียนการสอนเรื่องนี้คือ “ครู” “ผู้อำนวยการเรียนรู้” หรือ “ผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้” ต้องมีทัศนติที่ดีและเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศ เนื่องจากหากครูไม่มีความรู้ก็จะไม่สามารถปลูกฝังเด็กนักเรียนในเรื่องนี้ได้เช่นกัน เพราะโรงเรียนเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก และพบว่าครูคือคนกลุ่มแรกที่นักเรียนจะร้องขอความช่วยเหลือหรือแจ้งปัญหาได้มากที่สุดเมื่อเด็กนักเรียนรู้สึกว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง เพราะฉะนั้น ครูต้องเป็นผู้ริเริ่ม เป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างความน่าเชื่อถือให้กับเด็ก และมีทักษะมากพอที่จะช่วยแก้ปัญหาได้ เมื่อครูพัฒนาตนเองและมีทัศนคติในด้านบวกแล้ว มาเริ่มออกแบบการเรียนรู้กันเล้ยยยย! กิจกรรมวันนี้เรียกว่า “Yaoi? Why? ว๊าย เดี๋ยวนี้ไม่บูลลี่กันแล้วนะ!”


บทนำ

การทำความเข้าในเรื่องความหลากหลายทางเพศควรเป็นเรื่องพื้นฐานของสถานศึกษาทุกแห่งหรือสถานที่ใดก็ตามที่สามารถสอดแทรกเรื่องนี้ได้ เพราะโรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเยาวชนของชาติ หากพวกเขาได้เรียนรู้เรื่องเพศที่หลากหลายและเคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น การกลั่นแกล้งในโรงเรียนหรือในสถานที่อื่น ๆ ก็จะลดลง ฉะนั้น ควรให้ความรู้อย่างถูกต้องและสร้างการตระหนักรู้ตั้งแต่เด็กว่ามนุษย์มีความหลากหลาย และเรื่องเพศเป็นเรื่องที่สามารถเปลี่ยนแปลงลื่นไหลได้ตลอดชั่วอายุของมนุษย์ เพื่อลดการเลือกปฏิบัติ การตีตรา และตีกรอบเรื่องเพศ ทำให้สังคมพัฒนาในด้านที่ดีขึ้น


วัตถุประสงค์การเรียนรู้

1. สร้างการตระหนักรู้ ทัศนคติเชิงบวก และสร้างการเคารพต่อความหลากหลายทางเพศ

2. สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการบูลลี่ รวมถึงทักษะการแก้ปัญหาเบื้องต้น


ขั้นตอนดำเนินกิจกรรม มีดังนี้

1. “Yaoi และเรื่องเพศ”

หลังจากกล่าวคำทักทายกับผู้เรียนและแนะนำเรื่องหัวข้อการเรียนรู้เสร็จแล้ว เปิดวีดีโอซีรีส์วายเรื่อง คั่นกูเพราะเราคู่กัน ประมาณ 1-2 นาที สาเหตุที่เลือกซีรีส์เรื่องนี้เพราะเป็นที่รู้จักในวงกว้างและตรงตามวัตถุประสงค์ที่เรียนรู้ เรื่องเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชาย เป็นซีรีส์วายวัยนักศึกษาที่เข้าถึงง่าย นักเรียนบางคนรู้จักซีรีส์วายดีกว่าผู้สอนเสียอีก เมื่อเป็นวีดีโอหรือละครซีรีส์ที่เด็กชอบหรือคุ้นเคย พวกเขาจะเรียนรู้ได้ง่ายขึ้นและสนใจในสิ่งที่สอน โดยอาจเลือกตอนที่แนะนำตัวละครก็ได้ จุดประสงค์ของการเปิดวีดีโอนี้เพื่อให้เขาได้เข้าใจว่าเป็นซีรีส์ประเภทใด และนำเข้าสู่บทเรียน ดังนี้


(Cr. GMMTV)


ครู: มีใครรู้จักซีรีส์เรื่องนี้บ้างเอ่ย?

นักเรียน: (รู้จัก/ ไม่รู้จัก/ ครูค่ะ หนูดูจบไปหลายรอบแล้ว)

ครู: อยากชวนคุยว่าได้เห็นอะไรในซีรีส์เรื่องนี้? แล้วทำไมนักแสดงหลักเป็นผู้ชายกับผู้ชาย

นักเรียน: (มีคำตอบที่หลากหลาย) และบางคนอาจบอกว่า ก็มันเป็นซีรีส์ชายรักชาย เป็นซีรีส์วายไงค่ะ

ครู: ซีรีส์ชายรักชาย? ไม่ใช่ผู้หญิงกับผู้ชายก็รักกันได้เหรอ?

นักเรียน: (มีคำตอบที่หลากหลาย) บางคนที่เคยดูอาจบอกว่า โหหห รักกันได้ดิครู นี่มันสมัยไหนแล้ว โลกมันไปไกลแล้วนะ

ครู: งั้นครูมีกิจกรรมให้เล่น แบ่งกลุ่มกัน กลุ่มละ 3-5 คน ครูจะแจกกระดาษให้คนละหนึ่งแผ่น หัวข้อคือ นักเรียนคิดว่าเพศไหน สามารถรักกันได้บ้าง? ลองย้อนกลับไปคิดว่าเราเคยเห็นคู่รักเพศไหนบ้าง ให้ลองเขียนเป็นคู่ ๆ ออกมา พร้อมเขียนเพศกำกับไว้ ให้เวลา (1-2 นาที)



จากนั้นครูให้นำเสนอผลงานพร้อมเหตุผลคร่าว ๆ ถึงเหตุผลที่เขียนแบบนั้น จากนั้นครูเข้าเนื้อหาเรื่องความหลากหลายทางเพศ อาจเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าคำว่า “เพศ” คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วตามด้วยความหลากหลายทางเพศ


เพศ มีความหมายอย่างน้อย 3 นัย คือ

1. เพศสรีระ (Sex) หมายถึง เพศ ที่ถูกแบ่งโดยอิงกายวิภาคตามธรรมชาติ เป็นเพศที่หมายถึงสรีระร่างกาย หรือเขียนให้ตรงตัวก็คือ รูปสรีระและอวัยวะสืบพันธุ์ที่บ่งบอกว่าเป็นเพศอะไร

2. เพศสภาพ หรือเพศภาวะ (Gender) เป็นเพศที่หมายถึง เพศที่ถูกประกอบสร้างโดยสังคม เป็นเพศภาวะที่เราคุ้นเคยและถูกขัดเกลาหลอมสร้างกันมา นั่นคือ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ในอีกแง่มุมหนึ่ง เพศภาวะจึงเป็นเรื่องบทบาทหน้าที่ในเรื่องต่าง ๆ ที่สังคมกำหนดให้กับสถานะทางเพศซึ่งดูจากเพศสรีระเป็นหลัก คือ เพศหญิง เพศชาย เช่น สังคมกำหนดว่าเพศชายต้องเข้มแข็ง เพศหญิงต้องอ่อนโยน เป็นต้น หากสังคมใดสังคมหนึ่งเปลี่ยนการกำหนดสถานะทางเพศว่าอาจมาจากองค์ประกอบอื่น ๆ นอกเหนือจากเพศสรีระ สถานะทางเพศก็อาจมีเพิ่มขึ้น เช่น เกย์ กะเทย ทอม ดี้ ฯลฯ (หรือที่เรียกว่าอัตลักษณ์ทางเพศ) อันนำไปสู่การกำหนดบทบาททางเพศต่าง ๆ มากกว่าหญิงชาย เพศสภาพหรือเพศภาวะของบุคคลกลุ่มนี้ จึงต่างจากเพศกำเนิดตรงที่มีความลื่นไหล บุคคลสามารถเลือกหรือกำหนดเพศที่ตรงกับตัวตนของตนเองได้โดยไม่ต้องอ้างอิงกับเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิด

3. เพศวิถี (Sexual Orientation) คือ การแสดงออกเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ ความพึงพอใจ ความปรารถนาในเรื่องเพศ อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว แรงดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ และเป็นเรื่องปกติ รสนิยมทางเพศนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละช่วงเวลา เป็นการแสดงออกทางเพศรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งที่ยอมรับร่วมกันในสังคนนั้น ๆ เช่น การกอดจูบกันในที่สาธารณะอาจเป็นสิ่งที่ยอมรับในสังคมหนึ่งแต่ถูกต่อต้านในอีกสังคม เพราะทั้งสองบริบทมีระบบเพศวิถีแตกต่างกัน

ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องเพศ จะมีอีกคำหนึ่งที่พบได้บ่อย ๆ คือ คำว่า “อัตลักษณ์ทางเพศ” (Gender Identity) ซึ่งหมายถึง การแสดงออกทางเพศภาวะของตนเอง การแสดงออกว่าตนเองเป็นเพศใด ซึ่งอาจสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดก็ได้ ดังที่ยกตัวอย่างไว้คือ เกย์ กะเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน ฯลฯ หรือบางคนอาจไม่กำหนดอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดเลยก็ได้ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ คือ "ความหลากหลายทางเพศ"


เปรียบเทียบกับรูปให้เห็นภาพง่ายขึ้น (Cr. dtac)


กิจกรรมทบทวนเรื่องเพศ

กิจกรรมต่อมาเรามาทดสอบความเข้าใจกันหน่อย ครูจะอ่านประโยคต่อไปนี้ ให้นักเรียนเอาโพสอิทไปแปะตรงข้อความที่คิดว่าใช่ ครูจะแบ่งข้อความออกเป็น 4 กลุ่ม คือ


2. “Why? บูลลี่” บูลลี่กันทำไมหนอ

เมื่อนักเรียนเข้าใจเรื่องเพศเบื้องต้นแล้วว่ามีความหลากหลาย นำเข้าสู่กิจกรรมการเข้าใจเรื่องบูลลี่ โดยให้ดูวีดีโอคลิปเกี่ยวกับการบูลลี่ในโรงเรียน (ซึ่งแน่นอนว่าการเรียนเรื่องนี้ต้องกล่าวถึงความรุนแรง การกลั่นแกล้งกันในสังคมเป็นหลัก ฉะนั้นอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงความรุนแรงและการกลั่นแกล้งโดยตรง เนื่องจากจะทำให้นักเรียนรู้ถึงสภาพสังคมจริง) เช่น คลิปที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศถูกบูลลี่ (ได้แก่ ที่มา Cr. https://www.youtube.com/watch?v=Kg2zVTZ2H2c) คลิปอาจตัดมาเป็นคลิปสั้น ๆ ประมาณ 4-5 นาที


ครู: ชวนคุย เห็นอะไรบ้างในคลิปนี้


(ตัวอย่างคำตอบนักเรียน)


ครู: จากคำตอบข้างบน รวม ๆ แล้วมีการกลั่นแกล้ง บูลลี่ ข่มขู่ ฯลฯ ซึ่งเป็นการแสดงออกในด้านลบ ครูอยากรู้ว่าคำว่าบูลลี่ในความคิดของนักเรียนมีหมายความว่าอย่างไร อยากให้ช่วยแชร์ความคิดเห็น

นักเรียน: (แสดงความคิดเห็น)

ครู: ชวนคุยต่อ นักเรียนคิดว่าทำไมคนที่เป็นเพศหลากหลายจึงตกเป็นเป้าของการบูลลี่ หรือ Cyberbullying

นักเรียน: (แสดงความคิดเห็น)

ครู: คนที่เป็นผู้กระทำหรือเป็นผู้แกล้งเพื่อนในคลิป คิดว่าทำไมเขาถึงทำแบบนั้น หรือเขาทำด้วยความรู้สึกอย่างไร

นักเรียน: (แสดงความคิดเห็น)

ครู: แล้วคิดว่าคนที่ถูกบูลลี่หรือถูกแกล้งในคลิป เขารู้สึกอย่างไร ถ้าเราเป็นเขาเราจะรู้สึกอย่างไร

นักเรียน: (แสดงความคิดเห็น)

**จากนั้นเสริมเรื่องให้ความรู้เกี่ยวกับการบูลลี่**


บูลลี่ (Bully) คือ การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น ซึ่งมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีช่องว่างระหว่างผู้ที่มีพละกำลัง หรืออำนาจมากกว่าแสดงออกแก่ผู้ที่อ่อนแอกว่า และมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยพบการบูลลี่ในโรงเรียน ในที่ทำงาน ในสื่อโชเชียลออนไลน์ นำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจ ที่ร้ายแรงได้ในอนาคต

โดยลักษณะการบูลลี่ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำ ประกอบด้วย 2 เงื่อนไขต่อไปนี้

1. การใช้กำลังกลั่นแกล้ง ด้วยการแสดงออกจากกลุ่มเด็กที่มีอำนาจ หรือมีพละกำลังที่แข็งแรง ด้วยการใช้กำลังทำให้ผู้อื่นเกิดความรู้สึกอับอายในที่สาธารณะ ด้วยการกลั่นแกล้งที่เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา

2. มักเกิดขึ้นซ้ำ ด้วยพฤติกรรมกลั่นแกล้งที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง

การกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นนี้รวมถึงการกระทำทางร่างกาย และการข่มขู่ รวมถึงการปล่อยข่าวลือทางวาจาและใน Social Media อีกด้วย การบูลลี่จึงเกิดขึ้นได้ทั้งทาง ทางวาจา เช่น ล้อเล่น, เรียกชื่อ, แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม, เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำอันตราย ทางสังคม เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม, กระจายข่าวลือให้เสียหาย, กีดกันไม่ให้เป็นเพื่อนกัน, ทำให้เกิดความอับอายในที่สาธารณะ ทางกายภาพ เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้สะดุด แย่งสิ่งของ รวมถึงการบูลลี่ทางอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า Cyberbully ฉะนั้น การบูลลี่คือการใช้อำนาจรูปแบบหนึ่งนั่นเอง (ที่มา Cr. https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2034455)


กิจกรรมย่อยระดมสมองแก้บูลลี่

เมื่อให้ความรู้เรื่องบูลลี่แล้ว ครูชวนคุยต่อเรื่องการลดความรุนแรง หรือการกลั่นแกล้ง โดยแบ่งกลุ่มทำกิจกรรมและนำเสนอในหัวข้อ “บูลลี่มันเชยแล้ว มาเป็นเพื่อนกันดีกว่า” โจทย์คือ นักเรียนมีวิธีการอย่างไรที่จะลดการบูลลี่ได้บ้าง หรือเมื่อเห็นเพื่อนถูกบูลลี่นักเรียนควรทำอย่างไร จากนั้นให้นำเสนอแนวคิดเห็นของแต่ละกลุ่ม พร้อมทั้งให้เพื่อนในชั้นเรียนออกความคิดเห็นเพิ่มเติม และครูสอดแทรกเรื่องการรับฟังปัญหาของนักเรียนที่ถูกบูลลี่และการเข้าช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ (ประมาณ 5-10 นาที)


3. “เดี๋ยวนี้เขาไม่บูลลี่กันแล้วนะ”

กิจกรรมต่อมา มาชวนดูซีรีส์กันอีกเรื่องดีกว่า ซึ่งวันนี้นำเสนอซีรีส์วาย “เรื่องนิทานพันดาว!!” สาเหตุที่เลือกซีรีส์เรื่องนี้เพราะทำการค้นคว้าข้อมูลทางโซเชียลด้วยตนเอง พบว่า ซีรีส์วายเรื่องนิทานพันดาวสามารถเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายได้ เช่น กลุ่มเด็ก คนในครอบครัว กลุ่มผู้ใหญ่ ฯลฯ โดยไม่ได้เป็นแฟนซีรีส์ก็สามารถเข้าถึงได้ และมีฉากที่แสดงให้เห็นถึงการยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แสดงให้เห็นถึงการเคารพรสนิยมทางเพศของคนอื่น โดยเลือกตอนที่ตัวละครนายเอกเปิดใจกับเพื่อนของตนและยอมรับว่าตนเองเป็นเกย์ คือ ตอนที่ EP.5 [2/4] นาที 11:09-12:20 ใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที

(ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=YDgOm2N2afk)



จากนั้นชวนคุยและถอดบทเรียนจากคลิปนิทานพันดาว

ครู: นักเรียนคิดว่าทำไมคนที่เป็นเพื่อนกันในคลิปนี้ ถึงไม่บูลลี่เพื่อน ทำไมเขาถึงยังเป็นเพื่อนกันได้ละ



(ตัวอย่างคำตอบนักเรียน)


ครูชวนคุยต่อ ในประเด็นที่นักเรียนตอบมาข้างต้น จากนั้นถอดบทเรียนทั้งหมด โดยให้ความรู้เรื่องการเคารพสิทธิ์ของผู้อื่น การเปิดกว้างด้านความคิด และเคารพความแตกต่างหลายหลายเรื่องเพศเพิ่มเติม อาจเปรียบเทียบกับต่างประเทศและกฎหมายว่าด้วยความเท่าเทียมทางเพศ ว่าเรื่องเช่นนี้มีมานานแล้ว ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดปกติและไม่ใช่เรื่องทางจิตแต่อย่างใด หากแต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ (5-10 นาที)


กิจกรรมย่อยสุดท้ายก่อนจบวันนี้

ครู: อยากทราบว่านักเรียนได้เรียนรู้อะไรบ้างในวันนี้ อยากให้แชร์ร่วมกันในชั้นเรียน และถ้าอยากให้ปรับปรุงเรื่องใดบ้าง ให้เขียนใส่โพสอิท โดยไม่ต้องลงชื่อนักเรียน รวบรวมส่งให้ครูหลังเลิกเรียน

ครู: คำถามสุดท้ายของวันนี้ ครูอยากรู้ว่า หากเราเลือกได้ เราอยากอยู่ในสังคมแบบไหนและมีเพื่อนแบบไหน แบบที่ 1 คือ โดนเพื่อนบูลลี่ในโรงเรียน หรือแบบที่ 2 คือ อยู่ในโรงเรียนที่มีการเคารพและเข้าใจกันและกัน (แบบในเรื่องนิทานพันดาว) เลือกได้แล้วให้เอาโพสอิทไปแปะฝั่งที่เลือกได้เลย




**ตรงส่วนนี้ผู้สอนอาจชวนคุยต่อในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ หรือโยงไปเรื่องอื่นๆ อีกได้ แต่จะจบแบบปลายเปิดเพียงเท่านี้ก็ได้ค่ะ**


สรุปท้ายบทเรียน

การสร้างการตระหนักรู้ สร้างทัศนคติเชิงบวก และสร้างการเคารพต่อความหลากหลายทางเพศให้บุคคลในสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่จะลดปัญหาต่าง ๆ ได้ ไม่ใช้เฉพาะการบูลลี่เท่านั้น หากแต่รวมถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีและลดการฆ่าตัวตายได้ด้วย อีกทั้ง ยังเป็นการกระตุ้นให้คนในสังคมไม่เพิกเฉยต่อปัญหาการบูลลี่ ไม่มองว่าปัญหาเหล่านี้คือเรื่องปกติ กิจกรรมในวันนี้อย่างน้อยจะสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้เรียนได้รู้ว่าพวกเขาอยากเป็นคนแบบไหนและอยากอยู่ในสังคมแบบไหน หากพวกเขาอยากอยู่ในสังคมที่ดีและไม่มีการกลั่นแกล้งกันพวกเขาก็ควรปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ในด้านที่ดี ถือเป็นจุดเริ่มต้นของผู้เรียนที่ดีที่จะสามารถต่อยอดความรู้และความเข้าใจเรื่องนี้ได้ในอนาคต


คำแนะนำเพิ่มเติม

1. กิจกรรมและเนื้อหาอาจเหมาะกับผู้เรียนตั้งแต่อายุ 13 ปีขึ้นไป ทั้งนี้สามารถปรับกิจกรรมหรือรู้ภาพตามอายุผู้เรียนได้ตามความเหมาะสม

2. สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มคนในครอบครัวหรือผู้อื่น เช่น ผู้หริหาร ให้เกิดความตระหนักรู้ร่วมกันในเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามดุลยพินิจ


ขอบคุณกิจกรรมดี ๆ ที่เปิดรับไอเดียการสอน หรือการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายในเรื่องนี้



***************************หวังว่าจะได้พบกันอีก ขอบคุณค่ะ*****************************

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(4)