icon
giftClose
profile

ความหลากหลายทางเพศผ่านชุดกิจกรรม

27564
ภาพประกอบไอเดีย ความหลากหลายทางเพศผ่านชุดกิจกรรม

กิจกรรมชุด “เพราะเราเข้าใจกัน” ประกอบด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ 3 กิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือเลือกใช้ได้ตามความต้องการ เพื่อเสริมสร้างและปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดทัศนคติที่ดีต่อ “ความหลากหลายทางเพศ”

จุดประสงค์ของกิจกรรม

1. ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดีและเข้าใจความแตกต่างของแต่ละบุคคล

2. ผู้เรียนสามารถอภิปรายสิ่งที่ได้รับจากการทำกิจกรรมได้ตามเป้าหมายของแต่ละกิจกรรม

3. ผู้เรียนสามารถบอกความแตกต่างหรือความเหมือนของสื่อที่ผู้สอนให้นักเรียนสังเกตได้อย่างถูกต้อง

กลุ่มเป้าหมาย : ผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 3

แนวทางการนำไปใช้ : เป็นกิจกรรมในคาบโฮมรูม หรือผู้สอนสามารถเลือกนำกิจกรรมไปเป็นแนวทางเพื่อบูรณาการเข้ากับเนื้อหาบทเรียนตามรายวิชาที่ตนรับผิดชอบได้


กิจกรรมที่ 1 Shadow Hunt (บอกมาคุณคือใคร)

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1. ผู้สอนอธิบายกติกาของเกมให้ผู้เรียนทำความเข้าใจ กติกาของเกมมีดังนี้

- ให้นักเรียนบอกลักษณะของบุคคลในภาพมาให้ได้มากที่สุด (การตัดสินขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของครูผู้สอน โดยอาจเลือกลักษณะสำคัญไว้อย่างหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางการตัดสิน)

- หากใครต้องการตอบให้กดปุ่มยกมือเพื่อตอบครู

- ผู้ที่ตอบถูกจะได้รับคะเเนน 3 คะเเนน

 2. เมื่อผู้สอนอธิบายกติกาเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงเริ่มเล่นเกมได้

 3. เมื่อทายลักษณะครบทุกข้อแล้ว ต่อไปให้คุณครูชวนนักเรียนอภิปรายคำถามชวนคิด “นักเรียนเห็นความเหมือนหรือแตกต่างใดบ้าง จากภาพที่ครูนำมาทาย” โดยให้นักเรียนที่ต้องการตอบคำถาม กดปุ่มยกมือและพูดนำเสนอความคิดเห็นของตัวเองทีละคน หลังจากให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นแล้ว ครูจึงสรุปสิ่งที่ครูต้องการให้นักเรียนเข้าใจจากเกมนั่นก็คือ “จากภาพที่ครูนำมาทั้งหมดนั้น เพียงแค่นักเรียนเห็นจากเงานักเรียนทุกคนย่อมสามารถทายได้ว่าทุกคนล้วนเป็นคนหรือมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าคนเราจะมีความแตกต่าง หลากหลายแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น เพศ วัฒนธรรม ศาสนา เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามภายในใต้ผิวหนัง คนทุกคนนั้นล้วนเป็นมนุษย์ที่มีร่างกาย อวัยวะ และจิตใจเหมือนกัน ไม่มีใครควรถูกมองว่าแตกต่างเพียงเพราะเขามีลักษณะภายนอกที่ไม่เหมือนกัน เพราะสุดท้ายไม่ว่าอย่างไรก็ตามทุกคนนั้นล้วนเป็นมนุษย์เหมือนกัน”

 

กิจกรรมที่ 2 “ความรู้สึกฉันใครจะเข้าใจ”

ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1. เริ่มกิจกรรมด้วยการให้นักเรียนสังเกตรูปภาพบนสไลด์ และชวนนักเรียนอภิปรายในประเด็น ดังต่อไปนี้

-  จากภาพนักเรียนสังเกตเห็นอะไรบ้าง

-  นักเรียนคิดว่าเด็กทั้งสองคนในภาพทั้งสองฝั่งมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

-  นักเรียนคิดว่าความรู้สึกของเด็กในภาพฝั่งซ้ายเป็นอย่างไร

-  นักเรียนคิดว่าความรู้สึกของเด็กในภาพฝั่งขวาเป็นอย่างไร

-  หากนักเรียนเป็นเด็กทั้งสองคนนี้นักเรียนจะรู้สึกอย่างไร

2. เมื่อผู้เรียนร่วมอภิปรายในประเด็นข้างต้นครบทุกคำถามแล้ว ครูให้นักเรียนลองวาดอิโมติคอนแสดงความรู้สึกของเด็กแต่ละฝั่งลงในช่องความคิด หรือครูอาจให้นักเรียนกดอิโมติคอนในโปรแกรมที่ใช้สอนได้ ปรับตามความเหมาะสม


3. เมื่อผู้เรียนวาดเสร็จแล้ว ผู้สอนจึงเล่าเหตุการณ์ในรูป ดังนี้ “ในรูปตรงกลางเป็นเด็ก 2 คน ผู้หญิง ชื่อว่าต้นข้าว ส่วนเด็กผู้ชายชื่อว่า ต้นกล้า เด็กทั้งสองคนเป็นเด็กทั่วไปเหมือนพวกเราที่มีความชอบเป็นของตัวเอง เพียงแต่ว่าความชอบของเด็กทั้งสองคนนี้ไม่เป็นไปตามที่ทุกคนต้องการ ทุกคนต้องการให้ต้นข้าวแต่งตัวเป็นผู้หญิงที่เรียบร้อย เล่นตุ๊กตาน่ารัก ๆ ส่วนต้นกล้าก็ต้องแต่งตัวเท่ ๆ หล่อ ๆ เตะฟุตบอลหรือเล่นหุ่นยนต์ แต่ความเป็นจริงแล้วเพียงแค่ความชอบของเด็กทั้งสองคนนันสลับกัน ซึ่งพอเป็นเช่นนี้เด็กสองคนจึงโดนกลั่นแกล้งและต่อว่าจากเพื่อน ๆ และครอบครัวเหมือนกับรูปทางซ้าย ส่วนรูปทางขวาเป็นรูปในจินตนาการของเด็กทั้งสองคนที่ต้องการให้ทุกคนยอกรับและเข้าใจพวกเขา”

4. ให้นักเรียนทำใบงาน “คำชมในความทรงจำ” ผู้สอนอธิบายรายละเอียดในใบงาน ดังนี้

- ให้นักเรียนเขียนคำชมที่นักเรียนเคยได้รับ และจำได้ไม่เคยลืม, คำชมที่อยากได้, คำชมสำหรับปลอบใจต้นกล้าและต้นข้าว

-  ให้นักเรียนนำคำชมที่ต้องการปลอบใจต้นข้าวและต้นกล้าไปเขียนลงตรงกลางของดอกไม้ พร้อมระบายสี ตกแต่งให้สวยงาม

5. เมื่อนักเรียนทำใบงานเสร็จเรียบร้อย ผู้สอนควรเลือกใช้วิธีการสุ่มนักเรียนจำนวน 5 คนที่ยังไม่เคยตอบหรือใช้วงล้อสุ่มชื่อเพื่อความทั่วถึงในการตอบคำถามและเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวในการทำกิจกรรม โดยสุ่มนักเรียนขึ้นมาพูดและโชว์ผลงานดอกไม้ที่จะมอบให้ต้นกล้าและต้นข้าวทีละคน โดยทั้งนี้ขณะที่นักเรียนทั้ง 5 คนพูด ภาพทางฝั่งซ้ายก็จะถูกเลือนหายไปเหลือแต่รูปที่มีความสุขทางฝั่งขวา

6. ผู้สอนพูดสรุปภาพรวมของกิจกรรม โดยร่วมชวนนักเรียนอภิปรายในคำถาม “นักเรียนรู้สึกอย่างไรบ้างตอนที่ได้พูดให้กำลังใจเด็กทั้งสองคน” เมื่อนักเรียนร่วมอภิปรายเสร็จแล้ว ผู้สอนจึงสรุปว่า “กิจกรรม ความรู้สึกฉันใครจะเข้าใจ เป็นกิจกรรมที่ต้องการสื่อให้นักเรียนปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพในสิ่งที่เขาเป็น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เขาชอบหรือสิ่งที่เขาทำ โดยต้องให้เกียรติคนอื่นอย่างที่ตนเองคาดหวังให้เขาปฏิบัติต่อตนเอง มอบคำชมดี ๆ ต่อกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา”

 

กิจกรรมที่ 3 “สวนดอกไม้ในจินตนาการ”



ขั้นตอนการดำเนินกิจกรรม

1. ผู้สอนให้นักเรียนจับกลุ่ม กลุ่มละ 3-4 คน

2.ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันวาดรูปสวนดอกไม้ตามจินตนาการของกลุ่มตนเอง ภายในเวลา 10 นาที

3. นำเสนอผลงานสวนดอกไม้ของกลุ่มตนเอง พร้อมทั้งยกตัวอย่างสิ่งที่สำคัญที่สุดในสวนดอกไม้ของตนเองมา 3 อย่าง โดยให้เเปลกแตกต่างจากกับกลุ่มที่นำเสนอไปก่อนหน้า

4. ผู้สอนถามคำถามชวนนักเรียนอภิปรายว่า “นักเรียนคิดว่าหากครูเปลี่ยนจากสวนดอกไม้เป็นโลกของเราบุคคลใดจะสำคัญมากที่สุดในโลกใบนี้ เพราะเหตุใด ?”

5. หลังจากอภิปรายคำถามข้างต้นเสร็จแล้ว ผู้สอนสรุปให้ผู้เรียนฟังว่า “จากกิจกรรมสวนดอกไม้ในจินตการนี้ ครูต้องการให้นักเรียนเห็นว่าแม้แต่สวนดอกไม้เองก็มีความแตกต่างและหลากหลาย ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ในสวนดอกไม้นั้นล้วนสำคัญและมีคุณค่า ซึ่งคนเราเองก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีความแตกต่างและหลากหลายแต่ทุกคนล้วนมีคุณค่าและความสำคัญเหมือนกัน ดังนั้นครูอยากให้นักเรียนเข้าใจว่าความแตกต่างคือความสวยงาม ทุกคนล้วนมีคุณค่าที่ไม่สมควรได้รับคำพูดที่ไม่ดีจากใคร”


คำแนะนำเพิ่มเติม

  1. สำหรับกิจกรรมที่มีการเขียนใบงานสำหรับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 หรือนักเรียนที่ยังเขียนไม่คล่อง ครูสามารถให้นักเรียนเปลี่ยนเป็นการพูดออกมาแทนได้
  2. ในช่วงที่ให้นักเรียนอภิปรายแสดงความคิดเห็น ครูควรพูดเสริมแรงความเห็นของนักเรียน ไม่ตัดสินว่าผิด อาจจะลองชวนนักเรียนคิดให้เกิดความเข้าใจ
  3. ส่วนสรุปท้ายกิจกรรมเป็นเพียงเเนวทางคำพูดสรุปของผู้จัดทำเท่านั้น ดังนั้นเเล้วครูสามารถปรับการใช้ภาษาให้มีความเหมาะสมกับนักเรียนของตนเองได้

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 4

ชื่อไฟล์​: กิจกกรรมบอกมาคุณคือใคร.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 47 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(8)