เมื่อผัดกะปิสะตอและแกงส้มรสแซ่บ ปะทะกับ พิซซ่าและแฮมเบอเกอร์ จะทำอย่างไรให้ทั้งหมดกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน?
บทความนี้พร้อมจะพาผู้อ่านทุกท่านไปเที่ยวเมืองสองทะเลอย่างจังหวัดสงขลา ที่ซึ่งรวบรวมนักเรียนจากทั่วสารทิศในภูมิภาคท้องถิ่นใต้มาเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการเรียนระดับอุดมศึกษา โดยนักเรียนส่วนใหญ่จะเติบโตมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ใช้ภาษาถิ่นในการสื่อสารเป็นภาษาแม่ รองลงมาคือภาษาไทยกลางหรือที่รู้จักกันในชื่อของ “การพูดทองแดง” ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษให้ชัดถ้อยชัดคำถือเป็นเรื่องที่อยู่ไกลตัว
นอกจากนี้พื้นที่เขตภาคใต้ยังเป็นแหล่งชุมชนที่สำคัญของพี่น้องชาวมุสลิม ผู้เรียนที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่งนับได้ว่าภาษาอังกฤษถือเป็นภาษาที่ 3 รองจากภาษามลายูและภาษาไทย ทำให้เมื่อเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาที่ต้องมีการเรียนภาษาอังกฤษ นักศึกษาหลายคนจึงหวาดกลัวและขาดกำลังใจในการเรียน การทำให้ผู้เรียนทั้งสองกลุ่มคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษจึงนับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายของครูผู้สอนอย่างมาก
แต่ความหวาดกลัวนั้นจะหายไป เมื่อ อาจารย์ขวัญ อมรรัตน์ จิรันดร อาจารย์ประจำหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้มีเทคนิคในการสร้างกิจกรรมจากความคุ้นชินของภาษาใต้ ที่จะช่วยให้นักศึกษากล้าเป็นมิตรกับภาษาอังกฤษได้อย่างไม่น่าเชื่อในกิจกรรม คนใต้แหลงอังกฤษชับเปรี๊ยะ
เรียนอังกฤษจน Can die ที่แปลว่าพอใช้ได้!
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม ๆ โดยแต่ละกลุ่มจะได้รับใบงานที่มีชื่อว่า “คนใต้แหลงอังกฤษชับเปรี๊ยะ” ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1.คำศัพท์ภาษาอังกฤษจำนวน 8 คำ ที่มีเสียงคล้ายคลึงกับคำศัพท์หรือสำนวนภาษาใต้ 2. แบบฝึกหัดที่แบ่งเป็น 3 ประเด็นหลักให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบ อันประกอบไปด้วย คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, ความหมาย/เสียงในภาษาใต้ และ ความหมายที่ถูกต้องของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
ความสนุกของกิจกรรมเริ่มต้นจากการที่นักศึกษาต้องพุ่งเป้าหมายไปยังหัวข้อที่ 2 “ความหมาย / เสียงในภาษาใต้” โดยนักศึกษาผู้เป็นเจ้าถิ่นต้องออกเสียงคำศัพท์สำเนียงใต้ที่มีความหมายสอดคล้องกับโจทย์ที่กำหนดให้ เช่น “แม่อยู่ไหน” คนใต้จะมีเอกลักษณ์ซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว โดยใช้วิธีตัดคำให้สั้นลงและเรียบเรียงรูปประโยคใหม่ในสไตล์คนใต้ จนกลายเป็นเสียง “ไหนแหม้” ที่แตกต่างจากภาษากลาง
เมื่อถอดรหัสได้คำสำเนียงใต้เป็นที่เรียบร้อย นักศึกษาจะต้องจับคู่กับคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีการออกเสียงคล้ายคลึงกับภาษาใต้ อย่างคำว่า “Nightmare” โดยจะต้องเขียนคำศัพท์ดังกล่าว ลงในหัวข้อที่ 1 “คำศัพท์ภาษาอังกฤษ”
แต่การตระหนักรู้วิธีการออกเสียงคำศัพท์ที่กำหนดให้อย่างเดียวคงยังไม่พอ เพราะนักศึกษาต้องตามหาความหมายที่ถูกต้องของคำศัพท์นั้น ๆ เช่น “Nightmare” แปลว่า “ฝันร้าย” และกรอกความหมายดังกล่าวลงในหัวข้อที่ 3 “ความหมายที่ถูกต้อง” ซึ่งนับเป็นการเสร็จสิ้นภารกิจตามหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีกลิ่นอายใกล้เคียงกับภาษาใต้ที่คุ้นเคย ซึ่งอาจารย์ขวัญก็อนุญาตให้นักศึกษาใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างเต็มที่ เพื่อการค้นหาความหมายและฝึกฟังการออกเสียงของคำศัพท์ที่ถูกต้อง
แหลงอังกฤษให้ดู ใครจะสู้มาต่ะ!
เมื่อนักศึกษาทุกกลุ่มทำใบงานเสร็จ อาจารย์ขวัญจะให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนจำนวน 3 คน ออกมาอธิบายคำตอบ โดยแต่ละคนจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. คนที่แหลงใต้ได้หรอยที่สุด ต้องมาออกสำเนียงใต้ของคำศัพท์นั้นให้เพื่อน ๆ ฟัง
2. คนที่ Speak English ได้เลิศที่สุด ต้องมาออกสำเนียงภาษาอังกฤษแต่ละคำศัพท์ให้เพื่อน ๆ ฟัง
3. คนที่จะมาอธิบายความหมายที่แท้จริงของคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
แม้แต่ละกลุ่มต้องออกมานำเสนอเนื้อหาจากโจทย์เดียวกัน แต่ไม่ได้สร้างความน่าเบื่อให้กับผู้เรียนแม้แต่น้อย เนื่องจากนักศึกษาแต่ละคนมาจากพื้นที่ที่แตกต่างกัน สำเนียงภาษาใต้ก็แตกต่างกันไปด้วย ทุกคนจึงสามารถรับชมสำเนียงใต้ของเพื่อนร่วมชั้นที่เรียกได้ว่าหรอยอย่างแรง! นับว่าไม่มีใครยอมใครกันเลยทีเดียว
แหลงอังกฤษให้ชัด ต้องหัดพันพรือ?
หลังจบช่วงความสนุกของบ่าวสาวชาวใต้ อาจารย์ขวัญจะตั้งคำถามถึงความแตกต่างระหว่างการออกเสียงในภาษาใต้และภาษาอังกฤษ โดยให้นักศึกษาช่วยกันเสนอแนะว่าควรมีการปรับเสียงอย่างไรให้ใกล้เคียงกับสำเนียงภาษาอังกฤษมากที่สุด ทั้งการออกเสียงพยัญชนะ สระ และการลงเสียงหนักเบา (Stress) ให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นการเกริ่นเข้าสู่บทเรียนต่อไป
นับว่ากิจกรรมคนใต้แหลงอังกฤษชับเปรี๊ยะนี้สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างภาษาถิ่นและภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี โดยสามารถประยุกต์ใช้กับห้องเรียนได้อีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ อาจารย์ขวัญก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าไอเดียจากกิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนสามารถเห็นความสำคัญของภาษาและกล้าเป็นมิตรกับภาษาอังกฤษได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย