ไอเดียการสอนภาษาอังกฤษด้วย JRPG (Japanese Role-Playing Games) ที่สั่งสมจากประสบการณ์เล่นเกมในวัยเด็ก สู่การเป็นครูภาษาอังกฤษที่ไม่เคยหยุดพัฒนาการเรียนรู้ของครูแบงค์ - พศิน คงภัคพูน โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
คุยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นไอเดียจนถึงวันที่การเรียนรู้ที่คาดหวังลงตัว รับรองว่าทั้งสนุก ตื่นเต้นไปกับการผจญภัยของตัวละคร และนักเรียนสามารถนำไปใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน
เริ่มต้นจากความสงสัยของนักเรียน
ถ้าถามว่าไอเดียมาจากไหน ผมต้องขอบคุณนักเรียน เพราะเวลาที่ผมสอนเสร็จแล้ว นักเรียนจะชอบเดินมาคุยด้วย "ครูทำไมเวลาผมดูหนังผมถึงจำเรื่องราว จำตัวละครได้ละเอียดยิบเลย จำได้กระทั่งว่าเขาคุยอะไรกัน แต่ทำไมเวลาเรียนภาษาอังกฤษผมจำไม่ได้" เราก็คิดตามว่า เออเนอะ ทำไมนะ มันเกิดอะไรขึ้น พยายามย้อนว่าทำไมมันเกิดปัญหาตรงนี้ ค่อยๆ มองว่าประเด็นคืออะไร ผมถามนักเรียนกลับไปว่า ทำไมจำได้ แล้วอะไรที่จำได้ เด็กบอกว่า "จำตัวละครได้ จำเรื่องราวได้ จำได้ว่ามันจะเป็นยังไงต่อ แล้วเนื้อเรื่องมันเชื่อมโยงจากต้นจนจบไปยังไงได้บ้าง" ผมก็ชวนนักเรียนคุยต่อว่าพวกเขาก็ค่อย ๆ แชร์กันมา ว่าเพราะหนังมันน่าสนใจ มีตัวโจ๊ก มีตัวร้าย เห็นแล้วเราจำได้ มันมีเรื่องราวนะ
"หนูว่าอังกฤษที่มันจำไม่ได้เพราะมันไม่มีจุดเชื่อมโยง มันมีแต่แกรมมาร์"
หลังจากคุยกับนักเรียนวันนั้น เรามานั่งคิด ลองเทียบกับหนัง มีช่วงเกริ่นนำ ค่อย ๆ ดำเนินเรื่อง ไคลแม็กซ์ แล้วคูลดาวน์จนจบ แต่ภาษาอังกฤษไม่มีจุดเชื่อมแบบนั้นเลย มีแต่เรื่องแกรมมาร์ที่ชื่อดูเหมือนจะเชื่อมโยงกัน พอใช้งานจริงก็ไม่ได้เชื่อมกันขนาดนั้น เหมือนกระดาษแต่ละชิ้นที่ตัดมายัดใส่ในลิ้นชักเดียวกัน ก็เลยทำให้นักเรียนเบื่อ ไม่อยากเรียน ช่วงแรกที่ผมเข้าไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ นักเรียนนั่งเท้าคาง นั่งทำหน้าเบื่อ บางคนหลับไปเลย พอเราลองสอนให้สนุก นักเรียนก็เปิดใจกับเรา มาคุยกับเรามากขึ้น ทำให้เราได้ประเด็นเพิ่มเติม
จากคำถามของนักเรียน เปลี่ยนมาเป็นกิจกรรมสนุก ๆ
ผมมาย้อนคิดถึงตัวเองว่า ทำไมเราถึงใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทั้งที่ไม่ได้ชอบอ่านหนังสือ ไม่ใช่คนชอบเรียน เราเล่นเกมเยอะมาก เราจำเนื้อเรื่องเกม Final Fantasy ตั้งแต่ต้นจนจบได้จนทุกวันนี้ เราได้เรียนรู้คำศัพท์ บทสนทนาเยอะมากจากเกม การจะใช้หนังเป็นสื่อการเรียนรู้บางทีมันมีข้อจำกัด เพราะเด็กกับเราโตมาคนละรุ่นกันแล้ว ฟังเพลงก็คนละรุ่นเหมือนกัน แต่เกมเนี่ยไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ไปด้วยกันได้ ก็เลยคิดว่าถ้าเราลองประยุกต์เรื่องการเอาเกมพวกนี้มาใช้ เกม JRPG เป็นเกมหลักที่ทำให้เราได้ภาษาอังกฤษ เราอยากให้เด็กเข้าใจภาษาอังกฤษด้วย ผลที่ออกมาคือ การสอนของผมที่พัฒนามาเรื่อย ๆ แบ่งออกเป็น 3 ยุคดังนี้ครับ
ยุคแรก: ยุคกระดาษทำมือ
ตอนนั้นผมสอนโรงเรียนระดับกลางค่อนเล็ก อุปกรณ์ไม่พร้อมมากนัก โปรเจ็กเตอร์ไม่มีทุกห้อง ก็เลยต้องใช้งานทำมือเป็นหลัก จึงทำเป็นจดหมายแทน ตัวอย่างในภาพจะเป็น Royal Quest ที่ให้นักเรียนออกตามหาคุณครูให้เจอในคาบเรียนแรก มีคำใบ้บอกไว้ 4 ข้อ บอกชื่ออาคาร บอกที่ตั้งข้องห้อง บอกหมายเลขห้องบางตัว เขาต้องมาตามหาให้เจอภายใน 10 นาที โดยท้ายจดหมายจะมีศัพท์สำคัญแปลเป็นภาษาไทยไว้ด้วย ช่วยให้นักเรียนแปลข้อความคำใบ้ได้
นอกจากจดหมายก็จะมีกิจกรรมที่สอนเรื่อง Articles (A, An, The) เปรียบเทียบเป็นสัตว์ประหลาด 4 ตัว แต่ละตัวจะมีชื่อต่างกัน แล้วแต่ละตัว (ชื่อเรียกนำหน้าด้วย Article ที่ต่างกัน) ให้นักเรียนไปช่วยกันกำจัดสัตว์ประหลาด 4 ตัวนี้ โดยคำศัพท์จะเป็นพลังที่ต่อสู้ได้ ต้องเลือกคำศัพท์ที่เข้าคู่กัน Aragol ต้องเลือกศัพท์ที่ใช้กับ A ส่วน Nondu คือตัวที่ไม่ต้องใช้ Article เลย โดยผมจะผูกเรื่องราวให้ดำเนินไปเรื่อยๆ รับภารกิจจากพระราชาแล้วไปช่วยคนนั้นคนนี้ไปเรื่อย ๆ
ต่อมา มีการใช้รูปแบบของเกม JRPG สุด ๆ เลย คือสร้างตัวละครให้นักเรียนเลือกอาชีพแต่ละอาชีพ แต่ละตัวมีทักษะเฉพาะ มีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน เอามาใช้ช่วยเพื่อนหรือแกล้งเพื่อนระหว่างทำกิจกรรมก็ได้ ลองประยุกต์ใช้เกม JRPG เข้ามาเต็มรูปแบบ แต่สำเร็จแค่ 50% นักเรียนรับรู้เรื่องราว เรียบเรียงเรื่องราวได้ แต่เรื่องอาชีพตัวละคร นักเรียนไม่ได้ใช้งานเลย เพราะจำไม่ได้ เราก็เก็บฟีดแบ็กจากนักเรียนมาปรับต่อ
ยุคที่ 2: ยุคขึ้นจอ
ต่อมาผมติดต่อกับครูห้องโสตทัศนศึกษาได้ ก็เลยมีโปรเจ็กเตอร์มาใช้งาน จึงลองพัฒนารูปแบบเป็นสไลด์ Power Point ขึ้นมา มีภาพฉาก มีภาพตัวละคร พร้อมบทสนทนา ระหว่างที่เรื่องดำเนินไป ผมก็จะชวนนักเรียนออกเสียงตาม ชวนนักเรียนแปลศัพท์ที่เขาไม่คุ้น ชวนนักเรียนเดาศัพท์ ค่อยๆ ถาม ค่อยๆ เชื่อมโยงรากศัพท์ที่เกี่ยวข้องกัน นอกจากให้เขาอ่านตาม ให้แปลศัพท์ ก็จะให้เขาเลือกการกระทำของตัวละครด้วย ในบทสนทนาก็จะสอดแทรกคำสแลง คำพูดที่ไม่ใช่ทางการให้เขาได้รู้จักด้วย เพราะจะสามารถสอนให้เขาเข้าใจเกี่ยวกับมารยาท ระดับของภาษาได้ด้วย
เด็กได้คำศัพท์ คำสแลง บทสนทนา ได้อะไรที่อยู่นอกเหนือเนื้อหาในหนังสือพอสมควร นอกจากนี้เรายังทำบอร์ดเกมให้เด็กเล่นด้วย แต่บอร์ดเกมสำเร็จแค่ 50% เหมือนเดิม เพราะผมเล่นใหญ่ไปหน่อย รายละเอียดเยอะ แล้วพอมันเยอะ บางทีมีหยุดเรียน กีฬาสี ประชุมด่วน เข้าแถวหน้าเสาธงเกินเวลา ทำให้แผนที่วางไว้ทำไม่ได้แล้ว ต้องมาปรับใหม่ให้บอร์ดเกมง่ายลง แต่นักเรียนก็ยังจำเนื้อเรื่องได้ไม่หมด นักเรียนบอกว่าไม่รู้จักตัวละครสักตัวเลย ไม่รู้จักก็เลยไม่สนใจ ด้วยความที่เป็นการ์ตูนด้วย ไม่ใช่ดาราเกาหลีที่เขาชอบ ก็จะไม่อิน พอไม่อินก็ไม่เอาดีกว่า ไม่สนใจก็ได้ โอเคล่ะ เราได้นักเรียนมา 70% แล้ว แต่ 30% ก็จะทิ้งเขาไม่ได้ ต้องหาทางว่าจะทำยังไงให้เขาไปกับเราให้ได้
ยุคที่ 3: ยุครุ่งเรืองของการเรียนรู้
ผมใช้วิธีการส่งแบบสอบถามไปหานักเรียนที่เราจะต้องสอนก่อนเปิดเทอม ว่าชอบดูการ์ตูนเรื่องไหน ชอบเล่นเกมเรื่องไหน ทำตามลำดับขั้นวิจัยเลย จากการทำสำรวจมาเด็กเลือกการ์ตูนเรื่องวันพีซ (One Piece) เด็กยุคนี้ทุกคนรู้จัก ผมก็รู้จักตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม เพราะมันไม่จบสักที เด็กก็ได้ติดตาม เป็นสื่อกลางที่ทำให้เราเชื่อมเข้าหากันได้ ผมเลือกสร้างเนื้อเรื่องใหม่เลย เพราะจะสะดวกกว่าในการเชื่อมโยงเข้าเนื้อหา และการดำเนินเนื้อเรื่องให้น่าสนใจ นำสิ่งที่เด็กรู้จักอยู่แล้วนั่นคือตัวละคร มาสร้างเนื้อเรื่องใหม่ทั้งหมด ซึ่งเด็กชอบและอินมาก
ทำเป็นสไลด์เล่าเรื่องราว 59 ตอน สำหรับสอนทั้งปีการศึกษา แบ่งเป็นการเล่าเรื่องฟัง พูด อ่าน เขียน 4 องค์ มีการเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ให้เด็กรู้สึกว่าไม่จำเจ อย่างเรื่องที่ตัวละครเกิดบาดเจ็บ ต้องการรักษาพยาบาล คำศัพท์ก็จะเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ Skin Burn, Severe Bleeding, Nose Bleeding, etc. เด็กจะได้ฟังว่าตัวละครนี้บาดเจ็บตรงไหนมา เด็กจะต้องฟังแล้วเดาให้ได้ว่าตัวละครพูดอะไร โดยที่เสียงตัวละครทุกตัวเป็นเสียงผมเองหมดเลย ผมเคยอยู่ชุมนุมละคร ศิลปะการแสดงก็เลยเอาทักษะตรงนั้นมาใช้ ดัดเสียงเป็นตัวละครต่าง ๆ แล้วใช้โปรแกรมดึงเสียงเพิ่มเติม เราต้องสร้างโลกขึ้นมาใหม่ แล้วต้องทำให้เด็กเชื่อด้วยมากที่สุด ทำให้เขาเห็นว่าเราทำให้เขาจริงๆ ตอนที่ผมยังไม่เฉลยว่า นี่คือเสียงผม เด็กๆ ก็จะบ่นว่าโคตรเกลียดไอ้นี่เลย เจอแล้วจะชกมันเลย บางทีก็สบถออกมา แต่เราก็ไม่ถือสาที่เขาพูดหรอก ปล่อยเขาพูดเถอะ มันเป็นจุดสนุกของเขา ผมมองว่าสิ่งที่เขาแสดงออกคือฟีดแบ็กที่สำคัญมากที่ผมอยากได้ การที่เขาแสดงออกว่าหมั่นไส้ตัวละครจริง แสดงว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว
นอกจากนี้ผมยังนำอาชีพเป็นตัวตั้งในการออกแบบการเรียนรู้ด้วย 1 อาชีพ 4 คาบเรียน 4 ทักษะ (ฟัง พูด อ่าน เขียน) ที่ผมคิดเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะคิดว่าเด็ก ม.ปลายควรจะได้อะไรมากกว่าในตำราแล้วไปสอบเฉย ๆ ควรจะได้เตรียมตัวไปประกอบอาชีพ เขาจะใช้อาชีพไหน เราไม่สามารถตอบได้ เราจะไปสำรวจว่าเขาอยากทำอาชีพไหนตอน ม. 5 ขึ้น ม.6 เขาก็เปลี่ยนอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่ความผิดเขาเลย เราก็เลยปูให้กว้างที่สุด ตำรวจ นักดนตรี แม่ค้า ฯลฯ โดยเลือกอาชีพจากแบบสำรวจของนักเรียนนั่นแหละ ดึงอาชีพสำคัญ ๆ ให้เขาได้ลองเรียนรู้คำศัพท์แล้วเอาไปใช้กัน อย่างโรงเรียนที่ผมเคยสอนเป็นแห่งแรก นักเรียน 80-90% จะทำงานพิเศษหมด เป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อ ช่วยแม่ขายหมูปิ้ง ช่วยครอบครัวขายของที่ตลาด บางคนเป็นพนักงานเสิร์ฟที่โรงแรม ผมจึงมาคิดว่าถ้าเราสอนภาษาอังกฤษให้เขาได้เอาไปใช้ในงาน น่าจะดีกว่าไหม
ผลลัพธ์อยู่ที่นักเรียน
ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนส่วนใหญ่ดีมากครับ ดีเกินไปจนมีเคสหนึ่งผู้ปกครองอยากให้นักเรียนหยุดเรียน 1 สัปดาห์ ให้ลูกไปช่วยขายหมูปิ้ง เพราะจะมีทัวร์ชาวต่างชาติมาแถวสุขุมวิท เพราะผมเคยสอนเกี่ยวกับอาชีพแม่ค้า ขายยังไง โปรโมชันเป็นยังไง กี่บาท เด็กคนนี้เขาตั้งใจ และเขาสามารถเอาไปใช้ได้จริง การที่เรานำ JRPG มาใช้แล้วประสบความสำเร็จอย่างมาก คิดว่าเพราะ JRPG มีบทสนทนา มีคำให้เด็กได้เรียนรู้ตลอดเวลา มันทำให้เด็กได้เชื่อมโยงกระทั่งว่า เนื้อหาคาบนี้เชื่อมโยงกับการ์ตูนช่วงนี้เพราะอะไร แล้วมันต่อเนื่องไปตอนต่อไปได้ยังไง เด็กจำเนื้อหาได้ จำศัพท์ได้ จำบทสนทนาได้ เด็กเอาเนื้อหาไปใช้ในช่วงกิจกรรมได้ และเชื่อมโยงเอาไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันด้วย ต้องขอบคุณนักเรียนที่เขาสนใจ เอาไปใช้ได้จริง เขาแฮปปี้กับการเรียน มันก็เป็นการเติมไฟให้กับครูด้วย
ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาจะมีกระแสครูอยากลาออก แต่สิ่งที่ทำให้ครูหลายคน รวมทั้งผมด้วยยังทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ ก็คือเด็ก ๆ คำพูดที่บอกว่า “ปีหน้าหนูอยากเรียนกับครูอีก” “คาบหน้าเราจะเรียนอะไร” “ครูรู้ไหมว่าคาบนี้เป็นคาบที่หนูรีบวิ่งมาเรียนเลย” มันเป็นความรู้สึกที่อบอุ่นนะ แฮปปี้ มันเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรามาเป็นครูเพราะอะไร มีเด็ก ๆ อยู่ล้อมรอบเราตรงนี้ด้วยกัน คอยดูแลกันไป คอยเติมไฟให้กัน นี่คือคำว่าครูที่ผมคิดว่าหลาย ๆ คนน่าจะรู้สึกคล้าย ๆ กัน
สรุปขั้นตอนการสอนด้วย JRPG ในชั้นเรียน (รายคาบเรียน)
1. เท้าความเดิมจากคาบที่แล้ว
2. บอกชื่อตอน (ชื่อตอนจะสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง และเนื้อหา)
3. บอกเป้าหมายของการเรียนในวันนี้
4. อ่านบทสนทนาแบบ JRPG
5. เรียนเนื้อหา
6. ทำกิจกรรม
7. สรุปบทเรียน
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!