icon
giftClose
profile

พลังวัคซีน ABC พิชิตยัยโควิดตัวร้าย by Kru Poom

16134
ภาพประกอบไอเดีย พลังวัคซีน ABC พิชิตยัยโควิดตัวร้าย by Kru Poom

เมื่อยัยโควิดตัวร้าย...บุกห้องเรียนเด็กๆ ชั้นป.1 คาบวิชาภาษาอังกฤษของครูปุ้ม อะไรจะเกิดขึ้น ต้องร่วมพลังวัคซีน ABC กอบกู้ห้องเรียนของพวกเรากันแล้ววว รอช้าอยู่ไย ลุย!!! - You smile, I smile...JK

พลังวัคซีน ABC พิชิตยัยโควิดตัวร้าย by Kru Poom 

เพื่อให้นักเรียนชั้น ป.1 เรียนรู้และรู้จัก ตัวอักษร Aa-Zz อย่่างสนุกสนาน ตื่นเต้น ลุ้นระทึก สร้างสรรค์ และเข้ากับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ครูปุ้มจึงได้ออกแบบสื่อการสอนเป็นลูกบอลทรงกลมที่มีหนามยื่นออกมาเหมือนหน้าตาเจ้าเชื้อไวรัสโควิด



อุปกรณ์ที่ใช้

- ลูกโป่งทรงกลม

- กระดาษหน้าเดียว

- กระดาษสีแดง (หรือตามใจชอบ)

- คัตเตอร์

- กาวลาเท็กซ์

- ลูกตาปลอม

- ไม้ไอติมขนาดใหญ่

- สีเมจิก

ขั้นตอนการทำเจ้าโควิด

1. เป่าลูกโป่งขนาดไม่เล็กและใหญ่เกินไป (สามารถเสียบไม้ไอติมได้ประมาณ 30 อัน)

2. นำกระดาษหน้าเดียวมาฉีกและทากาวแปะรอบๆ ลูกโป่ง ประมาณ 2-3 ชั้น รอจนแห้ง

3. นำกระดาษสีแดง หรือสีอื่นๆ มาฉีกและทากาวแปะทับกระดาษหน้าเดียว 1 ชั้น รอจนแห้งสนิท

4. เจาะลูกโป่งให้แตก แล้วนำคัตเตอร์มากรีดเป็นช่องพอให้ใส่ไม้ไอติมรอบ ๆ ได้

5. เขียนตัวอักษร Aa-Zz ที่ปลายไม้ไอติมด้านหนึ่งด้วยสีเมจิกอย่างชัดเจน และมีไม้ไอติมเชื้อโควิดแทรกอยู่ด้วยประมาณ 2-3 อัน ซึ่งไม่ได้เขียนตัวอักษร Aa-Zz แต่จะเขียนคำศัพท์ง่ายๆ เอาไว้

6. เสียบไม้ไอติมลงในลูกบอลกระดาษทรงกลมที่่ทำช่องเสียบไว้รอบๆ โดยเสียบด้านที่เขียนไว้ด้นในลูกบอล แล้วติดลูกตาปลอม 2 ลูก ก็จะได้เจ้าเชื้อไวรัสโควิดไว้เป็นจัดกิจกรรมการเรียนรู้สนุกๆ กับเด็กๆ ในห้องเรียนแล้ว

กระบวนการจัดการเรียนรู้ (Fun with Aa-Zz)

1. ครูและนักเรียนร่วมกันร้องเพลง Aa-Zz และตบมือประกอบจังหวะ โดยเริ่มจากจังหวะช้าๆ แล้วค่อยๆ เร็วขึ้น

2. ครูนำเสนอจานกระดาษตัวอักษร Aa-Zz คำศัพท์ และภาพคำศัพท์ (Flashcards) พร้อมออกเสียงแบบโฟนิกส์ สอดแทรกจังหวะสนุกสนานและเร้าใจในการออกเสียงตัวอักษรแบบโฟนิกศ์ เช่น แอะ แอะ แอะ แอ๊ะ แอะ แอ๊ะ แอ๊ะ แอะ แอ๊ะ

3. ทำความรู้จักตัวอักษร ฝึกฝน ทบทวนการพูดออกเสียงแบบโฟนิกส์ โดยการใช้สื่อการสอน "เจ้าโควิด" ดังนี้

- ครูแอบเจ้าโควิดไว้ในกระเป๋า แล้วพูดเปิดตัว ว่าวันนี้มีแขกรับเชิญมาร่วมกิจกรรมกับพวกเรา ซึ่งนั้นคือ เจ้าเชื้อไวรัสโควิด หรือเจ้าโควิด นั้นเอง พร้อมทำเสียงเปิดตัว แต้น แต้น แตนนน...

- ครูชี้แจงขั้นตอนการเล่นเจ้าโควิคแก่นักเรียน พร้อมยกตัวอย่าง การพูดออกเสียง

- ครูให้นักเรียนทุกคนสุ่มจับไม้ไอติมจากเจ้าโควิด (สมมติเหมือนหนามของเจ้าโควิด)

- นักเรียนต้องพูดออกเสียงแบบโฟนิกส์ เช่น เอ แอะ แอ้นท์ ภายในเวลา 5 วินาที (ครูนับนิ้วถอยหลัง 5-4-3-2-1 เป็นภาษาอังกฤษ five-four-three-two-one...Times up!)

- นักเรียนคนที่หยิบได้ ถ้าตอบเกินเวลา จำไม่ได้ว่าคือตัวอักษรอะไร หรือตอบไม่ตรงกับตัวอักษรที่หยิบได้ ครูให้เพื่อนๆ ทั้งห้องช่วยกันบอก ด้วยคำสั่งว่า Help your friend, please. นักเรียนคนที่ตอบไม่ได้จึงพูดตามที่เพื่อนๆ ช่วยแก้ไขให้ (เพื่อนช่วยเเพื่อน)

- คนที่หยิบได้ ไม้ไอติมโควิด หรือไม้ไอติมที่เขียนคำศัพท์ไว้ ต้องบอกได้ว่า เป็นคำศัพท์ที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรอะไร และอ่านออกเสียงคำศัพท์ว่าอย่างไร เช่น ได้ไม้ไอติมโควิด ที่มีคำศัพท์ คำว่า goat ต้องพูดออกเสียง ว่า จี เกอะ โก้ท เป็นต้น ถ้าตอบได้ จะไม่ติดเชื้อโควิด แต่ถ้าตอบไม่ได้ จะให้เพื่อนช่วยได้ แล้วครูจะฉีดวัคซีนให้

- ครูเวียนให้สุ่มหยิบจนครบทุกคน โดยทุกคนในห้องต้องพูดตามทุกตัวอักษรที่เพื่อนหยิบได้ ช่วยกันตรวจสอบ ว่าใช่หรือไม่ (Yes or No) และสามารถช่วยเพื่อนได้ เมื่อครูอนุญาตให้ช่วย

4. นักเรียนทำชิ้นงานเกี่ยวกับตัวอักษร Aa-Zz เป็นสมุด Aa-Zz เล่มจิ๋ว แล้วออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียน

5. ครูสุ่มถามว่า ชื่อเล่นของเพื่อนในห้อง ว่าชื่อใคร ขึ้นต้นด้วยตัว B บี เบอะ, N เอ็น เนอะ หรือ P พี่ เพอะ บ้าง หรือ สุ่มถามว่าถ้าเพื่อนชื่อแพร ต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษรอะไร เป็นต้น

6. ครูตั้งคำถามหลังเสร็จกิจกรรม ว่า เราต้องปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง ไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19


ประทับใจอะไรในไอเดียนี้ ไอเดียนี้ช่วยให้เรารู้สึกยังไงกับภาษาอังกฤษ หรือทำให้ห้องเรียนภาษาอังกฤษเป็นแบบไหน

ประทับใจในแววตาของเด็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น ตื่นเต้น ร่วมลุ้นไปกับเพื่อนๆ ในขณะที่ร่วมกิจกรรมนี้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ไอเดียนี้ช่วยให้เรารู้สึกว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่เรื่องยากและน่าเบื่ออีกต่อไป ทำให้ห้องเรียนสนุกสนาน ลุ้นระทึก แปลกใหม่ ในแบบที่เราสามารถออกแบบเองได้ง่ายๆ


แล้วครูทำอะไรบ้างในห้องเรียน

นอกจากขั้นตอนการใช้สื่อนี้ที่ครูได้อธิบายไปอย่างละเอียดในก่อนหน้านี้แล้วนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้เลย คือ การกล่าวชื่นชมเมื่อเด็กๆ ทำได้ดี พูดเสียงดังฟังชัด กล้าพูดออกเสียง แม้จะเสียงเพี้ยน หรือไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้อง เรามีหน้าที่ปรับให้ถูกต้อง และพูดให้กำลังใจ เพื่อเสริมสร้างกำลังใจให้เค้ากล้าที่จะพูด กล้าสื่อสารออกมาอีกในครั้งต่อๆ ไป


ข้อสังเกต หรือคำแนะนำเพิ่มเติม หรืออื่น ๆ ที่อยากเล่า

นอกจากจะได้รู้จักตัวอักษร Aa-Zz แบบโฟนิกส์ผ่านสื่อการสอนที่เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในปัจจุบันแล้ว ครูผู้สอนพยายามฝึกฝนให้เด็กๆ ทุกคนรู้จักการรอคอย การให้โอกาสเพื่อนได้คิดคำตอบด้วยตนเอง แบ่งปันความรู้ ช่วยเหลือเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียน นอกจากนี้ เด็กๆ ก็มาขออนุญาตเล่นเจ้าโควิด โดยนำมาสุ่มหยิบเล่นกันเองนอกเหนือจากเวลาเรียนในห้องเรียนอีกด้วย เมื่อความสุขในการสอนของครู คือ รอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)