icon
giftClose
profile

เด็กไม่อาจพูดภาษาอังกฤษได้ ถ้าครูเองก็ยังไม่มั่นใจ

29372
ภาพประกอบไอเดีย เด็กไม่อาจพูดภาษาอังกฤษได้ ถ้าครูเองก็ยังไม่มั่นใจ

ครูกระตือรือร้นอยากเรียนเพิ่ม อยากอบรมเพิ่ม แต่ต้องเจออุปสรรคที่เรียกว่า "งบประมาณ" และ "วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร" ที่อาจปล่อยเพชรในมือให้เสียของไปได้

วันนี้มีโอกาสได้พูดคุยกับครูวี ภารวี วัฒนานุกิจ เกี่ยวกับเรื่องความไม่มั่นใจของคุณครูผู้สอนภาษาอังกฤษซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ส่งต่อไปสู่นักเรียนได้โดยไม่รู้ตัว รู้สึกฟังแล้วเห็นด้วยมากๆ เลยอยากมาแชร์กับเพื่อนๆ ครูท่านอื่นค่ะ

เท้าความก่อนว่าครูวีเป็นครูสอนภาษาอังกฤษมาเกือบ 10 ปี เน้นปรับพื้นฐาน ฟัง พูด อ่าน เขียน การใช้ภาษาอังกฤษให้ถูกต้อง รวมทั้งรับสอนเพื่อเตรียมสอบ IELTS ด้วย (ผ่านการอบรม IDP IELTS Teacher Training มาแล้ว)

ครูวีเล่าว่าตั้งแต่เป็นนักเรียนจนขยับมาทำหน้าที่ผู้สอน สิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่ในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทยตลอดกาลคือ "ความไม่มั่นใจ" และความรู้สึก "ไม่ชอบภาษาอังกฤษ"

นักเรียนคนนั้นอาจจะ เป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองอยู่แล้ว พอมาเรียนภาษาอังกฤษก็ไม่กล้าพูด สิ่งนี้เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าอายุเท่าไหร่ บางคนกลัวจะออกเสียงผิด กลัวผิดแกรมมาร์ อาจเพราะการเรียนนั้นออกแบบมาให้รับ (input) ทฤษฎีมากจนล้น แต่ไม่ได้นำออก (output) ไปฝึกใช้หรือสื่อสารอย่างสม่ำเสมอ เลยไม่ก่อให้เกิดความเคยชินที่จะสร้างความมั่นใจได้

หรือบางคนอาจจะเคยเจอคุณครูดุมา อาจจะ เจอประสบการณ์ไม่ดีในอดีต อย่างเช่น พูดผิดนิดนึงก็โดนครูติจนทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่กล้าจะลองผิดลองถูกอีก อาจทำให้ไม่ชอบภาษาอังกฤษไปเลย ครูวีเล่าว่า "เมื่อนักเรียนเริ่มตั้งแง่ และรู้สึกไม่ชอบภาษาอังกฤษ ต่อจากนี้จะเป็นเรื่องยากที่จะเปิดใจเรียนรู้ หรือทำความเข้าใจภาษาอังกฤษอย่างที่มันเป็นจริงๆ คำแนะนำคือหาให้เจอว่าไม่ชอบภาษาอังกฤษเพราะอะไร แล้วแก้ให้ถูกจุดเพื่อที่จะไปต่อได้"

แต่ทางที่ดี คุณครูต้องคอยให้ความใส่ใจกับเขาอย่างสม่ำเสมอด้วยการสร้างความคิดแง่บวกต่อการเรียนภาษาอังกฤษ "ครูวีไม่เคยโดนดุเลย ครูชาวต่างชาติที่มาสอนสรรหากลวิธีที่ทำเราให้ประทับใจระหว่างเรียนได้เสมอ เขาจะมีกิจกรรมให้เล่น เป็นชั่วโมงผ่อนคลาย เมื่อรู้สึกสนุกและมีช่วงเวลาที่ดี ก็เริ่มรู้ตัวว่าชอบภาษาอังกฤษ"

พอฟังครูวีเล่าแบบนี้แล้วรู้สึกปลื้มปริ่มใจไปตลอดทั้งการสัมภาษณ์เลย แอบคิดกับตัวเองว่า 'หากเราสามารถเป็นครูที่ดีและน่าประทับใจของนักเรียนได้ เราอาจสร้างครูที่มีคุณภาพได้อีกหลายสิบ หลายร้อยคนเลยนะ' อย่างที่ครูวีก็ผันตัวมาเป็นคุณครูอย่างทุกวันนี้ ยังไม่นับรวมเพื่อนร่วมชั้นที่อาจได้แรงบันดาลใจจากครูของพวกเขา

นอกจากนี้อุปสรรคเกี่ยวกับความไม่มั่นใจอีกหนึ่งประเภทที่พบเจอได้ในห้องเรียนคือ ความไม่มั่นใจของคุณครูที่ถ่ายทอดมาสู่เด็ก แล้วมันคืออะไรกันนะ?

ครูวีมองเห็นปัญหาว่าครูไทยบางส่วนไม่ได้เน้นการออกเสียง หลายโรงเรียนเน้นเรียนตามหนังสือ ครูมุ่งไปที่แกรมมาร์อย่างเดียว ซึ่งการสอนตามหลักสูตรที่ว่ามาไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ต้องเพิ่มส่วนของ output เข้าไปเพื่อให้นักเรียนสื่อสารเป็น

เมื่อครูไม่กล้าออกเสียง ออกเสียงอย่างไม่มั่นใจ หรือสอนอย่างลังเลนั่นจะทำให้นักเรียนขาดความเชื่อมั่นในตัวคุณครู หลายครั้งที่นักเรียนอาจจะมีคำถามเจ๋งๆ ที่ครูเองก็ตอบไม่ได้ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นในความไม่มั่นใจในตัวครู แต่ให้คิดซะว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้วที่เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียน นอกจากนี้เรายังสามารถใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้เป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเองและพานักเรียนของเราให้ไปได้ไกลขึ้น

แต่ความไม่มั่นใจของครูนั้นไม่ได้เกิดในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจาก ปัญหาเชิงระบบ เช่นกัน

ทั้งครูจบใหม่และครูที่มีประสบการณ์สอนมาอย่างยาวนาน หลายครั้งโดนงานเอกสารดูดเวลาที่ควรจะใช้พัฒนาตัวเองหรือพัฒนาสื่อการสอนไป หลายคนไม่รู้ตัวว่าไฟในตัวเราที่เคยอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยากก้าวให้ทันโลกนั้นเริ่มแผ่วลง เมื่อไม่ได้ทบทวน ไม่ได้เปิดประสาทสัมผัสเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ก็อาจทำให้ครูหลายคนคุ้นชินแค่เนื้อหาในตำราที่สอนวนไปเท่านั้น

ครูวีตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารงบประมาณ และการวางแผนพัฒนาครูว่า "การศึกษาเป็นการลงทุนระยะยาวในการสร้างคน ไม่สามารถหวังผลในไม่กี่ปี แต่งบประมาณที่มีเยอะมากกลับไม่เคยลงมาที่การพัฒนาครูแบบจริงจัง อย่างครูภาษาอังกฤษควรได้รับการอบรมให้มีความมั่นใจมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ก่อนจะออกไปสอนนักเรียน หรือควรจะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ก่อนจะออกไปสอนภาษาอังกฤษไหม"

เส้นทางของครูในระบบจะโรยด้วยกลีบกุหลาบหรือหนามกุหลาบนั้น ต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าผู้บริหารพึ่งพาได้แค่ไหน "ครูที่วีเจอเขาอยากเรียนเพิ่ม อยากอบรมเพิ่ม ถ้าเจอผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ก็โชคดีไป ตอนวีไปจัดเวิร์กช็อปให้ครูภาษาอังกฤษ แม้กระทั่งครูวิชาอื่นก็ยังมานั่งเรียนนั่งฟังกันเยอะมาก ครูกระตือรือร้นอยู่ตลอด แต่หลังจากที่ปล่อยครูไป ถ้าผู้บริหารไม่ได้เอาจริงกับการพัฒนาครูต่อ ก็อาจเป็นการปล่อยเพชรในมือให้เสียของไปได้"

วิธีการพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองแบบฉบับครูวี (ทำตามได้ทั้งครูและนักเรียน!)

1. เลือกสัก 1 อย่างที่ทำแล้วมีความสุข ทำได้อย่างสม่ำเสมอ เช่น ฟังเพลง ดูหนัง หรือดูซีรีส์ก็จะดีมาก

◌ ถ้าฟังเพลงภาษาอังกฤษ ข้อดีคือจะได้คำศัพท์เยอะมาก ร้องตามไปด้วยก็จะได้ฝึกออกเสียง คำศัพท์ไหนที่ไม่รู้จักก็จดเก็บไว้

◌ ถ้าดูหนัง ให้ดูแบบฟังซับอังกฤษตั้งแต่ครั้งแรก พยายาม match เสียงพูดที่ได้ยินกับซับที่เห็น จะช่วยพัฒนาทั้งการฟังและการพูดได้โดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าอยากรู้แบบละเอียด ก็ค่อยดูรอบ 2 แบบซับไทย

2. เลือกเรื่องหัวข้อที่เราชอบ

◌ ถ้าชอบกีฬา ก็ลองดูพากย์กีฬาที่ชอบเป็นภาษาอังกฤษ

◌ ถ้าชอบไปเที่ยว ก็ลองอ่านบทความสถานที่ท่องเที่ยวเป็นภาษาอังกฤษ

◌ ถ้าชอบเรื่องรอบตัว ก็ลองฟังพอดแคสต์ที่เป็นภาษาอังกฤษ

3. ฝึกใช้ภาษาอังกฤษ (Output)

◌ พูดกับเพื่อนที่สนิท

◌ นึกคิดกับตัวเองเป็นภาษาอังกฤษ

◌ เขียนไดอารี

Keyword ของการเรียนรู้ ไม่ว่าเกี่ยวกับอะไรก็ตามสำหรับครูวีต้อง 'สนุก ไม่น่าเบื่อ และน่าสนใจ' เพราะถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งไป ก็จะเรียนรู้อย่างไม่มีความสุข และถ้าอยากเก่งขึ้น ทำสิ่งนั้นได้คล่องแคล่วหรือชำนาญมากขึ้น ก็ต้องฝึกฝน ให้เวลากับมัน และทำอย่างสม่ำเสมอ ภาษาอังกฤษก็เช่นกัน ลองหาจุดที่พอดีกับตัวเอง แล้วคุณจะเก่งภาษาอังกฤษขึ้นในทุกวันอย่างไม่รู้ตัว

ครูวีทิ้งประโยคหนึ่งไว้ก่อนจากกันคือ "ถ้าครูมั่นใจที่จะพูดภาษาอังกฤษ จะส่งต่อความมั่นใจนั้นไปสู่เด็กอีกกี่ร้อย อีกกี่ล้านคนในประเทศกันนะ?"

สำหรับคุณครูที่ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งพอ อยากให้กลับมุมมองใหม่ คิดใหม่ ว่าทั้งเราและนักเรียนเองล้วนต้องลองผิดลองถูก และเรียนรู้เพิ่มในทุกวันอยู่แล้ว แต่ครูต้องไปให้ไกลและไปให้ทันเด็ก หยิบความคิดนี้มาผลักดันตัวเอง และอยากให้คุณครูทุกท่านรับรู้ถึงพลังในมือของตัวเองอยู่เสมอนะคะ :D


ขอขอบคุณ ครูวี - ภารวี วัฒนานุกิจ

ครูสอนภาษาอังกฤษ

เจ้าของเพจ Easy English by Vee และ Kid Space

ผู้บริหาร บริษัท เอาเทอร์โมสต์ จำกัด

ติดตามครูวีได้ที่ช่องทางด้านล่างเลยค่ะ

www.facebook.com/EasyEnglishbyVee

www.facebook.com/KidSpace.Thailand

www.facebook.com/Outermost8

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)