icon
giftClose
profile

ภาษาอังกฤษ พื้นที่ของความชอบ และทำนองสรภัญญะ

13020
ภาพประกอบไอเดีย ภาษาอังกฤษ พื้นที่ของความชอบ และทำนองสรภัญญะ

ถ้าห้องเรียนของคุณครูเริ่มต้นจาก “ความรู้สึก” คุณครูอยากออกแบบให้มันเริ่มต้นจากความรู้สึกแบบไหน… “ชอบ” คือคำตอบที่เรียบง่ายของคุณครู​ วราภรณ์ ยศธสาร คุณครูภาษาอังกฤษ และผู้เหนี่ยวนำ "ความชอบ" ณ โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย โรงเรียน

ถ้าห้องเรียนของคุณครูเริ่มต้นจาก “ความรู้สึก”

คุณครูอยากออกแบบให้มันเริ่มต้นจากความรู้สึกแบบไหน…


“ชอบ”


คือคำตอบที่เรียบง่ายของคุณครู​ วราภรณ์ ยศธสาร คุณครูภาษาอังกฤษ

และหัวหน้าฝ่ายวิชาการ ผู้ออกแบบ “ความชอบ” เติบโตควบคู่กับการพัฒนา

ทางทักษะการใช้ภาษาของนักเรียน ตั้งแต่ระดับชั้นประถมปลาย จนถึงมัธยมต้น

ณ โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ อำเภอเอราวัณ จังหวัดเลย โรงเรียนขยายโอกาส

ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเลยกว่า 60 กิโลเมตร



คุณครูวราภรณ์เล่าให้ฟังว่าวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เป็นชุมชนเกษตรกรรม

ซึ่งยังคงมีความผูกพันธ์อยู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิม อาทิ

การฟ้อน การรำ การร้อง ซึ่งเมื่อที่บ้านของนักเรียนใช้ชีวิตอยู่

ท่ามกลางวิถีเหล่านี้ เด็กที่เติบโตมาในชุมชนดังกล่าวก็ได้รับการปลูกฝัง

และซึมซับ และรู้สึกมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ด้วยเช่นเดียวกัน


ในทางกลับกัน ในช่วงเทอมแรกที่ครูวราภรณ์เข้าไปสอน ก็ได้พบกับความจริงที่ว่า

นักเรียนรู้ “เป็นลบ” ต่อภาษาอังกฤษ โดยรู้สึกว่าเป็นวิชาที่ยาก

และการวัดผลที่มีในตอนนั้นก็ตอกย้ำว่าพวกเขาไม่เก่ง

ทำให้เกิดเป็นก้อนความ “ไม่ชอบภาษาอังกฤษ” ขึ้นในใจของพวกเขา

กอปรกับที่วิถีชีวิตของพวกเขาก็ไม่ได้มีจุดที่จำเป็นต้อง speak English

ในชีวิตประจำวัน


นักเรียนส่วนหนึ่งจึงเลือกที่จะไม่เข้าเรียนวิชานี้ไปเสียดื้อ ๆ


เป้าหมายของพี่ในเทอมแรกจึงเรียบง่าย แต่ก็ต้องอาศัยความทุ่มเทมาก ๆ

คือการทำให้นักเรียน “ชอบภาษาก่อน” โดยความเก่งสามารถจัดอยู่ใน

ความสำคัญลำดับถัดไปได้ ส่วนหากกล่าวถึงเป้าหมายนี้ในมุมที่เป็นรูปธรรม

มากขึ้นคือการทำให้นักเรียน “เลิกโดดเรียน” ให้ได้



ในมุมของวิชาการ คุณครูวราภรณ์เริ่มต้นการสร้างความชอบ

ผ่านการทำความรู้จักกับสิ่งที่นักเรียนชอบอยู่แล้วก่อน

และสอดผสานโอกาสในการฝึกฝนภาษาอังกฤษลงไปในสิ่งเหล่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อพบว่านักเรียนชอบร้องรำทำเพลง คุณครูวราภรณ์

ก็แต่งเพลงทำนองสรภัญญะภาษาอังกฤษเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการออกเสียง

พร้อมกับความรู้สึกที่ว่า ภาษาอังกฤษไม่ได้จำเป็นต้องมาคู่กับความเคร่งเครียด

และการท่องจำที่จืดชืดเสมอไป


(ชมตัวอย่างคลิปทำนองสรภัญญะภาษาอังกฤษ โดยนักเรียน

โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์ได้ที่ youtube.com/watch?v=hMfTUiFmiOY)


และในทุก ๆ คาบที่ก้าวเข้าไปสอน คุณครูวราภรณ์เชื่อว่า

“การกระตุ้นความสนใจของนักเรียนมาเป็นอันดับหนึ่ง” โดยมันไม่โอเคเลย

ถ้าเราจะเดินเข้าไปแล้วเริ่มเทความรู้ใส่นักเรียน โดยที่ไม่ได้สร้างความอยากรู้

ตื่นตัว และสนใจต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้กับพวกเขาก่อน โดยเราสามารถนำ

Game-based Learning มาใช้ได้ในส่วนนี้ ผ่านการออกแบบการเล่นของนักเรียน

ในช่วงนำเข้าสู่บทเรียน มองเผิน ๆ อาจจะเป็นการเล่นเพื่อความเพลิดเพลิน

แต่ในการเล่นนั้นจะเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เราสอดแทรกไว้

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ หลังจากที่ผ่านไปหนึ่งปี นักเรียนของคุณครูวราภรณ์

ไม่โดดเรียนแล้ว และเข้าเรียนด้วยความรู้สึกตื่นเต้นว่าคาบนี้คุณครู

จะออกแบบอะไรมาให้พวกเขาได้เล่น



เมื่อนักเรียนเข้าเรียนด้วยใจที่พร้อมเปิดเข้าหาวิชาภาษาอังกฤษแล้ว

คุณครูวราภรณ์ใช้การสอนแบบ Communicative Approach

ซึ่งเป็นการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษในห้องเรียนเป็นหลัก โดยสิ่งที่ทำให้วิธีนี้เป็นไปได้

คือการ “ค่อย ๆ ปรับระดับ” กล่าวคืออาจจะเริ่มต้นจากการใช้ภาษาอังกฤษ 50%

ก่อน หลังจากนั้น เมื่อนักเรียนพร้อม เราก็ค่อย ๆ ปรับขึ้นมาเป็น 60 - 70%

หรืออย่างในระดับชั้นมัธยมก็จะพยายามให้ไม่น้อยบกว่า 90%

โดยเป็นการสอนตามธรรมชาติวิชา คือจากง่าย ไปหายาก ควบคุมกับ

การทำอย่างสม่ำเสมอ


“มันใช้เวลานะ ใช้การทำซ้ำ แต่พอมันกลายเป็นความปรกติหนึ่งของชีวิต

ของนักเรียน พวกเขาก็จะสามารถทำมันได้มากขึ้น” คุณครูวราภรณ์กล่าว


และเมื่อพูดถึงการ “ทำได้” ของนักเรียนนั้น คุณครูวราภรณ์เล่าว่า

เป้าหมายของคุณครูไม่ใช่การสอบ O-NET ซึ่งถ้านักเรียนทำได้ดี ก็ถือเป็นผลพลอยได้

แต่เป้าหมายหลักจริง ๆ คือ “การให้นักเรียนสามารถใช้ภาษาได้ในยามที่จำเป็น

เช่น เห็นป้ายบอกทางสามารถอ่านได้ และเมื่อมีคนเข้ามาพูดคุยด้วย สามารถ

โต้ตอบได้ด้วยความมั่นใจ” ที่โรงเรียนบ้านโนนสวรรค์จึงได้กลายเป็นหนึ่งในโรงเรียน

ที่การ “พาเพื่อนพูดภาษาอังกฤษ” หน้าเสาธงของนักเรียน กลายเป็นเรื่องปกติ

ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงสัปดาห์วิชาการ หรือในงานประกวดแข่งขัน


เมื่อถามถึงที่มาของการมาเจอกันระหว่าง “ความชอบ” และ “ภาษาอังกฤษ”

ครูวราภรณ์เล่าถึงเรื่องราวในอดีตที่ส่งผลมาจนถึงปัจจุบันว่า


“สำหรับพี่เอง พี่เริ่มเรียนภาษาอังกฤษจากความชอบนะ

พี่ถึงให้ความสำคัญกับความรู้สึกที่ดีของนักเรียนต่อการเข้ามาเรียนวิชาภาษาอังกฤษ

สำหรับพี่มันเริ่มจากตอนที่เรียน ม.ปลาย แล้วได้พบกับครูท่านหนึ่ง

ซึ่งในห้องเรียนท่านมีแต่คำพูดที่ให้กำลังใจเด็กนักเรียน

และสะท้อนถึงมุมมองที่มองโลกในแง่บวกอยู่เสมอ

และครูท่านนั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้พี่เรียนครูต่อ


พอเรียนเพื่อเป็นครู พี่ก็รู้สึกนะว่าวิชานี้มันยาก แต่พอเราเริ่มต้นด้วยความชอบ

แม้ในช่วงที่มันยาก เราก็ยังคงมองเห็นความสวยงามของมัน


สุดท้ายความชอบ และเส้นทางที่ได้เจอครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้

ก็ทำให้เราสามารถเข้าสอบแข่งขัน และได้ลำดับที่ 1 จาก 700 กว่าคน

ที่เข้าสอบในรอบเดียวกันในเขตจังหวัดเลย


พี่เชื่อเรื่องการมีเป้าหมายในชีวิต และพี่เองได้เดินตามเป้าหมายนั้นด้วยแรงส่งใจ

ที่ดี และเราเลือกที่จะมองเห็นแง่งามต่าง ๆ บนเส้นทางที่เรากำลังเดินไปยังเป้าหมายนั้นด้วย

สุดท้ายแล้วเราจะเจอทั้งสิ่งที่เลวร้าย และสิ่งที่ดีงาม โดยที่เรามีพลังพอที่จะเลือกได้

ว่าจะอนุญาตให้แรงแบบไหนมาผลักดันเรา”



ในช่วงสุดท้ายของการพูดคุย

เมื่อถามถึงไอเดียหรือแนวคิดที่คุณครูครูวราภรณ์อยากฝากถึงคุณครูภาษาอังกฤษทุก ๆ ท่าน

คุณครูวราภรณ์เสนอว่า


“ถ้าเราอยากให้เขาเก่งภาษาอังกฤษ อย่าเพิ่งไปรีบสอน อยากให้เขาเก่ง ต้องพาเขาเล่นก่อน

ครูบางท่านอาจจะติดใจร้อน อยากจะรีบสอน เวลารีบกินแกงร้อน ๆ จนมันลวกปาก

มันไม่อร่อยหรอก สอนให้เขารักภาษาอังกฤษก่อน แล้วค่อยสอนให้เขาเก่งภาษาอังกฤษ” 

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)