icon
giftClose
profile

How to การมัดใจเด็ก ๆ ในการเรียนการสอน

63391
ภาพประกอบไอเดีย How to การมัดใจเด็ก ๆ ในการเรียนการสอน

รวมเทคนิคที่ทำให้เด็ก ๆ รักและอยากจะเรียนกับเรา

โดยปกติแล้วการเรียนการสอนนั้น ปัจจุบันคุณครูหลากหลายท่านเริ่มคิดและพยายามหาเทคนิคในการสอนต่าง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้สนใจและได้รับความรู้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมานี้เอง ทางผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์คุณครูหลากหลายท่าน ที่เขาจะยกเทคนิคต่าง ๆ มานำเสนอ แต่สุดท้ายผลลัพธ์ที่เขาต้องการจริง ๆ จากเทคนิคกิจกรรมที่เขาคิดคือ เด็ก ๆ ได้รับความรู้พร้อม ๆ กับที่พวกเขายังมีความสุขกับการเรียนในวิชานั้น ๆ และใช่ค่ะ คุณครูท่านนี้เองก็มีความน่าสนใจมาก เพราะเขาได้กล่าวกับทางผู้เขียนตั้งแต่ต้นเลยว่า “คุณครูไม่ได้มีเทคนิคการสอนอะไรเป็นพิเศษเลยนะคะ”


แต่แน่นอนว่าจากที่ทางผู้เขียนสื่อออกมาข้างต้นยังไม่มีใครแน่นอนว่าคุณครูท่านี้น่าสนใจได้อย่างไร ทางผู้เขียนจึงอยากเล่าที่มาที่ไปของการได้มาสัมภาษณ์กับคุณครูท่านนี้


คุณครูท่านนี้ คือ คุณครูบิว หรือ Teacher Irene (พัทธนันท์ ประสาร)


จริง ๆ แล้วทางผู้เขียนเป็นคนที่รู้จักคุณครูท่านนี้อยู่ก่อนแล้ว และมักจะได้เห็นเขาลงเรื่องราว หรือมาเล่าเกี่ยวกับเด็ก ๆ ที่เขาสอน ซึ่งเด็ก ๆ เหล่านั้นมักจะดีใจและมีความสุขกับการเรียนกับคุณครูเขาอยู่เสมอ ความน่าสนใจอยู่ตรงนี้แหละค่ะ เพราะเขาบอกกับทางผู้เขียนว่าเขาไม่ได้มีเทคนิคอะไรเลย แล้วทำไมเด็ก ๆ ถึงอยากจะเรียนกับเขากันนะ?


ซึ่งในบทความนี้เองจะมาเล่า How to การมัดใจเด็ก ๆ ให้ได้อ่านกันค่ะ!


1. ทำให้ห้องเรียนกลายเป็นสนามเด็กเล่น ให้เป็นสนามแห่งการเรียนรู้

โจทย์ใหญ่เลยใช่ไหมล่ะคะ คุณครูบิวได้กล่าวว่า เป้าหมายในการเข้าไปสอนของคุณครูแต่ละครั้งคือ ทำยังไงให้เด็ก ๆ สนุก เหมือนได้มาเล่น ในวิชาเรียนอย่างไรก็ตามเขาก็ได้รับความรู้อยู่แล้ว มากน้อยอาจไม่เท่ากันตามการได้รับของนักเรียน ซึ่งเรามักจะวัดไม่ได้ว่าเด็กได้รับจากเราไปมากเท่าไหร่ จนกว่าถึงการสอบ แต่การสอบก็ไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าเขาได้รับจากเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เราวัดผลได้แน่นอน คือ ดัชนีความสุข รอยยิ้มของพวกเขาเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าเขากำลังมีความสุข สนุกกับการได้เรียนกับเรา และแน่นอนว่าการเรียนการสอนนั้นต้องไม่ใช่แค่สนุกเพียงอย่างเดียว!


2. นอกจากเด็กจะเรียนรู้ คุณครูต้องใฝ่รู้ด้วย

คุณครูจะต้องเป็นคนที่ใฝ่รู้ไปพร้อมกับเด็ก ๆ ที่กำลังเรียนรู้ไปด้วย เราจะต้องคิดเยอะ ๆ ว่าอยากให้เขาได้อะไร เล่นอะไร แล้วทำอะไร ไม่ใช่แค่เพียงคิดว่าเราจะเข้าไปสอนเท่านั้น 


3. สังเกตพฤติกรรม ความชอบ Nature ของเด็ก

เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่คุณครูทุกท่านที่ตัวผู้เขียนได้สัมภาษณ์ได้กล่าวอยู่เสมอว่า เราเป็นคุณครู เราต้องสังเกตพฤติกรรมความชอบของเด็ก เด็กแต่ละคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน การสโคปเด็กรายคนอาจทำได้ยาก แต่สโคปเด็กหลายห้องเชื่อว่าคุณครูทราบแน่นอนว่า เด็กแต่ละห้องนิสัยเป็นอย่างไร มีความชอบอะไร เพราะคุณครูรู้จักเด็ก รู้จักเนื้อหา ลองนำเนื้อหาปรับให้เป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก ลองคิดว่า หากเราเป็นเด็กคนหนึ่งอยากที่จะเรียนกับคุณครูแบบไหน ถ้าเนื้อหายากเกินไป อาจลองใช้ภาพ หรือ Keyword มาช่วย หรือถ้าเนื้อหาง่ายเกินไปเราอาจจะสอนเนื้อหาที่ยากก็ได้ แต่อย่าลืม Nature ของเด็ก บางวิธีที่ทฤษฎีว่าดี อาจไม่ตอบโจทย์เด็กในทุกช่วงวัย 


4. ทำ Self Reflection การสอนของตัวเองทุกครั้งหลังจบคาบ

พยายามดูตัวเองหลังสอนเสร็จว่าวันนี้ตัวเรานั้นสอนเป็นอย่างไร ดีไหม หรือมีอะไรต้องปรับปรุงบ้าง เด็ก ๆ ในห้องเป็นอย่างไร ให้ความสนใจดีหรือเปล่า เขาสนุกหรือเปล่า เนื้อหาเป็นอย่างไร ดีไหม บางครั้งเนื้อหาไม่สนุก ไม่น่าสนใจ ก็อาจะทำให้เด็ก ๆ ไม่สนใจในการเรียนก็ได้ เพราะฉะนั้นทุก ๆ ครั้งที่จบคาบเราจะได้ Feedback ที่แตกต่างกันทุกครั้ง และการสอนนักเรียนแต่ละห้องแต่ละชั้นก็ไม่เหมือนกัน วิธีเดียวกันไม่อาจสอนเด็กทุกคนได้ อาจจะเหนื่อยที่ต้องเตรียมข้อมูลเพิ่มมากขึ้น แต่ความคุ้มค่าที่ได้รับมีค่าอย่างนับไม่ถ้วน ดังนั้น พยายาม Check ตัวเอง และหาจุดแก้ไข สำคัญที่สุดคือ ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป


5. ทำให้เรามีอะไรที่พวกเขายอมรับได้

เป็นหนึ่งเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะหากคุณครูทำตัวไม่น่าเคารพ หรือไม่มีอะไรให้เขายอมรับคุณครูได้ เด็กเหล่านี้จะรู้สึกว่าทำไมต้องฟังคุณครู พวกเขาดูออกว่าคุณครูเป็นแบบไหน แบบไหนที่เขาอยากเคารพ แบบไหนที่เขารัก ซึ่งหากคุณครูมีอะไรที่ทำให้พวกเขายอมรับ เขาก็จะฟังในสิ่งที่ตัวคุณครูนั้นสอน


6. เปลี่ยนบรรยากาศการสอน ด้วยการเปิดเพลงภาษาอังกฤษก่อนเริ่มเรียน

เพราะอารมณ์ของนักเรียนจากคลาสก่อนหน้าอาจทำให้เขารู้สึกเศร้าซึม หรืออาจโดนดุมา เพราะฉะนั้นทริกง่าย ๆ ก่อนเริ่มเรียน คุณครูอาจจะลองเปิดเพลงหรือร้องเพลงปรับอารมณ์ ละลายพฤติกรรมของเด็กให้เขากลับมาเอ็นจอยกับเราก็ได้นะคะ เป็นเทคนิคที่น่าสนใจมาก แล้วทำให้บรรยากาศในห้องเปลี่ยนไปด้วย


เป็นหกข้อเทคนิคมัดใจเด็กที่บางข้ออาจจะดูทำยากแต่ถ้าทำได้จริง เชื่อว่าคุณครูจะได้เสียงตอบรับและความรักจากเด็ก ๆ มากแน่นอนค่ะ อย่างเรื่องทำให้ห้องเรียนเป็นสนามเด็กเล่น เมื่อเด็กสนุกกับกิจกรรมที่เราเตรียมมา เรื่องการเรียนก็จะค่อย ๆ ตามมาทีหลัง เพราะเขาสนุกเขาก็อยากจะทำสิ่งนั้นอีก อยากทำซ้ำ ชวนนึกถึงสมัยเด็กของทางผู้เขียนเลยค่ะ เด็ก ๆ ก็เคยไปเรียนโรงเรียนสอนภาษา แล้ว Teacher ก็เอาเกมหาคำศัพท์มาให้เลย จำได้ว่าทำจน Teacher ไปซีร็อกมาให้อีกเป็นปึ๊งใหญ่เลย


กระซิบอีกนิด เพราะคุณครูบิวบอกว่าตัวเขานั้นสอนทั้งเด็กประถมต้นและประถมปลาย แค่สองช่วงระดับชั้นเด็กก็จะแตกต่างกันมาก ๆ อย่างเด็กประถมจะค่อนข้างหลอกง่าย(ฮา) ให้ทำอะไรก็ทำ น่ารักและใสซื่อ ฟังแล้วเป็นเอ็นดูมาก ทำให้เด็กในช่วงวัยนี้เขาจะฟังเรามากกว่าเด็กที่โตแบบประถมปลาย เพราะเขาเริ่มมีความคิดของตัวเองแล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งอย่างที่เราต้องสนใจเรื่อง Nature ของเด็กมาก ๆ และอย่างเด็กประถมปลายที่คุณครูบิวเจอ คุณครูก็เล่าว่า นอกจากสอนเนื้อหาบทเรียนแล้ว เขาก็ยังสอนมารยาทเพิ่มขึ้นมาด้วย อะไรที่ทำได้ ไม่ได้ ต้องทำ ควรทำ

คุยกับเขาเลย หรืออย่างช่วงที่สอน Online ก็ให้เขามาช่วยกันคุย ปรับความเข้าใจกันว่า หากถ้าเด็ก ๆ นักเรียนไม่พูด ไม่โต้ตอบ คุณครูก็ไม่สามารถรู้ได้ว่า นักเรียนเข้าใจไหม พยายามทำให้เขาได้รู้ว่าเรารู้สึกอย่างไร ก็นะ เราจะมาแค่สอนหนังสืออย่างเดียวไม่ได้


สุดท้ายนี้หวังว่าเทคนิคต่าง ๆ ที่คุณครูบิวได้มาแชร์ไอเดียจะเป็นประโยชน์กับคุณครูท่านอื่น ๆ นะคะ


เด็กจะกลายเป็นเทคนิคของเราเอง
ถ้าเด็กยิ้มเราก็ยิ้ม ช่างสังเกต ช่างใฝ่รู้ เป็นสิ่งที่ต้องมี หาเกมมาเล่น เราจะได้ไม่เบื่อ
คุณครูบิว หรือ Teacher Irene (พัทธนันท์ ประสาร)
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)