icon
giftClose
profile

Memolody & Role play ทำนองติดหู คนดูติดใจ

110393
ภาพประกอบไอเดีย Memolody & Role play ทำนองติดหู คนดูติดใจ

เมื่อนักเรียนเห็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องไม่น่าสนใจ การใช้เพลงและบทบาทสมมติจึงช่วยให้พวกเขาจำคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้โดยไม่รู้ตัว

บางครั้งเราก็ฮัมเพลงที่ชอบได้ แม้ไม่รู้ความหมาย และบางครั้งเราก็จำฉากหนังที่ประทับใจได้ แม้เป็นการดูครั้งแรก

           หากพูดถึงการเรียน นักเรียนหลาย ๆ คนคงนึกถึงการนั่งท่องจำ หรือการนั่งจดตามที่คุณครูสอนบนกระดาน ซึ่งไม่น่าดึงดูดใจเท่าการนอนดูซีรีส์ที่ชอบใน Netflix หรือการร้องเพลงที่มีสัมผัสคล้องจองอันสวยงามและโยกย้ายส่ายสะโพกตามจังหวะทำนองสุดสนุก

           แต่ครูวุด ณัฐวุฒิ งามหมู่ คุณครูวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบ้านม่วงป็อก จังหวัดเชียงใหม่ มีความเชื่อว่าการเรียนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพ ต้องทำให้ห้องเรียนมีความสนุกสนาน เปรียบภาษาอังกฤษให้เป็น Entertainment รูปแบบหนึ่ง ที่ทำให้นักเรียนได้รอยยิ้มในโลกแห่งสุนทรีย์ไปพร้อม ๆ กับการจำคำศัพท์ใหม่ ๆ ได้โดยไม่รู้ตัว

 

อยากสอนให้เด็กเพลิดเพลิน ต้องประเมินความสนใจ

           โรงเรียนบ้านม่วงป็อกตั้งอยู่ในพื้นที่บนดอย ซึ่งแม้จะห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่มากนัก แต่ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางกว่า 2 ชั่วโมง ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ไม่คุ้นชินกับการใช้ภาษาอังกฤษ อีกทั้งด้วยความหลากหลายของภาษาถิ่นทำให้นักเรียนบางคนใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 4 ด้วยซ้ำ นับเป็นความท้าทายของคุณครูภาษาอังกฤษที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับนักเรียนให้ได้

           สิ่งแรกที่ครูวุดต้องทำคือการประเมินความสามารถของเด็ก เพื่อดูทักษะที่พวกเขามีและออกแบบการสอนให้เหมาะสมตามความสนใจของนักเรียน ผ่านการใช้สื่อที่เข้าถึงนักเรียนได้ง่ายอย่างการใช้ เกม, เพลง และวิดีโอมาช่วย ซึ่งจากการสังเกตของครูวุดก็พบว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนชอบร้องเพลงและเต้นเป็นอย่างมาก จึงเกิดไอเดียที่จะใช้ Memolody และ Role play มาช่วยให้นักเรียนจำคำศัพท์ได้ดียิ่งขึ้น

จำสนุกแบบจัดเต็ม ด้วย Memolody

           หนึ่งในวิธีที่ครูวุดใช้ในการช่วยจำคำศัพท์ของนักเรียน คือ การใช้ Memolody ซึ่งเกิดจากการผสมคำว่า Memory ที่แปลว่า ความทรงจำ และ Melody ที่แปลว่าทำนองเข้าด้วยกัน โดยครูวุดได้ไอเดียนี้มาจากครูพี่แนน จากสถาบันสอนภาษาอังกฤษ Enconcept ที่ใช้เพลงในการจำคำศัพท์สำหรับเด็กมัธยม แต่ครูวุดนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับวัยของนักเรียนประถมมากยิ่งขึ้น โดยปรับเพลงให้มีความสั้นลง และลดคำศัพท์เหลือประมาณ 5 คำต่อเพลงเท่านั้น

           ในแต่ละคาบครูวุดจะมอบคำศัพท์ใหม่ ๆ ให้กับนักเรียน แล้วจึงให้พวกเขาเลือกทำนองเพลงที่ตนเองสนใจ เพื่อใช้เป็นฐานทำนองในการแต่งเนื้อเพลง ซึ่งนักเรียนจะตื่นเต้นกับช่วงนี้มาก ๆ เนื่องจากพวกเขาสามารถเลือกเพลงที่ตนเองสนใจได้ แต่ทั้งนี้ คุณครูต้องคอยคัดกรองเพลงที่นักเรียนเสนอมา โดยละเว้นเพลงที่มีคำหยาบหรือเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมถึงเพลงที่มีจังหวะเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้การจำเนื้อร้องผิดเพี้ยนและจำคำศัพท์ไม่ได้ตามจุดประสงค์ที่วางไว้

           เมื่อได้ทำนองเพลงที่ต้องการ ครูวุดและนักเรียนจะช่วยกันแต่งเนื้อเพลงโดยจับคู่คำศัพท์และความหมายของคำนั้น ๆ ผสมผสานกับทำนองและคำคล้องจองให้เกิดเป็นบทเพลงสุดสนุก ก่อนจะร่วมร้องเพลงที่แต่งขึ้นมาไปพร้อมกัน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นดีเกินคาด เพราะนักเรียนได้นำเพลงที่ช่วยกันแต่งไปร้องในช่วงพักเบรกหรือระหว่างเดินทางกลับบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับนักเรียนไปพร้อม ๆ กับการจำคำศัพท์ได้เป็นอย่างดี


ตัวอย่างเพลง Forest for Us (ทำนองเพลง โดราเอมอน)

People, human นั้นคือ คน car รถยนต์ขับแล่นวิ่งไป ดูพืชพรรณดอกไม้ sunflower ดอกทานตะวัน

Go, Go รถวิ่งไป ไปยังที่ใฝ่ฝัน Dream!! (ทุกคนมาเล่นกัน)

Fish ว่ายไป Forest พวกเรามารักป่า เรายัง Child เป็นเด็ก

Bird บินไป Monkey ลิงบนต้นไม้ใหญ่ มาพวกเรารักป่า

คำศัพท์ที่เรียนรู้ประจำหน่วย: People (human), Car, Sunflower, Dream, Forest


จำศัพท์จากบริบท แสดงสดด้วย Role play

           นอกจากวิธีการแต่งเพลงร่วมกันแล้วนั้น ครูวุดยังใช้การแสดงตามบทบาท (Role play) มาช่วยให้นักเรียนจำคำศัพท์ได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากการแสดงจะทำให้เห็นบริบทของการใช้คำศัพท์ต่าง ๆ ผ่านภาษากาย (Body language) และ โทนเสียง ซึ่งนับว่าสำคัญในการสื่อสารเป็นอย่างมาก โดยนักเรียนจะต้องแบ่งกลุ่มออกเป็น 3 หน้าที่ ได้แก่ ผู้กำกับและคนเขียนบท, นักแสดง และผู้ชม โดยมีเวลาซ้อมภายในหนึ่งคาบเรียน และจำกัดระยะเวลาการแสดงไม่เกิน 10 นาที

           ในส่วนของการเขียนบท นักเรียนจะต้องรังสรรค์ละครแสนสนุกขึ้นมาโดยมีข้อแม้คือต้องมีคำศัพท์ทั้ง 5 คำที่ครูวุดสอนตอนต้นคาบเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาจากครูวุดและให้ครูวุดตรวจคุณภาพงานได้ ก่อนที่ทีมเขียนบทจะต้องรีบนำเรื่องที่แต่งไปอธิบายให้เหล่านักแสดงทราบ และต้องป้องกันไม่ให้ทีมคนดูรู้เนื้อเรื่องก่อนทำการแสดงจริง

           สำหรับการแสดง ครูวุดจะมีเกณฑ์คะแนนเพิ่มเติมที่ว่า ยิ่งพูดภาษาอังกฤษเยอะ ก็ยิ่งได้คะแนนเยอะ ทำให้นักแสดงทุกคนต้องพยายามพูดภาษาอังกฤษอย่างสุดความสามารถ ซึ่งหากพบประโยคที่ผิด ครูวุดก็จะช่วยปรับแก้และเรียบเรียงประโยคให้อีกครั้งเพื่อความเข้าใจการใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้อง

           เมื่อการแสดงดำเนินการไปถึงครึ่งเรื่อง ครูวุดจะให้เหล่านักแสดงได้พักเบรก แล้วจึงเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ถามคำถามเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเพื่อสะสมคะแนน หากผู้ชมไม่มีคำถามใดเพิ่มเติม ครูวุดจะให้ผู้ชมช่วยกันเดาเรื่องราวต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร โดยทีมนักแสดงจะเป็นผู้ตัดสินว่าคำตอบของใครใกล้เคียงที่สุดและให้คะแนนตามความถูกต้องแก่ผู้ชมคนนั้น ๆ ซึ่งนับว่าการแสดงในครั้งนี้สามารถดึงความสนใจของนักเรียนทั้งชั้นเรียนให้เข้ากับภาษาอังกฤษได้อย่างอยู่หมัด

 

           เมื่อทำนองแสนไพเราะติดหูและการแสดงสุดสนุกติดใจได้ถูกรังสรรค์ขึ้นจากความร่วมมือของนักเรียนทุกคนในห้อง ภาษาอังกฤษที่ว่ายากก็ไม่ใช่เรื่องอื่นไกล เพราะสื่อที่ครูเลือกใช้ได้เชื่อมความสนใจและศาสตร์วิชาการให้กับนักเรียนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

           แม้ในปัจจุบัน ครูวุดยังไม่สามารถทดลองรวมกิจกรรม Memolody และ Role play เข้าด้วยกันได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 แต่ครูวุดก็ยินดีที่จะนำเสนอกิจกรรมทั้งสองเพื่อหวังเป็นไอเดียให้คุณครูทุกท่านได้ปรับใช้ หากมีโอกาสครูวุดก็พร้อมนำเสนอความคืบหน้าของกิจกรรม และรับชมไอเดียใหม่ ๆ จากคุณครูทุกท่านต่อไป

 

เรียนอังกฤษให้สนุก ดีกว่าทนทุกข์ในสภาวะกดดัน

- ครูวุด ณัฐวุฒิ งามหมู่ -

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(5)
เก็บไว้อ่าน
(7)