icon
giftClose
profile

เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย Learning Box

18790
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย Learning Box

Learning Box ชวนสร้างพื้นที่การเรียนรู้ภายนอกห้องเรียน ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง สร้างปฏิสัมพันธ์การมีส่วนร่วมเรียนรู้ระหว่างผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชนรอบตัวผ่านการสร้างบทเรียนตามสภาพจริงด้วยกระบวนการ FPBL และDesign Thinking

ความเป็นมาของแนวคิด

เมื่อปัญหาและอุปสรรคการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิคที่ผ่านมา ทำให้ผู้เรียนเกิดสภาวการณ์เรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) ขาดการมีส่วนร่วมกับบทเรียน ทำให้การเรียนรู้ไม่ต่อเนื่อง และหยุดลงเมื่อห้องเรียนไม่ได้เปิดขึ้นเหมือนเดิม การกลับมาทบทวนอีกครั้งว่ามนุษย์นั้นเรียนรู้ได้อย่างไร เราจึงค้นพบเส้นทางการเดินทางบนฐานความเชื่อที่ว่า "การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ หากคุณครูได้เรียนรู้ที่จะเป็น "นักออกแบบการเรียนรู้ (Teacher as a Learning Designer)" จึงทำให้เห็นว่าสิ่งที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ดีขึ้นจริงแล้วควรจัดการเรียนรู้แบบไหน แต่ประสบการณ์สอนและการทำงานครูแบบนักสังเกตการณ์ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนพบว่า ผู้เรียนมักเชื่อมโยงและเรียนรู้สัมผัสกับเรื่องใกล้ตัวได้ดีในระดับหนึ่ง และแสดงทักษะบางอย่างออกมาจากกิจกรรมที่สัมพันธ์ต่อการดำรงชีวิต ยกตัวอย่างเช่น กรณีการสำรวจพืชในป่า ผู้เรียนกลุ่มใกล้ชิดกับธรรมชาติและดำรงเพื่ออยู่รอดกับธรรมชาติสามารถบอกได้ว่าพืชชนิดนั้นเป็นพืชอะไร นำมาประกอบอาหารหรือยารักษาโรคได้อย่างไร (ประกอบท่าทางมั่นใจ) สิ่งนี้ช่วยให้เห็นว่าเด็กที่มีความเข้าใจหรือสนใจอะไรบางสิ่งจะเกิดความสนใจใคร่รู้ลักษณะของการเป็นเจ้าของความรู้ ซึ่งสะท้อนให้เกิดควาหมายในการเรียนรู้ (Meaningful Learning) จากภายในจิตใจได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้หรือทักษะที่ต้องเชื่อมโยงผนวกให้เห็นว่ามีมิติของวิชาใด และทักษะอะไรสามารถเชื่อมโยงให้เกิดการเรียนรู้ดีขึ้นในระดับสูง ทำให้คุณครูมีโจทย์ท้าทายว่ากล่องการเรียนรู้นั้นสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ขึ้นได้ในลักษณะแบบไหน การมองเนื้อหาเป็นรายวิชานั้นให้กลายเป็นประเด็นศึกษาบนฐานสมรรถนะ (Competency Based Education) และคำนึกถึงการเรียนรู้รายบุคคล (Personalized) เพื่อใช้ในการประเมินผลลัพธ์ควรเป็นอย่างไร 

แผนผังการถอดบทเรียนการสอนแบบ On Hand ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิค


Learning Box สร้างประเด็นการเรียนรู้จากเรื่องรอบตัวทั้งภายในบ้านและชุมชนให้กลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้


ประเด็นที่ถูกออกแบบจึงเชื่อมโยงกับ 3 คำสำคัญ คือ Self-Directed Learning Participatory Learning และ Learning Space ประกอบลงไปในกล่องการเรียนรู้โดยมีบ้านและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ (Community ฺBased Learning) คือ

1) ขนขยะมาประดิษฐ์

2) นักสำรวจแมลง

3) สีจากธรรมชาติ 

4) พืชสมุนไพร

แผนผังแนวคิดการพัฒนากล่องการเรียนรู้

ภาพแผนผังขอบเขตเนื้อหาวิชา


เปิดกล่องค้นหาเครื่องมือสู่โลกแห่งการเรียนรู้

หนึ่งกล่องการเรียนรู้บรรจุเครื่องมือประกอบด้วย

1) คู่มือการเรียนรู้ Booklet

2) อุปกรณ์ประกอบกิจกรรม

3) โปสเตอร์แผนภูมิการทำกิจกรรม

4) แบบบันทึกรายสัปดาห์สำหรับผู้ปกครอง

5) แบบประเมินเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria)

6) แบบประเมินความพึงพอใจสำหรับผู้ปกครอง

7) อุปกรณ์อื่นๆ เช่น อุปกรณ์ภายนอกกล่อง (out of the Learning Box) เช่น ขยะจากขวดพลาสติก หิน ดอกไม้ ดิน การเดินสำรวจแมลงตามจุดต่างๆ การเดินเก็บพืชสมุนไพรตามธรรมชาติ และข้อมูลจากการสอบถามของคนภายในบ้านและชุมชน


ตัวอย่างอุปกรณ์ภายในกล่องการเรียนรู้ทั้ง 4 เรื่องราว

1) กล่องการเรียนรู้เรื่อง ขนขยะมาประดิษฐ์

 

 

2) กล่องการเรียนรู้เรื่อง นักสำรวจแมลง

 


3) กล่องการเรียนรู้เรื่อง สีสันจากธรรมชาติ

 

4) กล่องการเรียนรู้เรื่อง พืชสมุนไพร

 


กล่องการเรียนรู้ทำงานผ่านกระบวนการเรียนรู้ และผู้เรียนจะเรียนรู้ได้อย่างไร 

กระบวนการเรียนรู้ด้วย Family Project Based Learning และ Design Thinking จะปรากฏในกิจกรรมย่อยที่เกิดขึ้นในคู่มือการเรียนรู้ Booklet ควบคู่กับอุปกรณ์เรียนรู้ มาประกอบร่วมกัน ยกตัวอย่างเช่น คู่มือ Booklet ขนขยะมาประดิษฐ์ ประกอบด้วยกิจกรรมย่อย เช่น 1) กิจกรรมล่าสมบัติขวดพลาสติก 2) กิจกรรมมลพิษพลาสติก 3) กิจกรรมกระบวนการรักษ์โลกด้วยพลังงานหมุนเวียน 4) กิจกรรมแปลงขวดน้ำเป็นพลังไฟฟ้า ผนวกรวมกันเป็นรายวิชาบูรณการบนฐานของชีวิต โดยเป้าหมายแต่ละกิจกรรมได้กำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะเพื่อให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Learning Outcome) และสร้าง Participatory Learning เพื่อเปลี่ยนบทบาทคนใกล้ตัวหรือผู้ปกครองเป็นผู้สังเกตความสำเร็จและพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน (Facilitation/Supporter) เปลี่ยนสภาพแวดล้อมรอบตัวเป็นพื้นที่สร้างสรรค์การเรียนรู้ (Learning Space) เพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นและเข้าใจว่า การเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นหรือเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา (Ubiquitous Learning)

ภาพกระบวนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ภายในบ้านและชุมชน


การประเมินผลลัพธ์ Learning Outcome แบบสมรรถนะนั้นได้อย่างไร

ก่อนเริ่มเรียน

กิจกรรมย่อยในคู่มือการเรียนรู้ Booklet มีเป้าหมายการเรียนรู้ที่ตั้งไว้สำหรับเป็นวัตถุประสงค์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะคือ สิ่งที่อยากให้ผู้เรียนทำอะไรเป็น (Learning Outcome) และจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้ผู้เรียนมีความสามารถอยู่ในระดับไหนแล้วตาม Rubrics จะได้ส่งเสริมต่อได้ ผู้เรียนและผู้ปกครองจึงต้องทำความเข้าใจและร่วมกันออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Pathway) เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้อย่างไร (Active Learner)

ระหว่างเรียน

ผู้เรียนต้องลงมือทำกิจกรรมตามขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้จนสำเร็จ ความรู้ ทักษะ และเจคติ ที่เกิดจากประสบการณ์ตรงนั้น ผู้ปกครองเป็นคนคอยแนะนำ สังเกตและบันทึกการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นประจำสัปดาห์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและการพัฒนาสมรรถนะเฉพาะและสมรรถนะหลักของผู้เรียนด้วยตรงตามความสามารถจริงที่สุด สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับจังหวะการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

หลังเรียน

เป็นภาพของชิ้นงานหรือภาระงานของการบรรลุผลสำเร็จได้เพียงใดขึ้นอยู่กับการเรียนรู้ด้วยตนเองและการแสดงออก (Performance) ซึ่งช่วงนี้การประเมินสมรรถนะที่เกิดขึ้นจึงเป็นการประเมินตนเองอย่างหนึ่งของผู้เรียน และการสะท้อนผ่านความคิดเห็นของผู้ปกครอง โดยท้ายสุดคุณครูเป็นแนวทางเสริมหรือมีส่วนร่วมในการประเมินผลลัพธ์ตามเกณฑ์การปฏิบัติอีกครั้ง (Formative Evaluation) จีงกล่าวได้ว่า “การประเมินสมรรถนะไม่ได้เป็นเพื่อคะแนนหรือเกรดแต่เป็นการแสดงออกมาให้เห็นซึ่งสมรรถนะนั้นจากภายในสู่ภายนอกด้วยความเชี่ยวชาญของผู้เรียนเอง” 

ภาพแผนผังแนวทางการประเมินเพื่อพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม


การประเมินสมรรถนะเพื่อพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม Formative Evaluation เพื่อให้ฉันเข้าใจความหมายของการเรียนรู้

การประเมินแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้นโดยมีผู้เรียน ผู้ปกครองและคุณครู ในช่วงระหว่างเรียนและหลังเรียน ไม่ใช่การตัดสินเพื่อวัดผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเพียงครั้งเดียวตามเกณฑ์คะแนนหรือเกรด แต่สังเกตพัฒนาการเรียนรู้จากหลากหลายวิธีการประเมินเพื่อต่อยอดระดับความชำนาญที่ยังไม่ปรากฏให้สามารถยกระดับต่อไปได้ อาศัยแนวทางร่วมกันดังนี้

1) ผู้เรียนประเมิน ตนเอง

หลังกิจกรรมจากหลักฐานการเรียนรู้หรือการแสดงออกตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) เพื่อวัดระดับผลลัพธ์การเรียนรู้

2) ผู้ปกครองประเมิน ผู้เรียน

เกิดขึ้นทั้งระหว่างเรียนและหลังเรียน โดยระหว่างเรียน เป็นการสังเกตแล้วบันทึกเป็นรายสัปดาห์ และหลังเรียน เป็นการสะท้อนผลจากร่อยรอยหลักฐานหรือการแสดงออกตามเกณฑ์การปฏิบัติ (Performance Criteria) เพื่อวัดระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยผู้เรียนสะท้อนผลแนวทางการพัฒนาร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อสะท้อนผลกิจกรรมที่เกิดขึ้นส่งผลต่อสมรรถนะหลัก และจุดประสงค์ของกล่องการเรียนรู้อย่างไร

3) คุณครูประเมิน ตนเองและผู้เรียน

การนำผลการประเมินการเรียนรู้ บันทึกการเรียนรู้รายสัปดาห์ และร่องรอยหลักฐานการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยมีผู้เรียนและผู้ปกครองสะท้อนผลผ่านแบบความพึงพอใจ


ติดตามการก่อตัวแนวคิดและรู้จัก Learning Box แบบวิดีโอได้ที่ youtube.com/watch?v=0D5ACp7WH0o

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: การประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิงสมรรถนะ.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 10 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)