inskru
gift-close

🤩 สอนภาษาอังกฤษให้เด็กใช้ได้จริง! ฉบับครูสิงคโปร์

0
0
ภาพประกอบไอเดีย 🤩 สอนภาษาอังกฤษให้เด็กใช้ได้จริง! ฉบับครูสิงคโปร์

บทความนี้สรุปจาก Live “How to teach students to be effective users of the English Language? สอนอังกฤษยังไงเด็กใช้ได้จริง”

“สอนภาษาอังกฤษยังไงให้เด็กใช้ได้จริง?”

.

เราเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยคิดหรือเคยได้ยินคำถามสุดคลาสสิคของครูภาษาอังกฤษกันมาบ้างในชีวิตนักเรียนไทย หรือจนกระทั่งมาเป็นคุณครูเอง เราเชื่อว่าครูไทยเก่ง มีเทคนิคและความคิดสร้างสรรค์ที่แพรวพราว เราเลยอยากชวนครูไทยมาทำให้การสอนของครูได้ผลขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการมาลองอ่านและแลกเปลี่ยน มุมมอง วิธีคิด และเทคนิคการสอนจากคุณครู Kai Lor (ไค ลอร์) ครูชาวสิงคโปร์ ผู้ช่วยเลขาธิการสหภาพครูสิงคโปร์และอดีตหัวหน้าฝ่ายการสอนวรรณกรรมและภาษาอังกฤษ ที่จะมาชวนคุณครูพาเด็กเรียนด้วยการ “แหกกฎแกรมม่า” และ “ลืมสิ่งที่เคยรู้มา (แบบผิดๆ)” กัน!

.

เริ่มต้นด้วยการมารู้จัก “Considerations for the English Language Teacher” กันก่อน

Consideration for the English Language Teacher คือ ปัจจัย (factors) และลำดับความสำคัญ (priorities) ที่ครูสอนภาษาอังกฤษควรนำมาคิดในกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ 

โดยครู Kai เล่าให้ฟัง 2 ข้อหลักๆ นั่นก็คือ “แกรมม่าไม่ใช่กฏตายตัว” และ “การกระตุ้นความรู้เดิมเพื่อให้เด็กเติมเต็มความรู้ใหม่” 

.

1) แกรมม่าไม่ใช่กฎตายตัว ชวนเด็ก “แหกกฎ” แกรมม่าให้เป็น (!?)

จริงอยู่ที่เวลาสอนภาษาอังกฤษ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสอนแกรมม่าได้เลย เพราะแกรมม่าเป็นเหมือน “กฎและข้อยกเว้นของภาษา” ที่จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจและใช้ตามได้ง่ายขึ้น ครู Kai มองว่าการเรียนแกรมม่ามีประโยชน์นะ เพียงแต่เราต้องเข้าใจว่า “ภาษาเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ” ขึ้นอยู่กับบริบทที่ใช้

.

อย่างเช่น เราเคยรู้มาว่า ภาษาอังกฤษจะไม่จบประโยคด้วยคำบุพบท (preposition) แต่ลองเปรียบเทียบสองประโยคนี้ดูกัน 

  • What did you step on? ✅
  • What did you step? 


เห็นอะไรแปลกๆ ไหม?


จะเห็นว่าในภาษาจริงๆ เราจะใช้ประโยคแรก (ที่จบประโยคด้วยบุพบท) กัน ส่วนประโยคที่สอง แม้สื่อความได้ แต่ประโยคจะฟังดูขาดๆ แปลกๆ ไปจากปกติ

.

หรืออย่างที่เราเคยเรียนกันมาว่า ประโยคภาษาอังกฤษต้องเรียงด้วย 

Subject (ประธาน) + Verb (กริยา) + Object (กรรม)


แต่สมมติเวลามีคนถามเราว่า “What did you have for lunch?” เราก็ตอบได้ทั้ง

  • I had a chicken sandwich. แบบเรียงตามแกรมม่าเป๊ะๆ หรือจะตอบแค่ว่า
  • A chicken sandwich. ที่มีแค่ Object อาจไม่เป็นไปตามแกรมม่าเสมอไปก็ได้

.

การเรียนการสอนที่ให้เด็กๆ ยึดติดกับแกรมม่ามากไป บางทีอาจจะทำให้เขาใช้กฎของภาษาปิดหู ปิดตาตัวเอง

ทำให้อาจพลาดการเจอธรรมชาติความลื่นไหลของภาษา ที่เขาอาจได้ยิน ได้ฟัง ในบริบทที่ต่างออกไปจากหนังสือเรียน

.

ครู Kai เสนอว่าเราควรลองสอนให้เด็กๆ รู้ว่า มีตอนไหนบ้าง เหตุผลไหนบ้างที่เราไม่ต้องใช้ภาษาตามแกรมม่าก็ได้ (Knowing WHEN/HOW and WHY to break grammar rules) โดยการให้เด็กๆ ได้เห็นประโยคตัวอย่างต่างบริบทกันเยอะๆ

.

เราอาจจะเริ่มสอนให้เด็กรู้ก่อนว่า การสื่อสารภาษามี 3 มิติหลัก นั่นก็คือ จุดประสงค์ คนฟัง และบริบท

ถ้าเราคิดถึงสามสิ่งนี้ในการสื่อสาร ภาษาของเราก็จะออกมามีเป็นธรรมชาติมากขึ้น

มาลองดูตัวอย่างประโยคยอดฮิตยืนหนึ่งอย่าง “Marry me.” (แต่งงานกับฉันนะ) กัน!


  • “Marry me.” (แต่งงานกันนะ)

วลียืนหนึ่งพื้นฐานนี้บอก “จุดประสงค์” ครบ จบ ในสามพยางค์ว่า อยากขอเขาแต่งงานนะ


แต่ถ้าเราอยากทำให้คนที่เราขอแต่งงานประทับใจขึ้นไปอีกขั้นล่ะ? เราอาจพูดอะไรที่ใส่ใจรายละเอียดคนฟังขึ้นมาอีกนิดอย่างเช่น:

  • “You complete me. Marry me?” (เธอเติมเต็มชีวิตฉัน เราแต่งงานกันนะ) 

จะเห็นว่าทีนี้เราเพิ่มแง่มุม “คนฟัง” เข้าไปด้วย บอกคนฟังด้วยว่าเขาสำคัญยังไงกับเรา เพราะ You complete me. นะ เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้เราขอเขาแต่งงาน 


หรือจะไปให้ลึกขึ้นอีกขั้น!

  • “After all these years…I finally decided to marry him.” (หลังจากรู้จักกันมาหลายปี ฉันก็ตัดสินใจแต่งงานกับเขา)

พออ่านประโยคนี้แล้ว เราจะรู้ “บริบท” ของคนพูดมากขึ้นว่า รู้จักกับคนรักมาหลายปีแล้ว นอกจากนี้คำว่า “I decided” อาจยังแฝงบริบท Feminism ไปด้วย เช่นถ้าคนพูดเป็น “ผู้หญิง” หรือเพศอื่นๆ ที่สังคมกดทับให้มีอำนาจน้อยกว่าผู้ชาย ประโยคนี้จะสื่อถึงสิทธิในการเลือกและตัดสินใจในความสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมกับผู้ชายหรือ him ในท้ายประโยคคนนั้นอีกด้วย

.

.

จะเห็นว่าความหมายหรือจุดมุ่งหมายของสามประโยคนี้ในการสื่อสารแทบไม่ได้ต่างกันมาก แต่พอเราเพิ่มมิติของภาษาลงไป คำพูดกลับมีความธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเราสอนเด็กให้รู้จักว่า จะปรับภาษาเมื่อไหร่ ปรับยังไง เขาจะใช้ภาษาได้มีประสิทธิภาพขึ้น

.

2) กระตุ้นสิ่งที่เด็กๆ(เคย)รู้/ลืมมันไป/แล้วก็ทำความเข้าใจใหม่!

.

ก่อนที่จะสอนอะไรใหม่ไป ไม่ว่าจะเป็นคำศัพท์หรือการอ่าน ครู Kai แนะนำว่าเราควร กระตุ้น/เช็ค ความรู้หรือการรับรู้เบื้องต้น (Prior knowledge) ของเด็กๆ ก่อน ว่าเข้าใจถูกไหม เข้าใจว่าอะไร

.

ถ้าเราไม่กระตุ้นหรือเช็ค อาจเกิดเรื่องแบบในห้องเรียนครู Kai ได้…

เมื่อ 5 ปีก่อน ครู Kai เคยสอนเด็กม. 4 โดยให้อ่านเนื้อความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับเรื่อง “การก่อตัวของไอออนโลหะ” ในเนื้อความนั้นมีคำศัพท์แปลกๆ คำหนึ่งคือ “pig iron” ที่แปลว่า โลหะที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่แปลไม่ตรงตัว (ถ้าแปลตรงตัวคงเป็น เตารีดหมู หรือ เหล็กหมูแหงๆ) ครู Kai เลยทำการกระตุ้นและเช็คความรู้เดิมเด็กๆ ก่อนสอน โดยการ ให้เด็กๆ ลองวาดรูปขึ้นมาว่า เห็นคำว่า pig iron แล้วนึกถึงอะไร ปรากฏว่านักเรียน 40 คน เกือบทุกคนในห้องวาด หมู + เตารีด กันเกือบหมด! (insKru ก็เพิ่งรู้วันนี้เหมือนกัน ;--)

.

ตัวอย่างเทคนิคการสอน Reading แบบครู Kai

ครู Kai บอกว่า การอ่านมีสองวิธีการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมกันในการอ่านและจำเป็นทั้งคู่

แบบแรกคือ Bottom-up คือ การอ่านทำความเข้าใจจากตัวหนังสือ การประมวลผลคำ 

กับแบบที่สองคือ Top-down คือ การอ่านทำความเข้าใจนอกเหนือตัวหนังสือ เข้าใจความหมายจากความรู้เดิมหรือบริบท เช่น วัฒนธรรม ภาษา ฯลฯ 



อย่างเช่น จะให้เด็กๆ อ่านเรื่อง “Singapore is a green city.”


  • ก่อนสอน เริ่มกระตุ้น/เช็คความรู้เดิมของเด็กๆ ก่อนว่า เขาเข้าใจคำว่า green city ว่ายังไง เข้าใจว่าว่าสิงคโปรเป็นเมืองที่ตึกสีเขียวทั้งเมืองหรือเปล่า? หรือเข้าใจว่าเมืองมีพื้นที่สีเขียว เช่น สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติเยอะ


  • ใช้เทคนิค KWL: Know, Wanted to know and Learned

ก่อนอ่าน Know: เด็กๆ รู้อะไรอยู่แล้วบ้างเกี่ยวกับสิงคโปร์ เขียนออกมา

ก่อนอ่าน Wanted to know: เด็กๆ อยากรู้อะไรเกี่ยวกับสิงคโปร์เพิ่มจากสิ่งที่อ่าน

หลังอ่าน Learned เด็กๆ ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มบ้าง หลังอ่านจบ


พอเราทำแบบนี้ เด็กๆ จะได้เปรียบเทียบและเชื่อมโยงความเข้าใจก่อนอ่าน ก่อนเรียน กับสิ่งที่เขาได้เข้าใจใหม่ (relearn) จากการอ่านครั้งนี้ อะไรที่เขาเข้าใจถูกแล้ว มีมุมมองอื่น ความหมายอื่นเพิ่มไหม อันไหนที่เข้าใจผิดจริงๆ แล้วมันคืออะไร

.

ครู Kai เรียกการเรียนแบบนี้ว่า Metacognitive (อภิปัญญา) คือ การคิดเกี่ยวกับกระบวนการคิดของเรา เช่น ไม่ใช่แค่สอนแกรมม่า คำศัพท์ภาษาอังกฤษ แต่เราได้ให้เด็กๆ ลองคิด ว่าเขา “คิดอย่างไรกับตัวภาษาอังกฤษเอง” ผ่านการตั้งคำถามก่อนเรียน

.

ไม่ว่าจะสอนภาษาอังกฤษเด็กเล็กหรือเด็กโต การกระตุ้น/เช็ค ความรู้หรือการรับรู้เบื้องต้น จะเป็นโอกาสให้คุณครูได้เห็นว่า เด็กๆ เข้าใจภาษาว่ายังไง เข้าใจถูกความหมาย ผิดความหมาย ใกล้เคียงไหมยังไง เพื่อที่เราจะได้ช่วยให้เด็กๆ unlearn ลบความเข้าใจผิด และทำความเข้าใจความหมายที่ถูกต้องได้ 

.

ครู Kai สรุปทิ้งท้ายเอาไว้ว่า “การเรียนภาษา ไม่ใช่แค่การใช้ตามกฏแกรมม่าอย่างเดียว แต่คือการเรียนรู้ความรู้เดิม ทำความเข้าใจมันใหม่” 

.

เพราะตราบใดที่มนุษย์ยังมีชีวิตและใช้ความคิดสร้างสรรค์ เล่น บิด แต่ง เกลาภาษา

ร่วมกับสังคม วัฒนธรรม และกาลเวลา

ภาษาก็จะยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ เช่นเดียวกับมนุษย์เรา 

นี่แหละ คือ ธรรมชาติของภาษา :-)

.

ใครมีไอเดียหรือแนวการสอนภาษาอังกฤษที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ เรียนรู้และใช้ได้จริง อย่างมาเขียนแบ่งปันเพื่อนครูและชาว inskru ผู้สนใจการศึกษาไอเดียกันใน inskru.com/create ได้นะ

.

ส่วนใครอยากดู live ครู Kai แบบเต็มๆ ที่เสริมไอเดียการสอนโดยครูโทนี่ ครูกอล์ฟ และครูเกม ดูย้อนหลังเต็มๆ ได้เลยที่:

https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=333401565381829


ภาษาอังกฤษตัวช่วยครูเทคนิคการสอนการอ่านทุกวิชา

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ