icon
giftClose
profile
frame

⁉️ ถามยังไง ให้นักเรียนอยากตอบ

13010
ภาพประกอบไอเดีย ⁉️ ถามยังไง ให้นักเรียนอยากตอบ

ในบางครั้ง เทคนิคในการสอนที่ดีและมีคุณภาพ อาจจะไม่ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่มีราคาแพง เพียงแค่คำถามที่มีคุณภาพเพียงคำถามเดียว อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในห้องเรียน

7 วินาทีหลังถาม 3 วินาทีก่อนตอบ

.

ศิลปะของการเว้นช่องว่างเพื่อให้นักเรียนมีเวลาคิด

.

หลังจากที่คุณครูใช้คำถามกับนักเรียน คุณครูควรจะเว้นช่วงให้นักเรียนได้มีเวลาคิดที่เพียงพอก่อนที่จะตอบคำถาม 7 วินาที (พร้อมหน้าตายิ้มแย้ม เพื่อให้กำลังใจ) การแสดงอาการที่สื่อให้นักเรียนรู้สึกว่าคุณครูต้องการคำตอบโดยทันทีทันใด จะทำให้นักเรียนเกิดความกดดันและเกิดความกังวลในการตอบ นอกจากนี้ทุกครั้งที่นักเรียนถามคำถาม คุณครูควรหยุดคิดก่อนตอบประมาณ 3 วินาที เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับการ “คิดก่อนตอบ”

.

คุณครูหลายท่านมักจะต้องการคำตอบในห้องเรียนโดยเร็ว และถ้าไม่ได้คำตอบจากนักเรียนคนใดคนนึงอย่างทันที ก็มักจะหันไปหานักเรียนคนอื่น ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกว่า “ฉันไม่จำเป็นต้องตอบก็ได้ เพราะยังไงครูก็ต้องรีบไปหาคำตอบจากคนอื่นอยู่แล้ว” นอกจากนี้การเร่งเร้าจะเอาคำตอบที่เร็วเกินไป จะทำให้นักเรียนไม่เกิดกระบวนการคิดพิจารณาคำตอบอย่างถี่ถ้วน


เลือกคำถามให้สอดคล้องกับจุดประสงค์

.

ระดับการใช้คำถามมีความหลากหลาย เลือกใช้ตามความเหมาะสม

.

คำถามแต่ละคำถามมีระดับและจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น คำถามเพื่อการทบทวนความจำ คำถามเพื่อการเชื่อมโยง หรือคำถามเพื่อการแสดงความคิดเห็น เพราะฉะนั้นคุณครูควรทบทวนว่าคำถามที่เราเลือกใช้นั้นสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ในคาบเรียนนั้นหรือไม่

.

ตัวอย่างเช่น การจัดการเรียนรู้เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทย” เราสามารถเลือกใช้คำถามที่หลากหลายเพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกันได้ดังนี้

.

- กรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่สองในปี พ.ศ. อะไร (คำถามเพื่อการทบทวนความจำ)

- เพราะเหตุใดกรุงศรีอยุธยาจึงแตกถึงสองครั้ง (คำถามเพื่อการเชื่อมโยง)

- หากกรุงศรีอยุธยาไม่แตกในครั้งที่สอง ประเทศไทยจะต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างไร (คำถามเพื่อการแสดงความคิดเห็น)

.

การเลือกใช้คำถามที่สอดคล้องกับเป้าหมายที่ได้วางเอาไว้ จะทำให้คำถามของคุณครูคมชัด สื่อสารกับนักเรียนได้อย่างชัดเจน และเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนอีกด้วย



ออกแบบคำถามอย่างเป็นระบบ

.

เรียงลำดับคำถามให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อสร้างการเรียนรู้ที่ทรงพลัง

.

เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ คุณครูควรวางแผนล่วงหน้าว่าในคาบเรียนที่จะสอนนั้น จะเลือกใช้คำถามใดบ้าง และคำถามใดควรใช้ก่อนหรือหลัง นอกจากนี้คุณครูสามารถคาดการณ์คำตอบล่วงหน้าของนักเรียนในแต่ละคำถาม เพื่อทำให้เห็นแนวทางในการใช้คำถามต่อไป

.

ตัวอย่างเช่น

คำถามที่ 1: สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนมีจุดเริ่มต้นจากไหน

คำถามที่ 2: แหล่งข้อมูลที่นักเรียนนำเสนอมามีความน่าเชื่อถือหรือไม่

คำถามที่ 3: สงครามครั้งนี้แตกต่างจากสงครามครั้งอื่นที่ผ่านมาอย่างไร

คำถามที่ 4: หลักฐานอะไรที่ทำให้นักเรียนเชื่อว่าสงครามครั้งนี้จะมีจุดจบไม่เหมือนกับสงครามครั้งอื่น ๆ

คำถามที่ 5: ถ้ารัสเซียไม่ก่อสงครามกับยูเครน นักเรียนคิดว่ารัสเซียมีโอกาสก่อสงครามกับประเทศใดได้อีก

คำถามที่ 6: ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นักเรียนคิดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง

.

สาเหตุ > ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล > ความแตกต่าง > หลักฐาน > ความเป็นไปได้ > จินตนาการ

.

ลำดับที่ดีจะช่วยให้คุณครูสนุกกับการเลือกใช้คำถาม และสร้างการเรียนรู้ที่ทรงพลังให้กับนักเรียน


พื้นที่ปลอดภัยในการตอบ

.

คำถามที่ดีคือคำถามที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้

.

คำถามที่ดีคือคำถามที่ใช้เพื่อการสร้างการเรียนรู้ ไม่ใช่คำถามที่ใช้เพื่อการตัดสินหรือลงโทษนักเรียน คุณครูควรแสดงให้นักเรียนเห็นว่าการตอบคำถามไม่ใช่การมุ่งหาความถูกต้องของคำตอบ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างครูกับนักเรียน (หรือนักเรียนกับนักเรียน) ไม่ว่าจะตอบผิดหรือตอบถูก ทุกคำตอบล้วนสร้างการเรียนรู้ทั้งสิ้น

.

เมื่อแสดงให้นักเรียนเห็นว่าการตอบผิดหรือถูกไม่ใช่ประเด็นสำคัญ นักเรียนจะรู้สึกถึงความปลอดภัยในการตอบคำถาม และจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ห้องเรียนเกิดความมีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยบทสนทนาถามตอบอย่างสนุกสนาน


“ใครมีเทคนิคการใช้คำถามเพิ่มเติม

มาแชร์ให้เพื่อน ๆ ในคอมเมนต์กันเถอะ”

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(3)