ทุก ๆ ท่านสามารถปรับใช้ในการสอนรายวิชาพื้นฐานทางสังคมศึกษาได้ครับ
แต่จะเหมาะกับนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายครับ
เริ่มกันเลยนะครับ
เมื่อครึ่งเทอมที่แล้ว ได้พานักเรียนศึกษาเกี่ยวกับความเป็นเมือง โดยผ่านมิติที่หลากหลายทั้ง
มิติทางประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม มาครึ่งเทอมหลังนี้ จึงพานักเรียนต่อยอด
เชื่อมโยงความรู้เกี่ยวกับความเป็นเมือง สู่หัวข้อใหม่ ที่เป็นมิติหนึ่งในความเป็นเมืองด้วย
นั่นก็คือ "มิติทางวัฒนธรรม"
หัวข้อในครึ่งเทอมหลังนี้ จึงเป็น
"โลกาภิวัตน์ ความเป็นเมือง กับพหุวัฒนธรรม"
จุดประสงค์ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ครั้งนี้ก็คือ
โดยในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้
เริ่มจากการชวนนักเรียนพูดคุยเกี่ยวกับข่าว เหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งในสังคมไทย สังคมโลก ที่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ
ซึ่งมีกรณีตัวอย่างสำคัญ ๆ เช่น
- การเหยียดเชื้อชาติและการทำร้ายชาวเอเชียในสหรัฐอเมริกา
- การเหยียดกลุ่มชาติพันธุ์ ผ่านข่าวเกี่ยวกับผู้ชนะรางวัลประกวดร้องเพลงที่เป็นคนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
- การเหยียดกลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาทำงานในไทย
โดยชวนนักเรียนพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
แล้วก็ชวนนักเรียนดูการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ที่มีการเรียกร้อง รณรงค์ ให้หยุดการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิว
ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ ทำให้เห็นว่า การเหยียดนั้นเกิดขึ้นในทุกระดับ และอยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับในความแตกต่างหลากหลาย
หลังจากนั้นจึงพานักเรียนศึกษานิยามของคำ 2 คำ ได้แก่
"เชื้อชาติ (Race)" และ "กลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Group)"
ว่าหมายถึงอะไร และมีความสำคัญอย่างไรต่อการศึกษาเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม
รวมทั้งอธิบายเกี่ยวกับแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยม เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจก่อนที่จะไปศึกษากันต่อ
เมื่อศึกษาคำทั้ง 2 คำแล้ว ก็พานักเรียนไปทำความรู้จักและดูความหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม โดยพาไปดูความหลากหลายในสังคมที่ใกล้ ๆ ตัวก่อน นั่นก็คือสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปดูว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์อย่างไรบ้าง
(ซึ่งตรงนี้ได้ไปเชื่อมโยงกับความรู้ทางภูมิศาสตร์มนุษย์ด้วย โดยการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกเป็น 5 กลุ่มชาติพันธุ์ตามตระกูลภาษาที่ใช้ ได้แก่
- กลุ่ม Austronesian หรือกลุ่มภาษาชวา-มาเลย์
- กลุ่ม Austroasiatic หรือกลุ่มภาษามอญ-เขมร
- กลุ่ม Tai-Kadai หรือกลุ่มภาษาไท-ลาว
- กลุ่ม Sino-Tibetan หรือกลุ่มภาษาจีน-ทิเบต
- กลุ่ม Tibeto-Burman หรือกลุ่มภาษาทิเบต-พม่า
โดยพาไปดูชาติพันธุ์ในแต่ละกลุ่มว่าเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อให้นักเรียนเห็นว่าในประเทศ ๆ หนึ่งไม่ได้มีแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน แม้กระทั่งในกลุ่มภาษาเดียวกัน ก็ยังมีความหลากหลายอยู่ภายในกลุ่มด้วย
จากนั้นก็พานักเรียนไปทัวร์ ไปทัศนศึกษา (ทิพย์) ผ่าน Google Map เพื่อไปดูชุมชนที่มีความหลากหลายที่เห็นภาพชัดเจน โดยยกตัวอย่างเป็นชุมชนในกรุงเทพมหานครชุมชนหนึ่ง บริเวณย่านสาทร-สุรศักดิ์ ก็คือชุมชนที่อยู่บริเวณสุสานจีนแต้จิ๋ว ซึ่งตรงนั้นจะมีทั้ง มัสยิดยะวาห์ สุสานจีน วัดปรกยานนาวา (ซึ่งมีเอกลักษณ์แบบพม่า) วัดวิษณุ โบสถ์เซนต์หลุยส์ ทำให้ภาพชัดในความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความเชื่อ
(ที่ยกตัวอย่างชุมชนนี้ เพราะเป็นชุมชนบริเวณบ้านญาติที่ไปอาศัยอยู่ตอนเรียนป.ตรีที่ มศว แล้วเห็นว่ามันหลากหลายจริง ๆ น่าสนใจ)
ต่อไปก็พานักเรียนศึกษาคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ได้แก่
- การกลืนกลาย (Assimilation)
- การปรับตัว (Adaptation)
- การปรับตาม (Accommodation)
- ความแปลกแยก (Alienation)
- การพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependence)
โดยดูว่าคำต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อการจัดการความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างไร
[ข้อมูลมาจากหนังสือโลกาภิวัตน์ศึกษา มสธ. ในส่วนของการจัดการเรียนรู้พหุวัฒนธรรมศึกษา โดยอ.สิริวรรณ]
หลังจากนั้นจึงพานักเรียนทำกิจกรรมใน Mentimeter โดยให้นักเรียนเสนอว่าคำต่าง ๆ ทั้ง 5 คำ ที่ศึกษาไปนั้น นักเรียนเห็นด้วยกับคำใดมากที่สุดในการนำมาจัดการกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยให้นักเรียนกดโหวตและขอตัวแทนแสดงความคิดเห็น
เมื่ออภิปรายในส่วนแรกเสร็จ จึงพานักเรียนไปแลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็นกันต่อ โดยมีโจทย์ว่า หากนักเรียนไปอยู่ท่ามกลางความหลากหลายทั้งเชื้อชาติ วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ เช่น ไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้วจะต้องไปเรียนในภูมิภาคอื่น หรือมีเพื่อนร่วมห้องมาจากที่อื่น หรือไปเรียนต่อต่างประเทศ แม้กระทั่งไปทำงาน นักเรียนจะมีวิธีการจัดการ รับมือ หรือปฏิบัติตัวอย่างไรต่อความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อสรุปตัว Keyword ที่อยู่ในคำตอบแล้ว ก็จะได้ประมาณว่า "เรียนรู้ เข้าใจ เคารพ ปรับตัว การให้เกียรติซึ่งกันและกัน การยอมรับ การไม่เอาความคิดของตนไปตัดสินผู้อื่น ฯลฯ"
ในตอนท้ายของบทเรียนก็พากันสรุปสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ ซึ่งมาจากสิ่งที่นักเรียนเสนอมา โดยทิ้งท้ายไว้ว่า
"ความแตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติ แต่การนำความแตกต่างหลากหลายมาใช้สร้างให้เป็นเรื่องตลกนั้นไม่ปกติ และไม่ควรทำอย่างยิ่ง อีกทั้งมองเห็นให้ว่าสังคมเรานั้นไม่ได้มีแค่กลุ่มชนใดกลุ่มชนหนึ่ง แต่มาจากการรวมกันของหลากหลายกลุ่มชน ก็อยู่ร่วมกันจึงอาศัยการพึ่งพากัน การปรับตัว ยอมรับและเข้าใจในความแตกต่าง และไม่ตัดสินคุณค่าทางความคิด ความเชื่อ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ โดยใช้ตนเองเป็นบรรทัดฐาน"
ในการวัดประเมินผลของการเรียนรู้ในครั้งนี้ วัดจากการตอบคำถามและการแลกเปลี่ยนภายในชั้นเรียน รวมถึงประเมินผลในองค์รวมผ่านกิจกรรมการออกแบบเมืองที่เหมาะสมกับทุกคนในท้ายภาคเรียน
หมายเหตุ : ผมได้แนบไฟล์สื่อ PowerPoint ประกอบการสอนไว้ด้วยครับ
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!