inskru
gift-close

เกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน

1
0
ภาพประกอบไอเดีย เกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน

เกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เป็นเกมเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนผ่านการเรียนรู้และคิดตอบคำถาม ซึ่งนักเรียนจะได้คิดแก้ไขปัญหาสถานการณ์ต่าง ๆ ผ่านการเล่นเกม

ครูสังคมอมยิ้มชวนเล่นเกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL)


เวลาที่ใช้ในการจัดการเรียนรู้ 2 ชั่วโมง

ขั้นที่ 1 กำหนดปัญหา                                                                            

1. นักเรียนและครูกล่าวทักทายกัน

2. นักเรียนรับชมวิดีโอ เรื่อง ชาวสวนลำไยร้องแก้ไขราคาลำไยตกต่ำ หลังจีนหยุดรับซื้อ จาก YouTube (https://youtu.be/jqGM13fLXEE) หลังจากนั้นครูตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของนักเรียน ดังนี้

  • 2.1  ปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นคืออะไร (ราคาลำไยตกต่ำ)
  • 2.2  นักเรียนคิดว่าจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง (แนวคำตอบ เช่น กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ขาดรายได้ที่จะมาต่อยอดในการเพาะปลูก ทำให้พี่น้องชาวสวนหลายคน ต้องเป็นหนี้สิน สุดท้ายที่ดินทำกินเหล่านี้อาจต้องโดนยึดตกไปอยู่ในกำมือนายทุน แรงงานรับจ้างเก็บลำไยตกงาน ปัญหาความยากจน)

3. ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาให้นักเรียนทราบว่า วันนี้จะเรียนเรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในระดับชุมชน โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) นักเรียนจะได้ทำใบงานและกิจกรรมกลุ่ม พร้อมทั้งเล่นเกมพิชิตปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชน และสอนนักเรียน อ่านคำศัพท์ที่น่ารู้ มีคำว่า

  • Economic Problems ปัญหาเศรษฐกิจ
  • Community ชุมชน
  • Country ประเทศ


ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจกับปัญหา                                                       

4. ครูแบ่งนักเรียนออกเป็น 6 กลุ่มกลุ่มละ 3 คน โดยคละนักเรียนแต่ละกลุ่มให้มีนักเรียนที่เรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อนอยู่ภายในกลุ่ม ตัวแทนนักเรียนแต่ละกลุ่มรับใบความรู้ที่ 17 เรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในระดับชุมชน นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันศึกษาความรู้

5. นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิด ดังนี้

  • 5.1 ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในระดับชุมชนมีปัญหาใดบ้าง (แนวคำตอบ ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยีปัญหาผลผลิตมีน้อยและราคาตกต่ำ ปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคนิยม)
  • 5.2 นักเรียนคิดว่าปัญหาความยากจนมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง (แนวคำตอบ ไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว การไม่มีอาชีพที่แน่นอน)
  • 5.3 การที่ประชาชนส่วนใหญ่ในชุมชนมีฐานนะยากจนจะส่งผลอย่างไร (แนวคำตอบ ส่งผลทำให้มีเงินออมน้อย ทำให้ชุมชนขาดแคลนเงินทุนที่จะนำไปพัฒนาอาชีพหรือลงทุนในกิจการต่าง ๆ ที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมเข้ามา)


ขั้นที่ 3 ดำเนินการศึกษาค้นคว้า                                                          

6. นักเรียนทำกิจกรรมเล่นเกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน




7. นักเรียนรับฟังกติกาการเล่นเกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ดังนี้ เกมพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนเป็นเกมเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนผ่านการเรียนรู้และคิดตอบคำถาม


อุปกรณ์ในกล่อง

  • การ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน)        15 ใบ
  • การ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว)                            22 ใบ
  • การ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม)        3 ใบ
  • การ์ดแทรกแซง (สีแดง)                             3 ใบ
  • การ์ดคำถามพิเศษ                                  2 ใบ
  • คู่มือการเล่น                                          1 ฉบับ



ขั้นตอนการเล่น

1) ผู้เล่น 4-5 คน หรือมีผู้เล่นจำนวนมากสามารถจับคู่เป็น 4-5 คู่ก็ได้ จะนั่งรอบกันเป็นวงกลมโดยมีพื้นที่ว่างสำหรับเล่นเกมอยู่ตรงกลางวง

2) ผู้นำการเล่นเกมช่วยสับการ์ดและแยกการ์ดออกเป็น 2 กอง คือ กองการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) และกองการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ซึ่งรวมถึงการ์ดพิเศษต่าง ๆ โดยคว่ำหน้าการ์ดลง

3) หลังจากนั้นให้สุ่มแจกการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ให้กับผู้เล่นทุกคน คนละ 4 ใบเท่าๆ กัน ยกเว้นคนสุดท้ายจะได้รับการ์ด 5 ใบ ส่วนการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ที่เหลือให้วางคว่ำไว้เป็นกองสำหรับจั่วต่อไป

4) เริ่มเกมโดยเปิดการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) 4 ใบ จากในกองมาวางไว้ตรงกลางวงโดยให้ผู้เล่นช่วยกันอ่านสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจบนการ์ดให้เพื่อนได้ยินจนครบทั้ง 4 ใบ

5) เลือกผู้ที่จะเล่นเป็นคนแรกแล้วให้ผู้เล่นเกมคนแรกสุ่มหยิบการ์ด 1 ใบ จากผู้เล่นที่อยู่ทางขวา (คนสุดท้ายที่มีการ์ด 5 ใบ) โดยนับจากจุดนี้เกมจะเล่นวนไปตามเข็มนาฬิกา




6) ผู้เล่นคนแรกเลือกลงการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ในมือ 1 ใบ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ โดยต้องตอบคำถามในการ์ดที่เลือกลงต่อสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ

7) เมื่อจบตาของผู้เล่นคนแรกแล้ว ผู้เล่นคนแรกซึ่งตอนนี้จะมีการ์ดเหลืออยู่ในมือ 4 ใบ จะต้องจั่วหยิบการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) จากในกองขึ้นมา 1 ใบ เพื่อให้ในมือมีครบ 5 ใบ ผู้เล่นคนต่อไปสุ่มหยิบการ์ดจากมือคนที่อยู่ทางขวาไป 1 ใบ หลังจากนั้นก็เล่นวนไปจนกว่าจะจบเกม

8) โดยวิธีการทำคะแนนก็คือ เมื่อผู้เล่นคนใดลงการ์ดที่ทำให้คะแนนรวมของการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ทั้งจากที่ตนเองหรือจากของผู้เล่นคนก่อนลงไว้มีมากกว่าหรือเท่ากับการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ใบนั้น ๆ ก็จะเป็นผู้พิชิตปัญหานั้นได้ และได้เก็บการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ไว้กับตัวเพื่อเป็นคะแนนสะสม

9) โดยทันทีที่มีผู้เล่นคนใดพิชิตสถานการณ์ และเก็บการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ไปได้ ก็จะต้องเปิดการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ใบใหม่โดยจั่วจากกองการ์ดสีน้ำเงินมาวางแทนเพื่อให้มี 4 ใบเสมอ ยกเว้นแต่ว่ากองการ์ดจะหมดเมื่อใกล้จบเกมโดยทุก ๆ ครั้ง เมื่อเปิดเการ์ดใหม่ก็ช่วยกันอ่านให้ได้ยินโดยทั่วถึงกัน

 




การ์ดพิเศษ (การ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม), การ์ดแทรกแซง, การ์ดคำถามพิเศษ)

1) การ์ดแทรกแซง (สีแดง) คุณสมบัติ ใช้สกัดกั้นการทำคะแนนของผู้เล่นอื่น ใครที่มีการ์ดแทรกแซงอยู่ในมือ จะมีสิทธิ์สกัดกั้นการทำคะแนนของผู้เล่นอื่นได้ โดยผู้เล่นคนอื่นลงการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ผู้มีการ์ดแทรกแซงจะสามารถลงการ์ดใบนี้ทำให้การลงการ์ดของผู้เล่นอีกคนเป็นโมฆะทันที และจะต้องเก็บการ์ดเข้ากองกลางไปพร้อมกับการ์ดแทรกแซง

2) การ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) คุณสมบัติ ทำให้สามารถลงการ์ดพิชิตปัญหาได้พร้อมกัน 2 ใบ ใครที่มีการ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) อยู่ในมือจะมีสิทธิ์ลงการ์ดพิชิตปัญหาได้พร้อมกัน 2 ใบ ซึ่งจะทำให้ผลคะแนนรวมของการ์ด 2 ใบมีมากกว่าการลงการ์ดปกติใบเดียว โดยผู้เล่นคนนั้นจะต้องลงการ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) ไปพร้อมกับการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) อีก 2 ใบ และจะต้องตอบคำถามจากการ์ดทั้ง 2 ใบให้ครบถ้วนด้วย

3) การ์ดคำถามพิเศษ (สีฟ้า) คุณสมบัติ ตอบคำถามให้ครบเพื่อพิชิตการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ได้ทันที

 

การสิ้นสุดเกม เกมพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชนจะจบได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่มีการเล่นแบบจำกัดเวลา และกรณีที่การ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) หมดทั้ง 15 ใบ

 


การสรุปผลคะแนน ผู้เล่นที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดคือ ผู้ชนะ โดยคะแนนมาจากการ์ดสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจ (สีน้ำเงิน) ที่สะสมตลอดการเล่น


8. นักเรียนเริ่มเล่นเกมพิชิตปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชน โดยครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาในการเล่นเกม


ขั้นที่ 4 สังเคราะห์ความรู้                                                                    

9. นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้จากเกมการเรียนรู้ เกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชนว่า เกมการ์ดพิชิตปัญหาเศรษฐกิจในระดับชุมชน ชุมชนต่าง ๆ ของไทยโดยภาพรวมเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ดังนี้ ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยี ปัญหาผลผลิตมีน้อยและราคาต่ำ และปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคนิยม ปัญหาเศรษฐกิจเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงคุณภาพชีวิตของครอบครัว รวมไปถึงการขาดแคลนที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ทำได้ยาก


 

ขั้นที่ 5 สรุปและประเมินค่าของคำตอบ                                                   

10. นักเรียนสรุปผลการเรียนรู้ ประเมินค่าคำตอบและนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการเล่นเกมมาแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่ม

11. ตัวแทนนักเรียนรับกระดาษปรู๊ฟและสีจากครู ให้แต่ละกลุ่มร่วมกันสรุปผลการเรียนรู้ โดยเขียนแผนผังความคิดเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจของไทยในระดับชุมชนในประเด็นปัญหา สาเหตุ

และแนวทางแก้ไขปัญหา โดยแต่ละกลุ่มรับผิดชอบดังนี้

  • 1) ปัญหาความยากจน
  • 2) ปัญหาผลผลิตมีน้อยและราคาต่ำ
  • 3) ปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคนิยม
  • 4) ปัญหาการขาดแคลนเงินทุน
  • 5) ปัญหาการขาดแคลนเทคโนโลยี
  • 6) ปัญหาเกี่ยวกับการบริโภคนิยม

 

ขั้นที่ 6 นำเสนอและประเมินผลงาน                                                          

12. นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน ครูและนักเรียนร่วมกันประเมินผลงานและให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

13. ครูและนักเรียนร่วมสนทนา ซักถาม แสดงความคิดเห็น สรุปความรู้เรื่อง ปัญหาเศรษฐกิจของไทยในระดับชุมชน ว่า (เศรษฐกิจของประเทศไทยซึ่งลักษณะเศรษฐกิจขี้นอยู่กับภาคเกษตรกรรม มีปัญหาหาความยากจน ปัญหาผลผลิตมีน้อยและราคาต่ำ และปัญหาอื่น ๆ การจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจในชุมชนก่อน เพราะชุมชนเป็นฐานรากของประเทศ ถ้าเศรษฐกิจชุมชนดีก็ย่อมจะส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นด้วย)




เนื่องจากไฟล์มีขนาดใหญ่ สามารถโหลดได้จาก google drive https://drive.google.com/drive/folders/1M9q6zGubaVT_h_LYEyYjJFlcYHA1MqvW?usp=sharing


ครูท่านไหนนำไปใช้แล้วสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

ไม่อยากพลาดเกมสนุก ๆ ฝากกดไลก์ กดติดตามเพจครูสังคมอมยิ้มไว้ด้วยนะครับ https://www.facebook.com/Krusangkomomyim/?ref=pages_you_manage


 

สังคมศึกษาการ์ดเกมเกมเพื่อการเรียนรู้บอร์ดเกมปัญหาเศรษฐกิจไทยLearningArenaเรียนแบบครู

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

1
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insครูสังคมอมยิ้ม
ครูสังคมศึกษาผู้หลงหลงในบอร์ดเกมการศึกษา กับการตั้งคำถามว่า "เกมเป็นมากกว่าแค่เรื่องสนุกที่ไม่มีสาระจริงหรือ"

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ