inskru

🤔 สอนประวัติศาสตร์ด้วยวิธีผิด ๆ ชีวิตเปลี่ยน

0
0
ภาพประกอบไอเดีย 🤔 สอนประวัติศาสตร์ด้วยวิธีผิด ๆ ชีวิตเปลี่ยน

3 ความเข้าใจผิดในการสอนประวัติศาสตร์ วิชาประวัติศาสตร์ ขึ้นชื่อว่าเป็นวิชาที่มีเนื้อหาเยอะแยะมากมาย ทั้งชื่อของบุคคลต่าง ๆ ช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รายละเอียดของเหตุการณ์ จึงเกิดความพยายามของคุณครูในการสอนประวัติศาสตร์ที่อยากจะทำให้วิชาประวัติศาสตร์ในห้องเรียนสนุกขึ้นมีวิธีการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน

ความเข้าใจผิดข้อที่ 1


วิชาประวัติศาสตร์คือวิชาที่ให้นักเรียนนั่งฟังเรื่องราวในอดีต

.

หลายคนเข้าใจว่าประวัติศาสตร์คือเรื่องเล่าหรือเรื่องราวว่า “ใคร ทำอะไร ที่ไหน ทำไม และอย่างไร” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่การมองแบบนี้อาจไม่ถูกทั้งหมด เพราะหัวใจของการศึกษาประวัติศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่ตัวละคร เหตุการณ์ สาเหตุ หรือผลลัพธ์เท่านั้น เรื่องสำคัญจริง ๆ ของการศึกษาประวัติศาสตร์ คือ “หลักฐาน (evidence)”

.

ประวัติศาสตร์ที่ดีต้องตอบได้ว่า “เรารู้เรื่องหนึ่ง ๆ ได้อย่างไร จากหลักฐานชิ้นไหน หลักฐานชิ้นนั้นน่าเชื่อถือกว่าหลักฐานอื่นอย่างไร มีหลักฐานไหนอีกบ้างที่พูดไปในทางเดียวกันหรือพูดต่างกัน” เพื่อให้เข้าใกล้ความจริงที่เกิดขึ้นในอดีต การศึกษาประวัติศาสตร์จึงต้องมาพร้อมกับหลักฐานเสมอ การตั้งคำถามว่าเรารู้เรื่องหนึ่ง ๆ ได้อย่างไรจะทำให้การเรียนการสอนวางอยู่บนหลักฐานซึ่งจะทำให้เกิดการคิดการถกเถียง มากกว่าเป็นแค่เรื่องเล่าที่ฟังสนุกชวนติดตาม

.

กรณีข่าวคุณแตงโมเสียชีวิตเป็นตัวอย่างที่ดี เราเห็นได้เลยว่าคำพูดของคนแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน และคำพูดของคนคนเดียวกันอาจปรับเปลี่ยนไปมาได้ บางคนอาจจะไม่ได้โกหก แต่พูดจากสิ่งที่เขาเห็น ณ เวลานั้นจริง ๆ เราอาจรู้สึกว่าบางคนไม่ได้พูดความจริง แต่คำถามคือเรารู้เรื่องนั้นได้อย่างไร ท้ายที่สุด ถ้าเราต้องการทำความเข้าใจเหตุการณ์หรือผลลัพธ์ของเหตุการณ์ในวันนั้น เราไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้จากแค่เรื่องที่แต่ละคนเล่า แต่ต้องหาคำตอบด้วยว่าแต่ละคนมีหลักฐานอะไรสนับสนุนบ้าง เราเชื่อถือหลักฐานเหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน และมีหลักฐานอื่นอีกไหมที่จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น


ความเข้าใจผิดข้อที่ 2


เรื่องราวทางประวัติศาสตร์คือบทเรียนจากนิทานสอนใจ

.

ครูประวัติศาสตร์มักบอกนักเรียนว่าที่ต้องเรียนรู้อดีตก็เพราะจะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันและอนาคต ซึ่งก็ไม่ผิดอีกเหมือนกัน แต่ความเชื่อเรื่องนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะถ้าประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่จำเป็นต้องมีหลักฐานรองรับ ประวัติศาสตร์ก็ย่อมไม่ใช่แค่บทเรียนจากนิทานสอนใจ แต่ต้องเป็นบทเรียนที่ได้จากข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานรองรับ

.

ยกตัวอย่างเช่น คาบเรียนเรื่องประวัติศาสตร์กบฏในสังคมไทย แทนที่เราจะสรุปนิทานสอนใจว่าการก่อกบฏเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี การแก้ปัญหาด้วยการใช้กำลังถูกหรือผิด เราอาจเริ่มจากการออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนกลุ่มแรกทำเส้นลำดับประวัติศาสตร์ (Timeline) ว่ากบฏในประเทศไทยเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดบ้าง กลุ่มที่สองอาจศึกษาสาเหตุและผลลัพธ์ของกบฏแต่ละครั้ง กลุ่มที่สามอาจไปดูว่ากบฏแต่ละกลุ่มขัดแย้งกับใคร กลุ่มสุดท้ายอาจลองทำแผนที่ว่ากบฏในประเทศไทยเกิดขึ้นที่จังหวัดใดบ้าง จากนั้นครูอาจให้นักเรียนแต่ละกลุ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน และชวนคิดว่าเราสามารถสรุปประเด็นอะไรได้บ้างจากข้อมูลทั้ง 4 ชุด แต่ละกลุ่มมีข้อสังเกตอะไรไหม อาจชวนสังเกตว่ากบฏกระจุกตัวที่ใดและในช่วงเวลาไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า แต่ละช่วงเวลามีสาเหตุ ผลลัพธ์ และคู่ขัดแย้งเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เป็นต้น

.

หรือในชั้นเรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง ก่อนจะไปถึงนิทานสอนใจว่าคนไทยควรรักสามัคคีกัน เราอาจหาหลักฐานชั้นต้นชั้นรองจากพงศาวดารไทยและพม่า รวมถึงบันทึกชาวต่างชาติ ซึ่งให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆ ไม่เหมือนกันมาให้นักเรียนลองฝึกคิดวิเคราะห์ ทำไมเอกสารบางชิ้นจึงชื่นชมคนบางคน แต่เอกสารบางชิ้นกลับโจมตีคนคนนั้นอย่างรุนแรง ใครเป็นผู้เขียน เขาเขียนในเวลาไหน มีวัตถุประสงค์อย่างไร กรุงศรีอยุธยาพ่ายแพ้เพราะแตกสามัคคีกันจริงไหม ถ้าจริง หลักฐานไหนยืนยันแบบนั้น ถ้าไม่จริง หลักฐานไหนหักล้างความเชื่อนี้บ้าง หรือว่าชัยชนะและความพ่ายแพ้ของอาณาจักรใดๆ ในอดีตอาจมีสาเหตุปัจจัยที่ซับซ้อนกว่านั้นเสมอ

.

เราอาจไม่จำเป็นต้องให้นักเรียนสรุปว่าอะไรคือ “ความจริง” ที่เกิดขึ้นในอดีตก็ได้ แต่นักเรียนควรรู้ว่าอะไรคือจุดแข็งหรือข้อจำกัดของหลักฐานแต่ละชิ้น และ “บทเรียน” ที่เราสรุปได้มาจากหลักฐานชิ้นใดบ้าง อย่างน้อยที่สุดการเรียนประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนหลักฐานและกระบวนการคิด วิเคราะห์ ตั้งคำถามแบบนี้ จะทำให้เราเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ไม่ว่าเรื่องเล่าที่ดูน่าเชื่อนั้นจะอยู่ในรูปของแชทไลน์หรือข้อความในทวิตเตอร์ก็ตาม


ความเข้าใจผิดข้อที่ 3


การสอนประวัติศาสตร์ที่ดี คือการที่ครูเล่าเรื่องด้วยความตลก หรือสนุกสนาน

.

หลายครั้งพอเราเข้าใจไปว่าการสอนประวัติศาสตร์คือการเล่าเรื่อง เล่าเนื้อหาของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ครูประวัติศาสตร์ที่มักได้รับคำชมว่าสอนดีเลยมักเป็นครูที่เล่าเรื่องสนุก ตลก ตื่นเต้น และชวนติดตาม ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิด การเล่าเรื่องสนุกเป็นข้อได้เปรียบและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอนไม่ว่าวิชาใด เพราะทำให้เรื่องที่นักเรียนอาจคิดว่าน่าเบื่อกลายเป็นเรื่องน่าสนใจได้ และหลายครั้งความสนใจของผู้เรียนก็คือจุดเริ่มต้นที่ดีของการเรียนรู้

.

แต่ชวนตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า จริงๆ แล้ว การสอนประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องสนุกหรือตลกเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น การเรียนประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซี หรือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสนุกตลกหัวเราะกัน แต่เราอาจต้องการความเงียบที่เกิดจากการที่นักเรียนครุ่นคิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้มนุษย์ออกมาฆ่าฟันกันมากมายขนาดนั้นก็ได้

.

ความรู้สึกในห้องเรียนประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเป็นความสนุกในความหมายว่าตลกเฮฮา สิ่งสำคัญที่ครูควรถามตัวเองเสมอเวลาออกแบบการสอนคือ “อะไรคือความรู้สึกที่ควรมีอยู่ในบทเรียนของเราบ้าง” ความรู้สึกอื่นๆ มีประโยชน์และสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นของการออกแบบชั้นเรียนประวัติศาสตร์ได้

.

เช่น เวลาสอนประวัติศาสตร์ความเหลื่อมล้ำหรือประวัติศาสตร์บาดแผล เราอาจไม่จำเป็นต้องออกแบบกิจกรรมให้สนุกสนานเฮฮา ตอบคำถามชิงรางวัล แต่อาจตั้งต้นจากการคิดว่าชั้นเรียนควรมีบรรยากาศของ “ความเห็นอกเห็นใจ” หรือ “เข้าอกเข้าใจผู้อื่น” พอตั้งต้นไว้แบบนี้ เราก็อาจให้นักเรียนได้อ่าน ฟัง หรือดูเรื่องราวและหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำหรือประวัติศาสตร์บาดแผลเหล่านั้น อาจชวนนักเรียนคิดว่าตัวเองอยู่ในจุดที่ได้เปรียบกว่าคนอื่นอย่างไร หรืออย่างน้อยพวกเราพอจะเข้าใจชีวิตของผู้คนที่แตกต่างจากตัวเองได้อย่างไรบ้าง

.

ครูอาจทำให้นักเรียนรู้สึก “ประหลาดใจ” ด้วยการหยิบยกหลักฐานที่นักเรียนไม่เคยเห็นมาก่อนให้ได้ลองอ่านหรือพูดคุยกัน บางคาบผมตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากให้นักเรียนรู้สึก “งง” หรือ “สงสัย” คือยังไม่ต้องเข้าใจเรื่องนี้ในตอนนี้ ยังไม่จำเป็นต้องตอบคำถามที่ผมถามได้หลังจากเรียนจบคาบนี้ แต่ให้เก็บความงงหรือสงสัยนั้นไว้ เพื่อมาคุยกันในคาบเรียนต่อ ๆ ไป

.

ความรู้สึกไม่ใช่สิ่งอันตรายต่อการเรียนรู้ ครูสามารถใช้ความรู้สึกมาออกแบบการเรียนการสอนได้ โดยมีข้อแม้ว่าเราต้องยึดมั่นกับข้อเท็จจริงและหลักฐานเป็นสำคัญ และเราต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดและถกเถียง ไม่ใช่บังคับให้เขาต้องรู้สึกอย่างที่เราอยากให้เขารู้สึกเท่านั้น

.

ดังนั้นการสอนประวัติศาสตร์ที่ดีจึงไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่าเรื่องให้สนุก มันต้องการความรู้สึกอื่น ๆ มากกว่าแค่ความสนุกสนานเฮฮา ความรู้สึกพวกนี้เมื่อถูกออกแบบไว้ตั้งแต่แรกจะมีประโยชน์ต่อชั้นเรียนของเรามาก เมื่อรวมกับการใช้หลักฐานและการเปิดให้นักเรียนได้คิดด้วยตัวของเขาเอง สักวันหนึ่งชั้นเรียนของเราอาจจะ “สนุก” ขึ้นมาโดยที่เราไม่จำเป็นต้อง “เล่าเรื่อง” ให้สนุกเลย


บทความโดยครูพล (อรรถพล ประภาสโนบล)

สัมภาษณ์ครูภาคิน นิมมานนรวงศ์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์

insfoinsKruพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ