โดยทั่วไปนักเรียนมักจะมาปรึกษาครูที่ปรึกษาหรือครูที่นักเรียนไว้วางใจเกี่ยวกับปัญหาชีวิตหรือประเด็นส่วนตัวของชีวิตในด้านต่าง ๆ ทั้งนี้หากมีนักเรียนมาขอปรึกษาครูแล้วบทบาทของครูควรเป็นอย่างไร ? เรามาลองพิจารณาบทบาทของครูต่อไปนี้
- ครูเอ สวมบทบาทเป็นผู้สั่งสอน (teacher)
เมื่อมีนักเรียนมาเล่าปัญหาชีวิตให้ครูเอฟัง ครูเอมักให้คำแนะนำถึงวิธีการแก้ปัญหาชีวิตไปตามตรง
- ครูบี สวมบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษา (consultant)
เมื่อมีนักเรียนมาเล่าปัญหาชีวิตให้ครูบีฟัง ครูบีจะช่วยนักเรียนวิเคราะห์ปัญหาชีวิต และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาให้แก่นักเรียน
- ครูซี สวมบทบาทเป็นผู้ชี้แนะ (coach) หรือโค้ช
เมื่อมีนักเรียนมาเล่าปัญหาชีวิตให้ครูซีฟัง ครูซีไม่ค่อยให้คำแนะนำ แต่ใช้การตั้งคำถามให้นักเรียนได้รวบรวมสติและเรียบเรียงคำพูดของตนเองในการตอบคำถาม เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจปัญหาชีวิตของตนเองให้ชัดเจนขึ้น และคิดหาวิธีแก้ปัญหาชีวิตด้วยตนเองได้ในที่สุด
เราคิดว่าบทบาทการให้คำปรึกษาของผู้สั่งสอน ผู้ให้คำปรึกษา และโค้ช แบบไหนเหมาะสมกับนักเรียนมากกว่ากัน ? หลายคนคงตอบว่า “โค้ช” หรืออาจเป็นคำตอบอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วบทบาทการให้คำปรึกษาที่เหมาะสมกับนักเรียนนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และวุฒิภาวะของนักเรียนด้วย ดังนั้น เราไม่สามารถกล่าวได้ว่า บทบาทโค้ช ในการให้คำปรึกษากับนักเรียนนั้นดีที่สุด แต่อาจกล่าวได้ว่า บทบาทโค้ชและโค้ชชิ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้นักเรียนหรือผู้มารับการปรึกษาได้เข้าใจปัญหาชีวิตให้ชัดเจนขึ้นและเลือกแก้ปัญหานั้นด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิผล
แนวคิดพื้นฐานของการโค้ชจะเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความสมบูรณ์พร้อมในตนเอง ดังนั้น โค้ชไม่ได้มีหน้าที่ไปแก้ไขปัญหานั้น ๆ แต่หน้าที่โค้ชคือทำให้ความสมบูรณ์พร้อมของมนุษย์คนนั้นปรากฏขึ้น และทำให้มนุษย์คนนั้นสามารถตระหนักรู้ได้ด้วยตนเอง
สิ่งสำคัญของการโค้ชคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) และการตั้งคำถามทรงพลัง (Powerful Questioning) โดยมีรายละเอียดดังนี้
การฟังอย่างลึกซึ้งเป็นอย่างไร
ปกติการฟังคือ การรับสารที่ผู้สื่อสารถ่ายทอดมาให้ผู้ฟัง แต่การฟังอย่างลึกซึ้งนอกจากที่เราจะต้องจับประเด็นหรือสิ่งที่ผู้พูดต้องการที่จะสื่อสารออกมาแล้วผู้ฟังยังควรรับฟังโดยปราศจากการตัดสินและอคติ เพื่อรับรู้อาการทางจิตใจของผู้พูด
ตลอดจนการใช้ทักษะการสังเกตเพื่อรับรู้อาการทางกายของผู้พูด อาทิ สีหน้า แววตา น้ำเสียง ท่าที เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดการฟังที่เราสามารถฟังได้ลึกซึ้งกว่าแค่คําพูด แต่ได้ยินและรับรู้ไปถึงสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูด เช่น ความรู้สึก อารมณ์ ความต้องการ คุณค่า ความเชื่อของผู้พูด จนนักเรียนสามารถรับรู้ได้ว่าครูใส่ใจและเข้าใจปัญหาของนักเรียน
การตั้งคำถามทรงพลังเป็นอย่างไร
คำถามอาจแบ่งได้ง่าย ๆ ออกเป็น 2 ประเภท คือ คำถามปลายปิด (Close-ended questions) และคำถามปลายเปิด (Open-ended questions) โดยการตั้งคำถามปลายปิดมีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบ (check) ว่า ครู (I) อยู่กับนักเรียน (You) อยู่ไหม และสิ่งที่ครู (I) รู้สึกมันเหมือนกับนักเรียน (You) ไหม ส่วนคำถามปลายเปิดมีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนเข้าใจปัญหาชีวิตของตนเองได้ชัดเจนขึ้น
ทั้งนี้โค้ชควรตั้งคำถามปลายปิดและคำถามปลายเปิดได้ โดยคำถามทั้ง 2 แบบนี้สามารถเป็นคำถามที่ทรงพลังได้ หากคำถามนั้นทำให้นักเรียนรู้สึกว่า “มีใครสักคนได้เข้าใจสถานการณ์ของเรา”
การฝึกตั้งคำถามโค้ชชิ่งนั้นในช่วงแรกครูอาจฝึกฝนจากตัวอย่างคำถามตัว U ดังรูปที่ 1 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ระดับที่ 1 โค้ชเริ่มตั้งคำถามถึงสิ่งที่นักเรียนเห็นว่าเป็นปัญหา
ระดับที่ 2 โค้ชควรตั้งคำถามให้นักเรียนทบทวนตัวเอง
ระดับที่ 3 โค้ชควรตั้งคำถามให้นักเรียนทำความเข้าใจลงลึกไปกับตัวเอง
ระดับที่ 4 โค้ชควรตั้งคำถามให้นักเรียนนึกถึงภาพของตัวเอง เป็นการก้าวออกมาหลังจากที่นักเรียนได้คิดทบทวนลงลึกไปกับตัวเอง
ระดับที่ 5 โค้ชควรตั้งคำถามให้นักเรียนหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง หรือทำให้นักเรียนกล้าที่จะลงมือแก้ไขปัญหา
ระดับที่ 6 หากโค้ชต้องการนัดหมายนักเรียนเพื่อมาพูดคุยกันในครั้งถัดไป (Follow up)
รูปที่ 1 คำถามโค้ชชิ่ง (ที่มา : bit.ly/3jk7Gft)
- เมื่อนักเรียนมาปรึกษาครูแล้วครูจะทำอย่างไรให้นักเรียนกล้าเล่าปัญหาชีวิตทั้งหมด ?
นักเรียนต้องการพื้นที่ความปลอดภัย (Safe Zone) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ครูรับฟังโดยไม่ไปตัดสินนักเรียนว่าถูกต้องหรือผิด สิ่งนี้จะทำให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจต่อครู และนักเรียนจะกล้าเล่าปัญหาชีวิตส่วนตัวออกมาเอง ถึงแม้ว่านักเรียนอาจจะเล่าบางสิ่งบางอย่างออกมาไม่ทั้งหมด แต่ครูก็สามารถนัดหมายนักเรียนเพื่อมาพูดคุยกันในครั้งถัดไป (Follow up) การพูดคุยโดยปราศจากการตัดสินและอคติต่อนักเรียนในหลาย ๆ ครั้งนี้เอง จะทำให้นักเรียนเกิดความไว้วางใจจนกล้าเล่าปัญหาชีวิตออกมาได้ทั้งหมด
- ครูไม่ควรตั้งคำถามปลายปิดเวลาโค้ชชิ่ง ?
ครูสามารถตั้งคำถามปลายปิดได้หากคำถามนั้นช่วยให้นักเรียนรู้สึกว่า เราเข้าใจเขา หรือ เรามีความรู้สึกภายในแบบเขา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คำถามปลายปิดกลายเป็นคำถามทรงพลัง
- ครูไม่ควรแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมกับนักเรียนเวลาโค้ชชิ่ง ?
ครูสามารถแสดงอารมณ์หรือความรู้สึกร่วมกับนักเรียนได้หากทำให้นักเรียนตระหนักว่า ครูเข้าใจความรู้สึกของนักเรียน และพื้นที่โค้ชชิ่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่นักเรียนสามารถแสดงอารมณ์ที่เปราะบางได้ แต่ครูควรระมัดระวังไม่ให้ความรู้สึกของตนเองจมลงไปกับความรู้สึกของนักเรียนจนสูญเสียท่าทีในการโค้ช
แหล่งข้อมูลสำหรับคุณครูที่สนใจการโค้ช
รายการครูปล่อยแสง ตอนทักษะการโค้ชเพื่อครู bit.ly/3Jo8c6L และ bit.ly/3JjQkdm
วีดิทัศน์การโค้ชชิ่งเพื่อการเติบโต (Coaching for Growth) bit.ly/3jk7Gft
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!