icon
giftClose
profile

ครูสังคมศึกษายุค 4.0

50485
ภาพประกอบไอเดีย ครูสังคมศึกษายุค 4.0

ครูสังคมศึกษายุค 4.0 ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแนวคิด “สอนด้วยข่าว-โหลดแอป-เล่นเกม-ไม่เน้นท่องจำ” นำเสนอผ่านเรื่อง ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL)

ครูสังคมศึกษายุค 4.0 ออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับแนวคิด “สอนด้วยข่าว-โหลดแอป-เล่นเกม-ไม่เน้นท่องจำ” 



เรื่อง ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมง


ขั้นที่ 1 กำหนปัญหา                                                                          

1. นักเรียนและครูกล่าวทักทายกัน

2. นักเรียนรับชมข่าวที่เป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองการปกครองของไทย เรื่อง ย้อนคดีทุจริตสนามฟุตซอล 9 ปี ศาลรับฟ้อง "วิรัช" จาก YouTube

(youtube.com/watch?v=E0dl8FAp_ng) หลังจากนั้นครูตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของนักเรียน ดังนี้

  • 2.1  ข่าวดังกล่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร (แนวคำตอบ คดีทุจริตการสร้างสนามฟุตซอลให้กับโรงเรียนของนักการเมือง)
  • 2.2  นักเรียนคิดว่าจากข่าวดังกล่าวส่งผลกระทบต่อนักเรียนโรงเรียนนั้นอย่างไร (แนวคำตอบ เช่น นักเรียนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากสนามฟุตซอลได้ เพราะสนามไม่ได้มาตรฐาน และมีการนำวัสดุแผ่นยางสังเคราะห์สำหรับสนามในร่มมาใช้ในสนามกลางแจ้งทำให้ไม่สามารถใช้งานได้)
  • 2.3  นักเรียนคิดว่าอะไรคืออุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาการเมืองการปกครองของไทย (แนวคำตอบ เช่น การที่นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชัน และมีการซื้อสิทธิขายเสียง)

3. ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาให้นักเรียนทราบว่า วันนี้จะเรียนเรื่อง ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) นักเรียนจะได้ทำกิจกรรมกลุ่ม พร้อมทั้งเล่นเกม My Democracy Card Game ทำใบงานวิเคราะห์ข่าวปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย และสอนนักเรียนอ่านคำศัพท์ที่น่ารู้ มีคำว่า


  • Abuse of power การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
  • Vote buying การซื้อสิทธิขายเสียง
  • Removal การให้พ้นจากตำแหน่ง

 

ขั้นที่ 2 ทำความเข้าใจกับปัญหา                                                              

4.  ครูแบ่งนักเรียนออกเป็น 7 กลุ่มกลุ่มละ 4 คน โดยคละนักเรียนแต่ละกลุ่มให้มีนักเรียนที่เรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อนอยู่ภายในกลุ่ม

5.  นักเรียนดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน spatial ลงในโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรือใช้งานผ่านเว็บไซต์ spatial.io จากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดเข้าศึกษาความรู้ เรื่อง ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยผ่านการจัดแสดงนิทรรศการ Democracy

(https://spatial.io/s/624d0f71f16e690001fc5351?share=8431879039364168716)



เทคโนโลยี AR ช่วยเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เรียนรู้

ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี AR ช่วยเสริมให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เรียนรู้ที่เป็นประโยชน์แตกต่างจากการดูภาพเดียวกันในรูปแบบอื่น ๆ จุดเด่นของการเรียนใน Metaverse ผ่านแอพพลิเคชัน spatial คือการจำลองการเรียนรู้ได้ โลกเสมือนจริงที่มีการโต้ตอบกันและมีภารกิจงานที่ต้องทำ เหมือนกับเราได้เข้าไปอยู่ในนิทรรศการจริง ๆ นักเรียนสามารถเดินไปรอบ ๆ ได้ผ่านการบังคับตัวละครด้วยตนเอง และอาจทำให้ห้องเรียนเป็นเหมือนวิดีโอเกมที่ทำให้นักเรียนรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานให้สำเร็จ นอกจากนี้ข้อจำกัดด้านเวลาและระยะทางจะหมดไป เนื่องจากเราสามารถใช้อุปกรณ์ VR จะทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้จากทุกที่ทุกเวลา


6. นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิด ดังนี้

  • 6.1 ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยมีปัญหาใดบ้าง (แนวคำตอบ การไม่ตระหนักในสิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน การซื้อสิทธิ ขายเสียง การทุจริตคอร์รัปชัน ค่านิยมและระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย ความคิดต่างทางการเมืองนำไปสู่การขัดแย้ง การรัฐประหารยึดอำนาจ และการขาดคุณธรรม จริยธรรม)
  • 6.2  นักเรียนคิดว่าการทุจริตของนักการเมืองส่งผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างไร (แนวคำตอบ ทำให้ต้องสูญเสียงบประมาณในการพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก แทนที่จะนำเงินส่วนนั้นมาช่วยเหลือประชาชน)
  • 6.3  ทำอย่างไรถึงจะลดปัญหาการทุจริตได้ (แนวคำตอบ เลือกคนดีเพื่อไปทำหน้าที่ในสภา สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลและไม่สนับสนุนพฤติกรรมที่เป็นการทุจริตต่อประเทศชาติ)

 

ขั้นที่ 3 ดำเนินการศึกษาค้นคว้า                                                              

7. นักเรียนทำกิจกรรมเล่นบอร์ดเกมการศึกษา “My Democracy” และรับฟังกติกาการเล่น ดังนี้

อุปกรณ์ในกล่อง

การ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) 20 ใบ

การ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) 24 ใบ

การ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) 3 ใบ

การ์ดแทรกแซง (สีแดง) 3 ใบ

การ์ดมอบสิทธิ์ (สีชมพู) 2 ใบ

การ์ดย้อนกลับ (สีเขียว) 2 ใบ

การ์ดคำถามพิเศษ 2 ใบ

เหรียญถูกใจ 50 เหรียญ

คู่มือการเล่น 1 ฉบับ

 

 

 

ขั้นตอนการเล่น

1) ผู้เล่นแต่ละกลุ่มจะนั่งรอบกันเป็นวงกลมกลุ่มละ 8 คน แบ่งเป็น 4 คู่ โดยมีพื้นที่ว่างสำหรับเล่นเกมอยู่ตรงกลางวง โดยแต่ละคู่จะต้องช่วยกันคิดตอบคำถามเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรค

ต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทยผ่านการเล่นเกม

2) ผู้นำการเล่นเกมช่วยสับการ์ดและแยกการ์ดออกเป็น 2 กอง คือ กองการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) และกองการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) ซึ่งรวมถึงการ์ดพิเศษต่าง ๆ โดยคว่ำหน้าการ์ดลง

3) หลังจากนั้นให้สุ่มแจกการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) ให้กับผู้เล่นทุกคู่ คู่ละ 4 ใบเท่า ๆ กัน ยกเว้นคู่สุดท้ายจะได้รับการ์ด 5 ใบ ส่วนการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) ที่เหลือให้วางคว่ำไว้เป็นกองสำหรับจั่วต่อไป

4) เริ่มเกมโดยเปิดการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) 4 ใบ จากในกองมาวางไว้ตรงกลางวงโดยให้ผู้เล่นช่วยกันอ่านสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยบนการ์ดให้เพื่อนได้ยินจนครบทั้ง 4 ใบ

5) เลือกผู้ที่จะเล่นเป็นคู่แรกแล้วให้ผู้เล่นเกมคนแรกสุ่มหยิบการ์ด 1 ใบ จากผู้เล่นที่อยู่ทางขวา

(คู่สุดท้ายที่มีการ์ด 5 ใบ) โดยนับจากจุดนี้เกมจะเล่นวนไปตามเข็มนาฬิกา

6) ผู้เล่นคนแรกเลือกลงการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) ในมือ 1 ใบ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย โดยต้องตอบคำถามในการ์ดที่เลือกลง

ต่อสถานการณ์ปัญหา

7) เมื่อจบตาของผู้เล่นคนแรกแล้ว ผู้เล่นคนแรกซึ่งตอนนี้จะมีการ์ดเหลืออยู่ในมือ 4 ใบ จะต้องจั่วหยิบการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) จากในกองขึ้นมา 1 ใบ เพื่อให้ในมือมีครบ 5 ใบ ผู้เล่นคนต่อไป

สุ่มหยิบการ์ดจากมือคนที่อยู่ทางขวาไป 1 ใบ หลังจากนั้นก็เล่นวนไปจนกว่าจะจบเกม

8) โดยวิธีการทำคะแนนก็คือ เมื่อผู้เล่นคนใดลงการ์ดที่ทำให้คะแนนรวมของการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ทั้งจากที่ตนเองหรือจากของผู้เล่นคนก่อนลงไว้มีมากกว่าหรือเท่ากับการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ใบนั้น ๆ ก็จะเป็นผู้พิชิตปัญหานั้นได้ และได้เก็บการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ไว้กับตัวเพื่อเป็นคะแนนสะสม โดยการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) มีค่าคะแนนเท่ากับเลขที่อยู่บนการ์ด

9)  เมื่อผู้เล่นถูกใจการตอบคำถามของกลุ่มอื่นสามารถวางเหรียญถูกใจ โดยแต่ละเหรียญมีค่า

1 คะแนน

10) โดยทันทีที่มีผู้เล่นคนใดพิชิตสถานการณ์ และเก็บการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ไปได้ ก็จะต้องเปิดการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ใบใหม่โดยจั่วจากกองการ์ดสีฟ้ามาวางแทนเพื่อให้มี 4 ใบเสมอ ยกเว้นแต่ว่ากองการ์ดจะหมดเมื่อใกล้จบเกม โดยทุก ๆ ครั้ง เมื่อเปิดเการ์ดใหม่ก็ช่วยกันอ่านให้ได้ยินโดยทั่วถึงกัน

 




การ์ดพิเศษต่าง ๆ 

1)  การ์ดแทรกแซง (สีแดง) คุณสมบัติ ใช้สกัดกั้นการทำคะแนนของผู้เล่นอื่น ใครที่มีการ์ดแทรกแซงอยู่ในมือ จะมีสิทธิ์สกัดกั้นการทำคะแนนของผู้เล่นอื่นได้ โดยผู้เล่นคนอื่นลงการ์ดพิชิตปัญหา (สีเขียว) ผู้มีการ์ดแทรกแซงจะสามารถลงการ์ดใบนี้ทำให้การลงการ์ดของผู้เล่นอีกคน

เป็นโมฆะทันที และจะต้องเก็บการ์ดเข้ากองกลางไปพร้อมกับการ์ดแทรกแซง

2) การ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) คุณสมบัติ ทำให้สามารถลงการ์ดพิชิตปัญหาได้พร้อมกัน 2 ใบ ใครที่มีการ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) อยู่ในมือจะมีสิทธิ์ลงการ์ดพิชิตปัญหาได้พร้อมกัน 2 ใบ ซึ่งจะทำให้ผลคะแนนรวมของการ์ด2 ใบมีมากกว่าการลงการ์ดปกติใบเดียว โดยผู้เล่นคนนั้นจะต้องลงการ์ดเสริมพลังพิชิตปัญหากำลังสอง (สีส้ม) ไปพร้อมกับการ์ดพิชิตปัญหา (สีม่วง) อีก 2 ใบ และจะต้องตอบคำถามจากการ์ดทั้ง 2 ใบให้ครบถ้วนด้วย

3)  การ์ดคำถามพิเศษ (สีฟ้า) คุณสมบัติ ตอบคำถามให้ครบเพื่อพิชิตการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) ได้ทันที

4)  การ์ดมอบสิทธิ์ (สีชมพู) สามารถมอบสิทธิ์ทุกอย่างให้กับใครก็ได้ในวง 1 คน

5)  การ์ดย้อนกลับ (สีเขียว) บังคับให้การเล่นเวียนย้อนกลับ เช่น ตามเข็มนาฬิกามาเป็นทวนเข็มนาฬิกา

 

การสิ้นสุดเกม บอร์ดเกมการศึกษา “My Democracy” จะจบได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่มีการเล่นแบบจำกัดเวลา และกรณีที่การ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) หมดทั้ง 20 ใบ

 

การสรุปผลคะแนน ผู้เล่นคู่ที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดคือ ผู้ชนะ โดยคะแนนมาจากการ์ดสถานการณ์ปัญหา Democracy (สีฟ้า) และเหรียญถูกใจที่สะสมตลอดการเล่น

ผู้เล่นคู่ที่มีคะแนนสะสมมากที่สุดลำดับที่ 1 ได้ 10 คะแนน

ผู้เล่นคู่ที่มีคะแนนสะสมลำดับที่ 2 ได้ 9 คะแนน

ผู้เล่นคู่ที่มีคะแนนสะสมลำดับที่ 3 ได้ 8 คะแนน

ผู้เล่นคู่ที่มีคะแนนสะสมลำดับที่ 4-7 ได้ 7 คะแนน

 

ขั้นที่ 4 สังเคราะห์ความรู้                                                                       

8. นักเรียนและครูร่วมกันสรุปความรู้จากการเล่นเกม Democracy Card Game ว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยได้แก่ การไม่ตระหนักในสิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน การซื้อสิทธิขายเสียง การทุจริตคอร์รัปชัน ค่านิยมและระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย ความคิดต่างทางการเมืองนำไปสู่การขัดแย้ง การรัฐประหารยึดอำนาจ และการขาดคุณธรรม จริยธรรม

 

ขั้นที่ 5 สรุปและประเมินค่าของคำตอบ                                                       

9. นักเรียนสรุปผลการเรียนรู้ ประเมินค่าคำตอบและนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการเล่นเกม

มาแลกเปลี่ยนกันภายในกลุ่ม

10. ตัวแทนนักเรียนรับใบงาน ให้แต่ละกลุ่มร่วมกันหาข่าว และวิเคราะห์ข่าวแล้วตอบคำถามเกี่ยวกับปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย โดยแต่ละกลุ่มรับผิดชอบวิเคราะห์ข่าวดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 เรื่อง การซื้อสิทธิขายเสียง
  • กลุ่มที่ 2 เรื่อง การไม่ตระหนักในสิทธิ หน้าที่ และการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • กลุ่มที่ 3 เรื่อง การทุจริตคอร์รัปชัน
  • กลุ่มที่ 4 เรื่อง ค่านิยมและระบบอุปถัมภ์ของสังคมไทย
  • กลุ่มที่ 5 เรื่อง ความคิดต่างทางการเมืองนำไปสู่การขัดแย้ง
  • กลุ่มที่ 6 เรื่อง การรัฐประหารยึดอำนาจ
  • กลุ่มที่ 7 เรื่อง การขาดคุณธรรม จริยธรรม

 

ขั้นที่ 6 นำเสนอและประเมินผลงาน                                                          

11. นักเรียนแต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียน ครูและนักเรียนร่วมกันประเมินผลงาน

และให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม

12.  ครูและนักเรียนร่วมสนทนา ซักถาม แสดงความคิดเห็น สรุปความรู้เรื่อง ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ว่า (การเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบันยังคงมีอุปสรรค การเมืองไม่มั่นคง มีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งนี้ หากพลเมืองไทยมีความรู้ความเข้าใจในการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก ตระหนักในความสำคัญ ใช้สิทธิและหน้าที่ตามวิถีประชาธิปไตยจะทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทยมีความมั่นคงมากขึ้น)

 

จุดเด่นของแผนการจัดการเรียนรู้นี้

1) มีคำถามกระตุ้นความคิด 6 คำถาม พร้อมแนวคำตอบ

2) มีการบูรณาการคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับประชาธิปไตย เช่น Abuse of power การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ Vote buying การซื้อสิทธิขายเสียง และ Removal การให้พ้นจากตำแหน่ง

3) ใช้วิธีการจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) โดยกำหนดปัญหาจากข่าวเชื่อมโยงกิจกรรมการเรียนรู้ นักเรียนได้ทำกิจกรรมกลุ่ม พร้อมทั้งเล่นเกม Democracy Card Game ซึ่งเป็นเกมเสริมสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทยผ่านการเรียนรู้และคิดตอบคำถาม รวมไปถึงได้ทำใบงานวิเคราะห์ข่าวปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย

4) มีการใช้แอพพลิเคชัน spatial หรือเว็บไซต์ https://spatial.io/ ในการให้นักเรียนเข้าไปศึกษาความรู้แทนการให้ใบความรู้แบบกระดาษ ซึ่งเป็นการปรับประยุกต์ใช้โลกเสมือนจริง (Metaverse) เพื่อจัดการเรียนการสอน นักเรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันผ่านการจำลองเป็นตัวละครต่าง ๆ (Avatar) สามารถพูดคุยผ่านเสียงได้ สามารถเดินไปรอบ ๆ ได้ผ่านการบังคับตัวละครด้วยตนเอง


ครูท่านไหนนำไปใช้แล้วสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

ไม่อยากพลาดสื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับสังคมศึกษา เกมสนุก ๆ ฝากกดไลก์ กดติดตามเพจครูสังคมอมยิ้มไว้ด้วยนะครับ https://www.facebook.com/Krusangkomomyim/?ref=pages_you_manage

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 1

ชื่อไฟล์​: ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย.pdf

ดาวน์โหลดแล้ว 70 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(9)