icon
giftClose
profile

พื้นที่ปลอดภัย สร้างยังไงดี

17850
ภาพประกอบไอเดีย พื้นที่ปลอดภัย สร้างยังไงดี

พื้นที่ปลอดภัย เป็นคำที่เราได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ หรือต่อให้เข้าใจแล้วก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจะสร้างพื้นที่เหล่านั้นให้เด็ก ๆ ได้อย่างไรบ้าง - - ตามไปดูหลากหลายไอเดียจากห้องบริจาคไอเดีย ในกิจกรรม ครูปล่อยของ PLC Day 2 ประจำเดือนตุลาคม 2565 กัน


คุณครูหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับคำว่าพื้นที่ปลอดภัย แต่ก็อาจจะยังไม่ค่อยเข้าใจมากนัก ว่าการจะสร้างพื้นที่ที่ทำให้เด็ก ๆ สบายใจที่จะเรียนรู้นั้นต้องทำอย่างไรบ้าง งานนี้ครูคัตเตอร์จึงเปิดห้องคุยชวนคุณครู นักศึกษาครู บุคลากรด้านการศึกษา หรือผู้ที่สนใจมาเล่าการดูแลห้องเรียนของตัวเอง แชร์ไอเดียสร้างพื้นที่ปลอดภัยในแบบของตัวเอง หรือพื้นที่ปลอดภัยแบบที่เคยพบเจอมาก็ได้ เพื่อสุดท้ายเราจะถอดบทเรียนร่วมกันแล้วต่างนำไปปรับใช้ในห้องเรียนของตัวเองกันต่อไป


พื้นที่ปลอดภัย (Safe zone) ในนิยามของ a-chieve ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้มากว่า 10 ปี อธิบายไว้ว่า พื้นที่ปลอดภัย คือพื้นที่ที่อันปราศจากการตัดสิน ให้ความสบายใจที่จะแสดงความรู้สึก แสดงความคิดเห็นได้อย่างที่แต่ละคนเป็นอย่างตรงไปตรงมา เกิดขึ้นได้ทั้งในระดับบุคคล และระดับชุมชน แต่ไม่จำกัดเพศ ช่วงวัย ชาติพันธุ์ ความเชื่อ หรือบรรทัดฐานสังคม ทุกคนมีสิทธิ์อยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอย่างเท่าเทียมกัน แต่แน่นอนว่าเมื่อหลายคนมารวมกัน ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องต้องกันตลอด ในพื้นที่ปลอดภัยเปิดโอกาสให้เราถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิด ความเชื่อของกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใครถูกผิด แต่ทุกคนต่างได้เติบโตขึ้นในทางใดทางหนึ่ง


ห้องบริจาคไอเดียของครูคัตเตอร์ เริ่มจากการชวนแลกเปลี่ยนถึงความเปลี่ยนแปลงที่พบเห็นในตัวนักเรียน ซึ่งแต่ก่อนมีพฤติกรรมอย่างหนึ่ง แต่ในตอนนี้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว


🙋🏽‍♀️ ครูต่อ แชร์ในวงสนทนาว่า "เด็กคนหนึ่งไม่ตั้งใจเรียนเลย ไม่รู้ว่าเข้าใจเนื้อหาที่สอนไหม แต่สอบปลายภาค เขาทำข้อสอบได้ในข้อที่คนอื่นทำไม่ได้ ทำให้เราเปลี่ยนมุมมองกับเด็กไปเลย ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกอาจจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เป็น"


👩🏽‍🏫ครูผึ้งเล่าถึงประสบการณ์ของตัวเองที่ให้โอกาสนักเรียนได้มีจังหวะเวลาในการเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น "นักเรียนไม่สนใจเข้าเรียน เข้าเรียนเมื่อไหร่ก็แอบนั่งหลับ แต่เวลาเจอนักเรียนนอกห้อง เราจะคอยทักทาย สอบถาม ให้เขารับรู้ว่าเราห่วงใย แต่ไม่ต่อว่า ต่อมานักเรียนเข้าเรียนมากขึ้น กระตือรือร้นเข้าร่วมกิจกรรม"


👩🏽‍💼ครูแพรวเสริมในมุมของการรับฟังที่ตัวเองเคยพบเจอมาว่า "พยายามคุยกับนักเรียนเหมือนพี่น้อง นักเรียนมีปัญหาเรื่องที่บ้าน จึงทักไลน์มาแล้วเล่าทุกอย่างให้ฟัง ว่าเขารู้สึกยังไง เราก็รับฟัง ไม่ดุด่า และได้ลองคุยปัญหานี้กับผู้ปกครอง รับฟังมุมมองของพ่อแม่นักเรียนด้วย" 


🙋🏽‍♂️ครูฟิวส์ ในฐานะครูน้องใหม่ที่กำลังจะบรรจุเป็นข้าราชการ เล่าถึงนักเรียน ม.ปลายที่ขาดความสนใจในการเรียนระหว่างช่วงเรียนออนไลน์ "นักเรียนเขาไม่ค่อยใส่ใจ เหมือนไม่อยากเรียนแล้ว ช่วงโควิดเรียนออนไลน์ เราก็พยายามสอนไปเรื่อย ๆ เรียกชื่อก็ไม่ขานรับ แต่พอช่วงกลับมาเรียนออนไซต์บ่อยขึ้น เจอกันบ่อยขึ้น เราก็ถามเขาว่าโอเคไหม ทำให้เห็นผลเลยว่าเด็กสนใจมากขึ้น"


🧑🏽‍💻ครูโน่ เล่าประสบการณ์ของตัวเองเมื่อเห็นนักเรียนแต่งหน้า ทำผม แต่ก็เลือกที่จะไม่ดุนักเรียนเหมือนครูคนอื่น ๆ "เด็กเขารักสวยรักงาม เราก็คุยกับเขาว่า การแต่งหน้าคือการให้เกียรติคู่สนทนานะ แล้วยกตัวอย่างให้เขาฟังถึงอาชีพต่าง ๆ ที่แต่งหน้า แต่งตัวสวยงาม เป็นการให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติผู้ใช้บริการ นักเรียนก็ดีใจ สนใจ เราก็ส่งเสริมว่าการแต่งหน้าไม่ได้เสียหายอะไร แค่รู้ว่าควรแต่งตอนไหน แต่งอย่างไรให้เหมาะสม"


กล่าวโดยสรุปคือ คุณครูหลายคนมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน นั่นคือ การให้พื้นที่ปลอดภัยแก่นักเรียนที่เคยมีภาพจำว่าเป็นเด็กเกเร ไม่ตั้งใจเรียน เมื่อคุณครูไม่ยอมแพ้ที่จะเข้าไปทักทาย สอบถามด้วยความห่วงใย ไม่ดุด่าว่ากล่าวซึ่งหน้า หรือตัดสินพวกเขาจากการกระทำ ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ก็ทำให้ค่อย ๆ ได้เห็นนักเรียนกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม สนใจการเรียนรู้ หรือพัฒนาตนเองมากขึ้น


ต่อจากนั้น กิจกรรมในห้องบริจาคไอเดีย ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อย ชวนคุณครูแบ่งปัน “เหตุการณ์/วิธีที่ทำให้เราได้ใจเด็ก” แล้วลองหา

 “ลักษณะร่วม อะไรทำให้เด็กกลับมาอยู่กับเรา”



ในห้องย่อยคุณครูแต่ละคนแลกเปลี่ยนวิธีการของตนเองอย่างละเอียด เห็นภาพตรงกันว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว คุณครูจะสังเกตนักเรียนจากช่วงวัยที่เหมาะสม และความไม่ย่อท้อที่จะเดินเข้าไปหานักเรียน


🙋🏽‍♂️ครูโอเว่น เล่าว่าตัวเองเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนที่มีโอกาสได้เข้าไปทำกิจกรรมชมรมกับนักเรียน ด้วยความที่ช่วงวัยไล่เลี่ยกัน เมื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้นักเรียนรู้สึกกล้าที่จะบอกเล่าปัญหา พูดคุยได้ รับฟังได้ "ความเข้าใจน่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ครูดึงนักเรียนกลับมาได้"


🙋🏽‍♀️ครูต่อ เห็นด้วยกับแง่มุมของครูโอเว่น และเสริมว่า "เราสอนช่วงวัยสอนประถมศึกษา นักเรียนน่ารัก อยากเข้าหาคุณครูอยู่แล้ว พอจัดกระบวนการที่เข้าถึง ก็ทำให้เขาอยากเรียน ชอบอะไรก็เอาให้เขา เขาได้ใจเราไป เราก็ได้ใจเขามา ช่วงวัยที่ใกล้เคียงกัน ทำให้รู้ใจกัน เหมือนเป็นเพื่อนกัน หมั่นสอบถามเรื่องทั่วไป กินข้าวหรือยัง เป็นไงบ้าง พยายามใจดีกับนักเรียน เป็นมิตรกับเด็กให้ได้มากที่สุด แม้จริง ๆ เราจะเป็นคนดุมาก แต่ก็พยายามเข้าใจ ผิดพลาดก็ให้อภัย พยายามไม่ใช่อารมณ์ สติหลุดบ้าง บางทีเราเองก็มีมวลอารมณ์บางอย่าง แต่ก็พยายามทำทุกอย่างให้โอเค"


👩🏽‍🏫"เจอนักเรียนที่มีปัญหา เราก็จะเดินเข้าไปทักทาย ถามชื่อเล่น สอบถามวันนี้ไม่เข้าห้องเรียนเกิดอะไรขึ้นคะ และรับฟังเขา ถ้ามีประเด็นปัญหา เราก็มักจะถามวิธีแก้ปัญหาจากนักเรียน ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง และคอยให้กำลังใจ ชมนักเรียนเมื่อเห็นการปรับเปลี่ยนค่ะ" ครูผึ้งเล่าวิธีการของตัวเองที่เน้นการเข้าถึง และชวนคิดชวนคุยถึงวิธีการแก้ปัญหา


🙋🏽ครูแคทก็เช่นเดียวกัน วิธีการของครูแคทคือการเผื่อเวลาการจัดการเรียนรู้ในคาบเรียน เพื่อให้สามารถเข้าไปพูดคุยกับนักเรียนได้อย่างทั่วถึง "เราอาศัยการเดินเข้าไปหา สอนในคาบเรียนด้วยเทคนิค ลัด รวบ และเหลือเวลาท้ายคาบ ให้นักเรียนได้ผ่อนคล้ายจากการเรียน โดยในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ เราจะเดินเข้าไปพูดคุย และเดินตรวจงานไปด้วย เพื่อที่เด็กหลังห้องจะได้ไม่รู้สึกว่าเราใส่ใจแต่เด็กหน้าห้องอย่างเดียว"


👩🏽‍💻ครูส้มเลือกใช้วิธีการแลกเปลี่ยนให้นักเรียนมองเห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์ของครูมากขึ้น โดยบอกเล่าประสบการณ์ที่ผิดพลาดของตัวเอง ทำให้นักเรียนกล้าเปิดใจที่จะคุยเรื่องของตนเองมากขึ้น เห็นครูเป็นคนธรรมดา ไม่ได้ทำทุกอย่างถูกต้องไปทั้งหมด

 

🙋🏽‍♂️ครูโอเว่นชี้ว่าทักษะการพูดที่ทำให้คู่สนทนาสบายใจ วิธีการสื่อสาร บุคลิกลักษณะก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ได้ใจนักเรียนเหมือนกัน


🧑🏽‍🏫ครูแบมเล่าว่า การหาจุดร่วม ติดตามเรื่องที่นักเรียนสนใจ หรือกำลังเป็นเทรนด์ก็ช่วยได้เช่นกัน เพราะนอกเหนือจากการเรียนการสอน หากได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความสนใจ พูดคุยถึงเพลงฮิตเพลงเดียวกัน แสดงตัวเป็นเพื่อนกับนักเรียน "พอเราร้องเพลงใน TikTok ได้ พูดถึงการ์ตูนที่พวกเขาดู รู้จักกิจกรรมที่ครูไม่น่าจะรู้ จะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกสบายใจ อยากเล่าให้ฟังต่อ อยากชวนทำกิจกรรม อยากแชร์เรื่องราวนอกจากการเรียนเพียงอย่างเดียว"



ลักษณะร่วมของพื้นที่ปลอดภัยที่คุณครูผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้แลกเปลี่ยนกัน ได้แก่ การมีความใส่ใจ สร้างความไว้ใจ เชื่อใจนักเรียนและดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด พยายามเป็นพวกเดียวกับนักเรียน แชร์สิ่งที่สนใจระหว่างกัน มีทักษะการสื่อสารที่ดี เปิดใจรับฟัง ไม่ติดสิน เล่าประสบการณ์ที่ครูผิดพลาดบ้างก็ไม่เสียหาย และเข้าใจพัฒนาการแต่ละช่วงวัย


ในช่วงท้าย ครูคัตเตอร์ให้คุณครูแยกเป็นวงสนทนาย่อยอีกครั้ง เพื่อชวนคุยชวนคิดเกี่ยวกับพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน นอกจากในห้องเรียน


🧑🏽‍🏫ครูแบมมองว่า พื้นที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันคือการมีวิธีคิดที่ดี เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เพื่อน ให้คนรอบข้าง ไม่ตัดสินคนอื่น ๆ แม้ว่าคนอื่นอาจจะมีนิสัยไม่น่ารัก แต่อย่าเพิ่งรีบตัดสิน ให้มองลึก ๆ ว่าต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับเขา พยายามเซ็ตความคิดของเราให้เป็นแง่บวก (Positive)


🙆🏽‍♂️ครูหนอนน้อย มองว่าการพูดคุยเมื่อมีปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ การพูดคุยกันตรง ๆ ดีกว่าไปแอบพูดลับหลัง เพราะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา

 

💁🏽‍♂️ครูเต้ยกล่าวว่า "เราเองไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน ได้ฟังเพื่อนครูคนอื่น ๆ แล้วมองเห็นความสำคัญของการสื่อสารมากขึ้น ตัวเองเป็นคนไม่ค่อยพูด จะฟังเป็นส่วนใหญ่ ได้ยินมาก็จะทดไว้ในใจ ยังไม่ตัดสินอะไรไป จะมองคนอื่นดีไว้ก่อน อาจารย์ที่สอนผมในมหาวิทยาลัยสอนมาอีกทีว่า 'ความเชื่อใจอยากได้ต้องให้ก่อน' หากเจอใครเป็นครั้งแรก ก็จะมองว่าเขาดี เราไว้ใจ เราเชื่อใจไว้ก่อน ก็จะสบายใจตัวเองด้วย" 


👩🏽‍💼ครูแพรวเสนอว่าการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชีวิตประจำวันในแบบของตัวเอง คือการเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้พูดที่ดี ไม่ตัดสินอะไรในตัวเพื่อน ให้ลองปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจออกมาก่อน เพราะเชื่อว่าการได้ระบายกับใครสักคนจะเป็นทางออกที่ดี



กล่าวโดยสรุปคือ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และสามารถช่วยกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้แก่คนรอบข้างได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการคอยรับฟังอย่างไม่ตัดสิน สื่อสารสิ่งที่คิดอย่างตรงไปตรงมา หรือใช้วิธีการเขียนบันทึก ทบทวนตัวเอง เมื่อผิดพลาด ก็ยอมรับ ให้อภัยตัวเอง และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีมุมมองในแง่บวก ให้ความสำคัญแก่คนที่เรารัก และคนที่หวังดีกับเรา ส่งต่อพลังให้กันและกัน


สำหรับคุณครูที่อ่านมาถึงตรงนี้ คิดว่า "พื้นที่ปลอดภัย" ในความหมายของตัวเอง เป็นอย่างไรบ้างนะ หากจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน และในชีวิตส่วนตัว จะเลือกใช้วิธีไหนกันบ้างคะ : )
รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(2)