icon
giftClose
profile
frame

ชวนคุณครูทำความรู้จักกับแนวคิดการใช้เกมในห้องเรียน

34983
ภาพประกอบไอเดีย ชวนคุณครูทำความรู้จักกับแนวคิดการใช้เกมในห้องเรียน

Gamification และ Game-based learning ถูกใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจและความสนุกในการเรียนรู้ ทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันอย่างไร ไปชมกันเลย!

เกมมิฟิเคชั่น (Gamification)


การประยุกต์ใช้กลไกที่มีอยู่ภายในเกมมาใช้ประกอบการสอนในรูปแบบเดิม เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเกิดพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น การใช้ระบบภารกิจ (Quest) เพื่อสร้างความท้าทาย การใช้ระบบคะแนนและของรางวัล (Point and Reward) เพื่อสร้างแรงจูงใจ การใช้กระดานคะแนน (Leaderboard) เพื่อสร้างการแข่งขัน โดยคุณครูไม่จำเป็นจะต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ แต่ใช้กลไกดังกล่าวเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความสนุกในการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น


ตัวอย่างเช่น คุณครูคณิตศาสตร์สร้างเงื่อนไข (Quest) ว่าถ้านักเรียนสามารถตอบคำถามได้ในเวลาที่กำหนด จะได้คะแนนสะสม (Point) ซึ่งจะถูกแสดงอยู่บนกระดานคะแนนในห้องเรียน (Leaderboard) โดยคะแนนสะสมที่ได้นั้นจะสามารถนำมาแลกรางวัล (Reward) ในช่วงก่อนปิดเทอมได้ เช่น เครื่องเขียน ขนม หรือสิทธิพิเศษบางอย่างที่คุณครูกำหนด


ประโยชน์ของการใช้เกมมิฟิเคชั่น (Gamification) คือ กลไกของเกมจะช่วยทำให้นักเรียนเกิดแรงจูงใจในการเรียนและมีพฤติกรรมตามที่คุณครูต้องการ เช่น นักเรียนทำการบ้านครบตามที่กำหนด (เพราะมีคะแนนมาเป็นตัวกระตุ้นความขยัน) นักเรียนมีส่วนร่วมในห้องเรียนมากยิ่งขึ้น (เพราะมีการแข่งขันกับเพื่อนคนอื่น ๆ) นอกจากนี้คุณครูไม่จำเป็นต้องออกแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ (Redesign) แต่ใช้เกมมิฟิเคชั่นควบคู่กับรูปแบบการเรียนรู้เดิมที่คุณครูมีอยู่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการใช้เกมภายในห้องเรียน


ข้อควรระวังสำหรับการใช้เกมมิฟิเคชั่น (Gamification) คือ คุณครูจะต้องใช้เวลาเป็นอย่างมากในการออกแบบระบบภารกิจ ระบบคะแนนและของรางวัล ระบบกระดานคะแนน ในช่วงก่อนเปิดเทอม เพราะระบบเหล่านี้จำเป็นต้องถูกออกแบบมาอย่างละเอียดรอบคอบ การออกแบบเกมมิฟิเคชั่นที่ไม่ละเอียดจะทำให้กติกาในการได้คะแนนและของรางวัลเกิดความคลุมเครือ และก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันภายในชั้นเรียนได้

.

การเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning)


การสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนผ่าน “ตัวเกม” โดยตรง ซึ่งแตกต่างกับเกมมิฟิเคชั่น (Gamification) ที่ใช้เพียงแค่กลไกของเกมมาประกอบการเรียนรู้ การเรียนรู้ของนักเรียนจะเกิดขึ้นจากการที่นักเรียนเข้าไปมีส่วนร่วมภายในเกม และร่วมกันถอดบทเรียนหลังจากที่เล่นเกมเสร็จ คุณครูจำเป็นจะต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด (Redesign) เพื่อสร้างเกมให้นักเรียนได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย หรือเลือกใช้เกมการศึกษา (Educational game) ที่มีอยู่แล้วมาใช้ในห้องเรียน


ตัวอย่างเช่น การใช้บอร์ดเกมที่ชื่อว่า “Chem-bond” เพื่อสร้างการเรียนรู้เรื่อง “พันธะเคมี (Chemical bond)” ในวิชาเคมี ระดับมัธยมปลาย การใช้เกม Minecraft มาสร้างการเรียนรู้เรื่อง “การโคดดิ้ง (Coding) ในวิชาวิทยาการเรียนรู้ ระดับมัธยมต้น


ประโยชน์ของการใช้การเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning) คือ การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ให้กับนักเรียน มาทดแทนการเรียนรู้แบบดั้งเดิม เช่น การอ่านหนังสือ หรือการทำแบบฝึกหัด นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกที่หลากหลาย เช่น บอร์ดเกม วิดีโอเกม หรือการ์ดเกม ที่นำมาใช้สร้างการเรียนรู้ได้ในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ทำให้ห้องเรียนเกิดความแปลกใหม่ตลอดเวลา


ข้อควรระวังสำหรับการใช้การเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning) คือ การควบคุมทิศทางการเรียนรู้ หลายครั้งที่นักเรียนสนุกไปกับเกมที่คุณครูออกแบบหรือเลือกใช้ แต่ว่าไม่เกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คุณครูจำเป็นจะต้องมีทักษะในการนำเกมและทักษะการตั้งคำถามเพื่อถอดบทเรียน มิเช่นนั้นเวลาที่ใช้ไปจะเกิดเพียงความสนุกแต่ไม่เกิดความรู้ใหม่ในตัวนักเรียน

.

อ้างอิงเนื้อหาจากบทความจากเว็บไซต์ Edutopia

2 Ways to Bring Games Into Your Classroom

https://www.edutopia.org/.../two-ways-bring-games-your...

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(4)