ภาพถ่ายของนักเรียน ถือเป็นข้อมูลส่วนบุคคล (Personal data) ที่สามารถระบุตัวตนของนักเรียนได้ เช่นเดียวกับ ชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่คุณครูควรระมัดระวังในการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือเผยแพร่ในพื้นที่สาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Instagram หรือ Twitter
.
เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (Personal Data Protection Act หรือ PDPA) ที่จะบังคับใช้ในประเทศไทยในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะมีบทบาทในการคุ้มครองและให้สิทธิที่นักเรียนมีต่อข้อมูลส่วนบุคคลของนักเรียนเองได้ การเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของนักเรียนโดยไม่ได้รับความยินยอมหรือทำให้นักเรียนเสียหายอาจมีบทลงโทษด้วยนะ
.
ข้อที่ 1 ขอความยินยอมจากนักเรียนในการถ่ายภาพ ✅📸
.
คุณครูหลายคนอาจจะพบเจอเหตุการณ์ความประทับใจในการทำงานและอยากเก็บภาพบรรยากาศภายในห้องเรียนของตนเองไว้ ก็มักจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปนักเรียนเพื่อบันทึกความทรงจำดี ๆ ที่เกิดขึ้น
.
แต่นักเรียนเองก็มีสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject Right) ดังนั้น นักเรียนจะมีสิทธิได้รับการแจ้งจากคุณครู และสามารถสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้กับคุณครูได้ เช่น คุณครูถ่ายรูปไปทำอะไรนะ? คุณครูเอารูปไปเผยแพร่ที่ไหนบ้าง? หรือคุณครูจะส่งต่อภาพถ่ายไปให้ใครบ้างนะ?
.
เพราะฉะนั้นก่อนที่คุณครูจะถ่ายภาพนักเรียน คุณครูควรที่จะแจ้งข้อมูลให้กับนักเรียนได้รับทราบถึงจุดประสงค์ การนำไปใช้ประโยชน์ หรือการส่งต่อถ่ายโอนข้อมูล เพื่อให้นักเรียนได้แสดงความยินยอม (consent) ก่อนที่จะถูกเก็บภาพความประทับใจ
.
การขอความยินยอมจากนักเรียน อาจจะต้องระมัดระวังความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายในห้องเรียน นักเรียนอาจให้ความยินยอมในการเก็บภาพถ่ายเนื่องจากมีความเกรงใจหรือกลัวคุณครู เพราะฉะนั้นให้คุณครูพูดคุยเพื่อขอความยินยอมกับนักเรียนโดยปราศจากการใช้อำนาจหรือการข่มขู่ สังเกตดูภาษากายของนักเรียนว่ามีความกังวลใจหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่ อาจจะต้องระวังในส่วนนี้นิดนึงน้า
.
ข้อที่ 2 ขอความยินยอมจากนักเรียนในการเผยแพร่ ✅📲
.
การโพสต์รูปนักเรียนลงโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook หรือ Instagram เพื่อแบ่งปันความน่ารักหรือความประทับใจที่คุณครูพบเจอนั้น คุณครูสามารถทำได้ ถ้านักเรียนให้ความยินยอม (consent) และภาพถ่ายของนักเรียนนั้นไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงของนักเรียน
.
หรือถ้าคุณครูโพสต์ภาพของนักเรียนลงโซเชียลมีเดียไปแล้ว นักเรียนเองก็มีสิทธิในการคัดค้านการเผยแพร่ภาพถ่ายของนักเรียน ขอให้ระงับการเผยแพร่ ขอให้แก้ไขเพื่อไม่ให้ภาพนั้นระบุตัวตนของนักเรียนได้ หรือขอให้ทำลายภาพถ่ายของนักเรียนเองได้ การให้ความยินยอมนั้นสามารถถูกยกเลิกได้ แม้ว่านักเรียนจะเคยให้ความยินยอมมาก่อนหน้าแล้วก็ตาม
.
ข้อที่ 3 การเผยแพร่จะต้องไม่เป็นไปเพื่อผลทางการค้า หรือเชิงพาณิชย์ ❌💰
.
ถ้านักเรียนยินยอมที่จะให้ถ่ายภาพและเผยแพร่ลงโซเชียลมีเดียแล้ว ภาพนั้นจะต้องไม่ถูกเผยแพร่เพื่อการค้าหรือเชิงพาณิชย์ เช่น การสร้างรายได้ การโฆษณา การโปรโมท หรือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตนของคุณครู หากมีการนำภาพถ่ายไปใช้อย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย คุณครูอาจจะโดนลงโทษทางกฎหมายได้เลย!
.
โดยแบ่งการลงโทษของกฎหมายได้ทั้งหมด 3 รูปแบบ
รูปแบบที่ 1 ทางปกครอง ค่าปรับสูงสุด 5 ล้านบาท ผู้ถูกฟ้องละเมิดเป็นผู้จ่ายค่าปรับ
รูปแบบที่ 2 ทางอาญา ผู้ละเมิดอาจถูกจำคุกสูงสุด 1 ปี ปรับสูงสุด 1 ล้านบาท
รูปแบบที่ 3 ทางแพ่ง ผู้ละเมิดต้องชดเชยค่าสินไหมทดแทนเป็น 2 เท่าของความเสียหายจริง
.
ข้อที่ 4 ปลอดภัยที่สุด คือระบุตัวตนไม่ได้ 👥❔
.
แม้ว่าจะมีกฎหมาย PDPA ที่คอยรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้กับนักเรียน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณครูจะไม่สามารถเผยแพร่ภาพถ่ายความประทับใจในห้องเรียนได้เลยนะ ถ้าภาพถ่ายนั้นไม่สามารถระบุตัวตนของนักเรียน คุณครูเองก็สามารถเผยแพร่ความประทับใจลงในโซเชียลมีเดียได้เช่นเดียวกัน
.
การทำให้ภาพถ่ายนั้นไม่สามารถระบุตัวตนของนักเรียนได้นั้นทำได้หลายประการ เช่น การเบลอหน้านักเรียน การใช้สติ๊กเกอร์เพื่อบดบังใบหน้าของนักเรียน หรือว่าการถ่ายภาพขณะที่นักเรียนหันหลังหรือใส่แมสก์ การทำให้ภาพของนักเรียนไม่สามารถระบุตัวตนของนักเรียนได้อย่างชัดเจน จะเป็นการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของนักเรียนนั่นเอง
.
แล้วถ้าภาพถ่ายของนักเรียนที่คุณครูเคยเก็บไว้และเผยแพร่ก่อนหน้าที่กฎหมายจะบังคับใช้ล่ะ จะทำยังไงดี?
.
ภาพถ่ายเหล่านั้นยังคงเก็บรวบรวมและเผยแพร่ต่อไปได้ เพียงแค่คุณครูต้องกำหนดวิธีการยกเลิกความยินยอมให้กับนักเรียน เช่น การแจ้งให้กับนักเรียนรับทราบว่ามีภาพถ่ายของนักเรียนเผยแพร่อยู่ นักเรียนสามารถมาแจ้งยกเลิกความยินยอมเพื่อระงับการเผยแพร่ได้นะ
.
เพียงมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คุณครูก็สบายใจได้เลย!😊😊
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย