ข้อที่ 1 ปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ
ที่ผ่านมาการเล่นไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ เนื่องจากถูกมองว่าเป็นสิ่งไร้สาระ ทั้งที่ความเป็นจริงเด็กสามารถเรียนรู้ได้มากมายจากการเล่น เมื่อเด็กเล่นด้วยตัวเขาเอง และเป็นการเล่นที่ไม่ถูกแทรกแซงจากผู้ใหญ่ เด็กจะค้นพบประสบการณ์และการเรียนรู้บางอย่างด้วยตัวเขาเอง โดยที่สิ่งนั้นเราแทบไม่ต้องสอนเลย
เช่น เด็กเรียนรู้การก่อปราสาททรายอย่างง่าย ๆ เขารู้ว่าต้องทำให้ฐานต้องใหญ่ๆเพื่อรองรับน้ำหนัก สิ่งนี้คือการที่เขาเรียนรู้จากการลงมือเล่น การเล่นอิสระจะพาเขาเรียนรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นคุณครูควรเปิดโอกาสให้เขาได้เรียนรู้ผ่านการเล่น ให้เขาได้เจอประสบการณณ์ที่หลากหลาย และอาจจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่คุณครูคาดไม่ถึงเลยล่ะ!
.
ข้อที่ 2 เปิดโอกาสให้เด็กมีส่วนร่วมภายในห้องเรียน
การเปิดโอกาสให้เด็กออกแบบสิ่งที่เขาอยากเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเขาสนใจในเรื่องนั้น ๆ มันก็จะทำให้เขาอยากเรียนรู้ การบังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่ไม่อยากเรียน อาจทำให้สุดท้ายแล้วเขาไม่ได้อะไรจากมันเลย ถึงแม้ครูจะเตรียมคาบเรียนนั้นมาดีแค่ไหนก็ตาม
ดังนั้นสิ่งสำคัญครูต้องเรียนรู้ที่จะใจกว้างมากพอ ที่จะเอาสิ่งที่เขาสนใจและสิ่งที่เขาสะท้อนกับเรา มาออกแบบการเรียนรู้ที่ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าเราเชื่อมั่นในความคิดของพวกเขา
.
ข้อที่ 3 ยอมรับเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
เมื่อใดก็ตามที่คุณครูไม่ได้มองเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และตัดสินว่าเนื้อหาบางอย่างมันยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะได้เรียนรู้เนื่องจากเขามีความเป็นเด็กเกินไป คุณครูก็จะพลาดโอกาสในการสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายให้กับเด็กเหล่านั้น
ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสงคราม หรือทักษะชีวิตบางอย่าง หลายคนก็มองว่ายังไม่ถึงเวลาที่เด็กจะเข้าใจ ทั้งที่จริงเด็กเขาเข้าใจได้ มันเป็นเรื่องที่กระทบต่อตัวเขาในทุก ๆ วัน เพราะฉะนั้น เราควรมองเด็กในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พลเมืองคนหนึ่ง ที่จะมีสิทธิรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น และเรียนรู้จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
.
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการย้อนกลับมามองดูเป้าหมายของการจัดประสบการณ์ในกับเด็กปฐมวัย เป้าหมายสำหรับการจัดการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย คือการเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองคนหนึ่ง
คุณครูกำลังจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตให้กับเด็กหรือยังนะ?
แท็กคุณครูปฐมวัยมาอ่านกันเยอะ ๆ น้า
.
บทความโดยครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล
สัมภาษณ์ ครูนกยูง-ปานตา ปัสสา
โรงเรียนบ้านดอนทับช้าง จ.อุบลราชธานี
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!