…ก่อนที่คุณครูจะทำการสอนถอดความบทประพันธ์ในส่วนเนื้อเรื่องของวรรณคดีแต่ละเรื่องนั้น แน่นอนว่าคุณครูจะต้องสอนเนื้อหาในส่วนบทนำที่กล่าวถึงข้อมูลสำคัญที่จำเป็นในการศึกษาวรรณคดี เช่น ที่มา ประวัติผู้แต่ง ลักษณะคำประพันธ์ โครงเรื่อง ฯลฯ
…วันนี้ดิฉันจึงอยากมานำเสนอไอเดียการประยุกต์ใช้แนวคิดแบบ Gamification มาประยุกต์ใช้กับการสอนวรรณคดีในส่วนบทนำ ก่อนเข้าสู่เนื้อหาวรรณคดีในแต่ละระดับชั้น โดยกิจกรรมที่จะนำเสนอวันนี้ชื่อว่า “ภารกิจเปิดประตู สู่โลกรามเกียรติ์” (ใช้ประกอบการสอนวรรณคดี เรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก ระดับชั้น ม.๒) ซึ่งมีรูปแบบและวิธีการนำไปใช้ดังนี้
๑. นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น ๖ กลุ่มเท่า ๆ กันด้วยวิธีการพูดชื่อตัวละครในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ได้แก่ ทศกัณฑ์ พระราม พระลักษมณ์ หนุมาน สีดา และมณโฑ เรียงต่อกันไปเรื่อย ๆ จนครบทุกคน จากนั้นนักเรียนที่พูดชื่อตัวละครเดียวกันให้มารวมกลุ่มกัน (คุณครูสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
๒. นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมารับใบงานประกอบการทำกิจกรรม’เปิดประตูสู่โลกรามเกียรติ์’ ซึ่งนักเรียนจะต้องช่วยกันเขียนตอบคำถามที่ครูกำหนดให้ ๙ ข้อลงในใบงานซึ่งเป็นภาระงานกลุ่มส่งครูท้ายคาบ (คุณครูสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม)
คำถามมีดังนี้
๑) ผู้แต่งบทละครเรื่อง รามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทก คือใคร
๒) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนารายณ์ปราบนนทกแต่งด้วยคำประพันธ์ชนิดใด มีลักษณะเด่นอย่างไร และมีคำขึ้นต้นบทว่าอะไรบ้างจงยกตัวอย่างมาอย่างน้อย ๒ คำ
๓) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ได้รับอิทธิพลมากจากวรรณกรรมเรื่องใดและของประเทศอะไร
๔) ตัวละครที่ปรากฏในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ตอนนารายณ์ปราบนนทกมีใครบ้าง
๕) บทละครเรื่องรามเกียรติ์ได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรในด้านใด
๖) จุดมุ่งหมายในการประพันธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์คืออะไร
๗) พระนารายณ์ใช้วิธีการใดในการสังหารนนทก
๘) นนทกเมื่อตายและกลับชาติมาเกิดเป็นใคร
๙) พระนารายณ์ลงไปอวตารเป็นใคร
๓. นักเรียนเริ่มทำกิจกรรม “เปิดประตูสู่โลกรามเกียรติ์” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาและความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก ผ่านการทำกิจกรรมแข่งขันกันเป็นกลุ่ม โดยกิจกรรมนี้จะแบ่งออกเป็น ๔ ด่านย่อยดังนี้
ด่านที่ ๑ เปิดป้ายทายผู้แต่ง
กติกา คือ นักเรียนทุกกลุ่มจะต้องแข่งกันทายผู้แต่งรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก โดยการพิจารณาคุณสมบัติในแผ่นป้ายที่ครูสุ่มเปิดขึ้นมาครั้งละ ๑ ข้อ จากทั้งหมด ๕ ข้อและมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตอบถูกจะได้รับคะแนนสะสมประจำด่าน ๕๐ คะแนนทันที แต่หากเปิดคุณสมบัติแรกแล้วยังไม่มีกลุ่มใดตอบได้ ครูก็จะสุ่มเปิดคุณสมบัติลำดับต่อไปเรื่อย ๆ ทีละ ๑ คุณสมบัติจนกว่าจะมีนักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตอบคำถามได้โดยคุณสมบัติ มีดังนี้
คุณสมบัติที่ ๑ เป็นผู้ชาย
คุณสมบัติที่ ๒ ไม่ใช่คนสามัญ
คุณสมบัติที่ ๓ มีพระนามเดิมว่า “ทองด้วง”
คุณสมบัติที่ ๔ ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
คุณสมบัติที่ ๕ อยู่ในราชวงศ์จักรี
เฉลยคือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาราช (รัชกาลที่ ๑)
ด่านที่ ๒ ภาพปริศนาที่มารามเกียรติ์
กติกา คือ ครูจะฉายภาพที่เกี่ยวข้องกับที่มาเรื่องรามเกียรติ์บนโปรแกรมนำเสนอภาพนิ่ง (แนบท้ายแผน) จากนั้นให้นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันวิเคราะห์ภาพที่ครูกำหนดให้และตอบให้ได้ว่าบทละครเรื่องรามเกียรติ์มีที่มาอย่างไร โดยหากกลุ่มใดตอบได้ถูกต้องเป็นกลุ่มแรกจะได้คะแนนสะสมประจำด่าน ๕๐ คะแนน
ด่านที่ ๓ ไขรหัสลักษณะคำประพันธ์
กติกา คือ นักเรียนแต่ละกลุ่มจะต้องเปิดหนังสือแบบเรียนวรรณคดีวิจักษ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒ บทที่ ๔ และลองศึกษาลักษณะคำประพันธ์ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทกและออกมาเขียนระบุชนิดและ ฉันทลักษณ์ของบทประพันธ์นั้นที่กระดานในส่วนของกลุ่มตนเองที่ครูกำหนดไว้ภายในเวลา ๓ นาที เมื่อหมดเวลาครูจะตรวจ และให้คะแนนตามความรวดเร็ว และความถูกต้องในการเขียนระบุชนิดและฉันทลักษณ์ของบทประพันธ์
ด่านที่ ๔ ตามรอยผ่านวิดีทัศน์
กติกา คือ นักเรียนทุกกลุ่มจะต้องรับชมวิดีทัศน์เรื่อง “รามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก” ที่ครูกำหนดให้ (คุณครูสามารถปรับเปลี่ยนวิดีทัศน์ตามความสนใจและความเหมาะสมของเวลาได้)จากนั้นเมื่อวิดีทัศน์จบลงครูจะให้นักเรียนแต่ละกลุ่มแข่งกันออกมาเขียนชื่อตัวละครในบทละครเรื่องรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปราบนนทก บนกระดานประจำกลุ่มตนเองที่ครูแจกให้ ภายในเวลา ๒๐ วินาที โดยครูจะนับคะแนนจากตัวละครที่นักเรียนเขียนชื่อได้ถูกต้อง ตัวละ ๑๐ คะแนน
๔. นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันทำใบงานประกอบการทำกิจกรรม “เปิดประตูสู่โลกรามเกียรติ์” โดยครูจะให้เวลาทำ ๑๐ นาที หากหมดเวลาแล้วครูจะเก็บใบงานทันที
๕. เมื่อสิ้นสุดกิจกรรม “ภารกิจเปิดประตู...สู่โลกรามเกียรติ์” นักเรียนและครูจะช่วยกันรวมคะแนนของแต่ละกลุ่ม จากนั้นครูจะสรุปและประกาศคะแนนสะสมของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้คะแนนสะสมดังกล่าวจะนำไปรวมกับคะแนนใบงานประกอบการทำกิจกรรมรายกลุ่มที่ครูแจกให้ตอนต้นคาบโดยครูจะประกาศผลผู้ชนะและมอบรางวัลให้กัลนักเรียนในคาบถัดไป
*หมายเหตุ : หลังเสร็จสิ้นภารกิจแต่ละด่าน คุณครูอาจมีการอธิบายเสริมความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหามากยิ่งขึ้น ซึ่งหากนักเรียนเข้าใจเนื้อหาในส่วนของบทนำได้ดีก็จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนสามารถเรียนในส่วนเนื้อหาได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!