icon
giftClose
profile

เรียนผ่านกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง

64711
ภาพประกอบไอเดีย เรียนผ่านกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง

เรียนผ่านกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) ร่วมกับการเล่นเกม

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการปฏิบัติ การดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพื่อให้มีแบบแผนชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่ 20 ซึ่งการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยที่ประชาชนหรือนักเรียนจำนวนมากยังไม่เข้าใจกติกาการลงคะแนน ข้อจำกัดของพรรคการเมือง และวิธีการนับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภา ครูสังคมอมยิ้มจึงได้นำกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้งเข้ามาใช้ในการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) ร่วมกับการเล่นเกม ผ่านกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กิจกรรมนี้จะสามารถแสดงให้นักเรียนทุกคนเข้าใจได้ว่าในการเลือกตั้งปี 2562 มีความไม่เป็นธรรมอย่างไรบ้างในระหว่างการลงสนามแข่งขันทางนโยบาย และทำไมพรรคการเมืองบางพรรคที่อาจจะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนน้อย จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยกิจกรรมการเรียนการสอนใช้เวลา 2 ชั่วโมง


ถ้าพร้อมแล้ว ไปกันเลย!


1. กิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) (เวลา 2 ชั่วโมง)

ชั่วโมงที่ 1                                                                                          

ขั้นที่ 1 ขั้นกระตุ้นความสนใจ                                                                    

1.นักเรียนและครูกล่าวทักทายกัน

2. นักเรียนรับชมวิดีโอ เรื่อง บรรยากาศเลือกตั้งฯ บริเวณ รร.อนุบาล อบต.ลำลูกกา จาก YouTube (youtube.com/watch?v=qVNlXX7kwTA)

3. นักเรียนตอบคำถามกระตุ้นความคิด ดังนี้

  • 1) ทำไมประชาชนชาวไทยจึงต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง (แนวคำตอบ เป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศไทย อาทิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย วุฒิสภาไทย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่นอื่น ๆ ด้วยการให้ประชาชนออกเสียงเลือกบุคคลที่เห็นสมควร)
  • 2) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น สามารถทำได้อย่างไรบ้าง (แนวคำตอบ เช่น การตรวจสอบทรัพย์สิน การตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์)

4.ครูแจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้และเนื้อหาให้นักเรียนทราบว่า วันนี้จะเรียนเรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง โดยใช้วิธีการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ (5Es) นักเรียนจะได้ทำกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง พร้อมทั้งทำใบงาน


ขั้นที่ 2 ขั้นสำรวจค้นหา                                                                          

5.แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน คละกันตามความสามารถ คือ เก่ง ค่อนข้างเก่ง ปานกลาง ค่อนข้างอ่อน และอ่อน นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบอำนาจรัฐ จากหนังสือเรียนสังคมศึกษาฯ ม.3 ในประเด็น ดังนี้

  • 1) การเลือกตั้ง
  • 2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
  • 3) การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
  • 4) บทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐบาล

 

ขั้นที่ 3 ขั้นอธิบายความรู้ 

6.สมาชิกแต่ละคนในกลุ่มนำข้อมูลที่ตนได้จากการรวบรวม มาอธิบายแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันสมาชิกในกลุ่มช่วยกันคัดเลือกข้อมูลที่นำเสนอเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

7.นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนำเสนอข้อมูลหน้าชั้นเรียนตามประเด็นที่ศึกษา อภิปราย และตอบคำถามร่วมกัน

8.ครูและนักเรียนอภิปรายร่วมกัน และสุ่มตัวแทนนักเรียนเพื่อตอบคำถาม

  • 1) การเลือกตั้งมีความสำคัญต่อคนไทยอย่างไร (แนวคำตอบ เป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารในระดับต่าง ๆ)
  • 2) ถ้าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร (แนวคำตอบ ไม่ได้คนดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง ทำให้อำนาจตกอยู่กับคนบางกลุ่ม ซึ่งต่อไปอาจกลายเป็นกลุ่มผูกขาด นำไปสู่การปกครองระบอบเผด็จการ)
  • 3) นักเรียนเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองใดบ้าง (แนวคำตอบ เช่น เข้าร่วมกิจกรรมของท้องถิ่น เพื่อรณรงค์การใช้สิทธิเลือกตั้ง)
  • 4) เพราะเหตุใดนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน หนีสินของตน คู่สมรส และบุตร ต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ทุกครั้งที่เข้ารับและพ้นจากตำแหน่ง (แนวคำตอบ เพื่อป้องกันการทุจริตในหน้าที่)
  • 5) หากรัฐบาลบริหารประเทศโดยขาดความชอบธรรม จะส่งผลต่อประเทศชาติและประชาชนในทางใด (แนวคำตอบ ทำให้ประเทศพัฒนาอย่างเชื่องช้า ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน เศรษฐกิจขาดเสถียรภาพ)
  • 6) เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงมีการยกเลิกและประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับ (แนวคำตอบ เพราะมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการทุจริต การแย่งชิงอำนาจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การรัฐประหาร และตามมาด้วยการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม)

9.ครูอธิบายเพิ่มเติมโดยใช้ PowerPoint เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง หลังจากที่แต่ละกลุ่มนำเสนอเสร็จเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วน


ชั่วโมงที่ 2                                                                                          

ขั้นที่ 4 ขั้นขยายความเข้าใจ                                                                   

10.  นักเรียนทำกิจกรรมเกมจำลองการเลือกตั้ง ครูกำหนดสถานการณ์ให้มีการเลือกตั้งระดับประเทศ โดยมีกติกาดังนี้

 

อุปกรณ์ที่จำเป็น

  • 1) กระดาษจับสลากแบ่งบทบาทหน้าที่ในสังคม
  • 2) กระดาษตัดเป็นบัตรเลือกตั้ง และหีบบัตรเลือกตั้ง
  • 3) กระดานสำหรับเขียน หรือกระดาษแผ่นใหญ่ หรือเครื่องฉายโปรเจ็คเตอร์ สำหรับนับคะแนน และนับจำนวนที่นั่ง ส.ส.
  • 4) อุปกรณ์ทำกิจกรรมหาเสียง เช่น กระดาษแผ่นใหญ่ กระดาษสี ปากกาเมจิก สีชอล์ก กรรไกร ฯลฯ
  • 5) กระดาษโพสต์อิท สีต่างๆ สามสี

 

จำนวนผู้ดำเนินกิจกรรม

  • 1)  3 คนขึ้นไป ได้แก่ตำแหน่ง ผู้ดำเนินกิจกรรม กรรมการการเลือกตั้ง และศาลรัฐธรรมนูญ

 

วิธีการเล่น

1) ผู้ดำเนินกิจกรรมอธิบายกติกาเริ่มต้นว่า ผู้เล่นทุกคนกำลังจะเข้าสู่สนามเลือกตั้ง เพื่อทดลองการเลือกตั้งในระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA ตามรัฐธรรมนูญ 2560 โดยในการจำลองครั้งนี้ ผู้เล่นทุกคนจะได้เลือกตั้ง ส.ส. ในระบบแบ่งเขต จำนวน 5 ที่นั่ง และส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 2 ที่นั่ง แต่ในสภาจะมี ส.ว. อีก 4 ที่นั่ง ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

2) แบ่งบทบาทหน้าที่ ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนจับสลากแบ่งบทบาทหน้าที่ในสังคม โดยแบ่งเป็น ดังนี้ 

  • ประชาชนอาชีพต่างๆ มีจำนวนรวมแล้วเท่ากับครึ่งหนึ่งของผู้เล่นทั้งหมด ตัวอย่างเช่น หากมีผู้เล่น 30 คน ก็มีประชาชน 15 คน โดยแบ่งเป็นอาชีพต่างๆ ตามสัดส่วนที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เช่น เป็นเกษตรกร 6 คน เป็นผู้ใช้แรงงาน 4 คน เป็นข้าราชการ 3 คน เป็นนักธุรกิจ 2 คน เป็นต้น
  •  สมาชิกพรรคที่หนึ่ง จำนวนเท่ากับผู้เล่นอีกครึ่งหนึ่งหารด้วยสาม เช่น หากมีผู้เล่น 30 คน ก็จะมีสมาชิกพรรคที่หนึ่ง เท่ากับ 15 หาร 3 คือ 5 คน
  •  สมาชิกพรรคที่สอง และสมาชิกพรรคที่สาม จำนวนเท่ากับพรรคที่หนึ่ง

3) เมื่อทุกคนได้บทบาทหน้าที่ของตัวเองแล้วให้แยกนั่งกันเป็นกลุ่มตามบทบาทในสังคม เพื่อทำความรู้จักกัน สำหรับสมาชิกพรรคทั้งสามพรรค ให้แจกกระดาษโพสต์อิทสีแตกต่างกันแล้วแปะไว้ที่หน้าอก เพื่อแสดงถึงความเป็นสมาชิกของพรรคนั้น ๆ

4) แบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนซึ่งยังนั่งอยู่เป็นกลุ่มตามบทบาทหน้าที่นับเลขไล่ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 5 ให้ทุกคนจำหมายเลขประจำตัวไว้ จากนั้นให้แบ่งกลุ่มอีกครั้งหนึ่งตามหมายเลขที่ตัวเองได้ ก็จะแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งในกิจกรรมนี้จะใช้เป็น 5 เขตเลือกตั้ง ทุกเขตเลือกตั้งจะมีสมาชิกจากทุกพรรคการเมืองและมีตัวแทนของคนหลากหลายอาชีพอยู่ด้วยกัน

5) กรรมการการเลือกตั้งทำสำมะโนประชากร โดยจดชื่อทุกคนที่อยู่เขตเลือกตั้งว่า แต่ละเขตมีใครบ้าง เพื่อป้องกันการลงคะแนนผิดเขต หรือการโกงการเลือกตั้ง

6) วางแผนการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ดำเนินกิจกรรมให้ผู้เล่นทุกคนกลับไปนั่งเป็นกลุ่มตามบทบาทหน้าที่ และให้เวลา 10 นาทีในการวางแผนเพื่อการหาเสียง โดยกลุ่มที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะจินตนาการถึงนโยบายที่ต้องการนำเสนอกับประชาชนเพื่อเรียกคะแนนเสียง ส่วนกลุ่มของประชาชนแต่ละอาชีพจะจินตนาการถึงข้อเรียกร้องที่กลุ่มของตัวเองต้องการจากพรรคการเมือง ระหว่างนี้ก็แจกอุปกรณ์ทำกิจกรรมหาเสียงให้ทุกกลุ่มได้ทำป้ายหาเสียง หรือป้ายนำเสนอนโยบายของตัวเอง

7) พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะต้องเสนอรายชื่อด้วยว่า ใครเป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเขตเลือกตั้งใด และพรรคนั้นต้องการเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง

8)  ประชาชนนำเสนอข้อเรียกร้อง ผู้ดำเนินกิจกรรมให้โอกาสประชาชนทีละกลุ่มนำเสนอข้อเรียกร้องที่ตัวเองต้องการ โดยพรรคการเมืองมีหน้าที่รับฟัง

9) กรรมการการเลือกตั้งกำหนดเวลา 5 นาที ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เดินลงพื้นที่เข้าหาประชาชน เพื่อพบปะพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อเสนอกันอย่างอิสระ ซึ่งจะเป็นช่วงที่วุ่นวาย ระหว่างนี้กรรมการการเลือกตั้งก็ติดตามพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งลงพื้นที่แล้วคอยสั่งห้ามว่า การหาเสียงบางประเภทจะเป็นการชักจูงใจโดยสัญญาว่าจะให้บางอย่างตอบแทน หรือเป็นการปลุกระดม ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งและไม่สามารถทำได้

10) ผู้ดำเนินกิจกรรมประกาศให้ทุกคนกลับไปนั่งแบ่งกลุ่มตามเขตเลือกตั้งทั้ง 5 เขต และประกาศหมายเลขของผู้สมัคร ซึ่งจะเป็นการสลับหมายเลขกันโดยให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันได้ต่างหมายเลขแตกต่างกันในแต่ละเขตเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นถึงความสับสนของระบบการเลือกตั้งนี้

11) หลังจากนั้นให้ผู้เล่นทุกคนได้ออกเสียงเลือกตั้ง ให้ผู้เล่นเดินเรียงแถวมากากบาทและหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบเลือกตั้งทีละคนได้

12) กรรมการการเลือกตั้งนับคะแนนและประกาศทีละเขตเพื่อให้ทุกคนลุ้นผลไปด้วยกัน ขณะที่ผู้ดำเนินกิจกรรมก็จดคะแนนขึ้นให้เห็นว่า ใครได้คะแนนเท่าไร หากเขตเลือกตั้งใดมีผู้สมัครมากกว่าหนึ่งคนได้คะแนนเท่ากัน ให้ตัดสินกันด้วยวิธีการจับสลาก

13) เมื่อนับคะแนนเสร็จแล้ว ผู้ดำเนินกิจกรรมก็ประกาศผลว่า แต่ละเขตพรรคการเมืองใดเป็นผู้ชนะ และขานชื่อของสมาชิกพรรคที่เป็นผู้สมัคร ส.ส. ในเขตนั้นเพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนในเขตแล้วเดินเข้าสู่สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

14) ผู้ดำเนินกิจกรรมรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้จากการเลือกตั้งทุกเขต ไม่นับบัตรเสียและไม่นับคะแนนของผู้สมัครที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมือง แล้วนำไปใส่กับสูตรคำนวนหาจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพื่อหาว่า ที่นั่งของ ส.ส. บัญชีรายชื่อทั้งสามที่นั่งจะเป็นของพรรคการเมืองใด



15) อัตราส่วนของจำนวนที่นั่ง ส.ส. ระบบแบ่งเขต, ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ และส.ว. จำลองมาจากจำนวนจริงในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกำหนดให้มี ส.ส. ระบบแบ่งเขต 350 คน มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มี ส.ว. จากการเลือกตั้งของ คสช. 250 คน จำนวนที่นั่งที่เล่นในเกมจำลองจึงเป็นจำนวนที่ที่นั่งที่หารด้วย 70

16) ผู้ดำเนินกิจกรรมชวนผู้เล่นทุกคนดูจำนวนของผู้แทนในสภา และชวนดูรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อดูว่า ใครมีคะแนนเสียงสนับสนุนมากที่สุดในสภา และสามารถเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้


11. ครู และนักเรียนร่วมกันสนทนาเกี่ยวกับเกมจำลองการเลือกตั้ง เริ่มจากถามความรู้สึก ให้ผู้เล่นทุกคนมีโอกาสได้อธิบายความรู้สึกหลังการเล่นกิจกรรมจำลองการเลือกตั้งครั้งนี้


ขั้นที่ 5 ขั้นตรวจสอบผล                                                              

12. ครูมอบหมายให้นักเรียนแต่ละคนทำใบงานที่ 45 เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง โดยทำเป็นการบ้าน และนำมาส่งครูในชั่วโมงต่อไป

13. ครู และนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้เรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกับการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบอำนาจรัฐ ว่า (รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับได้ให้ความสำคัญต่อแนวทางการปฏิบัติ การดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เพื่อให้มีแบบแผนชัดเจนและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปัจจุบันประเทศไทยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 เป็นฉบับที่ 20 ด้วยเหตุนี้ บทบาทของรัฐบาลในการบริหารประเทศจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะประเทศจะพัฒนาไปในทิศทางใดย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาล รัฐบาลที่ดีจะต้องสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี และนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าสู่สากล)

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(3)
เก็บไว้อ่าน
(5)