แน่นอนว่าหนังสือเรียนนั้นเป็นสื่อการเรียนที่คุณครูมักจะเลือกใช้เป็นสื่อการเรียนรู้หลัก แต่การใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายและมีความน่าสนใจนั้นจะทำให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้แบบจำลองสามมิติ การใช้สื่อจริง หรือการใช้เกมการศึกษา
.
เมื่อคุณครูแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นักเรียนกำลังเรียนรู้อยู่นั้นมีความน่าสนใจอย่างไร และมีอิทธิพลต่อชีวิตของนักเรียนมากขนาดไหน เช่น การทำให้นักเรียนได้เห็นว่าการศึกษาเรื่องพลังงานทางเลือกในวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่สำคัญต่อชีวิตของนักเรียน เนื่องจากพลังงานทางเลือกอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนอนาคตของมนุษยชาติ ทำให้วิถีชีวิตของพวกเราทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงไป เมื่อสิ่งที่นักเรียนกำลังศึกษานั้นมีผลกระทบต่อชีวิตนักเรียนมากเท่าใด นักเรียนก็จะยิ่งสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น
.
เมื่อการนำเสนอแง่มุม ข้อถกเถียง คำอธิบายของคุณครูขัดแย้งจากชุดประสบการณ์เดิมที่นักเรียนเคยพบเจอ จะทำให้การคาดการณ์คำตอบของนักเรียนนั้นผิดพลาดไป ซึ่งจะเกิดความขัดแย้งทางความคิด และทำให้เกิดกระบวนการคิดอย่างหนักหน่วง เช่น การให้นักเรียนคาดการณ์ผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ปรากฏว่าผลการทดลองกลับไม่เป็นไปตามที่คิด หลังจากนั้นให้คุณครูชวนพูดคุยเพื่อวิเคราะห์ความขัดแย้งระหว่างความคิดของนักเรียนและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้นักเรียนเกิดความสนใจในการเรียนมากยิ่งขึ้น
.
ความสนใจในการเรียนของนักเรียนจะลดลง ถ้ารูปแบบการจัดการเรียนรู้และการประเมินการเรียนรู้อยู่ในรูปแบบเดิม ๆ ซ้ำ ๆ คุณครูจึงควรจัดกิจกรรมให้มีความแปลกใหม่ในแต่ละสัปดาห์ ภาระงานที่หลากหลายรูปแบบ เช่น การเรียนรู้เรื่องระดับของสีในวิชาศิลปะ แทนที่จะใช้การศึกษาจากหนังสือเรียน และทำแบบฝึกหัด คุณครูอาจจะพานักเรียนออกไปนอกห้องเรียนเพื่อไปศึกษาระดับสีจากธรรมชาติ และประเมินการไล่ระดับสีของนักเรียนจากการนำใบไม้ หรือก้อนหินมาเรียงกัน
.
เมื่อนักเรียนได้มีโอกาสเลือกประเด็นที่ต้องการศึกษา จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนมากขึ้น เช่น ในวิชาสังคมศึกษา แม้ว่าในหลักสูตรจะกำหนดว่าว่านักเรียนจะต้องทำโครงงานในเรื่องประวัติศาสตร์เอเชีย แต่คุณครูสามารถเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เลือกหัวข้อตามความสนใจในกรอบเนื้อหาประวัติศาสตร์เอเชียได้ นักเรียนบางส่วนอาจจะศึกษาประวัติศาสตร์เกาหลีผ่านซีรีส์เกาหลีที่ชอบดู หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นผ่านมังงะที่ชอบอ่าน
.
เริ่มจากการค้นหาว่าในช่วงนี้นักเรียนกำลังสนใจประเด็นใด แล้วสร้างบทเรียนเชื่อมโยงเนื้อหากับความสนใจนั้น ๆ เช่น ในช่วงนี้นักเรียนกำลังชื่นชอบแรปเปอร์และเพลงฮิปฮอป คุณครูอาจนำสิ่งนี้มาเชื่อมโยงกับวิชาภาษาไทยในหัวข้อคำคล้องจอง และชวนนักเรียนมาทำความเข้าใจคำคล้องจองผ่านบทเพลง
.
อ้างอิงจาก
Motivation in Education: Theory, Research, and Applications (2014) โดย Dale H. Schunk ,Judith R Meece , and Paul R. Pintrich
เรียบเรียงโดย
ครูพล-อรรถพล ประภาสโนบล
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!