icon
giftClose
profile

ชวนเด็กฟ้อนกลองยาว เอาบุญบั้งไฟในห้องอนุบาล

22501
ภาพประกอบไอเดีย ชวนเด็กฟ้อนกลองยาว เอาบุญบั้งไฟในห้องอนุบาล

ถึงเดือนหกฝนบ่ตกลงมา ส่งข่าวหาบอกพญาแถน พากันตำหมื่อ บั้งไฟหมื่น บั้งไฟแสน ปีนี้แห่แหนยิ่งใหญ่บั้งไฟล้าน สะออนหลายเทิงใหญ่เทิงยาว เอ้าเฮาเอาเฮามาลุ้นช่วยกัน.......

บุญบั้งไฟถือเป็นประเพณีที่คนอีสานให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับชาวยโสธรอย่างเราที่ถือเป็นบุญใหญ่ของจังหวัด และยิ่งมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การจัดงานได้ห่างหาย จนทำให้ผู้คนโหยหา เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นก็เป็นโอกาสดีที่เราจะไดเห็นบรรยากาศอันชื่นมื่น ซึ่งเกือบทุกหมู่บ้านจะมีการจัดบุญบั้งไฟเป็นของตนเอง ผู้คนจากแดนไกลก็จะหลั่งไหลมาร่วมงาน เด็กๆ ที่นี่เหมือนกัน เราสังเกตได้ว่าเวลาพักกลางวันเด็กๆ จะชวนกันไปเล่นแห่บั้งไฟ จึงก่อให้เกิดหน่วย "บุญบั้งไฟ" ขึ้นมา จะเป็นอย่างไรไปดูกัน...


เริ่มที่วันแรก เราจะเล่านตำนาบุญบั้งไฟให้เด็กๆ ฟังว่าทำไมถึงมีการจุดบั้งไฟขึ้นฟ้า เด็กๆ ก็ถามว่า "พญาแถนมีจริงๆ ใช่ไหมคุณครู" "อยู่บนสายไหมนั่นเหรอ" จากนั้นเราก็ให้เด็กๆ คิดว่าถ้าเราไม่จุดบั้งไฟขึ้นไปบอกพญาแทน เด็กๆ จะทำอย่างไรพญาแถนถึงจะรู้ว่าถึงฤดูกาลทำนาแล้ว

เด็กบอกว่า "ฝากรุ้งกินน้ำไปบอก เพราะรุ้งกินน้ำอยู่บนฟ้า"

คนนี้บอก "ฝากสไปเดอร์แมนไป เอาใยออกมาแล้วก็ไต่ขึ้นไป ติ้วววววว"

วันที่ 2 ช่วงเช้าเราเปิดเพลง "บั้งไฟแสน" ให้เด็กๆ ได้แสดงออกทางอารมณ์ ดนตรี ซึ่งเด็กผู้ชาย enjoyed มาก

น้องคนถือแทมมารินสีเขียวฟ้อนเก่งมาก


วันนี้อุปกรณ์ครบมือ จริงๆ เด็กเอาหมวกนักดับเพลิง เอาค้อน มาทำเป็นกลองชุดด้วย

วันที่ 3 เรียนรู้ส่วนประกอบของบั้งไฟ ซึ่งเราให้เด็กๆ สังเกตลักษณะของดินปืนหรือหมื่อ แล้วให้เด็กทายว่าคืออะไร เด็กๆ ต่างก็แสดงความคิดเห็นกันใหญ่ เช่น กลิ่นไหม้ เหมือนถ่าน คล้ายขี้เถ้า จากนั้นก็พากันประดิษฐ์บั้งไฟ โดยให้แต่ละกลุ่มตั้งชื่อกลุ่ม ได้แก่ บั้งไฟแสน บั้งไฟล้าน บั้งไฟพลุ

อุปกรณ์ก็คือคุณครูไปช็อปที่ห้องเก็บของของโรงเรียนมา ไม่ว่าจะเป็นไม้พลอง กล่องใส่สื่อ

พอแต่ละกลุ่มทำเสร็จคุณครูก็จะทำการประกอบให้ โดยใช้เทปใสพันส่วนหัวและส่วนหางบั้งไฟเข้าด้วยกัน

วันที่ 3 จะเป็นการชมรถแห่บั้งไฟ พร้อมทั้งบันทึกการสังเกต

ตอนแรกเราเข้าใจว่าเกวียนมี 2 ล้อ เด็กบอกไม่ใช่ คันนึงมี 2 ล้อ อีกคันหนึ่งมี 4 ล้อ ก็เลยเดินไปดูใหม่ มี 4 ล้ออย่างที่เด็กว่าจริงๆ ด้วย

จากนั้นก็บันทึกการสังเกตเกวียนแห่บั้งไฟ เมื่อกลับมาถึงโรงเรียนก็ได้เวลาแห่บั้งไฟกัน โอ้ฮะโอ ฮะโอ้ฮะโอ...........เด็กแต่ละคนต่างก็ไปถืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการแห่บั้งไฟ ไม่ว่าจะเป็น บั้งไฟที่ประดิษฐ์ กลองยาว แทมมาริน ลำโพง พวงมาลัย เมื่อทุกคนพร้อมแล้วก็แห่รอบโรงเรียนไปเลยสิคะ

วันที่ 4 เป็นวันจุดบั้งไฟ ซึ่งเราจะให้แต่ละกลุ่มเลือกบั้งไฟมากลุ่มละ 1 บั้ง จากนั้นก็จะแข่งกันว่ากลุ่มไหนจะไปไกลกว่ากัน ซึ่งคุณครูทำหน้าที่จุดบั้งไฟ เด็กๆ เป็นคนให้สัญญาณ

สิ่งที่ได้จากการไปบุญบั้งไฟของคุณครู

คุณครูก็คือสู้ชีวิตมากกกกกก55555

พอจุดครบทั้งสามบั้งแล้วเราก็จะให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มไปยืนที่ตำแหน่งบั้งไฟของตัวเอง แล้วเปรียบเทียบว่ากลุ่มไหนไกลกว่ากัน ซึ่งเราก็จะมาสรุปคะแนนกันตอนท้ายกิจกรรม ผลปรากฎว่ากลุ่มบั้งไฟล้าน ได้อันดับที่ 1 ตามมาด้วยบั้งไฟแสน และบั้งไฟพลุ ซึ่งสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้คือการเคลื่อนที่ของบั้งไฟซึ่งมีทิศทางตรงกันข้ามระหว่างแรงกับตัวบั้งไฟโดยไฟจะออกด้านล่างดันให้บั้งไฟขึ้นด้านบน


สัปดาห์นี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน สื่อ ชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เด็กลดอัตตาความเป็นตัวของตนเองลง เพิ่มการมีอยู่ของผู้อื่น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ การเคารพตัวตนของกันและกันภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย


เหนือสิ่งอื่นใดความคิดเห็น ความต้องการ ความสนใจเด็ก เป็นสิ่งที่เราทุกคนไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งเล็กๆ เหล่านี้จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ภายในตัวตนของพวกเขาก็เป็นได้

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(0)