icon
giftClose
profile

⁉️ สอนอย่างไร ในวันที่เด็กสมาธิสั้นลง

10470
ภาพประกอบไอเดีย ⁉️ สอนอย่างไร ในวันที่เด็กสมาธิสั้นลง

จะสอนยังไงดีในวันที่เด็กสมาธิสั้นลง insKru ได้เตรียมเทคนิคที่จะมาช่วยครูดูแลนักเรียนและดูแลครูง่าย ๆ ด้วย 6 เทคนิคนี้ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน !!

พักเบรกระหว่างคาบ 5 นาที

คุณครูมักพบว่าเด็ก ๆ ภายในห้องเรียนไม่สามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด จากงานวิจัยพบว่าคุณครูจะรู้ได้ว่านักเรียนของตนเองมีสมาธิจดจ่ออย่างต่อเนื่องเท่าใด จากการนำอายุของนักเรียนคูณ 2 หรือ 3 เท่า เช่น ม.1 อายุ 12 ปี มีสมาธิจดจ่อนานสุดแค่ 24-36 นาที

ลองแบ่งช่วงเวลาให้นักเรียนพักสมองระหว่างคาบสัก 5 นาที เพียงเวลาสั้น ๆ นี้จะช่วยฟื้นฟูสมองให้กลับมาสดชื่นและพร้อมจะจดจ่อกับการเรียนอีกครั้ง


เพิ่มกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกาย

รูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ใช่แค่พังการนั่งฟังบรรยายเท่านั้น คุณครูลองออกแบบกิจกรรมในแต่ละคาบให้มีส่วนผสมระหว่าง “การออกกำลังสมอง” สลับกับ “การออกกำลังกาย” เช่น ศึกษาทฤษฎีจากการบรรยาย สลับกับการทำกิจกรรมกลุ่มที่ได้ขยับร่างกายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในห้องเรียน

การผสมผสานระหว่างกิจกรรมที่ใช้สมองเป็นหลักกับกิจกรรมที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก จะช่วยทำให้คาบเรียนของคุณครู “กลมกล่อม” มากยิ่งขึ้น และทำให้นักเรียนมีสมาธิอยู่กับการเรียนได้นานมากขึ้น


อยู่ให้ห่างจากสิ่งรบกวนสมาธิ

การที่จะนำพานักเรียนไปสู่ระยะลื่นไหลทางความคิด (flow state) ได้นั้น คุณครูจำเป็นต้องออกแบบสภาพแวดล้อมในการเรียนให้นักเรียนสามารถจดจ่ออยู่กับการเรียนให้นาน และลดสิ่งรบกวนสมาธิลงให้ได้มากที่สุด เช่น โทรศัพท์มือถือ คุณครูอาจใช้วิธีการสร้างข้อตกลงภายในห้องเรียนร่วมกัน ปิดระบบแจ้งเตือนทุกครั้งก่อนเริ่มเรียน หรือว่าเก็บไว้ในกระเป๋าสะพายตลอดเวลา แต่อย่าลืมว่าต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันภายในห้องเรียนนะ !

นอกจากนี้ สิ่งรบกวนสมาธิอาจจะรวมไปถึง รูปภาพสีสันฉูดฉาดที่บอร์ดห้องเรียน สิ่งของที่วางเกะกะ หรืออาจหมายถึงโต๊ะเรียนก็ได้ ! (ในกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องใช้โต๊ะเรียน) เพราะฉะนั้นในแต่ละกิจกรรม ให้คุณครูลองประเมินว่าสิ่งใดไม่จำเป็นต่อการเรียนรู้ ก็สามารถนำออกไปให้พ้นสายตานักเรียนได้เลย


ชวนเล่นเกมฝึกการจดจำ

นอกจากความสนุกที่เกมจะมอบให้แล้ว เกมบางประเภทยังช่วยฝึกสมอง และช่วยพัฒนาการจดจ่อของนักเรียนได้มากขึ้น ในช่วงคาบโฮมรูมหรือพักกลางวัน คุณครูลองใช้เกมประเภทนี้มาเล่นกับนักเรียน เพื่อฟื้นฟูสมาธิที่ขาดหายไปในช่วงของการเรียนออนไลน์กันเถอะ

ตัวอย่างเกม เช่น เกมจับคู่ (จับคู่การ์ดที่เหมือนกัน) เกมถุงใบใหญ่ (จำชื่อเพื่อนที่นั่งก่อนหน้า) เกมสปายฟอล (หาสายลับที่ซ่อนอยู่) เกมยี่สิบคำถาม (ทายคำตอบจากการถาม 20 ครั้ง)


ย่อยงานชิ้นใหญ่ ให้เป็นงานชิ้นเล็ก

ทำแบบฝึกหัดรวดเดียวทั้งบท สร้างสิ่งประดิษฐ์ขนาดยักษ์ อ่านหนังสือเล่มหนา แน่นอนว่างานเหล่านี้จำเป็นต้องใช้สมาธิในการจดจ่อเป็นอย่างมาก และเป็นงานที่ต้องใช้พลังงานสูง ไม่แปลกที่นักเรียนของเราจะไม่มีสมาธิอยู่กับชิ้นงานเหล่านี้

ลองแบ่งชิ้นงานออกเป็นส่วนเล็ก ๆ เช่น ทำแบบฝึกหัดทีละ 3 ข้อ สร้างสิ่งประดิษฐ์ทีละชิ้นส่วน แบ่งการอ่านหนังสือออกเป็นบทสั้น ๆ การแบ่งงานเป็นชิ้นเล็ก ๆ จะทำให้นักเรียนใช้สมาธิกับชิ้นงานจดจบได้ โดยไม่ใช้เวลานานจนเกินไป


สอบถามเพื่อเสนอความช่วยเหลือ

หากคุณครูใช้ทุกวิธีการที่กล่าวมาแล้วไม่ได้ผล ลองถามนักเรียนโดยตรงว่าเราควรจะปรับเปลี่ยนวิธีการสอนอย่างไร เพราะในแต่ละห้องเรียนก็มีบริบทที่แตกต่างกัน กลับมาใช้แนวคิด “การเรียนรู้โดยมีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-centerd learning)” จัดรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับบุคคลที่เรากำลังจะจัดการเรียนรู้

สอนแบบนี้ นักเรียนเป็นอย่างไรบ้าง ชิ้นงานแบบนี้นักเรียนทำไหวไหม ช่วงนี้มีสมาธิจดจ่อได้ประมาณกี่นาที เราสามารถงดการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างเรียนได้หรือไม่ คำถามเพียงไม่กี่คำถาม อาจจะทำให้คุณครูค้นพบวิธีการสอนที่เหมาะสมกับห้องเรียนของตัวเองก็ได้นะ


อ้างอิงจากเว็บไซต์ Edutopia

edutopia.org/discussion/7-ways-increase-students-attention-span?fbclid=IwAR14Q0NZeM3acYjDQyJQMbdm56mr3vy9SNC0iePnEtzRwPBP3qdSHoV8qoo

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(3)