icon
giftClose
profile

สายฝน แสงแดด และเสียงหัวเราะ

11211
ภาพประกอบไอเดีย สายฝน แสงแดด และเสียงหัวเราะ

คุณครูทำไมมีตุ๊กตาไล่ฝนแล้วฝนยังตกอีก มันไม่ได้ผลเหรอ? เนี่ยยยยย! มันต้องพ่อหนุ่มคนนี้

เมื่อสายฝนหล่นลงจากฟ้า ฉันเฝ้ามอง นอกหน้าต่างยังคงเห็น เธอเต้นรำเปียกปอน....


จากคำกล่าวที่ว่ายิ่งโตเท่าไหร่ยิ่งโหยหาความเป็นเด็กมากเท่านั้น คงไม่เกินจริงสำหรับเรา เนื่องจากบริบท และกฎเกณฑ์ในสังคมในตอนเยาว์วัยกรอบและความคาดหวัง ยังไม่ได้ถูกสร้าง เรายังจำได้ว่าการเล่นชิงช้าเถาวัลย์เป็นอะไรที่สนุก หรือการไปนั่งรอแม่ที่คันนาแล้ว เอาขี้โคลนมาปั้นเป็นบ้านในฝัน มีเรื่องเล่าในหัว มีตัวละครเป็นดิน มีสายลมเป็นเพื่อน ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิต

ฝนก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ก่อให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย เช่นเดียวกับเด็กที่พร้อมจะเบ่งบานด้วยความงามของตนเอง


ตอนเช้าของวันจันทร์ที่สดใสพร้อมกับการสำรวจท้องฟ้า สภาพภูมิอากาศ จากการรายงานพบเต่า และลูกของมันเดินตามก้นกัน อีกทั้งยังมีสายไหมตามมาติดๆ ครูกต.ขอจบการรายงานเพียงเท่านี้ ขอบคุณค่ะ!! 55555+ เราก็เออ เอาวะสายไหมก็สายไหม จากนั้นก็ให้ทายว่าฝนจะตกไหม เด็กก็บอก "ไม่ตกแน่นอน"

"นั่นไง เห็นไหมคุณครู"


จากนั้นก็บันทึกการสังเกต โดยการใช้สีโปสเตอร์ผสมกับเทคนิคการพับกระดาษ แอบกระซิบ เด็ก+สี+น้ำ= ศิลปินท่านหนึ่ง


วันที่ 2 เราก็เล่านิทานเรื่อง เติมน้ำใสให้ท้องฟ้า ที่กล่าวถึงวัฏจักรของน้ำ หลังจากนั้นก็ให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมาจับสลากว่าจะได้การทดลองการเกิดฝนวิธีที่เท่าไหร่


วิธีที่ 1 ใช้ฟองน้ำแทนก้อนเมฆ เมื่อหยดน้ำรวมกันในฟองน้ำหนักขึ้น ก็ร่วงหล่นกลายเป็นหยาดฝน


วิธีที่ 2 เป็นกระบวนการการควบแน่น ของน้ำแข็ง กลายเป็นหยดน้ำ

วิธีที่ 3 เป็นกระบวนการควบแน่น เหมือนวิธีที่ 2 แต่ต่างกันที่ อุปกรณ์ ซึ่งกลุ่มนี้ใช้ แผ่นสังกะสี


ต่อด้วยกิจกรรม ร้อยสายใยเป็นสายฝน ซึ่งเด็กๆ กฏมีวิธีการที่แตกต่างกันบางคนรูเล็กไปก็เอาดินสอมาขยายรู บางคนก็ร้อยเป็นเสันตรง บางคนก็เส้นเฉียง บางคนก็เป็นเส้นเล็กๆ ฝอยๆ


เข้าสู่วันแห่งการเต้นรำเปียกปอน ท่ามกลางสายฝน เราจะให้แแต่ละกลุ่มเลือกอุปกรณ์กันฝนกลุ่มละ 1 ชิ้น ตามภาพ ซึ่งสิ่งที่ได้จากกิจกรรมคือการแก้ปัญหาและช่วยเหลือกันในกลุ่ม กลุ่มที่ใช้ไวนิลกันฝนจะมีเด็กที่ตัวเล็กๆ เพื่อนๆ ก็บอกว่าให้น้องไปอยู่ด้านใน และกลุ่มที่ใช้เสื่อ จะสังเกตว่ามีขนาดเล็กและสมาชิกกลุ่มค่อนข้างตัวเท่ากัน แต่เด็กๆก็สามารถจัดสรรพื้นที่กันได้ จากนั้นคุณครูก็แปลงร่างเป็นเทพเจ้าแห่งสายฝน เด็กแต่ละกลุ่มก็ร้องกันใหญ่ช่วยกันบังฝนไม่ให้ตัวเองเปียก สักพักเริ่มไม่สนใจอุปกรณ์กันฝน สนใจน้ำอย่างเดียว



จะสังเกตเห็นว่าผ้าคลุมค่อยๆ หายไปแต่มีเสียงหัวเราะเพิ่มเข้ามา เด็กบางคน ก็รู้ว่าตัวเองเล่นน้ำมากไม่ได้ก็ยืนดูเพื่อนอย่างมีความสุข


เมื่อฝนหยุดตก น้ำที่อยู่บนผืนดินก็คือเพื่อนเล่นคนถัดไป


จากกระโดด ก็เริ่มว่ายน้ำ คลุกคลานลงไปกับน้ำ และสังเกตเห็นว่าไวนิลเริ่มกลายมาเป็นที่รองเรียบร้อยเหตุการณ์ต่อไปเกิดขึ้นเร็วมากกก


เด็กคนนี้บอกเพื่อนว่า ออกๆ ฉันจะทำให้ดูจากนั้นก็สไลด์ตัวลงไปบนไวนิล ฟิ้ววววววว!! จากนั้นก็พากันต่อแถวเข้าคิวสไลด์

** รวมระยะเวลาเล่นน้ำประมาณ 15 นาที จากนั้นเราก็ให้เด็กๆ เปลี่ยนเสื้อผ้า แต่เราต้องเข้าใจว่าภูมิคุ้มกันของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันจากภาพเสียงหัวเราะเหล่านี้สู่เสียงฮัดชิ่ววววว!!!! ของทุกคน


หลังกิจกรรมเราก็ทำ self reflection คนที่ไม่ชอบเหตุผลเพราะมันเปียก


เข้าสู่วันสุดท้ายของสัปดาห์ พบว่า ฝนทำให้คนเป็นหวัด คือความจริง หนูบอกแล้วคุณครูไม่เชื่อออ!!!!!แล้วเราก็เล่าเรื่องตำนานตุ๊กตาไล่ฝนให้เด็กๆ ฟัง เด็กบอก มันมีจริงๆ ใช่ไหมคุณครู พร้อมทั้งเปิดเพลง Teru Teru Bouzu ให้ฟัง ปรากฎว่าเด็กก็ลุกขึ้นทำท่าผี บางคนก็ลุกมานั่งข้างคุณครู "หนูกลัว" จากนั้นก็ลงมือทำตุ๊กตาไล่ฝน


ตกแต่งกันหน่อย


ดูม้อบแม้บมากกกก มีเอาลูกแบดมินตันมาใส่เป็นหมวกเอาดอกเข็มมาปักด้วยนะ จากนั้น 1 สัปดาห์ผ่านไปเราได้นำไปแขวนไว้ที่ประตูหน้าห้อง ระหว่างที่กำลังจะไปทานข้าวฟ้าเริ่มมืด และร้องคำราม เด็กๆ ถามว่า " คุณครูทำไมมีตุ๊กตาไล่ฝนแล้วฝนยังตกอีก มันไม่ได้ผลเหรอ?" เราก็เลยตอบว่า "จริงๆ เราห้ามฝนตกไม่ได้ ถ้าฝนไม่ตกเราก็ไม่ได้ทำนา และเขาบอกว่าถ้าฝนตกแล้วเช้าวันต่อมาท้องฟ้าจะแจ่มใส ไม่ใช่ห้ามไม่ให้ตกเลย"


เราชอบนะ การที่เด็กคิดและตั้งคำถามเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น ขณะที่เรากำลังเรียนคำศัพท์คำว่า Sun พระอาทิตย์ แล้วมีรูปพระอาทิตย์ลุกไหม้ เราก็เลยบอกว่า "จริงๆ แล้วพระอาทิตย์ที่เราเห็นเหมือนกองไฟใหญ่ๆ ที่ไฟกำลังลุกไหม้ตลอดเวลาก็เลยทำให้เราร้อน และยิ่งเราเข้าใกล้ดวงอาทิตย์เท่าไหร่ยิ่งร้อนมากเท่านั้น" มีเด็กคนหนึ่งถามว่า "แสดงว่านรกต้องอยู่ใกล้พระอาทิตย์มากๆ ใช่ไหมคะ"


จะเห็นได้ว่าวัยเด็กเป็นวัยที่กล้าที่จะริเริ่ม ตั้งคำถามในสิ่งที่สงสัย เราในฐานะบุคคลที่ผ่านเรื่องราวมาก่อน ควรที่จะเปิดใจ เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองตั้งคำถาม และหาคำตอบโดยเราทำหน้าที่เฝ้าดู และต่อเติมเส้นทางให้เขาได้พบปลายทางด้วยตนเอง


ท้ายที่สุดแล้วการเรียนรู้ไม่เลือกเวลาและสถานที่ขอเพียงแค่นำตัวเราเข้าหาสิ่งที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นสายลม แสงแดด สายฝน ก้อนเมฆ สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเป็นครูเราได้


เหนือสิ่งอื่นใดเรื่องราวในวัยเด็กเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมความเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต การบังคับ การไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้เลือก ได้ลอง ถือเป็นความคับข้องใจอย่างหนึ่งที่เด็กได้แต่ตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำ ทำไมไม่มีสิทธิเลือก ทั้งๆ คนที่ทำก็คือตัวเขาไม่ใช่คนอื่น สิ่งเหล่านี้เมื่อสะสมไปเรื่อยๆ ก็ก่อให้เกิดภาวะจำยอม ในฐานะคนที่เคยผ่านเรื่องราวเหล่านี้มาจึงรู้ว่ามันค่อนข้างเจ็บปวด และเราไม่อยากให้เด็กที่โตมาด้วยการครอบงำของชุดความคิดเหล่านี้ ได้แต่บอกตัวเองว่าสิ่งไหนที่เราไม่ชอบ เราจะไม่ทำกับเด็ก เราอยากเห็นสังคมที่เปิดกว้างให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะคนเท่ากัน


ขอบคุณ ไอเดียดีๆ on a rainy day จากครูนกยูงด้วยนะคะ แอบกระซิบหน่อยว่า พี่นกยูงเป็นแรงบันดาลใจในการสอน และก้าวออกมาจาก Comfortable Zone มาก ๆ ชื่นชมมั่กๆ I always support you naka

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(1)