inskru

🤔 มัดรวมข้อควรรู้ ครู กับ PDPA

0
0
ภาพประกอบไอเดีย 🤔 มัดรวมข้อควรรู้ ครู กับ PDPA

คุณครูกังวลกันมั้ย เมื่อข้อมูลส่วนตัวกลายเป็น เรื่องทางกฎหมาย! สรุปแล้ว “PDPA” คืออะไร อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จาก insLive หัวข้อ “ไขข้อสงสัย จัดการข้อมูลส่วนตัวนักเรียนยังไง ครูต้องรู้อะไรบ้าง”

เกิดข้อสงสัยมากมายเมื่อ PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกับเหล่าคุณครู ที่เป็นผู้ถือข้อมูลส่วนตัวเด็กโดยตรง งานนี้ทำยังไงดีล่ะ?

บอกก่อนว่า แท้จริงแล้ว PDPA ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด insKru ขอพาทุกคนทำความเข้าใจขอบเขตเน้น ๆ เอาไปใช้ได้ สบายใจหายห่วง

ถ้าคุณครูอยากรู้แล้ว ไปรับชมกันเลย!


 แนวคิดหลักของ PDPA เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อทำให้ประชาชนใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวัง ไม่ละเมิดข้อมูล และความเป็นส่วนตัวของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว โดยเน้นไปที่การจัดเก็บข้อมูล ว่าจัดเก็บข้อมูลมาใช้ในจุดประสงค์อะไร ต้องนำไปใช้ตามนั้น


 แล้วแบบไหนถึงจะเรียกว่าละเมิด? การใช้ข้อมูลต้องเป็นไปตามหลัก 2 ประการ

1) การประมวลผลข้อมูล เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูล นำไปใช้หรือส่งต่อ ต้องเป็นไปตามจุดประสงค์ที่เก็บข้อมูลมาเท่านั้น เช่น การเก็บประวัติของนักเรียน ทำได้ตามจุดประสงค์ที่เก็บมาเท่านั้น ถ้าจะนำไปใช้ในการอื่น จำเป็นต้องขอทุกครั้ง

2) การรักษาความเป็นส่วนตัว จะต้องไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวและทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง


 ข้อมูลที่ควรระวังเป็นพิเศษ! มี 2 ประเภท

1) ข้อมูลส่วนบุคคล เป็นข้อมูลที่ทำให้เข้าถึงตัวตนได้ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประชาชน ที่อยู่ ทะเบียนรถและข้อมูล Cookies

2) ข้อมูลอ่อนไหว เป็นข้อมูลที่อาจถูกนำไปใช้เพื่อละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น เช่น เชื้อชาติ สุขภาพ ลายนิ้วมือ คะแนนสอบ เกรด และความคิดเห็นทางการเมือง


 สิ่งที่จะไม่รู้ไม่ได้ คือวิธีขอความยินยอม!

1) การขอความยินยอม ไม่ว่าจะเป็นเสียง รูปภาพ ไฟล์ อะไรก็ตาม ต้องมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน

2) ถ้าเป็นเด็กต่ำกว่า 10 ปี ต้องขอความยินยอมกับผู้ปกครอง

3) ถ้าเป็นเด็กอายุเกิน 10 ปี แต่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต้องขอคำยินยอมร่วม ทั้งเด็กและผู้ปกครอง


กรณีตัวอย่างที่ 1 ถ้าจะลงรูปภาพกิจกรรมโรงเรียนแล้วติดเด็ก ๆ เป็นจำนวนมาก (ไม่ได้ถ่ายรายบุคคล) ลงภาพได้เลยมั้ย?

 ควรแจ้งให้ทราบว่าจะนำรูปไปทำอะไร วัตถุประสงค์ใด แต่ถ้าถ่ายติดข้อมูลอ่อนไหว เช่น ความพิการ ต้องขอความยินยอมและบันทึกเก็บไว้ ที่สำคัญคืออย่าใช้ข้อมูลเกินจุดประสงค์ที่แจ้งเอาไว้นะ!


กรณีตัวอย่างที่ 2 หากโรงเรียนจะนำชื่อ นามสกุล หรือรูปภาพของนักเรียนไปใช้ทางการตลาด (ในการโปรโมท สร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียน) ต้องทำยังไง?

 ต้องขอความยินยอมก่อนทุกครั้ง พร้อมแจ้งจุดประสงค์และต้องบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐาน เช่น รูปภาพ เสียง ที่สำคัญคืออย่าใช้ข้อมูลเกินจุดประสงค์ที่แจ้งเอาไว้นะ!


กรณีตัวอย่างที่ 3 หากคุณครูต้องการวิดีโอของนักเรียนไปลง Social Media ส่วนตัว เช่น TikTok หรือเว็บไซต์ insKru ลงได้เลยมั้ยนะ? ลองตอบ แล้วไปดูเฉลยกันเลย

 ต้องแจ้งนักเรียนก่อนทุกครั้ง พร้อมบอกจุดประสงค์ กรณีนี้จะแจ้งปากเปล่าก็ได้ แต่เก็บหลักฐานไว้จะดีที่สุด ที่สำคัญคืออย่าใช้ข้อมูลเกินจุดประสงค์ที่แจ้งเอาไว้นะ!

 ตัวอย่างเช่น แจ้งปากเปล่ากับนักเรียนไว้ในวิดีโอได้เลยว่าจะนำวิดีโอไปทำอะไร เพื่ออะไร เป็นอันเรียบร้อย


กรณีตัวอย่างที่ 4 ถ้าเผลอลงไปแล้วแต่ลืมแจ้งเจ้าตัว ทำยังไงดี?

 ไม่ต้องกังวล ถ้าหากไม่ได้มีข้อมูลส่วนบุคคล หรือข้อมูลอ่อนไหวที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นแสดงอยู่ด้วย แต่ถ้ามีก็ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ และถ้าเจ้าของข้อมูลต้องการให้ลบ ก็ต้องลบทันที


กรณีตัวอย่างที่ 5 ให้นักเรียนอัดคลิปต่าง ๆ เช่น คลิปฝึกสนทนา อ่านกลอน ส่งเป็นการบ้านได้มั้ย?

 ทำได้ เพื่อการศึกษา แต่ห้ามนำวิดีโอของนักเรียนไปทำอะไรเกินจุดประสงค์เด็ดขาด

 ตัวอย่างเช่น จะไม่สามารถนำวิดีโอของนักเรียน ที่ส่งเป็นการบ้าน ไปโพสต์ใน Social Media ได้ ถ้าจะทำ จำเป็นต้องขอความยินยอมก่อนทุกครั้ง


กรณีตัวอย่างที่ 6 ปักชื่อที่เสื้อนักเรียน ถือว่าผิด PDPA มั้ยนะ?

 การปักชื่อลงบนชุดนักเรียนไม่ผิดกฎหมาย ถือเป็นการใช้งานภายใน แล้วแต่นโยบายแต่ละโรงเรียน

 แนะนำว่าเปลี่ยนจากการปักชื่อเป็น Sticker หรือเข็มกลัดชื่อแบบดึงออกได้แทน


กรณีตัวอย่างที่ 7 แล้วถ้าอยากส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นล่ะ คิดว่าทำได้ไหม?

 ทำไม่ได้เด็ดขาด ถ้าไม่ได้รับความยินยอม ถ้าจำเป็นต้องส่งต่อข้อมูลให้คนอื่น ต้องขอความยินยอมกับเจ้าของข้อมูลก่อนทุกครั้ง แต่อาจมีกรณียกเว้น เช่น เกิดเหตุฉุกเฉิน ต้องส่งข้อมูลทางสุขภาพให้โรงพยาบาล


กรณีตัวอย่างที่ 8 แล้วกล้องวงจรปิดล่ะ ยังติดได้อยู่รึเปล่า

 ยังคงติดได้ เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่ควรแจ้งให้ผู้ปกครองทราบก่อนจะดีที่สุด โดยบอกวัตถุประสงค์ในการติดให้ชัดเจน และไม่นำข้อมูลจากกล้องวงจรปิดไปทำอย่างอื่น


กรณีตัวอย่างที่ 9 รูปภาพ คลิปวิดีโอ เสียง ข้อมูลต่าง ๆ เผยแพร่ก่อนค่อยขอความยินยอม?

 ทำไม่ได้เด็ดขาด การขอความยินยอมต้องเกิดขึ้นก่อนจะทำการใด ๆ กับข้อมูลเท่านั้น


หลักของ PDPA สำคัญที่การแจ้งและขอความยินยอมก็จริง แต่หัวใจสำคัญที่สุดอยู่ที่การสร้างความตระหนักในการใช้ข้อมูลให้ประชาชน ในการใช้ข้อมูลอย่างระมัดระวังไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราอย่างเท่าเทียมนะ!


สำหรับใครที่พลาดไปไม่ต้องห่วงติดตามฟังไลฟ์ย้อนหลังแบบเต็ม ๆ ได้เลยที่

https://fb.watch/dBR7Rb7l2S/

inslivePDPAinsKruพื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ