inskru
gift-close

เรียนรู้ความเชื่อใจ ผ่านเกมตัก เติม ตวง

0
0
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้ความเชื่อใจ ผ่านเกมตัก เติม ตวง

จากเด็กที่เดินตามครูเหมือนลูกเป็ด สู่การออกวิ่งเล่นไปกับเพื่อนฝูงท่ามกลางความเชื่อใจ

การเล่นเกมถือเป็นแนวทางอย่างหนึ่งที่พัฒนาเด็กได้อย่างประสบผลสำเร็จเนื่องจากเด็กๆ ได้ลงมือกระทำผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 และอยู่ภายใต้กรอบที่เรียกว่ากติกา อีกทั้งเรียนรู้การเล่นเป็นทีม (Teamwork) ซึ่งจะส่งผลให้เด็กตระหนักและสร้างความเชื่อมั่นเชื่อใจได้ด้วยตนเอง


เกมตัก เติม ตวง เป็นหนึ่งใน Theme House ที่ขอบเขตเนื้อหาจะอยู่ในส่วนของงานบ้านและแน่นอนว่ากิจกรรมนี้เป็นการกรอกน้ำช่วยคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเด็กส่วนมากจะไม่เคยทำเพราะหลายปัจจัย เราจึงยกเกมนี้ขึ้นมาเพื่อฝึกให้เด็กได้ลอง ได้เรียน ได้รู้ และเพิ่มความท้าทายเข้าไปอีกด้วยจะเป็นอย่างไรไปดูกันเลย


ขั้นที่ 1 แบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน ซึ่งในห้องเราก็จะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ บั้งไฟแสน บั้งไฟล้านและบั้งไฟพลุ จากนั้นก็ให้นั่งต่อแถวเป็นรถไฟ ซึ่งแต่ละกลุ่มต้องวางแผนว่าใครจะเป็นคนแรก

ขั้นที่ 2 เลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการตักน้ำ ได้แก่ ถ้วยตวงที่มีขนาดต่างกัน และช้อนตักทราย

ขั้นที่ 3 บอกกติกา และสาธิตวิธีการเล่น ซึ่งต้องเข้าใจก่อนว่าห้องเรามีทั้งเด็กที่เคยเรียนกับเรามาแล้ว 1 เทอม และเด็กใหม่ที่เพิ่มเข้ามาที่ยังต้องปรับตัวทั้งในเรื่องการทำกิจกรรม การไว้ใจเพื่อน การเคารพกติกา เราจำเป็นต้องทวนซ้ำๆ โดยเริ่มจากเราทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 1 รอบ จากนั้นให้เด็กๆ ลองเล่นรอบที่ 1 ก็ยังพบการไม่ผลัดกันเล่น เราจึงให้เด็กๆ ลองเล่นจนกว่าจะเข้าใจกติกา จากนั้นเริ่มทำการแข่งขัน ซึ่งโจทย์ของเราคือตักน้ำภายในเวลา 2 นาที และคนที่ตักแล้วให้ไปต่อท้ายแถวเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดเวลา



เมื่อครูให้สัญาณเริ่มการแข่งขันเด็กที่อยู่หัวแถวก็ออกตัววิ่งปรู้ดดดดไปตักน้ำทันที ซึ่งเพื่อนๆ ที่อยู่ในแถวก็ส่งเสียงเชียร์กันยกใหญ่ "มะนาวสู้ๆๆ"


จากที่เคยเป็นแถวตอนกลับกลายเป็นแถวหน้ากระดานเชียร์เพื่อน แต่ทุกคนรู้ไหมว่าเด็กๆ เขารู้ว่าเมื่อเทน้ำเสร็จแล้วต้องยื่นให้ใครทั้งๆ ที่ไม่มีการต่อแถว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่คาดหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ


บางคนก็แอบเอาใจช่วยทีมข้างๆ และสิ่งที่น่าประทับใจคือ ในห้องเราจะมีเด็กคนหนึ่งที่ชอบมองดูเพื่อนเล่นมากกว่าเข้าไปเล่นกับเพื่อน เราจึงจัดให้เขาอยู่กลุ่มกับพี่ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยได้ผลมากๆ เพราะนอกจากพี่ๆ จะเอาใจช่วยแล้ว ยังคอยพูดกระตุ้นให้น้องมีความมั่นใจในตนเองและเดินข้างๆ ไปเป็นเพื่อนระหว่างตักน้ำไปใส่ขวดอีกด้วย หลังจากนั้นเด็กคนนั้นกล้าที่จะเริ่มกระโดดและส่งเสียงเชียร์เพื่อนร่วมทีม


เมื่อครูให้สัญญาณหมดเวลาทุกกลุ่ม วางอุปกรณ์และนั่งประจำที่ จากนั้นให้ตัวแทนกลุ่มออกมาเทน้ำที่ตักได้ลงไปในโหลแก้วและครูทำหน้าที่ ขีดเส้นกำกับตำแหน่งบนสุดของน้ำในโหล (อาจจะให้เด็กๆ ออกมาช่วยขีดก็ได้นะ) และนี่คือกลุ่มบั้งไฟล้าน


ตามมาด้วยกลุ่มบั้งไฟพลุ ตัวแทนเทด้วยความมั่นใจ ฟึ้บบบบบบบบบบบ ตามมาด้วยเสียงของกลุ่มบั้งไฟแสน "วะๆฮะๆๆๆๆฮ้าาาาาา" "กรี๊ดดดดดดดดดดดดด"


และสุดท้ายกลุ่มบั้งไฟแสน ซึ่งกลุ่มแรกก็ลุ้นใหญ่เลยว่าจะเยอะกว่ากลุ่มตัวเองไหม เมื่อน้ำค่อยๆ สูงขึ้นจากตำแหน่งของตนเอง เด็กกลุ่มแรกพูดออกมาว่า "เวียร์เหมือนหล้า เวียร์ใกล้หล้าเหมือนกัน"


จากนั้นก็ช่วยกันเปรียบเทียบตำแหน่งของน้ำของทั้ง 3 กลุ่ม เรียงลำดับได้ดังนี้ กลุ่มบั้งไฟพลุ บั้งไฟแสน และบั้งไฟล้านตามลำดับ ซึ่งเด็กทุกกลุ่มก็ยินดีกับกลุ่มที่ได้ที่ 1 และยินดีกับกลุ่มตัวเองที่ช่วยเหลือกัน หลังจบเกมทุกคนคือ Happy แต่เราไม่ยอมจบ ก็เลยถามเด็กๆ ว่าทำไมกลุ่มบั้งไฟล้านถึงได้น้ำเยอะที่สุด เด็กก็บอกไม่รู้ เราก็เลยเอาภาชนะที่ใช้ตักน้ำของแต่ละกลุ่มมาให้เด็กดูและเปรียบเทียบ โดยการตักน้ำ 1 ตัก ใส่ลงในภาชนะของกลุ่มที่ได้ที่ 1 ปรากฎว่า น้ำไม่เต็มภาชนะทั้ง 2 กลุ่ม สรุปแล้วกลุ่มบั้งไฟพลุ ได้ภาชนะที่มีปริมาตรเยอะที่สุด


จะเห็นได้ว่า เกม 1 เกมส่งเสริมทักษะของเด็กได้มากว่าที่เราคิด ไม่ว่าจะเป็น Fine motor, Gross Motor, Teamwork, Fair work, rules of the game, Cognitive, Ef และอื่นๆ อีกมากมาย ที่สำคัญการที่เด็กเอาตนเองออกจากโลกส่วนตัว พร้อมที่จะเรียนรู้โลกแห่งส่วนรวม ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่จะหล่อหลอมให้เด็กรู้วิถีพลเมือง ภายใต้บรรยากาศที่เชื่อใจ


หลังจากกิจกรรมนี้จากเด็กที่เคยดูแต่เพื่อนเล่น ณ วันนี้เขาสามารถนำตัวเองไปเล่นกับเพื่อนได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากระยะเวลาที่ต้องใช้แล้ว กระบวนการที่จะนำเขาไปสู่เป้าหมายก็เป็นสิ่งสำคัญ


ท้ายที่สุดบรรยากาศที่ปลอดภัย จะช่วยส่งเสริมความเชื่อใจ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงความมั่นใจในตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นความมั่นใจต่อคุณครู เพื่อน โรงเรียน ผู้ปกครอง โดยเด็กจะมั่นใจว่า "ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะมีคนเคียงข้างเขาเสมอ ไม่ว่าผลของการกระทำจะเป็นเช่นไรก็มั่นใจได้ว่ามีคนคอยช่วยเหลือ หรือสนับสนุนอย่างแน่นอน ไม่ว่าเขาจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ยังคงมั่นใจได้ว่าจะมีคนที่รักเขาอยู่เสมอ" และความมั่นใจนี่เองที่จะพัฒนาให้เขากลายเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีและเกิดความไว้วางใจในผู้อื่น สอดคล้องกับมาสโลว์ที่กล่าวว่า ความเชื่อมั่นในตนเองนั้นสามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นได้เพราะคนทุกคนในสังคมมีความปรารถนาที่จะได้รับความสำเร็จ มีความภาคภูมิใจในตนเอง ต้องการให้คนอื่นยอมรับ นับถือในความสำเร็จของตนเอง ถ้าความต้องการนี้ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอจะทำให้บุคคลนั้นมีความเชื่อมั่นในตนเอง (สมจินตนา.2547:1, อ้างอิงจาก Maslow.1954-411)

คณิตศาสตร์วิทยาการคำนวณการงานอาชีพเกมและกิจกรรมอนุบาลทักษะการร่วมมือ

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insกระแต
คุณครูที่อยากเห็นทุกคนเติบโตไปเป็นความสุข

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!

ไอเดียน่าอ่านต่อ