inskru
gift-close

จิตวิทยาการศึกษาในฐานะที่นักเรียนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

2
2
ภาพประกอบไอเดีย จิตวิทยาการศึกษาในฐานะที่นักเรียนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

ทำความรู้จักกับ Positive psychology แนวคิดจิตวิทยาเชิงบวกที่ช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง :)


เชื่อได้เลยว่า ใครที่จบคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มา จะต้องเคยเห็นภาพการทดลองนี้ผ่านตามาก่อน แต่จะจำได้หรือไม่ได้นั้นอีกเรื่อง! (ฮา)

การทดลองนี้มักจะถูกบรรจุอยู่รายวิชา "จิตวิทยาการศึกษา (Educational psychology)" ที่พูดถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของสิ่งมีชีวิต โดยยกตัวอย่างการวางเงื่อนไขในสุนัข เริ่มต้นจากการสังเกตเห็นว่าสุนัขจะน้ำลายไหลเมื่อเห็นถาดอาหารวางอยู่ตรงหน้า ในทางกลับกัน สุนัขจะไม่ตอบสนองอะไรกับการสั่นกระดิ่ง (ก็แน่นอนแหละ สุนัขไม่ได้ชอบกินกระดิ่งนี่นา)

แต่เมื่อนำถาดอาหารมาวางไว้ข้างหน้าสุนัขพร้อมกับสั่นกระดิ่งไปพร้อม ๆ กัน ทำแบบนี้ซ้ำหลายแล้วซ้ำเล่า ก็จะพบว่าในครั้งถัด ๆ ไป เมื่อสั่นกระดิ่งเพียงอย่างเดียวสุนัขก็น้ำลายไหลแล้ว แม้ว่าจะไม่มีถาดอาหารวางอยู่ข้างหน้าก็ตามแต่ เนื่องจากสุนัขเกิดการเรียนรู้ว่า "เมื่อมีกระดิ่งก็ต้องมีอาหารสินะ!" การทดลองนี้ส่งให้ อีวาน พาฟลอฟ นักวิทยาศาสตร์ชาวรัสเซียคว้ารางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1904 อย่างงดงาม




หรืออีกการทดลองของ บี เอฟ สกินเนอร์ (B. F. Skinner) ในการทดลองที่ชื่อว่า "กล่องของสกินเนอร์ (Skinner box)" ที่ปล่อยให้นหนูแรท (Rat) ใช้ชีวิตอยู่ในกล่องที่ถูกออกแบบมาเป็นอย่างดี มีแป้นกดที่สามารถขยับได้ข้างในกล่อง ในช่วงแรก เมื่อหนูแรทเผลอไปเหยียบแป้นกด อาหารจะร่วงลงมาตามช่อง เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ซ้ำ ๆ เข้า หนูแรทจึงเกิดการเรียนรู้ว่าถ้าเมื่อใดที่หิว ก็จะรีบวิ่งมาเหยียบที่แป้นกดภายในกล่อง แและเมื่อสังเกตพฤติกรรมของหนูแรทเรื่อย ๆ ก็จะพบว่าหนูแรทเดินมาเหยียบที่แป้นกดถี่ขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ แสดงให้เห็นว่าหนูแรทเรียนรู้ที่จะเหยียบแป้นกดเพื่อหาอาหาร

แต่ในช่วงหลังของการทดลอง สกินเนอร์ได้เปลี่ยนผลจากการเหยียบแป้นกดจากอาหารให้กลายเป็นกระแสไฟฟ้าที่ไหลเวียนผ่านซี่เหล็กบริเวณพื้นของกล่อง ผลปรากฏว่าหนูแรทเลือกที่จะเหยียบแป้นกดน้อยลง และเมื่อเวลาผ่านไปก็จะไม่เหยียบแป้นกดอีกต่อไป เพราะทนต่อความเจ็บปวดจากการโดนกระแสไฟฟ้าช็อตไม่ไหว แสดงให้เห็นว่าหนูแรทหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้ตนเองเจ็บปวด

จากการทดลองชื่อดังทั้งสองที่บรรจุอยู่ในบทเรียนจิตวิทยาการศึกษา ทำให้คุณครูหลายท่านเชื่อมโยงว่า "เด็ก ๆ ก็คงเหมือนกับสุนัขหรือหนูแรทในการทดลองสินะ" เมื่อใดที่เราอยากให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ก็เพียงแค่ใส่เงื่อนไขบางอย่างลงในการสอน หรือสร้างบทลงโทษที่ชัดเจนเพื่อให้นักเรียนหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่คุณครูไม่ต้องการ เหมือนกับหนูที่โดนไฟฟ้าช็อตและไม่กล้าที่จะแสดงพฤติกรรมการกดแป้นกดอีกต่อไป

จิตวิทยาในแนวทางเดิม (Traditional psychology) และจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology)

แนวคิดจิตวิทยาดังกล่าวนั้น ในปัจจุบันจัดอยู่ในหมวดที่เรียกว่า "จิตวิทยาในแนวทางเดิม (Traditional psychology)" ที่ต้องการจะควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน แนวทางโดยส่วนมากของ Traditional psychology นั้นจะมุ่งเน้นไปที่การ "Focus on what's wrong" หรือการค้นหาพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และพยายามที่จะทำให้นักเรียนแสดงพฤติกรรมนั้นลดลงด้วยการลงโทษ (เช่นเดียวกับการใช้ไฟฟ้าช็อตหนูแรท) เช่น

  • ทำโทษนักเรียนด้วยการตี สำหรับคนที่ไม่ส่งการบ้าน
  • ต่อว่านักเรียนที่พูดคุยในห้องเรียนด้วยความรุนแรง
  • ประจานนักเรียนที่ลอกการบ้านเพื่อนหน้าชั้นเรียน


การกระทำดังกล่าวไม่แตกต่างอะไรกับการฝึกสัตว์เลี้ยงให้มีพฤติกรรมตามที่ตนเองต้องการ แต่หารู้ไม่ว่าแนวทางดังกล่าวเป็นเหมือน "เกมทุบตัวตุ่น" ที่ไล่ทุบสิ่งที่ผุดขึ้นมาด้วยความรุนแรง และไม่มีวันจบสิ้น นักเรียนจึงมีโอกาสเติบโตน้อยมากจากแนวทางนี้ และมีนักเรียนหลายคนเลือกที่จะหลบหนีบทลงโทษไปเรื่อย ๆ ด้วยความกดดัน

ในปัจจุบันนั้น มีแนวทางที่เรียกว่า "จิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology)" ที่มุ่งเน้นการค้นหา "จุดแข็ง (Character strenghts)" ของผู้เรียน แทนที่จะหาว่ามีพฤติกรรมใดที่ไม่พึงประสงค์บ้าง เปลี่ยนเป็นการมองว่ามีพฤติกรรมใดที่ควรส่งเสริม ทำให้จุดเด่นนั้นแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งอยู่ในฐานคิดแบบ "Focus on what's work" มีคุณสมบัติไหนที่ดีที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวนักเรียนบ้างนะ ส่งเสริมมันให้แข็งแรงขึ้นสิ! แล้วแนวปฏิบัติของจิตวิทยาเชิงบวกควรเป็นอย่างไรละ?

ทำความรู้จักกับ "PERMA Model"


โมเดลที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อย ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คือ "PERMA model" คิดค้นโดยนักจิตวิทยาเชิงบวก Martin Seligman ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือที่ชื่อว่า Flourish ในปี 2001 ในตัวย่อต่าง ๆ นั้นมีความหมายดังต่อไปนี้

  • P (Positive emotion) หมายถึง อารมณ์เชิงบวก เช่น ความสนุกสนาน ความรู้สึกขอบคุณซาบซึ้ง ความรู้สึกสงบ มีแรงบันดาลใจ มีความหวัง
  • E (Engagement) หมายถึง การรู้สึกมีส่วนร่วมในสิ่งที่ตนเองกำลังทำ เช่น นักเรียนได้มีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
  • R (Relationships) หมายถึง ความสัมพันธ์ที่ดีภายในห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นระหว่างนักเรียนกับคุณครู หรือนักเรียนกับเพื่อนร่วมห้อง
  • M (Meaning) หมายถึง การรับรู้ความหมายในสิ่งที่ตัวเองทำ เช่น เราเรียนเรื่องนี้ไปทำไม เหตุใดเราจึงต้องปรับพฤติกรรมของตนเอง
  • A (Achievement) หมายถึง การประสบความสำเร็จในเป้าหมายที่วางไว้ หรือสามารถปรับพฤติกรรมของตนเองได้สำเร็จ


แนวทางนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวทางที่สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียนไปพร้อม ๆ กับบรรยากาศแห่งความสุขภายในห้องเรียน

จากภาพจะเห็นว่าเมื่อนักเรียนแสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ คุณครูมีทางเลือกในการตอบสนองต่อพฤติกรรมเหล่านั้นเสมอ แทนที่จะมองหาข้อผิดพลาดเพื่อลงโทษ กดทับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ให้จางหายไป ปรับเปลี่ยนมาโฟกัสกับสิ่งที่นักเรียนสามารถพัฒนาได้ เช่น เมื่อนักเรียนนำงานของเพื่อนมาส่งครู แทนที่จะตำหนินักเรียนกลางห้องเรียนให้หลาบจำ เปลี่ยนมาใช้การพูดคุยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและเสริมอุปนิสัย "ความซื่อสัตย์ (Honestly)" ของนักเรียนให้แข็งแกร่งขึ้น

จะสังเกตได้ว่าแนวทางดังกล่าวนั้น อยู่บนพื้นฐานของ PERMA model ไม่ว่าจะเป็น อารมณ์เชิงบวกที่เกิดขึ้น การมีส่วนร่วมในการเติบโตของตนเอง ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและนักเรียน การเติบโตที่มีความหมายของนักเรียน และความภาคภูมิใจเมื่อสามารถพัฒนาตนเองได้

ตกลงแล้ว นักเรียนของเราอยู่ในฐานะอะไรกันแน่นะ?

จากตัวอย่างดังกล่าว เราจึงอยากชวนคุณครูกลับมาทบทวนมุมมองด้านการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียนอีกครั้ง คุณครูอยากเห็นห้องเรียนแบบไหนกันนะ และคุณครูกำลังมองนักเรียนเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างสัตว์เลี้ยงที่ต้องปรับพฤติกรรมด้วยการลงโทษอย่างเข้มงวด หรือมนุษย์คนนึงที่ต้องการเติบโตและเรียนรู้ด้วยความสุข ไม่แน่ว่ามุมมองที่เปลี่ยนแปลง อาจจะส่งผลให้บรรยากาศในห้องเรียนของคุณครูไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปก็ได้นะ!

เรียบเรียงเนื้อหาจาก

psychologicalscience.org/observer/revisiting-pavlovian-conditioning

facebook.com/positivepsychologycourses/photos/where-does-positive-psychology-fit-within-the-field-well-lets-consider-a-continu/2603569206527336

youtube.com/watch?v=CMUktTFu5vI

learninghubthailand.com/the-perma-model

lifeeducation.in.th/life-education-positive-education

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

2
ได้แรงบันดาลใจ
2
ลงไอเดียอีกน้า~
avatar-frame
แบ่งปันโดย
insinsKru
insKru Official Account เราจะคอยผลักดันและเชิญชวนคุณครูมาร่วมสร้างสรรค์ไอเดียการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ