icon
giftClose
profile

“ประวัติศาสตร์คืออะไร?”

19921
ภาพประกอบไอเดีย “ประวัติศาสตร์คืออะไร?”

เริ่มต้นคาบแรกทบทวนความหมายและทักษะจำเป็นในการศึกษาประวัติศาสตร์

“ประวัติศาสตร์คืออะไร?”

“จะศึกษาประวัติศาสตร์ได้ดีต้องมีทักษะอะไรบ้าง?”

ในคาบแรกวิชาประวัติศาสตร์ ม.3 หลังจากที่แนะนำรายวิชา ให้เห็นหน่วยการเรียน ตัวชี้วัด เพื่อให้เห็นว่านักเรียนต้องทำอะไรได้ พูดคุยถึงนโยบายและแนวทางการสอนของวิชานี้ไปแล้ว

ผมชวนนักเรียนชั้นม.3 พูดคุยกันในตอนท้ายด้วยคำถามง่ายๆ


“ประวัติศาสตร์คืออะไร?”


ผมแจกกระดาษโน๊ตเล็กๆให้ทุกคนไว้เขียนทดความคิดตัวเองไว้

บอกให้ลองหลับตา แล้วเมื่อพูดคำว่า “ประวัติศาสตร์” มีอะไรแว้บเข้ามาให้หัวเราบ้าง?

และให้ลองนิยามความหมายคำว่า “ประวัติศาสตร์” ของตัวเองลงไปในกระดาษ ในเวลาสั้นๆ 2 นาที

จากนั้น ให้ทุกคนหยุดเขียน และให้เวลาอีกครึ่งนาที คุยกับเพื่อนอีกคน ว่าได้ความหมาย เหมือน หรือต่างกันอย่างไร แล้วจึงสรุปคำตอบที่เป็นของทั้งคู่ไว้ พร้อมแชร์กับเพื่อนในห้อง เป็นการ Think-Pair-Share

ผมตกลงกับนักเรียนก่อนว่า จะต้องฟังคำตอบของเพื่อนโต๊ะอื่นด้วยว่าเหมือนหรือต่างจากเราไหม

และเมื่อไปที่โต๊ะไหนโต๊ะนั้นต้องตอบทันที


“เรื่องราวในอดีตค่ะ”

“ความเป็นมาในอดีตที่ถูกบันทึกไว้ครับ”

“เหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้น”

“ความทรงจำครับ”

“อดีตและการเปลี่ยนแปลงค่ะ”

ทุกครั้งผมจะทวนซ้ำ หรือจับใจความที่นักเรียนตอบให้เพื่อนในห้องฟัง

หากเริ่มมีเสียงรบกวน ผมก็จะหยุด เบรกคนกำลังจะตอบให้รอเพื่อพร้อมก่อน เสี้ยววินาที ในห้องก็รู้ตัวและกลับมาตั้งใจฟังเพื่อน

บางครั้งผมก็จะช่วยขยี้บางคำตอบ

“อันนี้น่าสนใจ! ทดไว้คุยกัน”

“อ้าว! แล้วถ้าไม่มีบันทึกไว้ จะเรียกว่าประวัติศาสตร์ไหม?”

“บุคคลสำคัญเหรอ? แล้วใครเป็นคนกำหนด หรือบอกว่าสำคัญ? แล้วตัวเราล่ะ เรื่องของเราสำคัญมั้ย?”

เด็กบอกโอ้ย หัวจะปวด!

สุดท้ายผมชวนโต๊ะที่ยังไม่ได้ตอบ ลองแชร์คำตอบที่ต่างออกไปจากเพื่อน ปรากฎว่าหลายห้องมากที่นักเรียนทุกคนก็อยากนำเสนอสิ่งที่เขาคิดมาแล้วอย่างแข็งขัน

ผมชวนคุยผ่านความหมายของประวัติศาสตร์ที่นำเสนอโดยอาจารย์ธงชัย วินิจกุล ในประวัติศาสตร์นอกตำรา ว่าในความรับรู้คนส่วนใหญ่ทั่วไปก็จะมองว่าประวัติศาสตร์เป็น “อดีตและการเปลี่ยนแปลง” รวมไปถึง “ความรู้เกี่ยวกับอดีตและการเปลี่ยนแปลงนั้น”

“มีอะไรในโลกนี้บ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย”

“การศึกษาไทยค่ะ” คำตอบนี้ทำผมกลั้นขำไม่อยู่

“คุณมั่นใจจริงๆใช่ไหมว่ามันไม่เปลี่ยน มันไม่ดีขึ้นหรือไม่ได้เป็นอย่างที่ควรเป็น ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เปลี่ยนป่ะ สิบปีที่แล้วเด็กม.3 รุ่นนั้นก็ไม่ได้ใช้ Google Classroom ใช่ไหม?”

“ทุกอย่างเปลี่ยนหมดแหละ ใจคนเรายังเปลี่ยนไปเลย” พูดจบ ตามมาด้วยเสียงโห่เบาๆ ดึงดราม่าเฉย

โอเคล่ะ แต่ถ้าเราตั้งคำถามไปไกลมากกว่านั้นเราจะเห็นว่าประวัติศาสตร์กำลังทำอะไรกับเราอยู่

“เวลาพูดถึงพม่าคุณคิดยังไง?” ผมถาม

“เป็นศัตรูครับ มาเผากรุง”

“เป็นเพื่อนบ้านค่ะ”

“เห็นด้วยค่ะ”

“ทำไมคุณคิดแบบนั้นล่ะ?”


มันน่าสนใจว่าส่วนใหญ่นักเรียนไม่อินเรื่องการเป็นศัตรูกันแล้ว อาจเป็นเพราะการรับรู้ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป ยิ่งสอนมาหลายปียิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักเรียนในทุกๆรุ่น แต่อย่างไรก็ตามมันก็ยังคงมีอคติทางเชื้อชาติ มีความรู้สึกเป็นอื่นแฝงอยู่ในสังคม หรือการที่บางประเทศเลือกประกาศสงคราม เลือกทำพิธีกรรม ประเพณีต่างๆ หรือการเลือกให้ความสำคัญกับอะไรในสังคม มันล้วนเกิดจาก “อุดมการณ์ทางประวัติศาสตร์” ที่ส่งผลต่อสังคม มันทำให้เราคิด เราชื่อตามประวัติศาสตร์ที่เรารับรู้ และก็ส่งผลต่อยังการการกระทำ การตัดสินใจ


“ถ้าคืนนี้ฝนตก คุณว่าพรุ่งนี้เช้าจะเกิดอะไรขึ้น?”

“น้ำท่วม”

“รถติดค่ะ”

“คุณรู้ได้ยังไง?”

“ก็มันเป็นงี้ทุกที”

นั่นแหละ การเรียนประวัติศาสตร์ก็เหมือนกัน หากเราศึกษามากพอเราจะเป็น pattern บางอย่าง


ถ้ามันมีปัจจัยแบบนี้ มันก็จะมีแนวโน้มเกิดแบบนี้ตามมา หรือปัจจัยมันไม่เหมือนเดิมแล้ว มันกจะเปลี่ยนแปลงไป ไม่มากก็น้อย นี่คือ “ความเข้าใจต่อทิศทางของสังคมในระยะยาว”

สิ่งเหล่านี้มันคือการเป็น “ความทรงจำร่วม (Collective Memory) ของคนในสังคม

เราก็ต้องมองให้เห็นว่า สังคมที่เราอยู่นี้ มีใครอยู่บ้าง มีใครที่เราลืมนับรวมไป


“เอ้า! คุยกันเรื่องประวัติศาสตร์กันแล้ว

ลองคิดไวๆ ลองตอบหน่อย คุยกันมาทั้งหมดเนี่ย ถ้าคุณจะเรียนประวัติศาสตร์ได้ดี หรือจะคิดอย่างนักประวัติศาสตร์ คุณต้องมีทักษะอะไร หรือเป็นคนยังไงกัน?” ผมถามตอนเสียงกริ่งเริ่มใกล้เข้ามา

“ช่างสังเกตค่ะ”

“ช่างสงสัยครับ”

“สนใจใฝ่รู้ อยากรู้อยากเห็น”

“มีทักษะการตั้งคำถาม”

“ทักษะการอ่าน”

“คิดวิเคราะห์ครับ”

“เชื่อมโยงเก่ง”

“ต้องเป็นคนขี้เสือก!” (อันนี้ชอบ)

“เอ้อ! ใช่! พูดมาใช่หมดเลย


คุณลองประเมินตัวเองนะ ว่าแต่ละอย่างคุณอยู่ในระดับไหน

และวิชานี้จะต้องช่วยให้คุณมีสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งเหล่านี้ มากขึ้น

คิดซะว่าเป็นการเดินทาง แล้วเราจะไปด้วยกัน”

ผมฝากให้นักเรียนเขียนสะท้อนคิดว่าคาบนี้ ได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

ทำไมการเรียนประวัติศาสตร์จึงสำคัญ? และทักษะและกระบวนการทางประวัติศาสตร์จำเป็นกับชีวิตเราอย่างไร?


#ห้องเรียนครูทิว

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(4)
เก็บไว้อ่าน
(5)