inskru
gift-close

เรื่องเล่าของคุณ “จริง” กี่เปอร์เซ็น?

0
0
ภาพประกอบไอเดีย เรื่องเล่าของคุณ “จริง” กี่เปอร์เซ็น?

ประวัติศาสตร์นิพนธ์ และการประเมินหลักฐานทางประวัติศาสตร์

เรื่องเล่าของคุณ “จริง” กี่เปอร์เซ็น?

อุ่นเครื่องเบื้องต้นก่อนการวิพากษ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์


หลังจากสัปดาห์แรกเราได้พูดคุยกันถึงความหมายของประวัติศาสตร์กันไปแล้ว

วันนี้จะชวนทุกคนมาคุยถึงประวัติศาสตร์ในฐานะ “ความทรงจำ”

ความทรงจำที่เป็นประสบการณ์ สิ่งที่เราได้เห็น ได้เจอ ได้รู้สึก

ผมอยากให้นักเรียนเข้าใจธรรมชาติของเรื่องเล่าจากการรับรู้และความทรงจำของผู้คน

โดยได้แรงบันดาลใจจากกิจกรรมของครูภาคิน

ผมได้ทำสลากหัวข้อ “เรื่องเล่าของฉัน” โดยมีหัวข้อทั่วๆไป ที่นักเรียนสามารถเล่าจากประสบการณ์ หรือมุมมองของตนเองได้ เช่น ครอบครัวของฉัน เพื่อนของฉัน คนที่ฉันรัก คนที่ฉันเกลียด สถานที่โปรด เหตุการณ์สำคัญในชีวิต และอื่นๆอีก รวมสิบกว่าหัวข้อ ให้นักเรียนหยิบหัวข้อ และเขียนลงในกระดาษ เหมือนกับกระดาษใบนั้นเป็นเพื่อนสนิทที่เล่าเล่าเรื่องให้ฟัง โดยให้เวลาสิบนาที และหัวข้อที่ได้จะต้องเป็นความลับ

บรรยากาศของทุกห้องขณะทำกิจกรรม เงียบกริบ เงียบจนได้ยินเสียงขีดเขียนอยู่ตลอดเวลา ทุกคนตั้งใจเขียนเหมือนว่าการเขียนเล่าเรื่องครั้งนี้เป็นการสอบ


ผมเปิดเพลงเบาๆ เพื่อให้บรรยากาศห้องไม่เงียบจนเกินไป โดยเปิดเพลง “ความคิด” และ “Memories”

เมื่อครบสิบนาที นักเรียนเขียนเสร็จ


ผมให้นักเรียนจับคู่

และถามว่า “จากเรื่องที่เขียน มีใครไม่สะดวกใจที่จะเล่าให้เพื่อนฟังไหม? หรือเล่าเท่าที่เล่าได้ เล่าที่สบายใจจะเปิดเผยนะ”

มีอยู่หนึ่งห้องที่ยกมือกันเกือบทั้งห้อง จึงข้ามส่วนนี้ไป นักเรียนพูดขึ้นมาจากหลังห้องว่า “ครูดีมากอ่ะ ถ้าพวกหนูไม่สบายใจครูก็ไม่บังคับ” ผมจึงบอกว่าถ้าไม่ใช่สาระสำคัญมากก็ข้ามไปได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจำเป็น ก็ต้องคุยกันว่าจำเป็นยังไง และแค่ไหนที่พวกคุณโอเค

ผมให้นักเรียนผลัดกันเล่าเรื่อง โดยคนฟังจะต้องตั้งใจฟัง ไม่ขัดจังหวะ ไม่ถาม ไม่แสดงความคิดเห็น จนกว่าเพื่อนจะพูดจบ หรือหมดเวลา

ผมคอยสังเกตสีหน้าแววตา เป็นสามนาทีที่บรรยากาศดีมากๆ หลายคนเล่าเรื่องอย่างออกรส หลายคนนั่งฟังอย่างตั้งใจ แววตาเป็นประกายจากหลายๆคู่ หรือแม้กระทั้งบางคนอยู่ๆก็ร้องไห้ออกมา และเพื่อนก็ร้องไห้ด้วย

“ขอบคุณมากเลยนะครับ พวกเราดูตั้งใจกับเรื่องเล่าของทุกคนมาก”

“เราเป็นมนุษย์ที่มีอารมณ์ มีความรู้สึกอยู่ ถ้าไม่โอเคก็หยุด ถ้ารู้สึกว่าปล่อยออกมาแล้วสบายใจก็ไม่ต้องเก็บไว้ คุณมีเพื่อนที่รับฟังและเข้าใจอยู่นะ” ผมส่งสายตายไปหานักเรียนหลายคน ที่อาจจะทริกเกอร์กับเรื่องที่ตัวเองเล่าให้เพื่อนฟัง แต่แววตาทุกคนบอกว่า นี่มันทำให้รู้สึกดีมากๆ ที่ได้พูดออกมา

“ใครบอกได้บ้างว่าเพื่อนเล่าเรื่องอะไร?” ผมถาม หลายคนยกมือ และบอกว่าเขาได้ฟังเรื่องอะไรจากเพื่อน

“ผมมีอะไรจะบอก ในบรรดาหัวข้อที่คุณได้ไป มีคนที่ได้หัวข้อ ‘พิเศษ’” ผมพูดพลางทำหน้าชวนสงสัย

“มีบางคนเขียนเรื่องโกหกทั้งหมด ใครจับไ้ด้บ้างว่า เรื่องที่เพื่อนเล่า ไม่จริง

ห้องเรียนส่วนใหญ่ มีนักเรียนจับได้ว่าเพื่อนโกหก แต่ก็มีบางห้องที่ไม่มีใครรู้เลย เพราะแนบเนียนมาก

“คุณรู้ได้ไงว่าเพื่อนพูดไม่จริง” ผมถามนักเรียนที่บอกว่าเพื่อนโกหก

“โธ่ ครู ใครมันจะไปขี่ไดโนเสาร์มาโรงเรียน” นักเรียนตอบ พร้อมเสียงหัวเราะครืนกันทั้งห้อง

“มันบอกมันมีแฟนสิบคน มันยังบ่นกับหนูอยู่เลยว่าไม่มีคนคุย” เด็กหญิงแซวเพื่อนสนิทของเธอ

“แสดงว่ามันขัดกับการรับรู้เดิม หรือข้อมูลที่เรามีอยู่ใช่ไหม? แล้วอันไหนน่าเชื่อถือล่ะ?”

“ตอนนี้อยากให้วางเรื่องของเพื่อนไว้ก่อน กลับมาทบทวนเรื่องที่ตัวเองเขียน เรื่องที่ตัวเองเล่าให้เพื่อนฟังนะครับ

จาก 100% ของความจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเรื่องที่คุณเล่า

บางทีคุณเล่าไม่หมด หรือเสริมเติมแต่งเข้าไป ลองประเมินหน่อย เรื่องของคุณมีความจริงกี่เปอร์เซ็น?”

นักเรียนต่างเขียนตัวเลขลงในกระดาษเรื่องเล่าของตนเอง และผมก็ไล่ถามเป็นช่วงเปอร์เซ็น ปรากฎว่าก็มีบางคนให้ร้อย แต่ส่วนใหญ่ ไม่ถึงเก้าสิบ จนไปถึงไม่จริงเลย

“ทำไมเรื่องเล่าของเราแท้ๆ เรายังบอกว่ามันเชื่อไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ล่ะ?”

“เล่าไม่หมดครับ”

“มีเติมไปนิดหน่อย อรรถรส”

.

“เออ นั่นสิ ทำไมเราเล่าไม่หมดล่ะ แล้วทำไมต้องเติมด้วย” ผมถามเสริม

.

“บางอย่างก็ไม่อยากเล่าค่ะ อาจจะดูไม่ดี เลยเล่าแค่บางส่วน”

“บางเรื่องก็จำรายละเอียดไม่ได้ค่ะ มันนานมาแล้ว”

“เติมเรื่องไปให้น่าสนใจครับ”

“อคติด้วยครับ บางคนก็เขียนถึงคนที่ชอบที่เกลียด ก็ไม่รู้ว่าจริงๆเป็นยังไง อาจเป็นแค่ความรู้สึกเขาก็ได้”

เข้าเป้ามากหลายคำตอบน่าสนใจทีเดียว ผมชวนขยายเรื่องความทรงจำว่านอกจากจำไม่ได้แล้ว อาจจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า “Fault Memory” ด้วยก็ได้

“เอาล่ะ สมมติว่าผมอยากรู้จักคุณ ผมอ่านจากเรื่องที่คุณเขียนมาเนี่ย ได้มั้ย?

ถ้าตัวตนคุณทั้ง 100% คุณว่าเรื่องเล่านี้บอกได้กี่เปอร์เซ็น?”

นักเรียนจรดปากกาเขียนตัวเลขอีกครั้ง น้อยมากที่ให้เปอร์เซ็นเยอะ

“เอ้อ ทำไมมันไม่สามารถเล่าตัวตนคุณได้หมดล่ะ?”

“มันแค่เรื่องๆเดียว มุมๆเดียวเองอ่ะ’จารย์ คนเรามีอีกตั้งหลายมุมให้รู้จัก”

“งั้นถ้าผมอยากรู้จักพวกคุณ นอกจากอ่านเรื่องเล่าของคุณที่เขียนมา มีวิธีไหนได้อีกบ้าง?” ผมถาม

“ครูก็มาคุยกับผมเลย”

“ครูตามติดชีวิตผมก็ได้นะ”

“ครูถามเพื่อนหนูก็ได้ ว่าหนูเป็นยังไง”

“ครูไปส่องเฟส ส่องไอจีสิ” (ประเด็นนี้ชอบมาก สำหรับบางห้องเลยชวนขยายเรื่อง Digital Footprint ไปด้วย)


“เอาล่ะ มาถึงตรงนี้หลายคนเริ่มงงแล้วว่า ที่ทำมาตั้งแต่ต้นคาบ เกี่ยว___อะไรกับวิชาประวัติศาสตร์?”

“ใครพอบอกได้บ้างว่า สิ่งที่ต้องการให้คุณเก็ทจากคาบนี้คืออะไร?”

“ความน่าเชื่อถือของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ค่ะ” มีนักเรียนบางห้องที่ตอบขึ้นมาทันที

“ใช่มั้ย เรื่องของเราก็เหมือนประวัติศาสตร์ที่เราอ่าน มันก็เป็นเรื่องเล่า (Narrative) ของอดีตและความเปลี่ยนแปลง

คุณคิดว่า เราสามารถที่จะศึกษาข้อมูลแหล่งเดียว หลักฐานชิ้นเดียว แล้วสร้างข้อสรุป หรือตัดสินได้เลยมั้ยครับ?

และเวลาเราศึกษา เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ใช่ไหม ว่าเรื่องนี้ถูกเล่าผ่านมุมมองแบบไหน มีอคติหรือไม่ ใครได้ประโยชน์จากเรื่องเล่านี้

มันเป็นธรรมชาติของเรื่องเล่า คุณเขียนเองคุณยังบอกว่ามันไม่ร้อยเลย แล้วคุณเอาอะไรกับเรื่องเล่าของคนอื่น"


ผมทิ้งท้ายก่อนจบคาบว่า

“มีอาจารย์ประวัติศาสตร์ท่านหนึ่ง เคยกล่าวไว้ว่า

‘หากคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็ตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์เพียงด้านเดียวโดยไม่มีข้อกังขา คุณตาบอดสองข้าง’

วันนี้สวัสดีครับ”

#ห้องเรียนครูทิว


แรงบันดาลใจจาก Pakin Nimmannorrawong โรงเรียนกำเนิดวิทย์

ไอเดียนี้เป็นไงบ้าง?

0
ได้แรงบันดาลใจ
0
ลงไอเดียอีกน้า~
แบ่งปันโดย
ครูทิว
ครูสอนสังคมศึกษาและนักกิจกรรมที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า มีเสรีภาพ ความเสมอภาค และเป็นประชาธิปไตย มุ่งมั่นใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม วิชาสังคมศึกษาเป็นหลักสำคัญในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) ให้มีความเข้าใจสังคม สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่น และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

อยากร่วมแลกเปลี่ยน?

please login

แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru

เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย

icon-please-commentมาเป็นคนแรกที่แลกเปลี่ยนสิ!
credit idea

ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!

ไอเดียน่าอ่านต่อ