icon
giftClose
profile
frame

ชวนเด็ก ๆ มาฝึกฝนการ "ควบคุมใจ" กันเถอะ!

87121
ภาพประกอบไอเดีย ชวนเด็ก ๆ มาฝึกฝนการ "ควบคุมใจ" กันเถอะ!

ชวนเด็ก ๆ มาฝึกฝนการ “ควบคุมใจ” รับมือยังไง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับอารมณ์ทางลบ คุยกับ คุณนีท-เบญจรัตน์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น


สวัสดีค่ะ คุณครูทุกคน

วันนี้ นีทอยากจะชวนคุณครูทุกคนมา สุ่มเปิดโหล “พฤติกรรมของเด็ก ๆ” กัน หากทุกคนพร้อมกันแล้ว มาเราสุ่มเปิดโหลพฤติกรรม ที่เราจะใช้พูดคุยกันในวันนี้เลยนะคะ

สามมมม สองงงง หนึ่ง!

พฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่คุณครูจะต้องเจอในวันนี้คือ!

นักเรียนคนที่ 1

“ผมกังวลมาก ๆ เลยครับ ที่จะต้องพูดภาษาอังกฤษหน้าห้อง เพราะผมสำเนียงการพูดของผมไม่ค่อยดีนัก และผมก็ไม่ค่อยถนัดเรื่องการพูด เฮ้อ คงทำออกมาไม่ดีแน่ ๆ ไม่อยากออกไปพูดเลยครับ”

นักเรียนคนที่ 2

“หนูรำคาญเพื่อนคนหนึ่งมากเลยค่ะครู ไม่รู้จะเดินตามหนูทำไมนักหนา คือหนูไปเข้าห้องน้ำก็เดินตามมา รำคาญจนอยากจะด่า เอ่อ แต่เอาจริงหนูก็ด่าไปแล้วค่ะ”

นักเรียนคนที่ 3

“หนูอยากสมัครแข่งขันร้องเพลงมาก ๆ เลยค่ะ แต่ไม่กล้าสมัคร เพราะคิดว่าตัวเองน่าจะทำได้ไม่ดีพอ และก็กลัวแพ้ เอ่อ ถ้าแข่งแล้วแพ้ขึ้นมา คืออายนะคะ ไม่เอาดีกว่าค่ะ ”

และนี่คือพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เราจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้นะคะ โดยนีทอยากจะให้คุณครูมาช่วยนีทคิดค่ะ ว่า พฤติกรรมทั้ง 3 อย่างนี้ มีอะไรที่คล้ายกันไหมนะ? เช่น เป็นเพศเดียวกัน? เป็นปัญหาด้านการเรียน? หรือเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่พบเจอบ่อย ๆ ?

เฉลยยยย! จุดร่วมกันของปัญหาเหล่านี้คือ “อารมณ์ทางลบ” ค่ะ

เด็กคนที่ 1 มีความรู้สึก “กังวล” เด็กคนที่ 2 มีอารมณ์ “โกรธ” และเด็กคนที่ 3 มีอารมณ์ “กลัว” แต่การที่เด็กนักเรียนมีอารมณ์ทางลบเป็นเรื่องปกตินะคะ เพียงแต่เราอาจจะต้องคอยช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้พวกเขาสามารถดูแลและรับมือ “อารมณ์ทางลบ” ให้เหมาะสมค่ะ


อารมณ์ทางลบส่งผลกับเด็ก ๆ อย่างไรบ้าง?

โดยเราลองมาคาดการณ์กันนะคะว่า หากเด็ก ๆ ไม่สามารถดูแลและรับมืออารมณ์ทางลบได้อย่างเหมาะสม จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยขออนุญาตยกมาจากตัวอย่างด้านบนนะคะ

นักเรียนคนที่ 1 “การเผชิญหน้ากับความรู้สึกกังวล”

หากเด็กไม่สามารถรับมือกับความกังวลได้ อาจจะทำให้เกิดความเครียด พูดนำเสนอหน้าชั้นเรียนได้ไม่ดี รู้สึกแย่กับตนเอง หรือถ้าเครียดมาก ๆ อาจจะส่งผลให้เป็นโรคกระเพาะเลยก็ได้

นักเรียนคนที่ 2 “การเผชิญหน้ากับความรู้สึกโกรธ”

หากเด็กไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกโกรธได้ ไม่ต้องคาดเดาสิ่งที่จะเกิดตามมาเลย เพราะเขาทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมไปแล้ว นั่นคือการด่าเพื่อนด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง

นักเรียนคนที่ 3 “การเผชิญหน้ากับความรู้สึกกลัว”

หากเด็กไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกกลัวได้ นักเรียนอาจจะไม่ลงประกวด ซึ่งจะทำให้เขาพลาดโอกาสและประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ควรจะได้รับ

เหตุการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมา ถ้าจะมีคำในจิตวิทยาที่ตรงกับเรื่องนี้มากที่สุด คงจะเป็นคำว่า “Negative-Emotion Regulation” หมายถึง การที่คนเรานั้นสามารถกำกับดูแลอารมณ์ทางลบของตนเองได้ ซึ่งถือว่าเป็นความสามารถที่สำคัญของ “ทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills)” ของเด็ก ๆ เลยละ

ในงานวิจัยของ Valdivia, Primi, John, Santos, และ De Fruyt (2021) ได้ทำการศึกษาเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคม และพวกเขาได้กล่าวไว้ว่า การกำกับและดูแลอารมณ์ทางลบนั้นพวกเขามองนั้นมีด้วยกันอยู่ทั้งหมด 3 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. การจัดการเรื่องความเครียด (Stress modulation) คือ การที่คนเราสามารถเข้าใจได้ว่าเครียดของเรานั้น เกิดมาจากอะไร และหาวิธีการรับมือกับความเครียดของตนเอง
  2. ความมั่นใจในตนเอง (Self-confidence) คือ การที่เราพึงพอใจในตนเอง มองเห็นสิ่งดี ๆ ในตนเอง และสามารถมองเห็นหรือคาดหวังสิ่งที่ดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง
  3. การควบคุมอารมณ์ทางลบ (Frustration tolerance) เช่น การควบคุมความโกรธ ความไม่พอใจของตนเองได้

แต่ว่า เราจะทำอย่างไรให้นักเรียนกำกับและดูแลอารมณ์ทางลบของตัวเองได้กันนะ?


แนะนำกิจกรรม "ควบคุมใจ" เพื่อฝึกฝนการรับมือกับอารมณ์ทางลบของเด็ก ๆ

นีทเชื่อว่าทักษะในเรื่องของการกำกับอารมณ์ทางลบนั้น เป็นเรื่องที่เราต้องชวนเด็ก ๆ ฝึกฝน โดยนีทมี 2 เครื่องมือดี ๆ ที่จะมาแนะนำค่ะ

กิจกรรมที่ 1 นิ้วมือสำรวจใจ

เด็กทุกคนเข้าใจว่าหากเรากำกับอารมณ์ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่เวลาที่เราอยู่หน้างาน หรือกำลังเกิดอารมณ์ทางลบอยู่ เราอาจจะควบคุมมันไม่ได้ และเผลอทำอะไรบางอย่างที่ไม่ดีลงไป ดังนั้น ในช่วงที่ทุกคนกำลังเกิดอารมณ์ทางลบ ไม่ว่าจะเป็น กลัว เศร้า โกรธ หงุดหงิด ผิดหวัง อยากให้ทุกคนลองทำแบบนี้ดูนะคะ

  1. ยกมือขึ้นมา แล้วระบุอารมณ์ทางลบที่ตนเองมีอยู่ว่า มันมาก-น้อยแค่ไหน ผ่านนิ้วมือ เช่น โกรธหนักมาก ก็อาจจะกางนิ้วทั้ง 10 นิ้ว หากกลัวไม่มาก ก็อาจะชูนิ้วขึ้นมาสัก 5 นิ้ว
  2. ลองคิดดูว่า ฉันจะลดนิ้วมือ (ระดับอารมณ์) ได้อย่างไรบ้าง โดยมีกฎที่ว่า “สิ่งที่เราจะทำนั้น ต้องไม่ทำให้ตนเองและคนอื่นรู้สึกแย่หรือเดือดร้อนทีหลัง”

ตัวอย่างสำหรับเด็กที่เผชิญหน้ากับความรู้สึกโกรธที่เพื่อนชอบเดินตาม

"ฉันโกรธเพื่อน ระดับ 10 นิ้ว และฉันเชื่อว่า ถ้าได้ด่าเพื่อนความโกรธน่าจะเหลือสัก 7 เพราะได้ระบายแล้ว แต่เราทำไม่ได้นะ เพราะตามกฎ สิ่งที่ต้องทำคือ 'ห้ามทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน' การด่าเพื่อนจะทำให้เพื่อนเดือดร้อนแน่เลย งั้นเลือกใหม่ อาจจะเดินออกไปก่อน (หลบหน้าเพื่อนสักนิด จะไม่ได้ไม่เผลอด่า) หรืออาจจะบอกกับตนเองว่า 'เออ ช่างมันเถอะ อย่าไปสนใจเลย ไปทำอย่างอื่นดีกว่า'"

หรือจะเป็นอีกเหตุการณ์สำหรับเด็กที่เผชิญหน้ากับความรู้สึกกลัวในการลงแข่งขัน

"ฉันกลัวการลงประกวด ซึ่งความกลัวนั้นอยู่ในระดับที่ 7 เพราะกลัวว่าจะทำได้ไม่ดี วิธีการลดความกลัวนี้ คือ ไม่ไปสมัครซะเลย! แต่ว่า ฉันต้องเสียใจภายหลังแน่ ๆ งั้นเอางี้ สมัครไปก่อน แล้วไปหาทางรับมือให้ เราทำให้ได้ ลุยยยยย!

ซึ่งเครื่องมือนี้ จะเป็นเสมือนตัวช่วยดึงสติของเด็ก ๆ ในเวลาที่เด็ก ๆ นั้นมีอารมณ์ทางลบ ให้พวกเขารู้เท่าทันตนเอง และคิดวิเคราะห์ พร้อมเลือกพฤติกรรมก่อนทำ เพื่อให้เราเลือกพฤติกรรมที่ดีที่สุดในเหตุการณ์นั้น ๆ

กิจกรรมที่ 2 วงล้อพฤติกรรม

เครื่องมือนี้ เป็นเครื่องมือช่วยฝึกทักษะการกำกับอารมณ์ของเด็กๆ โดยเราจะมีอุปกรณ์ดังนี้

  1. กระดาษแข็งรูปวงกลม โดยแบ่งให้กระดาษแข็งวงกลมนั้นมี 8 ช่องที่เท่า ๆ กัน
  2. ลูกเต๋า 1 ลูก

โดยในเรื่องของอุปกรณ์ อาจจะใช้จากแอปฟรีออนไลน์ก็ได้นะคะ

วิธีการเล่น

  1. ให้เด็ก ๆ ช่วยกันคิดเรื่องราวที่จะเกิดอารมณ์ทางลบ เช่น ขอ 2 เรื่องที่ทำให้กลัวหรือไม่มั่นใจ, ขอ 2 เรื่องที่ทำให้โกรธ, ขอ 2 เรื่องที่ทำให้เศร้า, ขอ 2 เรื่องที่ทำให้… โดยในตอนที่เด็ก ๆ ตอบ เราก็จะเอาคำตอบเหล่านั้นไปเขียนที่วงล้อให้ครบ 8 ช่อง ซึ่งมันก็คือคำถามที่เราจะเอาไว้ใช้เล่นเกมนั่นเอง โดยสาเหตุที่เลือกให้เด็ก ๆ เป็นผู้กำหนดคำถาม เพราะเรื่องราวที่เด็ก ๆ ตอบมานั้น เป็นเหตุการณ์จริง ๆ ของพวกเขา ซึ่งน่าจะทำให้พวกเขาอิน และฝึกทักษะได้ดีและตรงจุด
  2. เลือกเล่นทีละ 1 คำถาม พอเลือกได้แล้ว ชวนเด็ก ๆ คิดว่า “สถานการณ์ที่เจอนั้น มันดี หรือแย่ต่อเราอย่างไร” เช่น โจทย์ที่กำหนดคือ “โกรธที่เพื่อนแย่งแฟน จึงอยากเข้าไปตบ ข้อดีคือสะใจ แต่ข้อเสียน่าจะเยอะมากกว่า เราอาจจะโดนตบกลับ โดนเรียกเข้าห้องปกครอง พ่อแม่โกรธหนักจนหักเงินค่าขนม” เป็นต้น
  3. ทอยลูกเต๋า เพื่อกำหนดระดับของอารมณ์ (หากได้ตัวเลขมาก แสดงว่า มีอารมณ์นั้นมาก) เช่น เราเลือกโจทย์ที่ว่า เช่น เราทอยลูกเต๋าแล้วได้เลข 3 แปลว่า โกรธไม่หนักมาก (โกรธระดับ 3)
  4. ชวนเด็ก ๆ คิดว่าวิธีการจัดการอารมณ์นั้น ๆ จากนั้นทอยลูกเต๋า ว่าวิธีที่เราบอกสามารถควบคุมอารมณ์นั้นได้ไหม โดยกฎคือ หากลูกเต๋าออกเลข 4-6 แสดงว่า จัดการได้ หากออกเลข 1-3 แสดงว่าไม่สามารถจัดการได้ และเด็ก ๆ ต้องคิดวิธีใหม่และทอยลูกเต๋าใหม่ จนกว่าจะออกหน้า 4-6

สาเหตุที่เราให้ทอยลูกเต๋า เพราะอยากจะบอกเด็ก ๆ ว่า ในความเป็นจริง บางครั้งวิธีที่เราเลือกในครั้งแรก อาจจะช่วยให้เรากำกับอารมณ์ได้ หรือบางทีมันอาจจะไม่ได้ผล แต่เราต้องไม่ยอมแพ้ที่จะกำกับอารมณ์ จึงต้องลองหาวิธีใหม่ที่เหมาะสมกับตนเอง

เช่น เราเลือก “ไม่สนใจ” และหน้าลูกเต๋าที่ทอย คือ 2 (นั่นหมายถึง วิธีนี้ไม่ได้ผล) เราก็คิดใหม่คือ “ระบายให้เพื่อนฟัง” และหน้าลูกเต๋าที่ออกมาคือ 6 (แปลว่า วิธีนี้ได้ผลและเล่นข้อต่อไปได้)

อารมณ์ทางลบเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เราไม่สามารถปฏิเสธอารมณ์ทางลบ หรือหลอกตนเองว่าเราไม่มีอารมณ์ทางลบได้ ดังนั้น นีทจึงคิดว่า เราที่เป็นคุณครู ควรสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจอารมณ์ทางลบของตนเองว่า เหตุการณ์นี้ทำให้เรารู้สึกอย่างไร และเราจะควบคุมมันอย่างไร

ลองนำ 2 เครื่องมือ “นิ้วมือสำรวจใจ” และ “วงล้อพฤติกรรม” ไปเล่นกับเด็กนักเรียนดูนะคะ เพื่อให้พวกเขากำกับอารมณ์ของตนเองได้และเมื่อพวกเขาทำได้ หัวใจของพวกเขาจะเติบโตขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ

บทความโดย

นีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

อ้างอิง

Pancorbo Valdivia, G., Primi, R., John, O. P., Santos, D., & De Fruyt, F. (2021). Formative assessment of social-emotional skills using rubrics: a review of knowns and unknowns. In Frontiers in Education (Vol. 6), 1-12.

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(11)
เก็บไว้อ่าน
(18)