icon
giftClose
profile

“แตกต่างแค่ไหน ก็เรียนรู้ร่วมกันได้”

72187
ภาพประกอบไอเดีย “แตกต่างแค่ไหน ก็เรียนรู้ร่วมกันได้”

ไอเดียการสอนเด็กที่มีพัฒนาการต่างกันให้เรียนรู้ร่วมกันได้ ทำให้เด็กๆ เข้าใจกันและลดการ bully เด็กที่มีพัฒนาการช้าในห้องเรียน เปลี่ยนให้เป็นเพื่อนช่วยเพื่อนได้!

“พัฒนาการที่แตกต่างกันของเด็ก” มีผลต่อการออกแบบและจัดการห้องเรียนของคุณครูหลายๆ คน เด็กเรียนรู้ช้า-เร็วต่างกัน วิธีที่เรียนรู้ก็ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีสภาวะการเรียนรู้ที่พิเศษหรือแตกต่าง (เช่น ภาวะ Autism, LD ฯลฯ) เมื่อเด็กๆ ต้องเรียนร่วมกัน อาจเกิดประเด็นทั้ง speed การเรียนรู้ที่ไม่เท่ากัน ทำให้ครูเองก็จัดการได้ยากและอาจเกิดพฤติกรรมการ bully เพื่อนๆ เพราะความแตกต่างกันได้


คุณครูจะสามารถออกแบบห้องเรียนยังไงได้บ้าง วันนี้ insKru ได้ฟังไอเดียและมุมมองจากวงครูปล่อยของ PLC “แตกต่างแค่ไหน ก็เรียนรู้ร่วมกันได้” นำโดยครูเอ็ม จากโรงเรียนวัดสุทธาวาส เมืองพัทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีประสบการณ์กับห้องเรียนที่มีเด็กแตกต่างหลากหลายมาแบ่งปันไอเดียกัน


ขั้นแรกคือ การทำให้เด็กๆ มี empathy ต่อกัน ให้เด็กๆ เข้าใจเพื่อนที่มีพัฒนาการต่างกับเขาก่อน


  • ไอเดียการสอน 1: “เธอ ฉัน เราแตกต่างเหมือนกัน” 

เด็กที่มีพัฒฒนาการช้าในห้องเรียนหลายคนถูกเพื่อน bully เพราะเรียนไม่ทันเพื่อนๆ หรือเพราะแสดงออกแตกต่างกัน

วิธี: ครูเอ็มให้เด็กที่ชอบแกล้งเพื่อนจับคู่กับเด็กที่ถูกแกล้ง แล้วสอนเรื่อง ขันธ์ 5 โดยให้เด็กๆ เอามือแตะหู ตา จมูก ของเพื่อนๆ หลังจากนั้นให้เด็กๆ สรุปว่าเขาเห็นอะไรจากกิจกรรมนี้บ้าง เด็กๆ ได้สังเกตเห็นว่าเพื่อนที่มีพัฒนาการช้า ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีตา หู จมูก เหมือนๆ กับเขาเลย เพียงแค่เรียนรู้ต่างกันนิดหน่อย ทำไมถึง bully กันล่ะ?

การให้เด็กๆ ได้ลองสัมผัสและสอนไอเดียความแตกต่างของคนเราผ่านกิจกรรมฐานกายอาจช่วยให้เด็กเข้าใจไอเดียได้ง่าย ไม่แพ้การสอนเชิงนามธรรมเลย เพราะเด็กๆ ได้สัมผัสเลือดเนื้อความเป็นมนุษย์ของคนที่อยู่ตรงหน้าโดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวหนังสือ เด็กในห้องเรียนครูเอ็มอึ้งไปเล็กน้อย เดินไปขอโทษเพื่อน เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าใจก็ช่วยเพื่อนที่มีพัฒนาการช้า (จนครูเอ็มบอกกว่าช่วยเยอะไปจนงานตัวเองไม่เสร็จ เอ้า!) ครูนุกเสริมว่า ยิ่งเด็กๆ เห็นเพื่อนช่วยเพื่อน อาจทำให้เขารู้สึกว่าเขาเองก็ช่วยเพื่อนได้เหมือนกัน


ไอเดียนี้ประยุกต์ใส่เนื้อหาการสอนได้ เช่น อังกฤษ อาจเป็นคำศัพท์ วิทยาศาสตร์อาจเป็นเรื่องร่างกายและอวัยวะ หรือจะทำเป็นกิจกรรม homeroom ก็เหมาะเลย!


  • ไอเดียนำเกม 2: “ไหน ขอดูหน่อย” 

เกมนี้จะชวนเด็กๆ เรียนรู้ถึงความต้องการที่แตกต่างกัน (แบบเนียนๆ ;-)

วิธี: คุณครูให้เด็กๆ (ถ้าครูเล่นด้วยยิ่งดีเลย) ไปหยิบของที่มีอยู่ตามโจทย์ที่กำหนด 3 อย่าง โดยสองอย่างแรกอาจเป็นของที่มีอยู่แล้ว เช่น เครื่องเขียนที่ชอบที่สุด หรือ ของมีค่าที่อยากอวดที่สุด ฯลฯ ส่วนอย่างที่สามคือ ของที่ยังไม่มี แต่อยากมี หลังจากนั้นให้เด็กๆ แชร์เหตุผลกันว่าทำไมถึงเลือกสิ่งนี้

เกมนี้จะช่วยละลายพฤติกรรม ให้เด็กๆ ได้ฟังความต้องการ สิ่งที่มีค่า และความปราถนาของคนอื่นๆ รวมถึงเข้าใจเหตุผลที่เพื่อนๆ เลือกแบบนั้นด้วย บางคนเลือก ปากกา บางคนเลือกดินสอ บางคนอยากได้คอมใหม่ บางคนอยากได้ตู้เย็นใหม่ หรือแม้เลือกสิ่งเดียวกันก็ตาม แต่เหตุผลอาจต่างกันก็ได้ เพราะทุกคนแตกต่างกัน จึงต้องการไม่เหมือนกันและนั่นก็เป็นเรื่องปกติ พอเห็นว่าแต่ละคนเองก็มีความต้องการ ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเป็นส่วนเดียวกันมากขึ้น


จากนั้นมา ออกแบบการสอนที่ตอบความต้องการ (อันหลากหลาย) ของเด็กกัน


  • ไอเดียการสอน 1: “ทำแค่ข้อ 1-5”

ครูบีมเสนอวิธีการสอนคณิตเด็กๆ พิเศษที่มีพื้นฐานไม่เท่าเพื่อนๆ โดย

วิธี: กำหนดโจทย์/การบ้านเนื้อหาพื้นฐานที่เด็กๆ ต้องทำแค่ข้อ 1-5 ในคาบ ส่วนคนที่ทำได้มากกว่านั้นก็ทำเพิ่มข้อ 6, 7, 8,… โดยเพิ่มแรงจูงใจเป็นสมุดสแตมป์ดาว ทำให้เด็กที่ช้า มีกำลังใจขึ้น ว่าเขาเองก็ทำข้อพื้นฐานเสร็จได้เหมือนกันนะ

ครูคนอื่นเสนอว่าให้เพื่อนที่สอนเพื่อนได้สแตมป์ดาวเพิ่มหรือให้โจทย์ยากง่ายตามการเรียนรู้ของเด็ก โดยไม่ให้เด็กรู้

ยังไงก็ตามครูบีมได้ยกประเด็นน่าสนใจว่า

 **การให้รางวัลดาว สแตมป์ เป็นแรงจูงใจในการเรียน อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในเด็กที่มีพัฒนาการช้ามากขึ้นไปอีก เพราะเด็กที่ช้าก็อาจจะไม่ได้ดาวเลย ซึ่ง insKru คิดว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าสนใจมากๆ ว่าเราจะหาแรงจูงใจการเรียนให้เด็กๆ โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขแบบไหนได้บ้างนะ?


ครูเอ็มเสนอให้ใช้กิจกรรมฐานกายในตอนเริ่มกับเด็กที่มีการเรียนรู้ช้า ให้เขาได้หยิบจับก่อนค่อยคิด หรือ ใช้การจับคู่วนไปในแต่ละข้อ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เวียนช่วยกัน โดยที่เด็กเก่งก็จะไม่รู้สึกกดดันว่าได้รับมอบหมายให้ช่วยเพื่อนตลอดและเด็กที่พัฒนาการแตกต่างเองก็จะได้ไม่รู้สึกแปลกแยก 


   แม้วง PLC ครั้งนี้จะจบลงก่อนจะได้ข้อสรุปทุกประเด็น แต่เราได้เห็นวิธีการให้เด็กเรียนรู้ท่ามกลางความแตกต่างและได้เปิดประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเรื่องการสร้างแรงจูงใจในการเรียนแบบใหม่ๆ โดยไม่พึ่งเงื่อนไขของรางวัล คุณครูหรือใครคนไหนมีไอเดีย ทฤษฎี วิธี หรือมุมมองเกี่ยวกับการสอนยังไง มาแบ่งปันความเป็นไปได้ในการสอนใหม่ๆ กับเราบนเว็บ insKru ได้นะ มาสร้างห้องเรียนที่ “ความแตกต่าง เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมี” กัน

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(8)
เก็บไว้อ่าน
(10)