ก่อนอื่นดิฉันต้องขอขอบพระคุณวิทยากรจาก สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 และคุณครูพรฉวี บุตตะโยธี ที่ได้ให้แนวคิดในการที่จะนำความรู้จากการศึกษาอบรมมาปรับประยุกต์จนเกิดเป็นไอเดียนี้ขึ้นมาค่ะ จากการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่ามีนักเรียนที่อ่านและเขียนคำที่มีวรรณยุกต์ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก บางคนไม่สามารถแยกได้ว่า อักษรตัวใดเป็นอักษรสูง อักษรกลาง หรืออักษรต่ำ ถือเป็นปัญหาหนึ่งที่พบในขณะที่ทำการสอน จึงได้จัดทำสื่อสัญลักษณ์มือสื่อภาษา ชุดนี้ขึ้น สำหรับให้นักเรียนได้ใช้ฝึกผันวรรณยุกต์ด้วยตนเองทีละน้อย จากง่ายไปหายาก
วิธีการใช้ จะใช้ควบคู่กับนิ้วมือของเรา โดยมีวิธีการจำคือ "กลาง 5 สูงคว่ำ ต่ำหงาย" (เฉพาะคำเป็น) หมายความว่า กลาง 5 คือ อักษรกลาง ผันได้ 5 เสียง รูปและเสียงตรงกัน สูงคว่ำ คือ อักษรสูงผันได้ 3 เสียง ได้แก่ เสียงเอก เสียงโท และเสียงจัตวา เวลาผันให้คว่ำมือลงพับนิ้วหัวแม่มือและนิ้วกลางลง ต่ำหงาย คือ อักษรต่ำผันได้ 3 เสียงได้แก่ เสียงสามัญ เสียงโท และเสียงตรี เวลาผันให้หงายมือขึ้น พับนิ้วหัวแม่มือและนิ้วนางลง แต่อักษรต่ำเมื่อหงายมือขึ้นเสียงวรรณยุกต์จะสลับข้างกัน คือ นิ้วก้อยจะเป็นเสียงสามัญ และเรียงไปตามลำดับ ดังรูปด้านล่าง เวลาสอนต้องย้ำกับนักเรียนว่า อักษรต่ำเป็นอักษรหมู่เดียวที่รูปและเสียงวรรณ์ยุกต์ไม่ตรงกัน ถ้าใส่ไม้เอกจะเป็นเสียงโท ถ้าใส่ไม้โทจะเป็นเสียงตรี จากนั้นนำไปใช้ประกอบกับมือจำลองที่สร้างขึ้นมาเพื่อผันวรรณยุกต์ต่อไป
กลาง 5 สูงคว่ำ ต่ำหงาย มือจำลองผันวรรณยุกต์
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย