icon
giftClose
profile

2 กิจกรรม ชวนนักเรียนทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

47272
ภาพประกอบไอเดีย 2 กิจกรรม ชวนนักเรียนทำความรู้จักกันให้มากขึ้น

คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะ คุณครูทุกคน

วันนี้นีทอยากจะชวนคุณครูทุกคนมา สุ่มเปิดโหล “พฤติกรรมของเด็ก ๆ” ครั้งที่ 4 กัน หากทุกคนพร้อมกันแล้ว มาเราสุ่มเปิดโหลพฤติกรรมที่เราจะใช้พูดคุยกันในวันนี้เลยนะคะ

สาม! สอง! หนึ่ง! พฤติกรรมของเด็กในวันนี้คือ!


นักเรียนคนที่ 1

“ผมไม่ชอบการทำงานกลุ่มเลยครับ เพราะผมมักจะเป็นเศษในห้อง ที่ไม่ค่อยมีเพื่อนเอาผมเข้ากลุ่มเท่าไหร่ ผมอยากทำงานเดี่ยวมากกว่า”


นักเรียนคนที่ 2

“หนูมีเพื่อนและเราก็คุยกันสนุกดีค่ะ แต่บางทีหนูเหนื่อยที่ต้องตามใจเพื่อนตลอดเวลา”


นักเรียนคนที่ 3

“หนูเป็นนักเรียนชั้นม.1 ยังไม่ชินกับชีวิตในรร.เท่าไร และก็ยังไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะวันเปิดเทอม 2-3 วันแรก หนูหยุดเพราะป่วย กลับมาอีก ทุกคนเขามีกลุ่มกันหมดแล้ว


และนี่คือพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เราจะนำมาพูดคุยกันนะคะ โดยนีทอยากจะให้คุณครูมาช่วยนีทคิดค่ะว่า พฤติกรรมทั้ง 3 อย่างนี้ มีอะไรที่คล้ายกันไหมคะ

นีทเชื่อว่ารอบนี้ ตอบได้ง่ายมากเลยใช่ไหมคะ ถ้าอย่างนั้น เรามาตอบพร้อมกันค่ะ

สาม! สอง! หนึ่ง!

เป็นเรื่องราว “การเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์” นั่นเองค่ะ โดยในเรื่องราวของนักเรียนแต่ละคนนั้น ก็จะมีประเด็นความซับซ้อนเรื่องเพื่อนบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น


นักเรียนคนที่ 1 จะมีความซับซ้อนในมุมของการทำงานกลุ่มที่ว่า ดูเหมือนเพื่อนไม่อยากเอาเข้ากลุ่ม ซึ่งมันก็อาจจะมีหลาย ๆ สาเหตุ อาทิ บางทีเขาอาจจะไม่ตั้งใจทำงาน เขาเรียนไม่เก่ง เพื่อนเลยไม่อยากให้เข้ากลุ่มด้วย

(หมายเหตุ กันก่อนพลาด ในปัญหานี้ นีทขอแนะนำคุณครูว่า เราอย่าเพิ่งไปตีความ หรือขยายปัญหาของนักเรียนคนนี้เองนะคะว่า “อือ ๆ มีปัญหาเรื่องงานกลุ่ม สงสัยมีปัญหาเรื่องเพื่อนในเรื่องทั่ว ๆ ไปด้วย เช่น ไม่มีเพื่อนคบ ตอนกินข้าวก็คงกินคนเดียว” เพราะจริง ๆ เขาอาจจะมีหรือไม่มีปัญหาในส่วนอื่นก็ได้ค่ะ”


นักเรียนคนที่ 2 หากเราดูแบบเร็ว ๆ ไม่ได้พูดคุยกับเขา เราก็คงคิดว่า เขาน่าจะแฮปปี้ในเรื่องเพื่อน แต่ปรากฎว่า พอได้คุยกับเขาจริง ๆ แล้ว เขาก็มีความทุกข์ ตรงที่ต้องตามใจเพื่อน และอาจจะไม่กล้าบอกความรู้สึกของตนเองออกไป ซึ่งความกลัวตรงนี้ มันก็อาจจะมีได้หลายเหตุผล เช่น กลัวว่าถ้าพูดสิ่งที่อยากพูดไปแล้วเพื่อนจะเสียใจ เพื่อนจะโกรธ กลัวว่าเพื่อนจะไม่คบ


นักเรียนคนที่ 3 จริง ๆ หากเราดูกันดี ๆ ตัวเขาอาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่มันอาจจะมาจากสถานการณ์พาไป เพราะ เขาหยุดเรียนในช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังหาเพื่อนสร้างความสัมพันธ์กัน มันเลยทำให้เขาเสียโอกาสในการหาเพื่อนค่ะ

แล้วการเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์คืออะไรกันนะ?



การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม (Engaging with others)

คำในจิตวิทยาที่ตรงกับเรื่องนี้มากที่สุดจะเป็นคำว่า “Engaging with others” ที่หมายถึง การที่คนเรานั้นสามารถสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นได้ โดยในเรื่องราวของวัยรุ่นก็มักจะเป็นเรื่องเพื่อน ซึ่งถือว่า เป็หนึ่งตัวที่สำคัญของทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills)


ในงานวิจัยของ Valdivia, Primi, John, Santos, และ De Fruyt (2021) ได้ทำการศึกษาเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคม แล้วพวกเขาได้พูดไว้ว่า การสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมที่พวกเขามองนั้น มีด้วยกันอยู่ทั้งหมด 3 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. เริ่มต้นความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ (Social initiative) นีทเชื่อว่า ตัวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการมีเพื่อน เพราะมันคือการที่เราพาตนเองไปสร้างความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือคนที่เพิ่งรู้จัก พร้อมทั้งยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่อง เป็นกลุ่มก้อน และสนุกที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มความสัมพันธ์นี้
  2. กล้ายืนหยัด (Assertiveness) เป็นการที่เรากล้าบอกความต้องการของตนเอง บอกความรู้สึกของตนเอง และกล้าเสนอความคิดเห็นออกไป
  3. เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น (Enthusiasm) เป็นความรู้สึกตื่นเต้น และเต็มไปด้วยพลังงานในการออกไปใช้ชีวิต


แล้วเราจะช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไรได้บ้าง?

2 กิจกรรมประจำห้องเพื่อกระตุ้นการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมในห้องเรียน

กิจกรรมที่ 1 ตาราง XXX ช่อง

ตาราง XXX ช่อง นั้นเป็นตารางที่เราจะใส่คำถามเพื่อเป็นโจทย์ให้นักเรียนในห้องได้เล่นหรือทำกิจกรรมเพื่อ สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนได้มากขึ้น

แล้ว XXX คืออะไร? มันคือจำนวนช่องที่ ให้คุณครูกำหนดเองว่าในครั้งนี้เราจะเล่นกันกี่ช่อง เพราะนีทเชื่อว่า จำนวนช่องที่มากน้อยต่างกันนั้น มีผลต่อพฤติกรรมและความรู้สึกของเด็ก

เช่น หากเป็นครั้งแรกสุด นีทอาจจะกำหนดเป็น ตาราง 3 ช่อง โดยใส่คำถามไว้ดังนี้

(1) ทำความรู้จักกับเพื่อนที่นั่งข้าง ๆ 1 คน (ให้บอกชื่อ วันเกิด อาหารที่ชอบ หนังที่ชอบ และอื่น ๆ)

(2) ทำความรู้จักกับเพื่อนอีก 4 คน ที่นั่งตรงไหนก็ได้

(3) หาคนเกิดวันเดียวกับเรา และทำความรู้จักกัน

เหตุผลที่นีทเลือกเพียง 3 ข้อเพราะ นีทคิดว่า ในครั้งแรกสุดเราอาจจะเริ่มต้นด้วยคำถามที่ไม่เยอะมาก ให้เด็กค่อย ๆ รู้จักกันที่ละนิด บางทีคำถามที่ไม่เยอะมาก อาจจะทำให้เด็ก ๆ ได้ใช้เวลาในการรู้จักเพื่อนมากขึ้น และเราต้องไม่ลืมนะว่าในนักเรียนของเราอาจจะมีเด็กที่เข้าสังคมไม่เก่ง ซึ่งหากเราใส่คำถามเยอะ ๆ ไปเลย อาจจะทำให้เขาไม่สนุก

ดังนั้น สำหรับนีท นีทจะค่อย ๆ เริ่มต้นจากการใช้คำถามแบบน้อย ๆ แล้วค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นในการเล่นครั้งต่อไป (อาจจะ 2 วันถัดไป หรือสัปดาห์หน้า) เพื่อให้เด็กได้ค่อย ๆ เปิดตนเอง ค่อย ๆ สนุก และค่อย ๆ เข้าสังคมในบรรยากาศที่ค่อยเป็นค่อยไป

นอกจากนี้ หากเวลาผ่านไปแล้ว 1 เดือน และนีทต้องการอยากจะรู้ว่า เด็ก ๆ ในห้องของเรามีการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนเป็นอย่างไรบ้างในตอนนี้ เราก็สามารถใช้ ตาราง XXX ช่อง ได้เหมือนกัน เช่นการชักชวนเด็ก ๆ ให้เล่นตาราง 3 ช่อง โดยใส่คำถามไว้ดังนี้

(1) ให้นักเรียนวิ่งไปหากลุ่มเพื่อนที่เรานั่งกินข้าวเที่ยงด้วยกันทุกวัน (เพื่อเป็นการสำรวจว่า เด็ก ๆ ทุกคนมีเพื่อนไหมผ่านการร่วมกลุ่มกินข้าว)

(2) ให้นักเรียนหาเพื่อนที่ชอบ ศิลปิน คนเดียวกัน วงเดียวกัน หรือแนวเดียวกัน (เพื่อเป็นการสำรวจความชอบของเด็ก และช่วยทำให้เด็ก ๆ เจอเพื่อนที่ชอบเรื่องเหมือนกันมากขึ้น)

(3) ให้นักเรียนเขียนเรื่องราวลงกระดาษ พอเขียนเสร็จ ให้เขียนชื่อของตนเองและพับกระดาษมาส่งครู โดยหัวข้อที่ครูจะให้เขียนคือ 1 เดือนผ่านมาแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง สนุกเรื่องอะไร ทุกข์ใจเรื่องอะไร บอกครูหน่อย (เพื่อเป็นการสำรวจว่า มีนักเรียนคนไหนมีความทุกข์ใจไหม ซึ่งในข้อนี้ก็เป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตัวครูกับนักเรียนได้ด้วยเช่นกัน โดยเด็กอาจจะเป็นเรื่องเพื่อนหรือเรื่องอะไรก็ได้)


โดยในข้อสุดท้ายนั้น คุณครูจะต้องเก็บเรื่องเหล่าของเด็ก ๆ เป็นความลับเพื่อรักษาข้อมูลส่วนบุคคลและเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน

ซึ่งนีทมองว่า กิจกรรมตาราง XXX ช่อง จะช่วยให้เราพาเด็ก ๆ สร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนในห้องได้ดีมากขึ้น พูดคุยในเรื่องที่เราอยากรู้จักเขามากขึ้น และเราก็สามารถสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ผ่านการเล่นกิจกรรมได้ด้วยค่ะ

กิจกรรมที่ 2 ชิซูกะ

คุณครูทุกคนเคยเล่น “เป่า ยิง ฉุบ โดเรมอน” ไหมคะ ที่จะร้องว่า “โดเรมอน มอน! มอน! โดเรมี มี! มี! โนบิตะ ชิซูกะ ใครชนะได้เป็นไจแอนท์!” ซึ่งเราจะใช้โนบิตะและผองเพื่อนมาร่วมเล่นกิจกรรมไปกับเราค่ะ เพราะกลุ่มตัวละครในเรื่องโดราเอมอนนั้น แสดงถึง บทบาท อำนาจ ความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนได้ดีทีเดียวเลย

ซึ่งวิธีการชวนเด็ก ๆ ก็จะเป็นแบบนี้ค่ะ

  1. ชวนเด็ก ๆ มาร้องเพลง “เป่า ยิง ฉุบ โดเรมอนกันก่อน” (เพื่อเป็นการเกริ่นนำก่อนเข้ากิจกรรม)
  2. บอกเด็ก ๆ ว่า วันนี้ครูจะมาเล่าเรื่องราวหนึ่งที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ในกลุ่มเพื่อนให้ฟัง ซึ่งเราอาจจะแต่งเองหรือไปนำมาจากหนัง ละคร ซีรีส์ อนิเมะและอื่น ๆ
  3. หลังจากที่เราเล่าจบ เราจะชวนเด็ก ๆ มาหากันว่า ใครเป็น ไจแอนด์ ซูเนโอะ โนบิตะ และชิซูกะ โดยเกณฑ์ในการหาตัวละคร จะมีดังนี้ค่ะ

ไจแอนท์ มักเป็นตัวละคร ที่แสดงถึงความขี้แกล้ง ชอบใช้อำนาจ มีความ Bully นิด ๆ

ซูเนโอะ มักจะเป็นตัวละคร ที่แสดงถึงความขี้ประจบ ซื้อของใช้เพื่อน สายใส่ไฟ

โนบิตะ มักจะเป็นตัวละคร ที่อำนาจน้อยสุด เหมือนคนยอมตกเป็นเบี้ยล่าง

ชิซูกะ เป็นเทพธิดาในการปกป้อง หรือผู้แก้ไขปัญหาของกลุ่ม

  1. ชวนเด็ก ๆ คิดว่า หากเรื่องที่เล่าเกิดขึ้นจริง ๆ แล้ว
  • หากเราจะต้องเป็น “ชิซูกะ” เพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ลำบาก เราจะทำอย่างไร
  • หากเราเป็น “โนบิตะ” เราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้ดี
  • หากเราเป็น “ไจแอนท์” หรือ “ซูเนโอะ” เราจะปรับวิธีการอยู่กับเพื่อนในกลุ่มอย่างไรดี

ตัวอย่างเช่น

“วันนี้คุณครูมีฉากหนึ่งจากซีรีย์เรื่อง Extraordinary Attorney Woo ที่ครูชอบมาก นั่นคือ เป็นฉากที่อูยองอู กลัวการเดินผ่านประตูหมุน แล้วอีจุนโฮก็เข้าไปช่วยเธอให้ไม่กลัวการเดินผ่านประตูหมุน โดยการท่องจังหวะเป็นการเต้นเพลงวอลซ์ ‘ย่อ ย่ำ ย่ำ’”

(โดยเรื่องราวที่เราเอามาเล่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีทุกบทบาทในกลุ่มผองเพื่อนโดเรมอนก็ได้นะคะ)

หลังจากนั้นใช้คำถามว่า “นักเรียนคิดว่าใครเป็นตัวละครอะไรในเรื่องโดราเอมอน?”

ตัวอย่างคำตอบ เช่น อีจุนโฮ เป็น “ชิซูกะ” ประตูหมุน เป็น “ไจแอนด์” อูยองอู เหมือน “โนบิตะ” เพราะโดนประตูแกล้ง

นอกจากนั้นยังถามลงลึกต่อไปได้อีกว่า

“แล้วหากเราอยากเป็นเหมือน อีจุนโฮ เราจะทำอย่างไรดีคะ?”

“แล้วหากสมมติ เราเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กับ อูยองอู ที่อาจจะเจอกับเหตุการณ์ยาก ๆ แล้วทำเองไม่ได้ เราจะทำอย่างไรดีคะ?”

เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ เทียบเคียงสถานการณ์ที่เจอและจำลองตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่กำหนด

ซึ่งในกิจกรรมนี้ จะช่วยทำให้เด็กๆ เข้าใจบทบาทในกลุ่ม วิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่เหมาะสม


เป็นอย่างไรบ้างคะกับ 2 กิจกรรมที่นีทแนะนำไป นีทเชื่อว่า ถ้าเรานำ 2 กิจกรรมนี้ไปเล่นกับนักเรียน จะช่วยให้นักเรียน มีทักษะในการเข้าสังคม รู้จักการยืดหยัดในความคิดของตนเองหรือส่งเสียงเพื่อความช่วยเหลือ และยังได้สำรวจพฤติกรรมการเข้าสังคม การมีเพื่อนของเด็ก ๆ ด้วยนะคะ


อ้างอิง

Primi, R., Santos, D., John, O. P., & Fruyt, F. D. (2016). Development of an inventory assessing social and emotional skills in Brazilian youth. European Journal of Psychological Assessment, 32(1), 5-16.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(7)
เก็บไว้อ่าน
(8)