icon
giftClose
profile

คารุตะคำกลอน สอนโคลงโลกนิติ

27161
ภาพประกอบไอเดีย คารุตะคำกลอน สอนโคลงโลกนิติ

สื่อการสอนวรรณคดีเรื่องโคลงโลกนิติ โดยการประยุกต์การละเล่นของญี่ปุ่นนำมาทำเป็นเกมการ์ดจับคู่แบบคำประพันธ์กับสำนวน หรือคุณค่าวรรณคดี ที่สอดแทรกเรื่องของการอ่านคำประพันธ์ เนื้อหา คุณค่า สำนวน และวรรณศิลป์ เรียกได้ว่าเกมเดียวสามารถตอบโจทย์ได้หลายตัวชี้วัด

คารุตะคำกลอน สอนโคลงโลกนิติ เป็นสื่อการเรียนรู้เรื่อง โคลงโลกนิติ รายวิชาภาษาไทย ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่ประยุกต์ความเป็นไทยผสมผสานกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยการนำการละเล่นไพ่คารุตะของญี่ปุ่นนำมาใช้ เพื่อให้นักเรียนสามารถจดจำคำประพันธ์ วิเคราะห์คุณค่าของคำประพันธ์ พิจารณาความสอดคล้องระหว่างคำประพันธ์และสำนวนหรือคุณค่าด้านต่าง ๆ ได้

วัตถุประสงค์

  1. ผู้เล่นสามารถบอกความหมายของสำนวนได้ถูกต้อง
  2. ผู้เล่นสามารถจับคู่คำประพันธ์กับสำนวนหรือคุณค่าวรรณคดีได้ถูกต้อง
  3. ผู้เล่นสามารถท่องจำคำประพันธ์ได้
  4. ผู้เล่นสามารถวิเคราะห์และอธิบายคุณค่าของวรรณคดีได้


โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นประกอบด้วย 2 ส่วนได้แก่

1) กระดานวางไพ่คารุตะ จำนวน 1 แผ่น



สำหรับกระดานวางไพ่ (ผู้ที่นำไปใช้สามารถพิจารณาได้ตามความจำเป็น) ออกแบบโดยอาศัยเสื่อทาทามิของญี่ปุ่น เพื่อให้ได้กลิ่นอายของการเล่นจากวัฒนธรรมญี่ปุ่นจริง ๆ


2) ไพ่คารุตะจำนวน 44 ใบ แบ่งเป็น

- ไพ่สำหรับหยิบ จำนวน 20 ใบ (สามารถลดหรือเพิ่มเติมได้ ตามความเหมาะสม)


ออกแบบโดยรับแนวคิดมาจากไพ่ยูกิ โดยมีดาวมุมบนขวาเพื่อใช้สำหรับนับคะแนนได้ด้วย


- ไพ่สำหรับอ่าน คือคำประพันธ์ในโคลงโลกนิติ จำนวน 20 ใบ (สามารถปรับให้สอดคล้องกับไพ่สำหรับหยิบ)


ออกแบบตามลักษณะของไพ่คารุตะ มีรูปภาพที่สอดคล้องกับไพ่สำหรับหยิบ เพื่อให้เวลาผู้เรียนนำไพ่ไปเล่น จะสามารถเฉลยคำตอบให้กันเองได้


- ไพ่หน้าปก กติกาเกม และโคลงนำเรื่อง รวม 4 ใบ


การอ่านโคลงนำเรื่องเพื่อให้รู้ความเป็นมาของเรื่อง ตัวอักษรสีแดงสื่อให้เห็นถึงคุณค่าด้านวรรณศิลป์ เช่น อุปมาโวหาร อุปลักษณ์ การซ้ำคำ กลบท เป็นต้น ซึ่งสามารถบอกให้ผู้เล่นสังเกตและตอบคำถามเพิ่มเติมได้ด้วย


กติกาการเล่น

** เหมาะสำหรับผู้เล่น 3 คน (หรือจัดเล่นเป็นทีมให้เหมาะสมกับห้องเรียน) โดยแบ่งบทบาทเป็น ผู้เล่นฝั่งสีแดง ผู้เล่นฝั่งสีน้ำเงิน และผู้อ่านคำประพันธ์

1. ผู้เล่นแต่ละคนสุ่มหยิบไพ่สำหรับหยิบขึ้นมา จำนวน 10 ใบ จัดวางบนกระดานวางไพ่เรียงตามความถนัดหันด้านที่อ่านได้เข้าตนเอง หลังจากนั้นให้เวลา 5 นาที ในการจดจำตำแหน่งไพ่ของตนเองและคู่แข่ง

2. ผู้อ่านคำประพันธ์เริ่มต้นอ่านโคลงนำเรื่องจำนวน 2 บท หลังจากนั้นให้สุ่มอ่านคำประพันธ์ในไพ่สำหรับอ่าน ผู้เล่นคนใดที่เห็นไพ่ที่สอดคล้องกับบทประพันธ์ให้หยิบไพ่นั้นขึ้นมา ซึ่งสามารถหยิบได้ทั้งไพ่ที่อยู่หน้าตนเองและคู่แข่ง

3. เมื่ออ่านคำประพันธ์ครบทั้ง 20 บท หรือหมดเวลา 20 นาที ให้นับคะแนนผู้เล่นที่มีจำนวนไพ่ในมือมากกว่าถือเป็นผู้ชนะ (หรือนับดาวที่ปรากฏบนไพ่ ปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม)


ขอบคุณข้อมูลจาก

ปัญจพล ขำสัจจา. (2555). "โคลงโลกนิติ" กับ "คติ" แอบแฝง. จาก gotoknow.org/posts/490601

หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานภาษาไทย 1 เล่ม 1 สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด

Anngle. (2021). มารู้จักกับ "คารุตะ" การละเล่นดั้งเดิมของญี่ปุ่นจากเรื่อง Chihayafuru. จาก today.line.me/th/v2/article/2Kve5P

Marumura. (2019). ไพ่คารุตะ การละเล่น กีฬา และศิลปะ. จาก marumura.com/karuta-games-sports-and-art


ขอขอบคุณ เพื่อนผู้ร่วมสร้างและออกแบบสื่อครับ

ไฟล์ที่เกี่ยวกับไอเดีย

ไฟล์ที่ 1 จากทั้งหมด 26

ชื่อไฟล์​: 5.png

ดาวน์โหลดแล้ว 108 ครั้ง


รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(26)
เก็บไว้อ่าน
(8)