icon
giftClose
profile

ทำไมเราทุกคนต้องสนใจ “Social Emotional Learning”

33630
ภาพประกอบไอเดีย ทำไมเราทุกคนต้องสนใจ “Social Emotional Learning”

การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมคืออะไร สำคัญแค่ไหนต่อห้องเรียนของคุณครู

Social and Emotional Learning คืออะไร

Social and Emotional Learning หรือ SEL กระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ที่ผู้เรียนจะได้ฝึกทำความเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเอง เรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ ทำความเข้าใจความรู้สึกของเพื่อน ๆ พัฒนาความสัมพันธ์เชิงบวกกับบุคคลใกล้ชิด ผู้เรียนได้ฝึกการตัดสินใจด้วยตัวเอง รับผิดชอบต่อภาระหน้าที่ของตัวเองได้ โดยกระบวนการนี้จะเรียนรู้ผ่านทักษะทางอารมณ์สังคม (Social and Emotional Skills: SES) 5 ด้าน ได้แก่

  1. ความรับผิดชอบต่องาน การบริหารจัดการตนเอง (Self Management)
  2. ทักษะทางอารมณ์ การกำกับอารมณ์ทางลบ (Negative-emotional regulation)
  3. ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น การใส่ใจผู้คน (Amity)
  4. การเปิดรับประสบการณ์ เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ (Open Mindness)
  5. ทักษะสังคมและการมีส่วนร่วมกับผู้อื่น (Engaging with Others)


แนวคิดนี้เริ่มมีการพูดถึงบ่อยครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกันมากขึ้น แต่หากย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดมีการศึกษาวิจัย ทดลองใช้ผ่านกาลเวลามานานเกือบ 3 ทศวรรษ โดยเกิดจากการรวมตัวกันของนักวิชาการต่างสาขาในสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2537 มีผู้เชี่ยวชาญทั้งทางด้านความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) พัฒนาการของเด็ก สาธารณสุขศาสตร์ ฯลฯ มาร่วมกันวิเคราะห์หาปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคนหนึ่งคนให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์ในโรงเรียนและการใช้ชีวิตนอกโรงเรียน

ภาพผู้ก่อตั้ง CASEL จาก https://casel.org/about-us


พวกเขาตั้งคำถามสำคัญว่า “What if education fully supported the social, emotional, and academic development of all children?” (จะเป็นอย่างไรหากการศึกษาช่วยสนับสนุนพัฒนาการทางสังคม อารมณ์ และทักษะทางวิชาการของเด็กทุกคนได้อย่างเต็มที่)


จากคำถามนั้นพัฒนามาเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยที่จริงจัง ทำงานพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม อย่างต่อเนื่อง ในนามของ Collaborative for Academic, Social, and Emotional Learning (CASEL) ทำหน้าที่ให้ความรู้ เผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้รับรู้ถึงความสำคัญของกระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ส่งผลต่อการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด สัญชาติใด มาจากครอบครัวแบบไหน เพศอะไร ระดับการเรียนรู้อยู่ในขั้นไหน

หากครู บุคลากรทางการศึกษา ครอบครัว ชุมชน และนักเรียนเองร่วมมือซึ่งกันและกัน ก็สามารถช่วยสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นมิตร ทำให้นักเรียนทุกคนพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะความเป็นเลิศทางการเรียนรู้ในนิยามใหม่ ไม่ใช่เพียงการตอบคำถามถูกทุกข้อ จดจำข้อมูลได้อย่างละเอียดแม่นยำเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป


ความหวังใหม่ของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในไทย

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เปิดผลการวิจัยจาก PISA-based Test for Schools (PBTS) เครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาชั้นเรียนและสถานศึกษา ใน 66 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียน 2,459 คน ทั่วประเทศไทย พบว่าทักษะอารมณ์และสังคมมีความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์การเรียนรู้ และคุณภาพชีวิตด้านอื่น ๆ ของนักเรียนไทย โดยนักเรียนช้างเผือก จากครัวเรือนยากจนอยู่ในกลุ่มที่ทำคะแนนได้สูงสุด 25% มีทักษะทางอารมณ์และสังคม สูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ นักเรียนจากครอบครัวที่มีรายได้สูงจะมีทักษะทางอารมณ์และสังคม สูงกว่านักเรียนจากครอบครัวที่ยากจน นักเรียนหญิงมีทักษะทางอารมณ์และสังคมทุกด้านสูงกว่านักเรียนชาย (ยกเว้นด้านความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นท่ีใกล้เคียงกัน)

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมจากผลการวิจัยดังกล่าวว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อผลลัพธ์ทางวิชาการคือ เศรษฐฐานะหรือระดับการศึกษาของผู้ปกครอง แต่ถึงอย่างนั้นทักษะทางอารมณ์และสังคม ก็มีความสัมพันธ์กับคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเด็กที่มีการควบคุมตัวเองได้ดี มีความอยากรู้อยากเห็น หรือมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะมีผลการเรียนที่ดีตามมาไม่ว่าจะมาจากพื้นฐานครอบครัวแบบใดก็ตาม

“ยิ่งผู้ปกครองสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีความอยากรู้อยากเรียน มองโลกในแง่ดี เกิดความมั่นใจในการเรียน ส่วนปัจจัยในโรงเรียน จะพบว่าบรรยากาศในห้องเรียนที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมรบกวนในระหว่างการเรียนการสอน มีการเปิดกว้างทางความคิดเห็นก็ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ทักษะอารมณ์สังคมของเด็กพัฒนาไปในเชิงบวก”

จึงกล่าวได้ว่า บรรยากาศของโรงเรียน ห้องเรียน วิธีการสอนและบทบาทของครอบครัว มีผลอย่างมากในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก หากมีการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมที่จริงจังมากขึ้นในพื้นที่สถานศึกษาและในครัวเรือน จะทำให้นักเรียนในประเทศไทยมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น และส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขมากขึ้นในระยะยาว

เหตุผลสำคัญที่เราคิดว่าทุกคนควรรู้จักกระบวนการพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม ก็เพราะนี่คือแนวทางการฝึกฝนที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเอง เห็นใจผู้อื่น และเรียนรู้ที่จะฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นคุณสมบัติพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คนรุ่นใหม่รับมือกับอนาคตที่เต็มไปด้วยความผันผวนได้อย่างมั่นใจ และสร้างสังคมที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยไปพร้อมกันด้วยได้


ข้อมูลอ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)