icon
giftClose
profile

ชวนนักเรียน เขียนจดหมาย กระชับความสัมพันธ์

42606
ภาพประกอบไอเดีย ชวนนักเรียน เขียนจดหมาย กระชับความสัมพันธ์

คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะ คุณครูทุกคน

วันนี้ นีทอยากจะชวนคุณครูทุกคนมา สุ่มเปิดโหล “พฤติกรรมของเด็ก ๆ” ครั้งที่ 5 กัน หากทุกคนพร้อมกันแล้ว มาเราสุ่มเปิดโหลพฤติกรรม ที่เราจะใช้พูดคุยกันในวันนี้เลยนะคะ

สามมมม สองงงง หนึ่ง!

พฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่คุณครูจะต้องเจอในวันนี้คือ!


นักเรียนคนที่ 1

“หนูไม่ชอบเพื่อนคนนี้เลย แบบหนูก็ไม่เข้าใจว่าจะตัวติดกับหนูอะไรหนักหนา หนูไปเข้าห้องน้ำก็บอกว่า ‘ขอตามไปด้วย’ หรือเขาอยากจะเข้าห้องน้ำ ก็มาชวนให้หนูไปเป็นเพื่อน ทำไมไปคนเดียวไม่ได้!”

นักเรียนคนที่ 2

“ผมไม่รู้ว่าทำไมผมต้องถูก bully …”

นักเรียนคนที่ 3

“หนูจะไม่มีวันยกโทษให้เพื่อนคนนี้เด็ดขาด เพราะเธอเอาหนูไปนินทา เพื่อนอะไรทำกันแบบนี้!”


และนี่คือพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เราจะนำมาพูดคุยกันในวันนี้นะคะ โดยนีทอยากจะให้คุณครูมาช่วยนีทคิดค่ะ ว่า พฤติกรรมทั้ง 3 อย่างนี้ มีอะไรที่คล้ายกันไหมนะ?

เฉลยก็คือ เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับ “การอยู่ร่วมกัน” นั่นเองค่ะ!


เมื่อการอยู่ร่วมกันนั้นทำให้เกิดปัญหาในห้องเรียน

เรื่องราวในคราวนี้เป็นเหมือนกับ “การอยู่ร่วมกัน” ซึ่งในตัวอย่างก็อาจจะเป็นการอยู่ร่วมกันที่มีปัญหาเล็กน้อยถึงมาก เช่น นักเรียนคนที่ 1 เมื่ออยู่กับเพื่อนแล้วดูมีช่วงเวลาที่ไม่มีความสุข เพราะหงุดหงิดที่เพื่อนชอบตามไปทุกที นักเรียนคนที่ 2 ชัดเจนมากว่าไม่มีความสุข เพราะโดนกลุ่มเพื่อนรังแก และนักเรียนคนที่ 3 ก็โกรธที่ถูกเพื่อนนินทา

โดยนีทต้องบอกว่าปัญหาของ “การอยู่ร่วมกัน” มักเป็นเรื่องราวของคน 2 คนหรือกลุ่ม 2 กลุ่มขึ้นไป ที่ต้องค่อย ๆ ปรับเข้าหากัน

คำในจิตวิทยา ที่ตรงกับเรื่องนี้มากที่สุด จะเป็นคำว่า “Amity” หรือ “Caring with others (การใส่ใจผู้คน)” ที่หมายถึง การที่คนเราสามารถอยู่กับคนอื่นได้ด้วยความเข้าใจ ใส่ใจกัน ซึ่งถือว่า เป็น 1 สิ่งที่สำคัญของทักษะทางอารมณ์และสังคม (Social-Emotional Skills)

ในงานวิจัยของ Valdivia, Primi, John, Santos, และ De Fruyt (2021) ได้ทำการศึกษาเรื่องทักษะทางอารมณ์และสังคม แล้วพวกเขาได้พูดไว้ว่า การใส่ใจผู้คน ทางพวกเขามองนั้นมีด้วยกันอยู่ทั้งหมด 3 หัวข้อใหญ่ คือ

  1. ใจดี (Compassion) คือ การที่เราพยายามเข้าใจคนอื่น ว่าเขาคิด รู้สึกอย่างไร ความต้องการคืออะไร พร้อมเห็นอกเห็นใจเขาและแสดงออกด้วยความเมตตา
  2. ทำดี (Respect) คือ การที่เราปฏิบัติตัวกับคนอื่นด้วยความสุภาพ
  3. เชื่อดี (Trust) คือ การที่เราเชื่อเรื่องเจตนาที่ดีของผู้อื่น และพร้อมให้อภัยในความผิดพลาดว่าแต่ กิจกรรมอะไรบ้างที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการใส่ใจผู้คนของนักเรียนได้นะ


2 กิจกรรม Friend letter เพื่อช่วยทำให้เด็กอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

กิจกรรมที่ 1 Dear checker

Dear checker เป็นกิจกรรมที่เราจะชวนเด็ก ๆ มาสำรวจความสัมพันธ์ของตนเองและเพื่อนว่า ความสัมพันธ์ที่เรามีนั้นยังดีอยู่ไหม และถ้าหากความสัมพันธ์กำลังแย่ เราจะมีวิธีการแก้อย่างไร?

ซึ่งเจ้า Dear checker ก็จะมีหน้าตาและข้อความประมาณนี้ ให้กับเด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้นั่งทำการบ้าน และคิดทบทวนในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อน พร้อมหาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสันติ

วิธีการใช้เจ้า Dear checker นี้ จะมีการถามเรื่องราวว่า มีใครทำให้ฉัน … พร้อมทั้งให้เด็กหาวิธีการแก้ปัญหาเช่น ลองคิดวิธีการแก้เองหรือมาปรึกษาคุณครูดี โดยในส่วนการเขียน ในแต่ละหัวข้อ นีทอยากจะแนะนำแนวการเขียนสั้น ๆ ดังนี้ค่ะ

หัวข้อ

ใครทำให้ฉันรู้สึก … นีทอยากให้เด็กๆ นั่งคิดว่า

“ใครทำให้ฉัน …

และพฤติกรรมไหนของเพื่อนจึงทำให้ฉันรู้สึกแบบนี้ …

แล้วลองคิดต่อกันอีกหน่อยว่า ทำไมเขาทำแบบนี้ใส่ …”

เช่น

  • เพื่อนที่ชื่อจ้า ทำให้ฉันเศร้า เพราะว่าอยู่ ๆ เธอก็ไม่คุยกับฉันอีกเลย ที่เธอทำแบบนั้น ฉันก็ไม่รู้เหมือนกัน
  • เพื่อนในกลุ่ม ทำให้ฉันโกรธ เพราะว่า พวกเขาเอาฉันด่าลับหลัง เรื่องฉันไม่ช่วยทำงาน ทั้ง ๆ ที่ฉันก็ว่าฉันช่วยนะ อ๊ะ หรือว่า ฉันช่วยน้อยไป เขาเลยโกรธ


การที่เราพาเด็ก ๆ คิดเช่นนี้จะได้ช่วยทำให้เด็ก ๆ เข้าใจความรู้สึกของตนเองจากพฤติกรรมที่เพื่อนทำกับเรา และลองหาสาเหตุที่เพื่อนมีพฤติกรรมนั้น ๆ ว่ามันมีสาเหตุมาจากอะไร

ส่วนในหัวข้อ แล้วฉันจะทำอย่างไรดี นีทมองว่า เด็ก ๆ สามารถเลือกเขียนแบบไหนก็ได้ เพียงแต่สิ่งที่คิดจะทำนั้นต้องไม่ทำร้ายคนอื่นกลับ

ตัวอย่างเช่น

  • ก็ถ้าเขาไม่อยากคุยกับเรา ก็คงต้องปล่อยเขาไป
  • ลองปรึกษาคุณครูดีกว่า ว่าทำไมอยู่ ๆ เพื่อนถึงไม่คุยกับเรา
  • ครั้งหน้าในการทำงานกลุ่ม เราจะตั้งใจทำงานมากกว่านี้ หรือคุยกับเพื่อนเลยว่า อยากให้เราทำอะไรบ้าง จะได้เข้าใจตรงกัน

โดยเราอาจจะให้เด็ก ๆ สำรวจเรื่องนี้สักเดือนละครั้งก็ได้ค่ะ

กิจกรรมที่ 2 Dear Friend

Dear Friend เป็นกิจกรรมที่เราจะชวนเด็ก ๆ มาเขียนจดหมายถึงเพื่อนในหัวข้อต่าง ๆ ตามที่เรากำหนด

โดยเราอาจจะเริ่มจาก

  1. ให็เด็ก ๆ ทุกคนในห้องมาช่วยกำหนดกันว่า จะให้วันไหนเป็นวัน “FRIEND DAY” เพื่อที่เราจะได้มาเล่นกิจกรรมนี้กัน เช่น เด็ก ๆ อาจจะเลือก เป็นวันศุกร์สิ้นเดือนก็ได้ค่ะ
  2. เมื่อถึงวัน “FRIEND DAY” คุณครูจะแจกหัวข้อให้เด็ก ๆ เขียนบอกเพื่อนประมาณ 1-3 คน ตามหัวข้อที่เรากำหนด ซึ่งทำเพียงครั้งละ 1 หัวข้อเท่านั้นนะคะ (หัวข้อเน้นเชิงสร้างสรรค์) ตัวอย่างหัวข้อ
  • เพื่อนที่ฉันอยากขอบคุณ
  • เพื่อนที่ฉันอยากขอโทษ
  • เพื่อนที่ฉันอยากรู้จัก
  • เพื่อนที่ฉันอยากให้กำลังใจ
  • เพื่อนที่ฉันมีเรื่องที่อยากจะบอก
  • พฤติกรรมที่เธอ ทำให้ฉันเสียใจ
  1. ให้เด็ก ๆ เขียนเนื้อหาต่าง ๆ ใส่กระดาษ (ขอเป็นเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่การใช้คำพูดรุนแรงใส่กัน) แล้วลงชื่อของตนเองไว้ จากนั้น พับกระดาษสัก 2 ทบ แล้ว เขียนชื่อเพื่อนด้านหน้า
  2. เอากระดาษที่เขียน มาใส่กล่องหน้าห้อง
  3. หลังจากที่เด็กทุกคนใส่ครบเรียบร้อย ให้ตัวแทนนักเรียนประมาณ สัก 2-3 คน เอากระดาษเหล่านั้นไปแจกให้กับคนในรายชื่อ

โดยกิจกรรมนี้ จะช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจกัน ใส่ใจกัน และรู้จักการคิดถึงผู้อื่นมากขึ้น

บทความโดย

นีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

อ้างอิง

Pancorbo Valdivia, G., Primi, R., John, O. P., Santos, D., & De Fruyt, F. (2021). Formative assessment of social-emotional skills using rubrics: a review of knowns and unknowns. In Frontiers in Education (Vol. 6), 1-12.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(20)
เก็บไว้อ่าน
(9)