icon
giftClose
profile

เพิ่มคุณค่าให้งานศิลปะด้วย Business Model Canvas

17252
ภาพประกอบไอเดีย เพิ่มคุณค่าให้งานศิลปะด้วย Business Model Canvas

เครื่องมือทางธุรกิจที่สามารถใช้กระตุ้นความคิดของนักเรียนได้ว่า "เราสร้างสรรค์งานศิลปะเพื่ออะไร"

เมื่อ Business Model Canvas (BMC) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในเชิงธุรกิจซึ่งใช้เพื่อวิเคราะห์และสร้างโอกาสในเชิงธุรกิจ ถูกนำมาใช้กับผลงานศิลปะของนักเรียน คุณค่าของงานศิลปะที่มีอยู่แล้วจึงถูกขับให้ชัดเจนขึ้น


เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมงาน ครูปล่อยของ PLC Day ครั้งที่ 1 ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งหัวข้อที่ผมสนใจและเลือกเข้าไปมีส่วนร่วมเป็นห้องเรียนของครูเข้ม มีชื่อว่า สร้างนวัตกรทางศิลปะและความเป็นไปได้ใหม่ของพาณิชยศิลป์ ซึ่งพูดถึงการนำเครื่องมือทางธุรกิจมาใช้กับผลงานศิลปะ ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่คมคายที่จะเปลี่ยนประสบการณ์ในห้องเรียนศิลปะให้แปลกใหม่และสร้างกรต่อยอดได้อีกมหาศาล


ก่อนอื่นผมอยากจะชวนคุณครูทุกท่านมาทำความรู้จักกับเครื่องมือที่พูดถึงไว้ตั้งแต่ต้น นั่นก็คือ Business Model Canvas กันก่อน (ซึ่งผมจะขอเรียกว่า BMC เพื่อไม่ให้ยืดยาวนะครับ)

Business Model Canvas เป็นเครื่องมือวิเคราะห์เชิงธุรกิจ ส่วนมากจะถูกนำมาใช้ในกระบวนการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบ 9 ส่วน หลังจากนี้ผมจะขอพาทุกคนไปทำรู้จักกับองค์ประกอบทั้ง 9 เรียงตามลำดับผ่านเหตุการณ์สมมติในคาบเรียนศิลปะแห่งหนึ่ง เพื่อให้เข้าใจง่ายและสามารถติดตามไปพร้อม ๆ กันนะครับ


ณ ห้องเรียนศิลปะ

คุณครูได้รับโจทย์จากเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของค่ายเพลง ที่กำลังจะเดบิวท์ศิลปินวงหนึ่ง จึงขอให้นักเรียนช่วยออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้หน่อย โดยที่คุณครูจะจัดประกวดและมีเงินรางวัลจากค่ายเพลงให้สำหรับเจ้าของผลงานที่ได้รับคัดเลือกไปเป็นปกอัลบั้มชุดนั้น ถ้าผมเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่ต้องการจะเล่าเรื่องผ่าน BMC นี้ เรื่องราวจะเป็นแบบนี้ครับ


องค์ประกอบที่ 1: Customer Segment (ลูกค้าเป็นใคร)

ผมได้เข้าไปพูดคุยกับคุณครู จึงได้ทราบมาว่าศิลปินที่ผมกำลังจะทำหน้าปกอัลบั้มให้เป็นเกิร์ลกรุ๊ป สไตล์น่ารักสดใส (นึกถึงวง twice ไว้นะครับ) และได้โจทย์มาเพิ่มว่าอยากให้ใส่เรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนลงไปด้วย

*** เราทำปกให้ค่ายเพลง ฉะนั้นตอนนี้ลูกค้าของเราคือค่ายเพลงนะครับ ไม่ใช่คนทั่วไปที่จ่ายเงินซื้ออัลบั้มจากค่ายเพลง

องค์ประกอบที่ 2: Value Proposition (คุณค่าของผลงาน)

ผมตีโจทย์ ความน่ารักสดใส และเรื่องราวเกี่ยวกับโรงเรียนทำให้นึกถึงการ์ตูนชื่อดังคือโดราเอม่อน หน้าปกอัลบั้มชุดนี้จึงตั้งใจจะวาดออกมาในแนวของโรงเรียนมัธมยมช่วงงานกีฬาสี ด้วยการใช้สีและลายเส้นคล้ายกับการ์ตูนญี่ปุ่น

*** สิ่งนี้คือจุดขาย จุดเด่นของตัวผลงานครับ นึกถึงนักเรียนในระดับชั้นได้รับโจทย์เดียวกัน แต่ละคนก็จะตีความแตกต่างกันเพื่อสร้างจุดขายให้กับตัวเอง

องค์ประกอบที่ 3: Channels (ช่องทางการเข้าถึงลูกค้า)

ผมติดต่อกับค่ายเพลงผ่านคุณครูศิลปะ แต่เนื่องจากว่านักเรียนทั้งระดับชั้นต้องใช้โจทย์เดียวกันนี้ในการออกแบบเหมือนกัน คุณครูจึงจัดงานประกวดขึ้นมา เพื่อให้ค่ายเพลงสามารถมาชื่นชมผลงานของนักเรียนและคัดเลือกหน้าปกอัลบั้มไปใช้ ฉะนั้นช่องทางทั้งหมดจึงได้แก่ [1] คุณครูศิลปะ และ [2] งานประกวด นั่นเอง

องค์ประกอบที่ 4: Customer Relationship (ความสัมพันธ์กับลูกค้า)

เนื่องจากว่าเราไม่ได้เป็นคนประสานกับลูกค้าโดยตรง ฉะนั้นสำหรับองค์ประกอบนี้ ผมอาจจะเป็นเจ้าของผลงานคนหนึ่งที่ลูกค้าอาจจะคัดเลือกไปใช้ แต่ถ้าหากถูกเลือกแล้วหลังจากนั้นอาจมีการพูดคุยเพื่อปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งตอนนั้นผมก็ต้องวางแผนเพื่อให้สามารถติดต่อกับเค้าได้ (และพยายามหาทางที่จะทำให้เค้ากลับมาจ้างผมอีก)

องค์ประกอบที่ 5: Revenue Streams (รายได้หลัก)

ในกรณีนี้อาจจะเป็นเงินรางวัลจากการประกวด แต่หลังจากนี้ถ้ามีการจ้างงานครั้งต่อไป ก็จะเปลี่ยนเป็นค่าจ้างจากค่ายเพลง


ผมรู้ว่าข้อมูลมันเยอะครับ ตอนผมเขียนคอนเทนท์นี้ก็ไม่คิดว่าจะยาวขนาดนี้เหมือนกัน อดทนสู้กับผมอีกหน่อยนะ



องค์ประกอบที่ 6: Key Resource (ทรัพยากร)

ความหมายในเชิงของธุรกิจ มันรวมไปถึงต้นทุนรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้เช่น เงินทุน แรงงาน โรงงาน และอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดสินค้าหรือบริการขึ้นมา แต่ในกรณีนี้นี้ทรัพยากรคือตัวผมเองซึ่งเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน เพราะถ้าไม่มีผม ก็ไม่มีงาน แล้วก็อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ด้วยครับเช่น สี กระดาษ หรืออาจจะเป็น iPad ก็ได้ถ้าทำดิจิตัลอาร์ต

องค์ประกอบที่ 7: Key Activity (กิจกรรม)

กิจกรรมนี้ให้นึกถึงว่าผู้ซื้อกับผู้ขายจะมาปฏิสัมพันธ์อะไรกันครับ เช่นการขายประกันชีวิตอาจจะมีการโทรหากันหรือเจอกันตัวต่อตัว หรืออาจจะมีการส่งอีเมล แต่สำหรับกรณีนี้คือเวทีประกวดที่คุณครูจัดไว้ให้นั่นเองครับ

องค์ประกอบที่ 8: Key Partner (พันธมิตร)

คือ ผู้ที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการทำกิจกรรมของเราให้สำเร็จ (ขายได้) ในกรณี้นี้พันธมิตรของผมคือคุณครูศิลปะ

องค์ประกอบที่ 9: Cost Structure (ต้นทุน)

พูดถึงราคาทุกอย่างที่ทำให้กิจกรรมทั้งหมดนี้เกิดขึ้นนะครับ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ เงินทั้งหมดที่ใช้ในการสร้างผลงาน อาจจะเป็นค่ากรดาษ ค่าสี ค่าอุปกรณ์ไอที และอีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยนั่นก็คือค่าต้นทุนการจัดประกวดทั้งหมดด้วย เช่นค่าจ้างออแกไนเซอร์ ค่าเช่าและตกแต่งสถานที่ ไปจนถึงค่าจัดแสงจัดไฟต่าง ๆ



เยอะใช่มั้ยครับ ขอบคุณที่สู้มากับผมจนถึงตรงนี้นะครับ

แต่ขออภัย ผมมีต่ออีกนิดนึง...




ถาม รู้จัก BMC แล้วมันสร้างคุณค่าให้กับงานศิลปะอย่างไร? มันต้องทำถึงขนาดนี้เลยมั้ย?

ตอบ ไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทั้ง 9 องค์ประกอบครับ ถ้าในมุม "การสร้างสรรค์ธุรกิจ" ต้องทำช่องสีเขียวและเหลืองให้ครบก่อนครับ (องค์ประกอบที่ 1-5) เพื่อให้สามารถระบุจุดเด่นและบอกได้ว่าสิ่งที่เราสร้างขึ้นมานั้นมีคนที่ต้องการและมั่นใจว่าจะขายได้


แต่สำหรับคาบเรียนศิลปะในมุมมองของผม ส่วนที่สำคัญที่สุดคือองค์ประกอบข้อที่ 2 คือคุณค่าของผลงานโดยมีองค์ประกอบข้อที่ 1 คือลูกค้าหรือผู้ใช้งานหรือใครก็ตามที่ต้องผลงานของเราเป็นโจทย์หรือแรงบันดาลใจใจการสร้างสรรค์ชิ้นงาน เพื่อที่อย่างน้อยเด็ก ๆ เค้าก็จะได้รู้ว่ามีใครสักคนที่ต้องการผลงานศิลปะของเค้า ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจและเพิ่มความตั้งใจในผลิตผลงานของเค้ามากขึ้น


และถ้าหากองค์ประกอบทั้ง 9 เกิดขึ้นได้จริงในโรงเรียน อยากชวนคุณครูลองคิดดูครับว่าสภาพแวดล้อมในการเรียนรู้วิชาศิลปะรวมถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียนที่น่ารักของเราจะเปลี่ยนไปอย่างไร และเด็ก ๆ สามารถต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง







รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(1)
เก็บไว้อ่าน
(1)