icon
giftClose
profile

Unplugged Coding สนุกไปกับโค้ดดิ้งแบบไม่ง้อคอมฯ

91521
ภาพประกอบไอเดีย Unplugged Coding สนุกไปกับโค้ดดิ้งแบบไม่ง้อคอมฯ

โค้ดดิ้ง (Coding) และวิชาวิทยาการคำนวณ (Computer Science) เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ลองมาทำความรู้จักกับ Unplugged Coding พร้อมตัวอย่างสื่อการสอน Coding ที่ไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อปูพื้นฐานสำคัญให้เด็ก ๆ แบบไม่ง้อหน้าจอกันนะคะ

ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้โลกดิจิทัลและนวัตกรรมกลายเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โค้ดดิ้ง (Coding) และวิชาวิทยาการคำนวณ (Computer Science) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการศึกษาแบบบูรณาการความรู้ STEM จึงกลายเป็นหัวข้อการเรียนรู้ใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก เนื่องจากถือเป็นทักษะที่สำคัญต่อพัฒนาการหลาย ๆ ด้านของผู้เรียน และสามารถนำไปต่อยอดเพื่อประโยชน์ในการเรียนและการทำงานของผู้เรียนได้

สำหรับประเทศไทยนั้น Coding ถูกจัดอยู่ในสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สาระที่ 4 เทคโนโลยี ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ภายใต้ชื่อวิชาวิทยาการคำนวณ (Computer Science) ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนได้ "เรียนรู้เกี่ยวกับการคิดเชิงคำนวณ การคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

แนวคิดพื้นฐานน่ารู้เกี่ยวกับ Coding

  • แนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking): กระบวนการวิเคราะห์ปัญหา เพื่อให้ได้วิธีแก้ไขปัญหาอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ สามารถนำไปปฏิบัติได้โดยบุคคลหรือคอมพิวเตอร์ สำหรับใช้แก้ปัญหาหรือทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ต้องการ ประกอบไปด้วย
  • การแยกส่วนประกอบของปัญหา (Decomposition) - การแยกปัญหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อให้จัดการและแก้ไขได้ง่ายขึ้น
  • การค้นหาและเข้าใจรูปแบบ (Pattern Recognition) - การหารูปแบบหรือลักษณะที่คล้ายกันของปัญหาหรือประเด็นย่อย ซึ่งสามารถใช้วิธีแก้ปัญหาเดียวกันได้
  • แนวคิดเชิงนามธรรม (Abstraction) - การให้ความสนใจกับข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น พร้อมทั้งคัดกรองส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป
  • อัลกอริทึม (Algorithm) - ขั้นตอนหรือลำดับในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน ถือได้ว่าเป็นกระบวนการคิดของคอมพิวเตอร์ ที่จะดำเนินการตามคำสั่งเป็นขั้นตอนตามลำดับ
  • คณิตศาสตร์หรือเลขคณิต (Mathematics or Arithmetics): การดำเนินการเกี่ยวกับตัวเลข (Operation) เช่น การบวก ลบ คูณ และหาร เพื่อใช้ควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นในโปรแกรมคอมพิวเตอร์และเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่ได้
  • การจัดลำดับ (Sequencing): การจัดลำดับขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น
  • การแตกกิ่ง (Branching): คำสั่งควบคุมทิศทางให้โปรแกรมต้องเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามเงื่อนไขที่กำหนด
  • การทำงานเป็นรอบ (Looping/Iteration): การทำงานของโปรแกรมแบบวนซ้ำตามเงื่อนไขที่สร้าง จนกว่าจะมีคำสั่งให้หยุด
  • การแก้ไขจุดบกพร่อง (Debugging): การค้นหาและแก้ไขข้อผิดพลาดของโปรแกรม หรือ Bug ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่ทำให้โปรแกรมไม่เป็นไปตามที่คาด
  • โค้ด (Code): คำสั่งเป็นลำดับขั้น (Step-by-Step Instructions) ที่บอกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง โดยจะมีวิธีการเขียนตามภาษาสำหรับเขียนโปรแกรม (Programming Language) ที่มี "หลักไวยากรณ์" แตกต่างกันออกไป ขึ้นกับการนำไปใช้


Unplugged Coding สนุกไปกับกิจกรรม Coding แบบไม่ง้อคอมพิวเตอร์

แม้ว่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน Coding แต่การปูพื้นฐานทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น ทักษะการแก้ปัญหา การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างมีระบบ และความคิดสร้างสรรค์ หรือแนวคิดเชิงคำนวณ (Computational Thinking) สามารถทำได้โดยไม่ต้องอาศัยคอมพิวเตอร์ หรือที่เรียกว่า Unplugged Coding

Unplugged Coding คือ การเรียนคอนเซ็ปต์โค้ดดิ้งโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือการเรียนโค้ดดิ้งแบบ “ถอดปลั๊ก” นั่นเอง โดยจะเป็นการเรียนผ่านเกมหรือกิจกรรมที่เด็ก ๆ สามารถมีส่วนร่วมได้แบบออฟไลน์ ใช้อุปกรณ์ที่จับต้องได้ เช่น ดินสอหรือปากกา ร่วมกับสื่อการสอน Unplugged Coding ซึ่งเหมาะสำหรับใช้แนะนำคอนเซ็ปต์หรือแนวคิดเกี่ยวกับโค้ดดิ้งที่มีความเป็นนามธรรม เพื่อให้นักเรียนเห็นภาพได้มากขึ้น

ตัวอย่างสื่อการสอน Unplugged Coding

ภารกิจโค้ดดิ้งด้วยบัตรคำสั่ง

ฝึกทักษะการสร้างชุดคำสั่งหรืออัลกอริทึมด้วยการนำบัตรคำสั่งไปวางในตารางเพื่อทำภารกิจต่าง ๆ ให้สำเร็จ เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดพื้นฐานของวิทยาการคำนวณ เช่น Decomposition (การแยกส่วนประกอบของปัญหา) และการออกแบบ Algorithm หรือขั้นตอนในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

ภารกิจแต่งหน้าเค้กช็อกโกแลตด้วยบัตรคำสั่ง

ฝึกทักษะการสร้างชุดคำสั่งหรืออัลกอริทึมด้วยการนำบัตรคำสั่งไปวางในตารางเพื่อทำภารกิจให้สำเร็จ กำหนดให้เด็ก ๆ นำเอาครีมแสนอร่อยไปแต่งหน้าเค้กช็อกโกแลต แล้วนำไปวางเสิร์ฟบนโต๊ะ โดยต้องใช้บัตรคำสั่งทุกใบ และไม่สามารถไปยังช่องที่มีน้องหมาและแมวสุดหิวที่รอขโมยเค้กอยู่ได้


ข้อมูลจาก:

twinkl.co.th/blog/unplugged-coding-and-coding-resources

stemedthailand.org

bbc.co.uk/bitesize/topics/zvsc7ty

kids.britannica.com/students/article/computational-thinking/628492

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(12)
เก็บไว้อ่าน
(0)