icon
giftClose
profile

จะทำยังไง!? ให้เด็กรับรู้ว่าเขานั้นเก่งมากแค่ไหน

19131
ภาพประกอบไอเดีย จะทำยังไง!? ให้เด็กรับรู้ว่าเขานั้นเก่งมากแค่ไหน

คุยกับคุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

สวัสดีค่ะ คุณครูทุกคน

กลับมาพบกันอีกแล้วนะคะ วันนี้นีทขอเริ่มต้นด้วยคำถามค่ะว่า คุณครูเคยเจอเหตุการณ์ประมาณนี้ไหมคะ?


เหตุการณ์ที่ 1

นักเรียน : “ครูครับ ผมมีเรื่องปรึกษาครับ”

ครู : “เรื่องอะไรคะ?”

นักเรียน : “ผมกลัวสอบตกวิชาเลขครับ”

ครู : “ทำไมถึงกลัวล่ะคะ?”

นักเรียน : “ก็แบบว่า ผมแก้สมการกำลัง 3 ไม่ค่อยได้อ่า เจอแล้วก็แบบงง”

ครู : “งั้นหนูต้องทำโจทย์บ่อย ๆ นะคะ จะได้ทำได้”

นักเรียน : “ครับ” (แต่หน้าแบบเซ็ง เหมือนครูไม่เข้าใจ)


เหตุการณ์ที่ 2

นักเรียน : “ครู! หนูจะไปแข่งเต้นแล้ว กลัวลืมท่า กลัวล้ม”

ครู : “ไม่เป็นไร ระดับหนูทำได้อยู่แล้วหน่า”

นักเรียน : “ครู! แต่หนูกลัว”

ครู : “ทำได้อยู่แล้ว ระดับเธอไม่พลาดหรอก”

นักเรียน : “ค่ะ…” (แต่แอบคิดในใจว่า ครูไม่เป็นหนูก็พูดแบบนี้ได้)


เอ๊ะ! ทำไมเด็ก ๆ ถึงรู้สึกแบบนี้ ทั้ง ๆ ที่ครูในตัวอย่างก็พยายามให้คำแนะนำและให้กำลังใจเพื่อช่วยสร้างความมั่นใจ และความเชื่อมั่นในตนเอง แล้วนี่หน่า

วันนี้ นีทมีคำตอบมาฝากกันค่ะ โดยนีทมองว่าคำทางจิตวิทยาที่ตรงกับเหตุการณ์นี้ คือคำว่า “self-efficacy” หรือ “การรับรู้ในความสามารถของตนเอง” ซึ่งหมายถึง การที่เด็ก ๆ มองว่า พวกเขามีความรู้ ความสามารถ หรือทักษะที่จะจัดการกับปัญหาหรือฝ่าฝันวิกฤต ทำอะไรบางอย่างได้สำเร็จ ซึ่งเจ้าการรับรู้ตรงนี้ของเด็ก ๆ ก็จะแตกต่างกันไปตามเรื่องราวต่าง ๆ ที่เด็กเจอ


การรับรู้ในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่บ่งบอกถึงการรับรู้ในความสามารถของตนเอง (Self-efficacy)

นักเรียนคนที่ 1 เป็นเด็กที่ชอบเรียนวิชาภาษาไทย เขาแม่นหลักภาษา แต่งกลอนเก่ง เมื่อมีสอบวิชาภาษาไทย เขาก็จะเชื่อว่าตนเองทำได้ เพราเขามีความสามารถทางภาษา แต่ในทางกลับกัน เด็กคนนี้ไม่เก่งวิชาวาดภาพ พอเด็กต้องสอบวาดภาพ ความเชื่อมั่นในความสามารถของเขาก็อาจจะไม่สูงมากนัก

หรือนักเรียนคนที่ 2 เป็นเด็กสายดนตรีมาก ชอบตีกลอง เป็นมือกลองของวงดนตรีประจำโรงเรียน หากมีโชว์หรือแข่งตีกลอง เด็กคนนี้จะต้องเต็มไปด้วยความเชื่อมั่นว่าเขาจะทำได้ แต่ถ้าหากขอให้เขาไปโชว์ร้องเพลง เขาอาจจะไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเขาจะร้องได้ดีก็ได้นะ เพราะว่า เขาอาจจะไม่มีทักษะในเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่อยู่ในวง

2 ตัวอย่างนี้กำลังบอกเราว่า การเชื่อมั่นและการรับรู้ในความสามารถของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง และอิงไปตามทักษะ ความสามารถ หรือการฝึกฝนในเรื่องนั้น ๆ และเมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราจะช่วยเหลือนักเรียนของเราอย่างไรให้พวกเขาสามารถเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองมากขึ้น นีทมี 2 เครื่องมือ มาแนะนำค่ะ นั่นคือ ธงแห่งความเชื่อมั่น และ บอร์ด cheer-up


2 กิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการรับรู้ในความสามารถของตนเอง

กิจกรรมที่ 1 ธงแห่งความเชื่อมั่น

ธงแห่งความเชื่อมั่นเป็นเครื่องมือสำรวจเรื่อง การรับรู้ความสามารถของตนเองเบื้องต้นว่า “เราเชื่อมั่นว่าตนเองจะทำได้ไหม” เพื่อทำให้ครูสามารถเข้าใจถึงสภาวะของเด็กในตอนนี้ โดยเราก็จะมีคำถามให้ตรวจสอบ เช่น

  • เรื่องที่กำลังเผชิญอยู่คืออะไร พร้อมทั้งลองสำรวจว่าเขาเคยเจอเรื่องแบบนี้มาแล้วหรือยัง
  • สำรวจความเชื่อมั่นของตนเองในเรื่องนั้น ๆ
  • วันที่ต้องทำเรื่องนี้ให้เสร็จ และระยะเวลาในการฝึกฝน

ซึ่งการสำรวจเหล่านี้ จะช่วยทำให้คุณครูและนักเรียนสามารถมาร่วมกันวางแผน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตนเองได้ดีมากขึ้น เพราะ

  1. บางครั้งการที่นักเรียนเคยทำเรื่องนี้มาแล้วนั้นอาจจะทำให้เราและเขารับรู้ว่าเขาเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว ซึ่งเขาอาจจะมีความเชื่อมั่นหรือมั่นใจในตนเองอยู่บ้างเพราะมีทักษะมาก่อน
  2. การถามเรื่องวันและระยะเวลาฝึกฝน จะช่วยทำให้เราเข้าใจว่าเขามีเวลาเตรียมตัวกี่วัน


โดยในการใช้เครื่องมือนี้ คุณครูให้เด็กสำรวจได้เองเลย เพราะจะทำให้เด็กได้สะท้อนตนเอง แต่บางเหตุการณ์คุณครูอาจจะต้องเป็นคนสำรวจเอง เช่น เราเห็นเด็กกำลังประหม่า เพราะตื่นเต้นที่ต้องพูดหน้าเสาธง หรือดูมีความกลัวก่อนการสอบ (ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเป็นการสำรวจแบบทันทีทันใด หรือเป็นเรื่องเร่งด่วน เราอาจจะสำรวจได้ไม่ครบทุกหัวข้อก็ไม่เป็นไรนะคะ)

กิจกรรมที่ 2 “เชียร์-อัพ (Cheer-Up)”

หลังจากที่คุณครูได้พาเด็กสำรวจความเชื่อมั่นแล้ว ก็จะถึงช่วงเวลาในการวางแผน เพื่อ “boots!” ความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเอง โดยนีทขอเรียกเครื่องมือนี้ว่า “บอร์ด cheer-up” เป็นบอร์ดที่ให้เราเลือกว่า เราจะใช้วิธีไหนดีเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ซึ่งจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 “cheer” หมายถึง การให้กำลังใจ 1) ผ่านคำพูด เช่น เป็นกำลังใจให้น้า, ทำให้ดีที่สุดนะ, fighting 2) ใช้ท่าทางในการให้กำลังใจ เช่น การยิ้ม, การตบไหล่, ชู 2 นิ้ว, ทำท่า nice guy เป็นต้น (โดยในการให้กำลังใจ เราอาจจะต้องระวังคำที่อาจจะไปกดดันเด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น หนูทำได้อยู่แล้ว เวทีนี้เล็กๆ หนูเคยผ่านเวทีใหญ่กว่านี้มาแล้ว เป็นต้น)

ส่วนที่ 2 “up” หมายถึง การที่เรามาวางแผนลงมือทำ ลงมือฝึกฝน เพื่อ “up!” ความเชื่อมั่นในตนเอง โดยคุณครูกับนักเรียนอาจจะต้องแบ่งเป็นเรื่องย่อย ๆ ว่าเราต้องฝึกอะไรบ้าง เพื่อ boots ความเชื่อมั่นในตนเอง

ตัวอย่างเช่น

จากตัวอย่างเหตุการณ์ที่นักเรียนมาปรึกษาเรื่องวิชาคณิตศาสตร์ เราก็อาจจะใช้ “up” ก่อนเช่น ชวนเด็กมาดูแบบฝึกหัดในหนังสือว่ารูปแบบสมการใดที่ทำไม่ได้ และพยายามให้เด็กลองทำโจทย์แนวนั้นบ่อย ๆ ก็จะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นในความสามารถของตนเองได้ และสมมติว่าเราเจอเด็กนักเรียนหน้าห้องสอบ ซึ่งอาจจะกำลังใกล้สอบวิชาเลข เราก็อาจจะใช้ “cheer” เช่น บอกเขาว่า fighting เป็นต้น

หรือ จากตัวอย่างเหตุการณ์ที่นักเรียนมาปรึกษาเรื่องแข่งเต้น ซึ่งเราอาจจะไม่มีความรู้ในด้านนี้เลย เราก็อาจจะใช้ cheer ผ่านคำพูด เช่น เป็นกำลังใจให้ในการฝึกและแข่งนะ, ขอให้หนูไม่ลืมท่านะ, และทำท่า ชู 2 นิ้ว หรือ ยิ้มให้เด็ก เป็นต้น

การรับรู้ความสามารถของตนเองนั้นเป็นเรื่องที่เราสามารถค่อย ๆ boots ได้ค่ะ ชวนคุณครูลองนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้เพื่อสำรวจและเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็ก ๆ กันนะคะ


บทความโดย

คุณนีท-เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

อ้างอิง

Bandura, A. (1977). Self-efficacy: Toward a unifying theory of behavioral change. Psychological Review, 84(2), 191-215.

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(0)
เก็บไว้อ่าน
(4)