เมื่อพูดคำว่า “โฮมรูม” สิ่งแรกที่ทุกคนนึกถึงมีอะไรกันบ้าง? บรรยากาศง่วง ๆ เวลาว่างที่ปล่อยทิ้งไปเฉย ๆ ก็ได้ หรือว่าคาบที่แค่มีไว้คั่นก่อนเข้าเรียน แม้คำตอบที่ได้จะแตกต่าง แต่ก็มักจะไปในทำนองเดียวกัน คือการคิดว่าโฮมรูมเป็นคาบที่ทำอะไรไม่ได้ คุณครูบางส่วนเลยปล่อยทิ้งไป เพราะไม่รู้ว่าควรนำอะไรมาทำในคาบโฮมรูมดี กับเวลาที่มีอยู่แค่น้อยนิด
“เมื่อไหร่ที่โรงเรียนมีกิจกรรมตอนเช้า นักเรียนมักจะต้องเข้าแถวเกินเวลา นั่นแปลว่าคาบโฮมรูมก็จะถูกกินเวลาไปด้วยเช่นกัน คนเป็นครูต้องปล่อยนักเรียนไปเตรียมตัว หรือเข้าห้องน้ำ เวลาที่เหลือก็ทำได้แค่เรียกนักเรียนคุยแบบสั้น ๆ เท่านั้น” และเพราะปัญเหล่านี้ที่ต้องเจออยู่ทุกสัปดาห์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่คุณครูจะคิดเช่นนั้น
วันนี้ insKru เลยอยากพาทุกคนมาเปลี่ยนโฉมโฮมรูมของตัวเอง จากคาบแห่งความ “เป็นไปไม่ได้” ให้กลายเป็น “เป็นไปได้” ขึ้นมา แม้เวลาในคาบจะมีอยู่อย่างจำกัด แต่คุณครูก็สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่นักเรียนได้เหมือนกัน ด้วยไอเดียดี ๆ จากกิจกรรมแลกเปลี่ยนไอเดีย ครูปล่อยของ PLC "โฮมรูมครั้งเดียวได้ประโยชน์สองต่อ ครูแฮปปี้ นักเรียนมีส่วนร่วม" ของครูเพชร จะเป็นยังไง ไปดูกันเลย~
เริ่มจากมาทำความเข้าใจความหมายของ “Homeroom” กันก่อน!
โฮมรูม คือการจัดกิจกรรมให้นักเรียนด้วยบรรยากาศสบาย ๆ เปรียบเสมือน “บ้าน” ที่สมาชิกทุกคนคุ้นเคยซึ่งกันและกัน ส่วนคุณครูก็เป็น “คนในบ้าน” ที่นักเรียนสนิทสนม โฮมรูมเป็นรูปแบบกระบวนการแนะแนวแบบกลุ่มที่สามารถสร้างประโยชน์ได้ในหลาย ๆ แนวทาง เช่น ส่งเสริมจริยธรรม การพูดคุย พัฒนาความรู้และสร้างความสนิทสนมระหว่างครูกับนักเรียน เป็นช่วงเวลาที่มีค่า ถ้าปล่อยให้ผ่านไป เด็กอาจจะเสียโอกาสในการเรียนรู้ได้นะ
เข้าสู่ไอเดียการจัดกิจกรรม Homeroom
เมื่อเราทำความเข้าใจกับคำว่า "โฮมรูม" ไปเบื้องต้นแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการนำมาปรับใช้ คุณครูจะสามารถทำอะไรกับคาบโฮมรูมได้บ้างล่ะ? มาดูกรณีตัวอย่าง พร้อมไอเดียดี ๆ ที่รวบรวมมาจากเหล่าเพื่อนครูในวงพูดคุยกัน!
กรณีตัวอย่างที่ 1
โฮมรูมช่วง New Normal เด็กหาย ครูป่วย ทำไงดี?
⭐ ใช้กิจกรรม Check in เป็นการแชร์เรื่องราวสั้น ๆ ผ่าน Line กลุ่ม, Google Form หรือ Zoom Meeting
⭐ ใช้การแจ้งข่าวสารที่จำเป็นในช่องทาง Online แทน ถึงแม้จะไม่ได้เจอหน้า แต่ก็ยังมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่
กรณีตัวอย่างที่ 2
มองโฮมรูมเป็นคาบว่างมาตลอด ต่อไปนี้จะทำอะไรได้?
⭐ ใช้เวลา 10-20 นาทีที่มีอยู่ในการสร้างความสนิทสนม ทำความรู้จักกับนักเรียนด้วยการสร้างบทสนทนาหรือคำถามง่าย ๆ เช่น เปรียบความรู้สึกของตัวเองตอนนี้เป็นสีอะไร? ให้คะแนนความพร้อมเรียนของตัวเอง 1-10 ได้เท่าไหร่?
⭐ จัดกิจกรรม Buddy ในห้องเรียน นอกจากมีคุณครูดูแลนักเรียนแล้ว เพื่อน ๆ ก็สามารถใช้เวลาที่เหลืออยู่ในการดูแลกันเองได้
⭐ Padlet ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจ! หากจัดกิจกรรมอะไรเล็ก ๆ เกี่ยวกับการแชร์คำตอบ
นอกจากนี้ ครูเพชรยังทิ้งท้ายเอาไว้ว่า "การที่เราสร้างกิจกรรม หรือทำอะไรบางอย่างในคาบโฮมรูม แม้เราจะคิดว่ามันเล็กน้อยมาก ๆ ทั้งในแง่ของเนื้อหาหรือเวลา แต่อะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นก็ได้สร้างประโยชน์ให้กับชั้นเรียนไปแล้วอย่างแน่นอน" :-)
ขอบคุณคุณครูเพชรสำหรับห้องรวมไอเดียโฮมรูมมาก ๆ น้า สำหรับคุณครูคนไหนที่มีไอเดียน่าสนใจเกี่ยวกับการทำคาบโฮมรูม หรือมีปัญหาที่เจอจากคาบโฮมรูมแล้วอยากเล่า อยากหาวิธีแก้ไข เพื่อน ๆ สามารถมาแบ่งปันกันได้บนเว็บ insKru เหมือนเดิมนะ มาเปลี่ยนรูปแบบคาบโฮมรูมให้กลายเป็นคาบแห่งความเป็นไปได้ของทั้งครูและนักเรียนกัน!
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!