บทคัดย่อ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความ โดยใช้เทคนิค KWL Plus ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม จำนวน 19 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบจำเพาะเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้เรื่องการอ่านจับใจความโดยใช้ เทคนิค KWL Plus และแบบทดสอบวัดความสามารถด้านการอ่านจับใจความ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( X ) ค่าร้อยละ (Percentage) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t-test) แบบ dependent ผลการวิจัยพบว่า ความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus สูงกว่าก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
คำสำคัญ: การพัฒนาความสามารถ การอ่านจับใจความ เทคนิค KWL Plus
บทนำ
การอ่าน เป็นทักษะสำคัญที่เป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา การแสวงหาความรู้ต่าง ๆ อันนำไปสู่การพัฒนาความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พฤติกรรม และทัศนคติ ทำให้คนเรามีความเจริญงอกงามทางวุฒิปัญญา ช่วยส่งเสริมให้เกิดกระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับจิตวิญญาณของผู้อ่านให้เป็นไปในทางที่ดีงาม สามารถพัฒนาตนให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมได้เป็นอย่างดี (พนิตนันท์ บุญพามี. 2542 : 3) นอกจากนี้การอ่านยังสามารถพัฒนาฝีมือมนุษย์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ผู้รับสารจะได้รับประโยชน์จากการอ่านเต็มที่ ถ้าผู้รับสารสามารถรับสารที่ผู้ส่งสารส่งให้อ่านอย่างครบถ้วนและถูกต้อง (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และบาหยัน อิ่มสำราญ. 2547 : 42) ดังนั้นการอ่านแต่ละครั้งผู้อ่านจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องที่อ่านและสามารถจับใจความเรื่องที่อ่านได้ การอ่านจับใจความสำคัญต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ในสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันซึ่งเป็นยุคข้อมูลข่าวสาร เพราะการอ่านและฟังจะทำให้ผู้คนได้รับข่าวสารข้อมูลความรู้ และได้รับทราบความเคลื่อนไหว ตลอดจนข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของผู้คนในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม โดยได้มุ่งเน้นให้นักเรียนมีทักษะการอ่าน (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 37) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารได้อย่างถูกต้อง ชัดเจนและ นำไปประยุกต์ใช้ในการแสวงหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองให้อยู่กับการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอาเซียนอย่างมีความสุข
จากการจัดการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทยของโรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาในการอ่านจับใจความ เนื่องจากนักเรียนไม่ได้อ่านเรื่องอย่างละเอียด และไม่ได้กำหนดจุดประสงค์ของการอ่าน ส่งผลให้นักเรียนไม่สามารถตอบคำถามจากเรื่องที่อ่านได้ ตลอดจนทำให้การอ่านของนักเรียนไม่เกิดประสิทธิผล และหากนักเรียนไม่ได้รับการพัฒนาความสามารถอาจจะส่งผลต่อการเรียนรู้ในกลุ่มสาระอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความเห็นว่าควรพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียน ซึ่งจากการศึกษาแนวการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับการอ่านจับใจความ พบว่า การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus สามารถพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนได้ เนื่องจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นการกระตุ้นให้นักเรียนนำความรู้ที่มีไปต่อยอดด้วยการค้นหาคำตอบจากการตั้งคำถามที่นักเรียนได้ตั้งไว้ (สมศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์. 2544 : 75) เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการอ่านที่สอดคล้องกับทักษะการคิดอย่างรู้ตนว่าตนคิดอะไร มีวิธีคิดอย่างไร สามารถตรวจสอบความคิดของตนเองได้ โดยผู้เรียนจะได้รับการฝึกให้ตระหนักในกระบวนการทำความเข้าใจตนเอง มีการจัดระบบข้อมูลเพื่อการดึงมาใช้ภายหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ (วัชรา เล่าเรียนดี. 2547 : 92-94) ฝึกให้คิดเป็นลำดับขั้นตอน ฝึกให้รู้จักถามตัวเอง รู้จักใช้ความคิด และคิดในเรื่องที่อ่าน พัฒนาสมรรถภาพในการกำหนดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในการอ่านสรุปสาระสำคัญจากเรื่องที่อ่าน จัดการกับสาระความรู้ที่ได้มาใหม่ตามความเข้าใจของตนเอง โดยการใช้แผนภาพความคิดและเขียนสรุปเรื่องที่อ่านจากแผนภาพความคิด
ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิค KWL Plus ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา
วัตถุประสงค์
เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus
วิธีดำเนินการวิจัย
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ ปีการศึกษา 2564โรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา จำนวน 19 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบจำเพาะเจาะจง (Purposive Sampling) และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่องการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิค KWL Plus จำนวน 3 แผน แผนละ 2 ชั่วโมง โดยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการเตรียมความพร้อมโดยการฝึกทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus แก่นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ตลอดจนชี้แจงการดำเนินการจัดการเรียนรู้ รูปแบบและวิธีการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ จากนั้นทดสอบก่อนเรียนกับนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 19 คน โดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการอ่านจับใจความ แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ เวลา 1 ชั่วโมง แล้วจึงดำเนินการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus ตามแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 แผน แผนละ 2 ชั่วโมง รวมเป็นเวลา 6 ชั่วโมง โดยใช้เวลาเรียน 4 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 1 ชั่วโมง และทดสอบหลังเรียนกับนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 19 คน โดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการอ่านจับใจความ แบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ เวลา 1 ชั่วโมง
ผลการวิจัย
ผลของการวิจัยเรื่อง การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านจับใจความโดยใช้เทคนิค KWL Plus ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3โรงเรียนตะกั่วทุ่งงานทวีวิทยาคม อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา พบว่า ความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (t = 12.35) โดยค่าเฉลี่ยคะแนนความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนหลังการจัดการเรียนรู้ (= 14.58, S.D. = 3.5) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนความสามารถด้านการอ่านจับใจความก่อนการจัดการเรียนรู้ (
= 10.47, S.D. = 2.45)
การอภิปรายผล
จากการวิจัยครั้งนี้ อธิบายได้ว่า ความสามารถด้านการอ่านจับใจความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3หลังการจัดการเรียนรู้สูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค KWL Plus เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้ฝึกใช้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ เนื่องด้วยนักเรียนได้มีการนำความรู้เดิมที่มีอยู่มาเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ โดยมีกรอบและแนวทางให้นักเรียนเชื่อมโยงเนื้อหาเป็นลำดับขั้นตอน (วัชรา เล่าเรียนดี. 2547 : 90-93) โดยเริ่มจากขั้น K (What we know) คือ นักเรียนตรวจสอบความรู้พื้นฐานที่มีเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยนักเรียนร่วมกันอภิปราย แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหัวข้อที่ครูเขียนให้บนกระดาน แล้วตั้งคำถาม เพื่อค้นหาความรู้เดิมเกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนรู้มาก่อนจากเรื่องที่อ่าน แล้วบันทึกลงในช่อง K ขั้น W (What we want to know) คือ นักเรียนต้องการรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน โดยให้นักเรียนช่วยกันตั้งคำถามแล้วเขียนคำถามลงในช่อง W โดยครูเป็นผู้ให้คำแนะนำและร่วมตั้งคำถามกับนักเรียน ซึ่งขั้นนี้จะช่วยกระตุ้นความคิดของนักเรียนว่าต้องการรู้อะไรเพิ่มเติมจากเรื่องที่อ่าน เพื่อให้นักเรียนมีจุดมุ่งหมายในการอ่านเรื่อง และขั้น L (What we have learned) คือ นักเรียนเกิดการเรียนรู้อะไรบ้างจากเรื่องที่อ่าน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากอ่าน จากนั้นครูให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านแล้วบันทึกลงในช่อง L ขั้นนี้เป็นการฝึกนักเรียนและกระตุ้นให้นักเรียนเกิดการตั้งคำถามเพื่อแสวงหาคำตอบจากเรื่องที่อ่าน ขั้น Mapping คือ การสร้างแผนภาพความคิด โดยครูอธิบายการสร้างแผนภาพความคิด และให้นักเรียนเขียนแผนภาพความคิดโดยเลือกข้อมูลที่จำแนกรายละเอียดของเนื้อหาแสดงความสัมพันธ์ของเรื่องที่อ่านและบอกจุดมุ่งหมายของผู้เขียน เพื่อฝึกการจัดลำดับข้อมูล ความรู้และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ได้รับจากเรื่องที่อ่าน และขั้นเขียนสรุปเรื่องหลังการอ่าน (Summarizing) เป็นขั้นสรุปใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน โดยครูและนักเรียนร่วมกันสรุปใจความสำคัญของเรื่อง
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1.1 การจัดการเรียนรู้ ครูต้องคอยกระตุ้นให้นักเรียนนำความรู้เดิมมาใช้ในการเชื่อมโยงเรื่องราวเพื่อสร้างความเข้าใจในการอ่าน ทำให้นักเรียนมีแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
1.2 การจัดการเรียนรู้ ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ เพื่อการระดมความคิด ตั้งคำถาม ทำให้นักเรียนมีความคิดที่หลากหลายและกว้างขวาง เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดของกันและกัน
2. ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรมีการศึกษาเปรียบเทียบผลของการใช้เทคนิค KWL Plus กับวิธีการสอนอ่านอื่น ๆ เช่น การอ่านแบบ PARONAMA การสอนอ่านโดยเทคนิค CIRC การสอนอ่านแบบ SQ3R การสอนอ่านแบบเน้นมโนทัศน์ เป็นต้น
2.2 ควรมีการศึกษาผลของการใช้เทคนิค KWL Plus กับทักษะการอ่านอื่น ๆ เช่น การอ่านตีความ การอ่านคิดวิเคราะห์ การอ่านประเมินค่า เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2551). หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด.
จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ และบาหยัน อิ่มสำราญ. (2547). การใช้ภาษาไทย. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร.
พนิตนันท์ บุญพามี. (2542). เทคนิคการอ่านเบื้องต้นสำหรับบรรณารักษ์. นครราชสีมา : สถาบันราชภัฏนครราชสีมา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.
วัชรา เล่าเรียนดี. (2547). เทคนิคการจัดการเรียนการสอนและการนิเทศ. นครปฐม : มหาวิทยาลัยศิลปากร
สมศักดิ์ ภู่วิภาดาวรรธน์. (2544). การยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และการประเมินตามสภาพจริง. (พิมพ์ครั้ง 4). เชียงใหม่ : The Knowledge Center.
แสดงความเห็นกับสมาชิกใน insKru
เก็บไอเดียไว้อ่าน และอีกมากมาย
ได้แรงบันดาลใจเต็มๆ เลยใช่มั้ย?
บันทึกแรงบันดาลใจที่ได้รับเก็บไว้ไม่มีลืมผ่านการเขียนไอเดียเลย!