icon
giftClose
profile

เรียนรู้จักรวาลความสัมพันธ์ในห้องเรียน ผ่านสีไม้

15990
ภาพประกอบไอเดีย เรียนรู้จักรวาลความสัมพันธ์ในห้องเรียน ผ่านสีไม้

จะเป็นอย่างไร เมื่อของใกล้ตัวง่าย ๆ อย่าง "สีไม้" สามารถพาให้เราค้นหาอะไรบางอย่างในชีวิต ทำให้เรารู้จักตัวเอง ผู้อื่น และโลกใบนี้ในรูปแบบที่กว้างกว่าที่เคย

ศิลปะพาให้เราค้นหาอะไรบางอย่างในชีวิต ทำให้รู้จักตัวเอง ผู้อื่น และโลกใบนี้ให้กว้างกว่าที่เคย ในรูปแบบที่ง่ายกว่าที่คิด หารู้ไม่ว่าของใกล้ตัวที่มีติดอยู่ทุกบ้านอย่าง “สีไม้” ก็สามารถนำมาสร้างกิจกรรมที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองและความสัมพันธ์ต่อผู้คนรอบตัวมากขึ้นได้เหมือนกันนะ


ถ้าอยากรู้ว่าทำได้ยังไง ตามมาดูกันเลยกับกิจกรรม Workshop "มันดาล่าสีไม้กับจักรวาลแห่งความสัมพันธ์ในห้องเรียน" ของคุณครูไม้เอก ขอแอบกระซิบว่าอุปกรณ์ที่ใช้มีน้อยมาก ๆ แต่กลับสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ หาที่ไหนไม่ได้แน่นอน!


มาเริ่มกันเลย!

เชื่อว่าไม่ว่าใครก็ต้องเคยมีประสบการณ์การใช้สีไม้มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว แต่คุณครูเคยสังเกตไหม ว่าสีไม้ธรรมดา ๆ ที่เราใช้กันก็สามารถดึงจุดเด่น - จุดด้อยบางอย่างเปรียบกับตัวเราเองได้เหมือนกัน

ขั้นตอนที่ 1

คุณครูไม้เอกริ่มกิจกรรมด้วยการให้เราเปรียบเทียบประสบการณ์การใช้สีไม้กับความรู้สึกและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน

  • ความรู้สึกของทุกคนตอนนี้ เปรียบเป็นสีอะไร
  • ความสัมพันธ์ในห้องเรียน เปรียบเป็นสีอะไร
  • แล้วความสัมพันธ์ที่อยากให้เกิดขึ้นในห้องเรียนล่ะ เปรียบเป็นสีอะไร

ตัวอย่างเช่น คุณครูส่วนใหญ่ในวงพูดคุยมักจะตอบคำถามคล้าย ๆ กัน ว่าอยากให้ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนเปรียบเป็นสีชมพู เพราะเป็นสีที่สื่อถึงความอบอุ่น ปลอดภัย เต็มไปด้วยความรัก


ขั้นตอนที่ 2

เข้าสู่จักรวาลแห่งความสัมพันธ์! เตรียมอุปกรณ์ในการใช้งานหลัก ประกอบไปด้วย สีไม้ + กระดาษระบายสีลายดอกไม้ของกิจกรรมมันดาล่าสีไม้ จากนั้น เลือกสีไม้สีที่เราอยากทำงานด้วยมากที่สุด แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

1) เริ่มจากส่วนแรกของกระดาษที่เป็นช่องยาว ๆ สามช่อง ในช่องแรก ให้ระบายสีไล่น้ำหนักจากอ่อนไปเข้ม โดยค่อย ๆ ระบายสีที่เลือกจากอ่อนที่สุดไปเข้มที่สุด สังเกตจังหวะไปด้วย ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าสามารถระบายให้เข้มกว่านี้ได้มั้ย หรือเข้มแค่นี้ก็พอแล้ว เป็นการสังเกตความหนักและเบาในการระบายสีของตัวเอง

2) ต่อมาในช่องที่สอง จะเป็นการเบลน 2 สีเข้าหากัน ให้เลือกสีไม้เพิ่มเข้ามาอีก 1 สี เช่น เลือกใช้สีเหลืองและส้ม มาเบลนเข้าหากัน ให้ลองจับจังหวะว่าทั้ง 2 สีจะสามารถเบลนเข้าหากันได้อย่างไร สังเกตจังหวะเร็วและช้า

3) คราวนี้ลองเบลน 3 สี เลือกสีไม้เพิ่มขึ้นมาอีกสี เช่น เลือกใช้สีเหลือง ส้มและแดงในการเบลนเข้าหากัน พร้อมทั้งสังเกตตัวเองไปด้วย


ขั้นตอนที่ 3

เมื่อเราลองระบายสีตามทั้ง 3 ช่องเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณครูไม้เอกก็ได้สาธิตการระบายสีเบื้องต้น 9 รูปแบบ ประกอบไปด้วย แบบตรง, แบบเฉียง, แบบสาน, แบบขีดยาว, แบบตวัด, แบบวน, แบบขีดสั้น, แบบขีดมุมและแบบผสม ในกระดาษส่วนที่สอง ทุกคนก็ได้ลองระบายสีตามเพื่อเป็นการเก็บเทคนิคการระบายสีไปพร้อม ๆ กัน จากนั้นจึงค่อยย้ายไประบายสีในกระดาษส่วนสุดท้าย คือส่วนที่เป็นลวดลายดอกไม้ ด้วยเวลา 30 นาที พร้อมสังเกตวิธีระบายสีของตัวเองไปด้วย


ขั้นตอนที่ 4

เมื่อทุกคนได้ใช้เวลาไปกับการระบายสีหลาย ๆ รูปแบบเต็มที่แล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาลองสังเกตตัวเองแล้วเปรียบเทียบกับคุณสมบัติของสีไม้สักหนึ่งรอบ ว่าตัวเรามีตรงไหนที่ “เหมือน” และ “ต่าง” กับสีไม้บ้าง เพื่อนำไปสู่บทสรุปของจักรวาลแห่งความสัมพันธ์

ตัวอย่างเช่น "คิดว่าตัวเองเหมือนสีไม้ เพราะเหลาได้ง่าย เหลาให้เป็นทรงไหนก็จะเป็นทรงนั้น เหมือนกับตัวเราที่สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย"


ขั้นตอนที่ 5

มาถอดการเรียนรู้ของกิจกรรมนี้กัน! ว่าจากการสังเกตการระบายสีไม้ของตัวเองมาตลอดการทำกิจกรรม เหล่าคุณครูในวงได้เห็นมุมมองใหม่ ๆ อะไรเกี่ยวกับตัวเองและความสัมพันธ์ในห้องเรียนบ้าง

กับตัวเอง

  • "การใช้สีไม้ต้องใช้ความระมัดระวังและละเอียด ใช้แรงมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี เหมือนกับตัวเองที่ก็ต้องถูกใช้งานในระดับที่เหมาะสมเหมือนกัน ถ้าหักโหมเกินไปก็จะแตกสลาย แต่ถ้าใช้งานตัวเองอย่างพอดี ผลงานก็จะออกมาอย่างสมบูรณ์แบบ"
  • "สีไม้ถึงจะใช้งานง่ายแต่ก็ต้องฝึกฝน เหมือนคนเราที่ต้องหาประสบการณ์ไปเรื่อย ๆ"
  • "สีไม้สามารถปรับสภาพการใช้งานไปได้กับกระดาษหลาย ๆ พื้นผิว จะระบายพื้นเรียบก็ได้ พื้นขรุขระก็ได้ แต่บางทีตัวเราไม่สามารถปรับให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขนาดนั้น"

กับความสัมพันธ์

  • "น้ำหนักที่เราใช้หนักและเบาตอนระบายสี มีผลต่อความสัมพันธ์ในห้องเรียน ถ้าบังคับเกินความจำเป็นสีก็จะหัก ถ้าระบายอ่อนแรงเกินไปสีก็จะไม่สด ไม่สวย เหมือนกับการดูแลนักเรียนที่จะต้องมีความพอดี"
  • "สีไม้ที่ดีควรเหลาให้แหลม เปรียบได้กับการสอนนักเรียน ถ้าเรายิ่งเหลาวิธีการสอนของตัวเองให้แหลม ก็จะยิ่งป้อนข้อมูลดี ๆ ให้กับนักเรียนได้ แถมความแหลมของสีไม้นั้นก็จะช่วยให้เราสามารถเข้าถึงจุดเล็ก ๆ ที่สำคัญของนักเรียนได้ง่ายขึ้น"
  • "การสอนนักเรียนก็เหมือนใช้ความช้าและเร็วเหมือนการระบายสีเหมือนกันนะ ถ้ารีบเร่งสอนเกินไป นักเรียนอาจจะไม่ได้อะไรเลย เพราะการเติบโตต้องใช้เวลา"


ขอขอบคุณไอเดียจากกิจกรรม Workshop สนุก ๆ ของคุณครูไม้เอกด้วยน้า ถ้าเพื่อน ๆ ลองทำตามแล้วคำตอบของทุกคนเป็นยังไงก็อย่าลืมมาแชร์กัน และสำหรับใครที่มีไอเดียการสอนหรือกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ ก็สามารถมาแบ่งปันผ่านเว็บ insKru ได้เหมือนเดิม มาสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ร่วมกันนะ!

รีวิว
(0)
ดาวน์โหลด
(2)
เก็บไว้อ่าน
(11)